ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
พฤศจิกายน 27, 2024, 11:58:58 AM
หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก
ข่าว: ประกาศ การกระทำใดๆ  เพื่อที่จะให้กระทู้ตัวเองมาอยู่อันดับต้นๆ ประจำ หากพิจารณาแล้วว่า ไม่เกิดประโยชน์กับผู้เข้าชม  ก็รับสิทธิ์โดนแบนเหมือนกันครับ


จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ  |  เชียงใหม่ ท่องเที่ยว - ข่าวสารเกี่ยวกับเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือ  |  หัวข้อ: สืบสานวัฒนธรรมประเพณีปีใหม่เมือง ประจำปี 2559 (Page 1-4) 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: 1 ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: สืบสานวัฒนธรรมประเพณีปีใหม่เมือง ประจำปี 2559 (Page 1-4)  (อ่าน 2862 ครั้ง)
Traveller Freedom
Sr. Member
****
กระทู้: 416



ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: เมษายน 20, 2016, 11:12:43 AM »


สืบสานวัฒนธรรมประเพณีปีใหม่เมือง ประจำปี 2559 (Page 1)

สถานที่จัดงาน : คูเมืองเชียงใหม่, ข่วงประตูท่าแพ, ข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์, วัดในเมืองเชียงใหม่

    เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของพี่น้องชาวไทย ซึ่งสำหรับชาวล้านนาแล้ว ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งเหนือสิ่งอื่นใด เพราะเป็นวัน “กำเนิดเมือง” หรือวันที่เริ่มสถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาโดยพญามังรายมหาราช และพระสหายอีกสองพระองค์ ชาวล้านนาจึงกำหนดให้วันสงกรานต์ตามปฏิทินของไทยเป็นวันที่ตรงกับวัน “ปีใหม่เมือง” ของเมืองเชียงใหม่ตามปฏิทินของล้านนานั้นเอง

    ปีใหม่เมือง เป็นการเปลี่ยนศักราชใหม่ แปลว่า การก้าวล่วงเข้าไป เป็นกิริยาของพระอาทิตย์ที่เคลื่อนย้ายเข้าสู่ราศีเมษ จึงเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี แนวคิดหลักเกี่ยวกับประเพณีปีใหม่เมืองอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนศักราชใหม่ เป็นโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้มาอยู่ร่วมกันเพื่อทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ดำหัว เล่นน้ำ และขอพรจากผู้ใหญ่ เป็นการแสดงความปรารถนาที่ดีต่อกันด้วยการอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยประเพณีปีใหม่เมืองจะมีกิจกรรมต่อเนื่องกัน 4 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ซึ่งเรียกว่า “วันสังขานล่อง” วันที่ 14 เมษายน เป็น “วันเน่า” วันที่ 15 เมษายน เป็น “วันพญาวัน” และวันที่ 16 เมษายน เรียกว่า “วันปากปี๋”

    เริ่มต้นในวันแรกที่ วันสังขานล่อง เป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนไปสู่ราศีเมษ ปัจจุบันกำหนดเอาวันที่ 13 เมษายน หลังเที่ยงคืนวันที่ 12 จะมีเสียงตีเกราะเคาะไม้ จุดประทัดเพื่อไล่สังขาน ตามที่ได้ยินการเล่าขานของผู้อาวุโส แต่เดิมจะมีขบวนแห่สังขาน ซึ่งแห่จากเหนือไปใต้ วันนี้สมาชิกในครอบครัวจะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน ทั้งบนเรือนและใต้ถุน ถือได้ว่าวันนี้เป็นวันสาธารณสุข บางท้องถิ่นจัดทำคานหามใส่ดอกไม้ ธูปเทียน ต้นดอก ต้นเทียน เรียกกันว่า “ต้นสังขาน” ชาวบ้านทุกคนจะเอาข้าวแป้งทาตามเนื้อตามตัว จากนั้นเอาข้าวแป้งไปรวมกัน ปั้นคล้ายรูปคนใส่คานหาม แล้วจึงพากันแห่เป็นขบวนเอาคานหามไปลอยน้ำเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์

    วันสำคัญอีกวันหนึ่งของประเพณีปีใหม่เมือง คือ วันเน่า ถือเป็นวันที่สองของปีใหม่เมือง ซึ่งจะตรงกับวันที่ 15 เมษายน เป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยังเนาอยู่ระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ ในแง่โหราศาสตร์ถือเป็นวันไม่ดี ไม่ส่งเสริมมงคล และเชื่อว่าหากใครด่าทอ ทะเลาะ วิวาทกัน จะทำให้ปากเน่าเหม็นเป็นอัปมงคลตลอดทั้งปี วันนี้จะไม่ดุด่าว่าร้ายให้แก่กัน สำหรับเหตุที่ทางล้านนาเรียกวันนี้ว่าวันเน่า เพราะเชื่อตามวรรณกรรมที่มีการกล่าวขานกันมาว่า นานมาแล้วยังมีพญาตนหนึ่งได้ตายจากไปในวันหลังวันสังขารล่อง แล้วกลายไปเป็นเปรตหัวเน่า คนจึงเรียกวันนี้ว่า วันเน่า

by Traveller Freedom


* OaEAeaAI_1.JPG (342.08 KB, 667x1000 - ดู 285 ครั้ง.)

* OaEAeaAI_2.JPG (307.21 KB, 1000x667 - ดู 264 ครั้ง.)

* OaEAeaAI_3.JPG (336.26 KB, 667x1000 - ดู 250 ครั้ง.)

* OaEAeaAI_4.JPG (400.13 KB, 1000x667 - ดู 337 ครั้ง.)

* OaEAeaAI_5.JPG (340.74 KB, 667x1000 - ดู 353 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
Traveller Freedom
Sr. Member
****
กระทู้: 416



ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: เมษายน 20, 2016, 11:16:51 AM »


สืบสานวัฒนธรรมประเพณีปีใหม่เมือง ประจำปี 2559 (Page 2)

สถานที่จัดงาน : คูเมืองเชียงใหม่, ข่วงประตูท่าแพ, ข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์, วัดในเมืองเชียงใหม่

    คนล้านนามีความเชื่อเรื่องวันเน่าว่า ถ้าหากผู้ประสงค์จะปลูกเรือนไม้ไผ่ ให้รีบตัดไม้ภายในวันนี้ เพราะเชื่อว่าไม้จะไม่เน่าและไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว วันเน่านี้ บางปีจะมีสองวัน บางปีจะมีวันเดียว ส่วนมากจะมีวันเดียว ที่มีสองวันเพราะการนับวันตามแบบจันทรคตินั้น สี่ปีจะมีเดือนสิบ 2 หนแบบไทยล้านนาครั้งหนึ่ง หรือสี่ปีจะมีเดือนแปด 2 หนตามแบบไทยภาคกลางครั้งหนึ่ง หรืออาจเกี่ยวข้องกับการคำนวณวันเวลาตามแบบโหราศาสตร์ที่ตกทอดกันมาแต่ดั้งเดิม

    ในวันเน่านี้ ตลาดเช้าของแต่ละหมู่บ้านจะคึกคักเป็นพิเศษ ตั้งแต่เช้ามืดจะมีคนเต็มตลาด ทั้งพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านชาวเมือง ที่มาจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของกินของใช้ต่างๆ นานาที่จำเป็นต้องใช้ในประเพณีปีใหม่เมือง เช่น ช่อ ตุง ข้าวตอก ดอกไม้ หมากเหมี้ยง เสื้อผ้า ครัวดำหัว และผลไม้ เพื่อใช้ในการทำบุญและดำหัวผู้มีพระคุณ สมัยโบราณลูกสาวของแต่ละบ้านจะตื่นเช้าเป็นพิเศษ เพื่อมาตำข้าวแป้ง หรือโขลกแป้งข้าวเหนียวไว้ทำขนมจ็อกหรือขนมเทียน หนุ่มๆ ก็จะตื่นเช้าเป็นพิเศษเช่นกัน เพื่อถือโอกาสไปอู้สาวตำข้าว หนุ่มใดชอบสาวใด ก็จะไปยังผามมองที่สาวคนนั้น ไปตำข้าวแป้ง “ผามมอง” หรือโรงกระเดื่องนี้ ในอดีตจะมีทุกบ้าน บางท้องถิ่นสามสี่บ้าน จะรวมกันใช้ผามมองร่วมกัน จึงเป็นโอกาสพบปะระหว่างหนุ่มสาวได้พบปะกัน

    ในช่วงสายของวันเน่า แม่บ้านพ่อเรือนจะช่วยกันเตรียมขนมที่จะใช้ทำบุญ ดำหัวและเลี้ยงแขก เป็นของฝากญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมเยือน ในอดีตพ่อเรือนมักจะนิยมดองเหล้าไว้ล่วงหน้า โดยใช้กรรมวิธีแบบโบราณ ส่วนขนมที่มักนิยมทำกันในช่วงปีใหม่ ได้แก่ ข้าวหนมจ็อก ข้าววิตูหรือข้าวเหนียวแดง ข้าวต้มหัวงอก ข้าวต้มมัด ข้าวหนมจั้น ข้าวแคบ ข้าวควบ ข้าวแตน ข้าวหนมเกลือ ข้าวหนมลิ้นหมา เป็นต้น แป้งทำขนมก็ได้จากการนำข้าวไปตำที่ครกกระเดื่อง ไม่ได้ซื้อหากันอย่างปัจจุบันนี้ ส่วนอาหารก็มักจะเป็นห่อนึ่งปลีใส่เนื้อไก่ ใส่วุ้นเส้น ห่อนึ่งหน่อส้มใส่ไก่ แกงอ่อม แกงฮังเล จิ้นส้ม เป็นต้น

    ประเพณีขนทรายเข้าวัด ส่วนใหญ่นิยมขนทรายกันในวันเน่า มีบางท้องถิ่นขนทรายในวันพญาวัน ทรายส่วนใหญ่ในอดีตจะต้องพากันเดินไปเอาทรายที่แม่น้ำใหญ่ เพราะช่วงเดือนเมษายนน้ำจะแห้งขอด จะเกิดหาดทรายขึ้นทั่วไป เช่น คนในเมืองเชียงใหม่จะถือขันสลุงไปตักทรายแม่น้ำปิงตรงเชิงสะพานนวรัตน์ มาก่อเจดีย์ทรายที่วัดของตน ขณะขนทรายเข้าวัด กล่าวคำขนทรายเข้าวัดเป็นภาษาบาลีว่า "อะโห วะตะ เม วาลุกัง ติระตะนานัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ" วนไปวนมาจนขนทรายเสร็จ

by Traveller Freedom


* OaEAeaAIb_1.JPG (458 KB, 667x1000 - ดู 312 ครั้ง.)

* OaEAeaAIb_2.JPG (390.27 KB, 1000x667 - ดู 301 ครั้ง.)

* OaEAeaAIb_3.JPG (402.12 KB, 1000x667 - ดู 376 ครั้ง.)

* OaEAeaAIb_4.JPG (404.87 KB, 667x1000 - ดู 295 ครั้ง.)

* OaEAeaAIb_5.JPG (402.39 KB, 1000x667 - ดู 307 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 20, 2016, 04:37:45 PM โดย Traveller Freedom » บันทึกการเข้า
Traveller Freedom
Sr. Member
****
กระทู้: 416



ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: เมษายน 20, 2016, 11:18:29 AM »


สืบสานวัฒนธรรมประเพณีปีใหม่เมือง ประจำปี 2559 (Page 3)

สถานที่จัดงาน : คูเมืองเชียงใหม่, ข่วงประตูท่าแพ, ข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์, วัดในเมืองเชียงใหม่

    การขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย ถือเป็นกิจกรรมสำคัญในงานประเพณีปีใหม่เมือง ซึ่งมีคติในการกำหนดรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น ก่อเป็นเจดีย์ทรายเล็กๆ เท่าจำนวนอายุ ก่อเจดีย์ทรายตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว เมื่อก่อเสร็จให้นำตุงเทวดา ตุงคน ตุงไส้หมู ตุงสิบสองราศี ช่อ ข้าวตอกดอกไม้ปักประดับเป็นพุทธบูชา บางวัดก็นิยมสานเสวียนเป็นชั้นๆ ขึ้นไป 3 ชั้น 5 ชั้น หรือทำเจดีย์ทรายขนาดใหญ่ 9 ชั้น เรียกว่า "เจดีย์ทรายสุดซ้าว" เพราะเปรียบเทียบความสูงยาวขนาดเท่ากับลำไม้ไผ่ที่เป็นแกนเสวียนสุงถึงปลายสุดไม้ไผ่ เจดีย์ขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้ทรายจำนวนมาก ดังนั้นการทำเจดีย์ทรายสุดซ้าว จะต้องอาศัยความสามัคคีความร่วมมือจากชาวบ้าน ในชุมชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ พระเจดีย์ทรายที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องเตือนให้น้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณ เช่นเดียวกับพระพุทธรูป ถือว่าได้อานิสงส์มาก ด้วยเหตุนี้จึงถือเป็นคตินิยมทำสืบต่อกันมา

    นอกจากการขนทรายเข้าวัดจะได้รับอานิสงส์ตามตำนานที่กล่าวมานี้แล้ว อีกประการหนึ่ง การขนทรายเข้าวัด ถือเป็นการชดเชยใช้หนี้คืนให้แก่ธรณีสงฆ์ เป็นการขอขมาต่อลานพระรัตนตรัย เพราะในอดีต ลานวัดจะปูด้วยทรายทั่วทั้งบริเวณ เรียกว่า "ลานทราย" มีคติความเชื่อว่าลานทรายเปรียบเสมือนทะเลสีทันดรที่รอบล้อมจักรวาล ส่วนโบสถ์วิหารหรือพระเจดีย์เปรียบเป็น “เขาพระสุเมรุ” ศูนย์กลางของจักรวาล ยอดสูงสุดของพระเจดีย์ที่เรียวแหลม เหมือนจะทะลุฟ้าขึ้นไปนั้นคือเป้าหมายสูงสุดของสัตว์ทั้งหลาย อันอาศัยอยู่ในมงคลจักรวาลเรานี้ นั่นคือเมืองแก้วมหาเนรพาน หรือพระนิพพานเป็นที่สิ้นสุด

    ดังนั้น ทรายที่อยู่ตามลานวัดนั้นถือเป็นของสงฆ์ ทั้งนี้มีคติความเชื่อที่ว่าการนำของสงฆ์ออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น จะเป็นบาปอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากการเดินเข้าข่วงลานวัดแล้วเดินออกไปจากวัด อาจจะมีดินทรายที่เยียบย่ำติดเท้าออกไปด้วย โดยที่เราไม่รู้ตัว เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่เมือง ก็จะมีการขนทรายเข้าวัดเพื่อใช้หนี้สงฆ์จะได้ชดเชยบาปที่เม็ดทรายติดตัวออกไป และทรายที่ขนมานั้นยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบูรณปฏิสังขรณ์ หรือนำไปใช้เพื่อปลูกสร้างสิ่งต่างๆ ภายในวัดให้เกิดประโยชน์ต่อไป

    ในวันเน่า ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีฝีมือในการตัดตุง จะนำกระดาษว่าวหลากสีมาตัดเป็นตุงรูปลักษณะต่างๆ เช่น ตุงไส้หมูหรือช่อพญายอ ตุงเทวดา ตุงคน ตุงสิบสองราศี ช่อนำทาน เพื่อเตรียมไว้ปักเจดีย์ทรายในวันพญาวัน ไม้ที่นิยมนำตุงไปมัดติด เช่น ต้นเขือง กิ่งไผ่ ต้นข่า ต้นกุ๊ก เป็นต้น การถวายทานตุงนี้ คนล้านนาเชื่อว่าหากเราตายไปตกอยู่ในนรกภูมิ ตุงที่เราทำถวายทานเป็นพุทธบูชานั้น จะไปกวัดแกว่งให้เราเกาะชายตุงนั้นไว้ ตุงจะนำพาเราให้รอดพ้นจากนรกอเวจี นำขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์

by Traveller Freedom


* OaEAeaAIC_1.JPG (477.84 KB, 667x1000 - ดู 237 ครั้ง.)

* OaEAeaAIC_2.JPG (477.68 KB, 667x1000 - ดู 303 ครั้ง.)

* OaEAeaAIC_3.JPG (373.16 KB, 667x1000 - ดู 315 ครั้ง.)

* OaEAeaAIC_4.JPG (606.76 KB, 667x1000 - ดู 335 ครั้ง.)

* OaEAeaAIC_5.JPG (382.71 KB, 750x1000 - ดู 289 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 20, 2016, 04:38:26 PM โดย Traveller Freedom » บันทึกการเข้า
Traveller Freedom
Sr. Member
****
กระทู้: 416



ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: เมษายน 20, 2016, 11:20:32 AM »


สืบสานวัฒนธรรมประเพณีปีใหม่เมือง ประจำปี 2559 (Page 4)

สถานที่จัดงาน : คูเมืองเชียงใหม่, ข่วงประตูท่าแพ, ข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์, วัดในเมืองเชียงใหม่

    พิธีลอยเคราะห์วันเน่า เป็นพิธีกรรมแบบโบราณในปัจจุบันไม่นิยมทำกันแล้ว ปรากฏในหนังสือตำราพิธีส่งเคราะห์แผนโบราณ โดย ตรีรัตน์ แม่ริม เขียนถึงพิธีลอยเคราะห์วันเน่าไว้ว่า เมื่อถึงวันเน่าของเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่เมือง ทุกๆ ปี ถ้าท่านต้องการให้หมดเคราะห์หมดภัย ให้อยู่สุขสบายนั้น ก็ให้ทำพิธีส่งเคราะห์ลอยเคราะห์วันเน่าตามพิธีโบราณ ให้ทำในวันเน่านั้น

    เมื่อถึงวันเน่าตอนเย็นๆ ก็เตรียมเครื่องบูชาไปสู่ท่าน้ำแม่ใหญ่ พร้อมแล้วให้อ่านคำโอกาสลอยเคราะห์ว่า “ดูกราเจ้ากู ข้าเกิดมาเพื่อเจ้ากูแล เท่าว่าเราอยู่จิ่มกัน ภัยก็เกิดมีมาชะแล เจ้ากูจุ่งรับเอายังเคราะห์วัน เคราะห์ยาม เคราะห์ปี เคราะห์เดือน เคราะห์กำเนิดเกิดมา สรรพเคราะห์ทั้งมวล อันมีในตนตัวแห่งข้านี้ไปกับตนเจ้ากู แล้วจุ่งกระทำนำมา ยังวุฒิสวัสดี ลาภะ ยัสสะ สัมปัตติ อันมาก แล้วจุ่งหื้อเป็นที่ไหว้ปูชาระหะ วันทาระหะแก่คนแลเทวดาทั้งหลาย ขอหื้อผู้ข้ามีศรีทีฆาอายุมั่นยืนยาว มั่งมูลทุ่นเท้า เป็นดังจักวรรดิคหบดี แลสิมพลีเถรเจ้านั้นเสี้ยงปีนี้ทั้งมวล แก่ผู้ข้าแด่เทอะ” ว่าดังนี้ 3 รอบแล้วเอาสะตวงเวียนแวดหัวผู้บูชานั้น 3 รอบแล้วปล่อยลอยแม่น้ำไปเสีย เอาน้ำส้มป่อยสระหัวลงในสะตวงนั้นด้วย แล้วกลับบ้านอย่าเหลียวคืนหลัง กลับถึงบ้านเลย

    วันพญาวัน คือวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าถึงราศีเมษ ในล้านนาจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขของจุลศักราชในวันนี้ ชาวบ้านจะตื่นกันแต่เช้า นึ่งข้าวและทำอาหาร เมื่อทุกอย่างพร้อมก็ยกไปประเคนถวายพระสงฆ์ที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนที่ล่วงลับไป เมื่อเสร็จจากการทำบุญที่วัด จะเตรียมข้าวปลาอาหารไปมอบให้กับญาติที่มีอายุ มีพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นต้น เมื่อถึงเวลาก่อนเที่ยงต่างคนต่างนำเครื่องไทยทาน น้ำขมิ้นส้มป่อย และตุงกระดาษไปรวมกันที่วัดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำเอาตุงไปปักที่กองเจดีย์ทราย จากนั้นนำน้ำส้มป่อยขึ้นไปเทรวมกันในภาชนะที่ตั้งไว้กลางวิหาร แล้วรอฟังธรรม

    วันปากปี๋ วันสุดท้ายของประเพณีปีใหม่เมือง จัดว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง เพราะถือเป็นวันแรกของปีใหม่ วันนี้คนล้านนาจะกินแกงขนุนกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ช่วงสายๆ ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่ใจบ้าน เพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บางแห่งอาจจะต่อด้วยพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขมาคารวะ ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว

by Traveller Freedom


* OaEAeaAID_1.JPG (331.71 KB, 667x1000 - ดู 245 ครั้ง.)

* OaEAeaAID_2.JPG (381.75 KB, 1000x667 - ดู 270 ครั้ง.)

* OaEAeaAID_3.JPG (405.71 KB, 1000x750 - ดู 250 ครั้ง.)

* OaEAeaAID_4.JPG (350.89 KB, 750x1000 - ดู 297 ครั้ง.)

* OaEAeaAID_5.JPG (286.91 KB, 667x1000 - ดู 315 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ขึ้นบน พิมพ์ 
จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ  |  เชียงใหม่ ท่องเที่ยว - ข่าวสารเกี่ยวกับเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือ  |  หัวข้อ: สืบสานวัฒนธรรมประเพณีปีใหม่เมือง ประจำปี 2559 (Page 1-4) « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  




Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.5 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 21 คำสั่ง