ตามรอยครูบาศรีวิชัยไปบูรณะวัดสวนดอก
"วัดสวนดอก เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่สร้างขึ้นอย่างสวยงามอีกทั้งยังมีพระพุทธรูปองค์สำคัญของเชียงใหม่ประดิษฐานอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนมากมายพากันไปกราบไหว้อยู่อย่างไม่ขาดสาย นอกเหนือจากที่วัดสวนดอกจะเป็นวัดสำคัญคู่เมืองเชียงใหม่แล้ว ในบริเวณวัดยังเป็นที่ประดิษฐานของกู่บรรจุอัฐิเชื้อพระวงศ์เจ้านายฝ่ายเหนือต้นตระกูล ณ เชียงใหม่"
วัดสวนดอก เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากประตูเมืองนัก ด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่สร้างขึ้นอย่างสวยงามอีกทั้งยังมีพระพุทธรูปองค์สำคัญของเชียงใหม่ประดิษฐานอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนมากมายพากันไปกราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย นอกเหนือจากที่วัดสวนดอกจะเป็นวัดสำคัญคู่เมืองเชียงใหม่แล้ว ในบริเวณวัดยังเป็นที่ประดิษฐานของกู่บรรจุอัฐิเชื้อพระวงศ์เจ้านายฝ่ายเหนือต้นตระกูล ณ เชียงใหม่อีกด้วย
แต่เดิมวัดสวนดอกสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้ากือนา กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ระหว่างปี พ.ศ.1898 - 1928 พระองค์ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก จึงได้อัญเชิญพระมหาสุมนเถระจากเมืองสุโขทัยมาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.1914 พระเจ้ากือนาทรงสร้างวัดบุปผาราม หรือ วัดสวนดอกในอุทยานป่าไม้พยอมเพื่อเป็นที่จำพรรษาของพระสุมนเถระ จากนั้นพระองค์จึงโปรดฯให้สร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย โดยประดิษฐานไว้ที่วัดบุปผารามและวัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดสวนดอกจึงเป็นศูนย์กลางของศาสนานิกายลังกาวงศ์หรือเรียกว่า "นิกายวัดสวนดอก" เนื่องจากพระสุมนเถระได้บวชเรียนมาจากสำนักของพระมหาสวามีอุทุมพรที่เมืองเมาะตะมะ ในรามัญประเทศ
วัดบุปผารามหรือวัดสวนดอกได้เจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนามายาวนานนับร้อยปี จนกระทั่งสมัยพระเจ้าเมืองเกศเกล้า เมื่อล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าพระอารามที่สำคัญ ๆ ของล้านนาไทยหลายแห่งก็ได้ทรุดโทรมลงจนกลายเป็นวัดร้างวัดห่าง บางส่วนถูกทอดทิ้งให้ชำรุดผุพังไปอย่างน่าเศร้าใจ วัดสวนดอกจากที่เคยเป็นแหล่งเผยแพร่การศึกษาของพระสงฆ์ มีพระมหาเถระชั้นนักปราชญ์ทรงคุณธรรมพำนักอยู่หลายท่าน ทั้งยังเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมล้านนาที่สวยงามก็ทรุดโทรมไปตามสภาพ พระวิหารก็ถูกพายุพัด ปรักหักพัง ซุ้มประตูอันงามวิจิตรและกำแพงก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมขาดผู้คนดูแล
ปี พ.ศ.2450 เจ้าแก้วนวรัฐ ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายพร้อมด้วยพระราชชายาเจ้าดารารัศมีมีความดำริที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสวนดอก จึงได้อาราธนานิมนต์ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา มาเป็นประธานในการบูรณะวัดสวนดอกครั้งนั้น ตามประวัติการสร้างวัดสวนดอกบันทึกไว้ว่า "ครั้นถึงวันพฤหัสบดี แรม 10 คา เดือน 10 เหนือ พ.ศ. 2474 ได้ฤกษ์ปุณณดิถี จึงได้เริ่มขุดรากฐานพระวิหาร ยาว 33 วา กว้าง 12 วา กับ 2 ศอก และเสาจำนวน 56 ต้น พร้อมกันนั้นก็ได้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์บูรณะกำแพงและซุ้มประตูไปด้วย ด้วยอำนาจบุญบารมีครูบาเจ้าศรีวิชัย ผู้ยิ่งด้วยทาน ศีล เมตตา สัจจะ อธิษฐานบารมีก็เลื่องลือไปทุกสารทิศ จนมีพุทธศาสนิกชนนักศีล นักบุญทั้งหลายมาชื่นชมยินดีช่วยสละทรัพย์บริจาคตามศรัทธา"
ในการบูรณะวัดสวนดอกครั้งนั้นพระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้ทรงพิจารณาเห็นว่า กู่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และพระญาติวงศ์ทั้งหลายที่ตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันตกเชิงสะพานนวรัฐ (ตลาดวโรรสปัจจุบัน) ไม่มีความเหมาะสมจึงได้ย้ายมาตั้งที่วัดบุปผารามสวนดอก ทุกปีในวันที่ 1 เมษายนจะมีการบวงสรวงดวงวิญญาณของเจ้านายฝ่ายเหนือที่บริเวณกู่บรรจุอัฐิในวัดสวนดอก เป็นการสักการะดวงวิญญาณของเจ้าผู้ครองนครและเชื้อพระวงศ์ในสายตระกูล ณ เชียงใหม่ โดยได้กระทำสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะตรงกับประเพณีปีใหม่เมืองในเดือนเมษายนด้วย
ปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัดสวนดอกได้แก่ พระเจ้าเก้าตื้อ สร้างในสมัยของพระแก้วเมืองมา หรือ พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช หล่อด้วยทองสำริดฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย ปางมารวิชัยใช้ทองคำมีน้ำหนัก 9 ตื้อ พระพุทธปฏิมาค่าคิง เป็นพระประธานในวิหารหลวง สร้างในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช หล่อด้วยทองสำริดขนาดเท่าพระองค์ของพระเจ้ากือนา พระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ สร้างในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระสุมนเถระนำมาจากสุโขทัย ตัวเจดีย์เป็นศิลปะลังกาวงศ์ผสมกับศิลปะล้านนา เจดีย์อนุสาวรีย์บรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย สร้างเมื่อปี พ.ศ.2490 กู่บรรจุอัฐิเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และเจ้านายฝ่ายเหนือ ต้นตระกูล ณ เชียงใหม่ สร้างประมาณ พ.ศ.2450 ธรรมาสน์แบบล้านนา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2474 และซุ้มประตูวัดจำนวน 3 ซุ้ม เป็นซุ้มทรงปราสาทแบบล้านนาสร้างเมื่อครั้งที่ครูบาศรีวิชัยบูรณะวัดสวนดอกเมื่อปีพ.ศ.2474
วัดสวนดอกไม้พยอม หรือวัดสวนดอกในปัจจุบัน เป็นวัดคู่เมืองเชียงใหม่ นอกเหนือจากสถาปัตยกรรมที่สวยงามดึงดูดให้นักท่องเที่ยวและผู้คนจากต่างถิ่นเข้ามาเยี่ยมชมกราบไหว้แล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางในการแผยแพร่พุทธศาสนาที่สำคัญของเชียงใหม่อีกด้วย.
จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]23/5/49