พึ่งไปถ่ายรูปมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาครับ เอารูปมาให้ชมกัน
ที่ตั้งและอาณาเขตวัดสวนดอกตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เลขที่ 139 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากประตูสวนดอกไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร กินเนื้อที่ 35 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา ทิศเหนือยาว 183 เมตร ทิศใต้ยาว 193 เมตร ทิศตะวันออกยาว 176 เมตร และทิศตะวันตกยาว 176 เมตร
ประวัติวัดสวนดอกในอดีตนั้นป็นสวนดอกไม้ (ต้นพยอม) ของเจ้านายฝ่ายเหนือใน ราชวงศ์เม็งราย โดยในปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ) พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็น "พระอารามหลวง" เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ "พระมหาเถระสุมน" ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐาน "พระบรมสารีริกธาตุ" 1 ใน 2 องค์ ที่ "พระมหาเถระสุมน" อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ ใน วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)
ในสมัย ราชวงศ์เม็งราย
วัดสวนดอก มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้น ราชวงศ์เม็งราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป
วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัย พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่ง ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และได้รับการทำนุบำรุงจาก เจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด
วัดสวนดอก ต่อได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา
ปูชนียสถาน-วัตถุพระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาพระเจดีย์วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะใหม่และหุ้มแผ่นทองจังโก
พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1914 ในรัชกาลของพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "พระอารามหลวง" โดยโปรดเกล้าให้สร้าง "พระเจดีย์ทรงลังกา" ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระมหาเถระสุมนได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 ซึ่งแต่เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) อยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์ใหญ่ แต่ได้ปรักหักพังลง พระเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478
พระเจ้าเก้าตื้อพระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง ("ตื้อ" เป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง) พระญาเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047 "พระเจ้าเก้าตื้อ" เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย หน้าตักกว้าง 8 ศอก หรือ 3 เมตร สูง 4.70 เมตร เพื่อเป็นพระองค์ประธานใน วัดพระสิงห์ แต่เนื่องมีน้ำหนักมากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์เป็นพระวิหาร พระราชทานชื่อว่า "วัดเก้าตื้อ" แทน ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ในปี พ.ศ. 2475 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478
พระพุทธปฏิมาค่าคิงพระพุทธปฏิมาค่าคิง (เท่าพระวรกาย) เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง สร้างในสมัยพระเจ้ากือนา พ.ศ. 1916 หล่อด้วยทองสำริด ขนาดเท่าพระวรกายของพระเจ้ากือนา หน้าตักกว้างสองเมตร สูงสองเมตรครึ่ง เรียกชื่อตามภาษาถิ่นล้านนาว่า “พระเจ้าค่าคิง”
กู่เจ้านายฝ่ายเหนือกู่บรรจุพระอัฐิพระราชชายา เจ้าดารารัศมี
กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2450 โดยพระดำริใน พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายเหนือใน ราชตระกูล ณ เชียงใหม่ ซึ่งทรงเห็นว่าทำเลที่ตั้งของวัดสวนดอกกว้างขวาง จึงโปรดให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิของ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน ณ ที่นี่ รวมทั้งได้ประทานทรัพย์ให้การทำนุบำรุงมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ หลังจาก พระราชชายา เจ้าดารารัศมี สิ้นพระชนม์ ได้มีการแบ่งพระอัฐิของพระองค์มาประดิษฐานไว้ ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ แห่งนี้ (อีกส่วนหนึ่งแบ่งประดิษฐานไว้ใน สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร) ปัจจุบัน กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ แห่งนี้ ได้ถูกจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478
ธรรมาสน์เทศนาธรรมาสน์เทศนาแบบล้านนา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2474 และซุ้มประตูวัด จำนวน 3 ซุ้ม เป็นซุ้มประสาทแบบล้านนาขนาดใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อครูบาศรีวิชัยบูรณะวัดสวนดอกเมื่อ พ.ศ. 2474
อาคารเสนาสนะในวัดสวนดอก ๑ . พระวิหารหลวง พระวิหารหลวงมีขนาดกว้าง 12 วา 2 ศอก ยาว 33 วาสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2474 สร้างขึ้นโดยครูบาศรีวิชัยและเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นวิหารโล่ง ไม่มีผนังแต่มีระเบียงโดยรอบ หน้าบันทั้ง 2 ด้านมีลายปูนปั้นเครือเถาศิลปะแบบล้านนาที่สวยงาม พระวิหารหลวงนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่8 มีนาคม พ.ศ.2478
๒ . พระอุโบสถที่ประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระอุโบสถกว้าง 12 เมตรยาว 27 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2047 เป็นอาคารคอนกรีตก่ออิฐถือปูน ซึ่งเป็นศิลปะแบบล้านนาโดยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุด เมื่อพ.ศ. 2505 ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังโดยจิตรกรรุ่นใหม่เกี่ยวกับพุทธประวัติและเวสสันดรชาดก
๓ . หอฉัน เป็นอาคารชั้นเดียว กว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตรภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับ เรื่องพระเจ้าสิบชาติ หอฉันนี้สร้างใน ปีพ.ศ. 2519
๔. ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารทรงไทยแบบก่ออิฐถือปูน สร้างขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ.2532 เป็นศาลากว้าง 7 เมตร ยาว 27 เมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระครูสุคันธศีล (คำแสน อินทจกโก )
๕. อาคารเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยวิทยาเขตเชียงใหม่ (อาคาร1) เป็นอาคาร3ชั้นกว้าง20เมตรยาว40เมตร สร้างเสร็จเมื่อปีพ.ศ.2536
๖. อาคารเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ อาคาร ช้อย นันทาภิวัฒน์ (อาคาร2) เป็นอาคาร 4 ชั้น กว้าง 10 เมตร ยาว 40 เมตรสร้างเสร็จเมื่อพ.ศ.2538
๗. อาคารสถาบันวิทยาบริการ( อาคาร ธีระศักดิ์ ไพโรจน์สถาพร) เป็นอาคารแบบ 3 หลัง สร้างเมื่อปีพ.ศ.2539
๘. ศาลาอเนกประสงค์สมโภชนครเชียงใหม่ 700 ปี เป็นอาคาร 2 ชั้น ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมื่อพ.ศ. 2538
๙. กุฏิสงฆ์ สร้างขึ้นในบริเวณวัดเพื่อเป็นที่พักของพระสงฆ์มีจำนวนทั้งสิ้น 21 หลังกุฏิสงฆ์ มีลักษณะพิเศษคือ ศาลาฝาไหลซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81_(%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87)
ตำแหน่งที่ตั้ง แผนที่ เส้นทางการเดินทางhttp://maps.google.co.th/maps/ms?hl=th&ie=UTF8&msa=0&ll=18.79046,98.96898&spn=0.002798,0.006416&t=h&z=18&msid=108731746739764096750.00046fc248c86339d8a2a