วัดพระสิงห์เชียงใหม่ เมื่อเอ่ยชื่อวัดพระสิงห์วรมหาวิหารเชื่อแน่ว่านักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศย่อมจะรู้จักและเคยได้เข้าไปนมัสการพระพุทธสิหิงค์หรือพระสิงห์กันมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะคนเชียงใหม่เองต่างเคารพศรัทธาพระพุทธสิหิงค์เป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ในทุกปีมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำกันในวันสงกรานต์หรือประเพณีปี๋ใหม่เมือง
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกที่อยู่คู่เชียงใหม่มาทุกยุคสมัย ถือเป็นวัดเก่าแก่สำคัญวัดหนึ่งของเชียงใหม่มีประวัติการก่อสร้างยาวนานถึง 600 กว่าปี วัดนี้ในอดีตเคยเป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ ความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับชื่อวัดพระสิงห์ที่สำคัญเห็นจะได้แก่
เมื่อครั้งที่ท้าวมหาพรหม เจ้าเมืองเชียงรายไปได้พระพุทธสิหิงค์ หรือที่ชาวเชียงใหม่เรียกว่า "พระสิงห์" มาจากเมืองกำแพงเพชรและได้นำขึ้นมาถวายให้พระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงเรือขึ้นมาตามแม่น้ำปิง เมื่อขบวนเรือมาถึงเชียงใหม่ เป็นเวลาค่ำแล้วจึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นจากเรือ แล้วนำไปประดิษฐานไว้บนบกที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง
ปรากฏว่าในคืนนั้นได้เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์ขึ้น โดยได้มีแสงสว่างลุกโชติช่วงขึ้นที่องค์พระพุทธสิหิงค์ แสงสว่างนี้เป็นลำยาวขึ้นไปบนท้องฟ้าพาดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ที่พบเห็นต่างเชื่อว่า นี่เป็นอภินิหารของพระพุทธสิหิงค์ ต่างพากันมากราบไหว้ด้วยความศรัทธา จากนั้นจึงนำขึ้นประดิษฐานบนราชรถบุษบก ตั้งขบวนแห่แหนลากจากท่าน้ำวังสิงห์คำ เพื่อจะนำไปประดิษฐานที่วัดสวนดอก แต่พอขบวนลากราชรถมาถึงวัดลีเชียงพระ ราชรถก็หยุดเสียเฉย ๆ แม้ผู้คนจะช่วยกันลากอย่างไรก็ไม่ไป
พระเจ้าแสนเมืองมา จึงได้อาราธนาอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์เข้าประดิษฐานไว้ในวิหารวัดลีเชียงพระ แล้วจัดให้มีการฉลองสมโภชขึ้น นับแต่นั้นมา พระพุทธสิหิงค์จึงได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดลีเชียงพระ ผู้คนชาวเชียงใหม่จึงเรียกวัดนี้ใหม่ว่า วัดพระสิงห์ สมัยก่อนที่วัดนี้จะถูกเรียกว่าวัดพระสิงห์นั้น เดิมมีชื่อว่า วัดลีเชียงพระ เพราะตั้งอยู่ใกล้ตลาด ชาวบ้านเรียกตลาดที่อยู่กลางเวียงว่า "กาดลี" คำว่า "เชียง" ก็คือ เวียง หรือ เมือง ดังนั้นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาดเมืองจึงเรียกว่า "วัดลีเชียงพระ" ซึ่งแปลว่า "วัดตลาดเมือง" ครั้นเมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ลำดับที่ 8 แห่งราชวงศ์มังรายได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงรายมาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ แล้วจึงเรียกชื่อว่า วัดพระสิงห์
วัดพระสิงห์ ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองเชียงใหม่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในบริเวณวัดมีโบราณสถานที่สำคัญและเก่าแก่ เช่น วิหารวัดพระสิงห์ เดิมสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโรรส ต่อมาเมื่อวิหารชำรุดทรุดโทรมลง ศรัทธาประชาชนจึงไปนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาบูรณะและสร้างใหม่หมดทั้งหลัง ซึ่งสร้างเป็นศิลปแบบล้านนาผสมเชียงแสน ความโดดเด่นของวิหารวัดพระสิงห์ก็คือความชันของหลังคาจะกลมกลืนกับตัวอาคารที่สร้างด้วยอิฐฉาบปูน ครึ่งอิฐครึ่งไม้มีฝากบ แผนผังของโบสถ์วิหารที่สร้างกันเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดา โดยมากเป็นโรงใหญ่ไม่มีระเบียงล้อมรอบ ดังนั้นเสาภายนอกอาคารจึงไม่แสดงความสำคัญเหมือนโบสถ์วิหารในรุ่นต่อมา ประตูทางเข้ามักจะมีรูปปั้น มีซุ้ม ส่วนมากจะทำเป็นรูปพญานาค สิงห์ หรือนกยูง อันเป็นศิลปะของพุกาม
วิหารลายคำในวัดพระสิงห์ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ์ราช หรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาไทย องค์ที่ 13 พระองค์ทรงเห็นว่าวัดพระสิงห์ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงโปรดให้บูรณะวัดพระสิงห์ใหม่ แล้วสร้างวิหารลายคำเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ วิหารลายคำนี้มีลวดลายปูนปั้นที่สวยงามปราณีตบรรจงมากแสดงให้เห็นฝีมือของช่างในยุคนั้นว่าเจริญถึงที่สุด ตัววิหารลายคำสร้างตามแบบศิลปกรรมของภาคเหนือ มีรูปปั้นพญานาค 2 ตัวอยู่บันไดหน้า และใกล้ ๆ พญานาคมีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว บริเวณฝาผนังในวิหารลายคำมีภาพเขียนสีน้ำมันด้วยฝีมือของช่างสกุลล้านนา ด้านทิศเหนือเขียนเรื่องสุวรรณหอยสังข์ ด้านทิศใต้เขียนภาพสุวรรณหงส์ ภาพบางส่วนถูกน้ำฝนและความชื้นทำให้ลบเลือนไป ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะตัววิหารลายคำให้มั่นคงแข็งแรง ภายในวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้างประมาณ ศอกเศษ พระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดพระสิงห์นี้เป็น 1 ใน 3 ของพระพุทธสิหิงค์ในเมืองไทย เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะสวยงาม พระองค์อวบอ้วน พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้นขาดเหนือถัน นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ไม่เสมอกัน วงพักตร์สั้นกลม ขนงโกง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุเป็นปม เส้นพระศกใหญ่ไม่มีไรพระศกเป็นขอบ ตอนต่อกับวงพระพักตร์ พระเมาลีเป็นต่อมคล้ายดอกบัวตูม ฐานเป็นบัวหงายมีกลีบน้อยแซมตอนชั้นบนและมีเกสร เป็นลักษณะของพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นเก่า ทุกปีเมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์หรืองานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ทางราชการจึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมืองเพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้พากันมาสรงน้ำเนื่องในเทศกาลปีใหม่
วัดพระสิงห์ นอกจากจะมีประวัติการก่อสร้างมายาวนานจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกแล้วนั้น วัดพระสิงห์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่ที่ให้ความศรัทธาและจะเดินทางมาเคารพสักการะกันอย่างเนื่องแน่นเป็นประจำ ดังนั้นโบราณสถานโบราณวัตถุและศิลปกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในวัดนี้จึงมีคุณค่ายิ่งต่อจิตใจของชาวเชียงใหม่อย่างแยกจากกันไม่ออก
จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected].
9/1/52