|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
max
บุคคลทั่วไป
|
|
« ตอบ #19 เมื่อ: พฤษภาคม 05, 2007, 02:16:23 PM »
|
|
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
ใครที่เคยเดินทางไปอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มักได้ยินชื่อเสียงของเหมืองลิกไนต์แม่เมาะมานาน ทว่าน้อยคนนักจะเคยมีโอกาสเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตของคนในเหมืองแห่งนี้ ปัจจุบันเหมืองลิกไนต์และโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ประชาชนที่สนใจเข้าเยี่ยมชมกิจการการทำเหมือง และการผลิตไฟฟ้า รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม
กิจการการทำเหมืองลิกไนต์ในประเทศไทย เริ่มต้นมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมรถไฟหลวง ทรงมีพระราชประสงค์จะสงวนป่าไม้เอาไว้ จึงได้โปรดให้มีการสำรวจหาเชื้อเพลิงอย่างอื่นนำมาใช้แทนฟืนสำหรับหัวรถจักรไอน้ำ ในการนั้นได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสชื่อนายบัวแยร์ (MG.Boy-er) ให้มาดำเนินการสำรวจ และในปี พ.ศ.2464 - 2466 ได้จ้างชาวอเมริกันชื่อนาย วอลเลซ ลี (Wallace Lee)
การสำรวจในสมัยนั้นต้องประสบความยากลำบากมาก เนื่องจากเครื่องมือเครื่องใช้มีไม่เพียงพอ และการคมนาคมก็ไม่สะดวก ทั้งยังขาดแคลนเงินทุนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจครั้งนั้นได้พบว่ามีถ่านหินลิกไนต์ที่บริเวณแม่เมาะ จังหวัดลำปางและที่คลองขนาน จังหวัดกระบี่ ซึ่งก่อนหน้านี้ บรรษัทถ่านหินศิลากระบี่ ซึ่งดำเนินการโดยชาวอังกฤษได้รับพระราชทานให้ทำเหมืองที่บริเวณบ้านปูดำ จังหวัดกระบี่ ต่อมามีบริษัทบ่อถ่านหินศิลาสยาม จำกัด ได้เปิดการทำเหมืองลิกไนต์ที่บ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปีพ.ศ.2465 ทำการขุดถ่านลิกไนต์ ได้หลายพันตัน แต่กิจการถ่านหินลิกไนต์ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้งานในเหมือง เมื่อสัมปทานของบริษัทบ่อถ่านศิลาสยาม ได้หมดอายุลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2470 พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ เพื่อให้ทางราชการเท่านั้นเป็นผู้ดำเนินการและห้ามมิให้มีการสัมปทานทำเหมืองแก่เอกชนอีกต่อไป
ปี พ.ศ.2497 มีการจัดตั้งสำนักงานสำรวจภาวะถ่านหินลิกไนต์ขึ้น เพื่อดำเนินการตรวจสอบว่ามีถ่านหินลิกไนต์มากเท่าใด มีวิธีการขุดอย่างไรจึงจะเสียค่าใช้จ่ายน้อย และจะนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง การดำเนินการสำรวจพบว่ามีปริมาณถ่านหินในเหมืองแม่เมาะจำนวนกว่า 14 ล้านตันและคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในปริมาณถึง 120 ล้านตัน ดังนั้นจึงได้ร่างแผนงานเบื้องต้นขึ้นเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล โดยมีโครงการขุดถ่านหินลิกไนต์ขึ้นมาเพื่อจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า
เมื่อรัฐบาลเห็นชอบในข้อเสนอดังกล่าว จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ เพื่อดำเนินกิจการถ่านลิกไนต์ให้ได้ผลอย่างจริงจัง และในปีเดียวกันนั้นเอง องค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ได้ก่อสร้างที่ทำการและบ้านพักที่แม่เมาะด้วยงบประมาณจากรัฐบาล เครื่องจักรเครื่องมือที่ได้รับจากรัฐบาลและสหรัฐอเมริกาและผู้เชี่ยวชาญองค์การลิกไนต์จากประเทศออสเตรเลียมาเป็นที่ปรึกษา ได้เปิดการทำเหมืองแม่เมาะโดยมีกำลังการผลิตรวม 12,500 กิโลวัตต์
การทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ในประเทศไทยระยะแรกนั้น ใช้วิธีที่เรียกว่า เหมืองหาบ โดยใช้แรงงานคนทำการเปิดหน้าดินและขุนถ่าน รวมทั้งขนส่งถ่านหินขึ้นจากบ่อเหมือง ต่อมาเมื่อเครื่องจักรทุ่นแรงเริ่มแพร่หลายเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น จึงได้ใช้เครื่องจักรกลมาใช้ในการทำเหมือง
การทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่แม่เมาะ ทำเป็นแบบเหมืองเปิด ซึ่งก็คือเหมืองที่พัฒนามาจากเหมืองหาบ โดยใช้เครื่องจักรเปิดหน้าดินออกเป็นชั้น ๆ จนถึงชั้นถ่านหิน ปัจจุบันเหมืองแม่เมาะได้กลายเป็นเหมืองลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์
วันที่ 1 พฤษภาคม 2512 รัฐบาลตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยรวมกิจการของการลิกไนต์ การไฟฟ้ายันฮีและการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าด้วยกัน พ.ศ.2515 รัฐบาลได้อนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความ ร้อนลิกไนต์แม่เมาะ จำนวน 2 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 75,000 กิโลวัตต์ งานขยายเหมืองแม่เมาะก็เพิ่มปริมาณจากที่เคยผลิตได้ปีละแสนกว่า ตันเพิ่มเป็นล้าน ๆ ตัน หลังจากนั้น มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่แม่แมาะเพิ่มขึ้น เป็น 13 เครื่อง รวมกำลังผลิต 2,400 เมกะวัตต์ ใช้ปริมาณถ่านหินปีละประมาณ 16 ล้านตัน
เหมืองแม่เมาะ นับเป็นแหล่งเชื้อเพลิงและแหล่งพลังงานที่สำคัญของประเทศไทย นอกจากจะให้ประโยชน์โดยตรงด้วยทรัพยากรธรรมชาติ คือ ลิกไนต์ที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว แม่เมาะยังเป็นสื่อนำความเจริญมาสู่ท้องถิ่นด้วยการสร้างงานแก่ชุมชน ความก้าวหน้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ดำเนินไปพร้อมกับความเจริญของสังคม โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนและที่สำคัญที่สุดคือ การเสียสละของราษฎรในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเหมืองแม่เมาะที่ต้องโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิม
นอกจากนี้ทางโรงไฟฟ้าแม่เมาะยังมีการควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ละอองน้ำฉีดพ่นน้ำเพื่อลดฝุ่นจากถนน และฉีดพ่นน้ำในระบบสายพานที่ใช้ขนถ่ายลิกไนต์ และยังปลูกต้นไม้เป็นแนวป้องกันฝุ่นจากเหมือง มีโรงบำบัดน้ำเสียจากเหมืองและโรงไฟฟ้า
ปัจจุบัน กฟผ.แม่เมาะได้พัฒนาจากเหมืองถ่านหินให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศเพื่อยืนยันคุณภาพสิ่งแวดล้อมว่า การดำเนินงานของ กฟผ.ในอดีต ที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดภาพฝังใจ ได้ถูกแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือ การพัฒนาให้ กฟผ.แม่เมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้ทุกคนอยากเข้ามาดูดอกบัวตองบานในฤดูหนาว อยากเข้ามาเที่ยวชมที่กฟผ.แม่เมาะ ถ้าทำให้คนทั่วไปรู้สึกได้อย่างนั้น ความทรงจำในเรื่องมลพิษก็จะหมดไป ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เข้าชมโรงไฟฟ้า ดูขั้นตอนการผลิต การควบคุมมลภาวะต่าง ๆ ไม่ใช่การสร้างภาพแต่เป็นสิ่งที่เขาได้พบเห็นจริง
กฟผ.แม่เมาะ ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติ สามารถเข้าไปพักผ่อนภายในกฟผ.แม่เมาะ ซึ่งได้มีการปรับปรุงสถานที่ปลูกต้นไม้ คืนความสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ โดยเฉพาะที่หลุมขุดถ่านหิน มีการจัดบริเวณไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชมการขุดถ่านหินลิกไนต์ได้อย่างกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา
แหล่งท่องเที่ยวภายในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
สวนพฤกษชาติ หรือ ศาลาชมวิว เป็นบริเวณที่ทิ้งดินจากการทำเหมือง ซึ่งได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยการปลูกต้นไม้ในวรรณคดี ไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ นอกจากนั้นในบริเวณนี้ยังมีลานสไลเดอร์ให้เด็ก ๆได้เล่น
อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภายในบริเวณมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงมีพระบรมราชโอการให้สงวนถ่านลิกไนต์ที่แม่เมาะและกระบี่ ไว้ใช้ประโยชน์ในราชการเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีห้องจัดแสดงเทิดพระเกียรติ รัชกาลที่ 7 ห้องธรณีวิทยาจัดแสดงด้วยระบบ 3 มิติ ห้องเหมืองและโรงไฟฟ้า รวมทั้งห้องจำหน่ายของที่ระลึก ความโดดเด่นของห้องจัดแสดงต่างๆให้ข้อมูลเป็นสื่อมีเดียที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย
ทุ่งบัวตอง อยู่บริเวณที่ทิ้งดินด้านตะวันออกของบ่อเหมือง พื้นที่กว่า 500 ไร่ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ดอกบัวตองจะบานสะพรั่งเหลืองอร่าม บริเวณนี้เป็นจุดชมวิวที่มีความสูงอยู่ในระดับเทียบเท่าปล่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะ สามารถชมวิวบริเวณรอบ กฟผ.แม่เมาะและอำเภอแม่เมาะ
จุดชมวิวด้านบ่อทิศตะวันตก ชมการทำเหมืองเปิดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้เครื่องจักรกลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความลึกของบ่อเหมือง ประมาณ 200 - 300 เมตรจากระดับผิวดิน
จาก เชียงใหม่นิวส์
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
|