ลองไปค้น ข้อมูล ของสนามกอล์ฟ แห่งนี้ มาเพิ่มเติม ให้ครับ
เชียงใหม่ ค.ศ.1898 110 ปีที่แล้ว พื้นที่กว้างประมาณกว่า 102 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่แห่งนี้ ถูกซื้อโดยคณะบุคคล 14 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้จัดการบริษัทสัมปทานป่าไม้ของบริษัทบอมเบย์ เบอร์ม่า บริษัทบอร์เนียว ข้าราชการกรมป่าไม้ของไทยและที่มาจากประเทศอังกฤษ อาทิ W.G.Peining,G.J.Gray, R.G.Macfarlane, W.R.D.Beckett, T.H.Lyle, J.Happer, R.J.Chldecott, L.T. Leo nowens, R.Martin, D.F.Macfie, W.W.Wood, E.G.Anderson, H. Slade ผู้เชี่ยวชาญด้านการป่าไม้จากอังกฤษ ถูกแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทยให้เป็นอธิบดีกรมป่าไม้คนแรก, พระยาทรงสุรเดช ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทยให้ดูแลด้านการป่าไม้ที่ภาคเหนือ
สนนราคาของพื้นที่แห่งนี้เพียง 2,500 รูปี ว่ากันว่า เป้าหมายของการจัดซื้อผืนนี้คือ ให้เป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ในกลุ่มพ่อค้าวาณิชจากต่างชาติ หรือที่คนเมืองล้านนาไทย เรียกอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า "ฝรั่ง" ซึ่งขณะนั้นมีวัฒนธรรมแปลกแยกจากสังคมล้านนาไทยค่อนข้างสูง ต่อมาสถานที่แห่งนี้ถูกเรียกชื่อว่า "สโมสรเชียงใหม่ยิมคานา" (The Chiang Mai Gymknana Club) โดย มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมกีฬาทุกชนิดในภาคเหนือของไทย และให้เป็นที่พบปะสังสรรค์ของสมาชิกและครอบครัว หลายคนลงความเห็นว่า เชียงใหม่ยิมคานาน่าจะเป็นคลับแห่งแรกของประเทศหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เคยเขียนไว้ในคอลัมน์เงาประวัติศาสตร์ เรื่อง "บาบูศตวรรษที่ 21" ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันว่า กลุ่มคนอังกฤษเมื่อไปอยู่ ณ ที่แห่งใดก็มักจะตั้งคลับขึ้นที่นั่น เพราะคนอังกฤษตั้งแต่หัดกินจินเป็นก็กินมาตลอด และการจะกินจินให้อร่อยปากมากๆ ต้องไปกินกันที่คลับ
คนอังกฤษที่อินเดียหรือไทยก็ชอบตั้งสปอร์ตคลับ โปโลคลับ หรือยิมคานาคลับ วิถีชีวิตต่างแดนของคนอังกฤษ คือ ตื่นแต่เช้าและแต่งเนื้อแต่งตัวไปทำงาน เพื่อเซ็นหนังสือที่ บาบู หรือลูกจ้างชาวอินเดียที่เคยสอนด้านบัญชี หรือการบริหารเล็กๆ น้อยๆ เตรียมเอาไว้ พอเสร็จประมาณ 10-11 โมงก็จะนั่งรถไปที่ยิมคานาคลับ เล่นไพ่ป็อกแล้วก็กินจินไปด้วย หรือไม่ก็เล่นคริกเกตแล้วกินจิน จากนั้นก็กลับมาที่สำนักงานเซ็นหนังสือที่บาบูเตรียมไว้อีกครั้ง ประมาณ 4-5 โมงเย็นก็กลับบ้านไปอาบน้ำแต่งตัว ใส่ชุดค็อกเทลปาร์ตี้ไปกินจินต่อ
กล่าวกันว่า สำหรับแผ่นดินทางตอนเหนือของประเทศไทย อันได้แก่ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหัวเมืองศูนย์กลางของล้านนา ได้มีชาวต่างชาติทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามาทำธุรกิจป่าไม้ประมาณปีค.ศ.1878 (ยุคเจ้าผู้ครองนคร-ประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ไม่นับกลุ่มมิชชันนารีที่ให้การช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและการศึกษา พร้อมกับการเผยแพร่ศาสนาก่อนหน้านี้แล้ว