ตามรอยเส้นทางเดินทัพครั้งสุดท้าย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสถานที่ตั้ง : อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
พิกัด : 19.46347,98.96154
แม้ในอดีต กรุงศรีอยุธยากับอาณาจักรล้านนา ไม่ได้ผนึกเป็นทองแผ่นเดียวกันเหมือนดั่งเช่นแผ่นดินไทยในปัจจุบัน แต่ทั้งสองแผ่นดินก็เป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกัน อาจเพราะทั้งสองอาณาจักรได้ตกเป็นเมืองเชลยให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง แห่งกรุงหงสาวดี และในยุคสมัยนั้น หาได้มีกษัตริย์พระองค์ใดมีความยิ่งใหญ่เกรียงไกรเทียบเท่า
จนกระทั่งวันฟ้าเปิด พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ถือกำเนิด
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงกอบกู้เอกราชแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาให้กลับคืนสู่การเป็นอิสรภาพอีกครั้ง ครั้นไม่เพียงเท่านั้น ความโกรธาที่พม่ารามัญทำไว้กับพระองค์และกรุงศรีฯ หาได้เจือจางหลังประกาศอิสรภาพไม่ ท่านได้ทรงหาญกล้ายกทัพเต็มอัตราศึก ก้าวย่างลึกถึงแผ่นดินพม่า หมายบุกทำลายเมืองอังวะ ของพระเจ้านันทบุเรง หลังย้ายเมืองหนีมาจากกรุงหงสาวดี ซ้ำเผาทำลายสิ้น เพื่อล้างแค้นให้กับพระนางสุพรรณกัลยา พระพี่นางอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์และประชาชนกรุงศรีฯ การเดินทัพเพื่อหวังทำลายและล้างแค้นอริราชศัตรูครั้งนี้ เป็นการเดินทัพที่ใช้เส้นทางผ่านแผ่นดินล้านนา ด้วยอัตราพลกว่าสองแสน แยกเป็นสองทัพ ทัพหลวงของพระนเรศ ทัพรองของพระเอกาทศรถ หวังตีขนาบให้ราบสิ้น เมื่อมีวันฟ้าเปิดย่อมมีวันฟ้าปิด ใครเลยจะคาดคิด ว่าการเดินทัพครั้งนี้ จะเป็นการเดินทัพครั้งสุดท้าย ..ของพระองค์
เส้นทางเดินทัพครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ถูกสร้างเป็นอนุสรณ์สถาน ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน และจากการสืบค้นจากหลักฐานต่างๆ ปรากฏให้เห็นเป็นแนวเส้นทางเพื่อมุ่งไปเมืองอังวะ แต่พระองค์ได้ทรงประชวรระหว่างทาง และสวรรคตในเวลาต่อมา ตรงกับวันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 ด้วยพระชนมายุ 50 พรรษา ร่องรอยได้ถูกจารึกให้เห็นในพื้นที่
อำเภอเชียงดาว และอำเภอเวียงแหง โดยจะนำเสนอสถานที่ 4 แห่ง ดังต่อไปนี้
พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (บ้านเมืองงาย อำเภอเชียงดาว)
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงยกทัพมาพักแรม ณ บ้านเมืองงายแห่งนี้ เพื่อรอการระดมทหารล้านนาเข้ามาสมทบ เมื่อครั้นยกทัพหลวงออกจากเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าไปยังเมืองอังวะ ในพื้นที่มีพระสถูปเจดีย์ และค่ายหลวงจำลอง เป็นดั่งพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม แสดงให้เห็นถึงการตั้งค่ายพักแรมของกองทัพนับแสน มีห้องเก็บศาสตราวุธ ที่ถูกจำลองอย่างเหมือนจริง ที่สำคัญคือการได้มากราบพระวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้ประกาศอิสรภาพให้กับสยามประเทศ
อนุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง)
ภายในพลับพลา 400 ปี ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประทับนั่งพระหัตถ์ขวาทรงพระสุวรรณพิงคารหลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศอิสรภาพ พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงดาบ ก่อสร้างโดยกองทัพภาคที่ 3 โดยสันนิษฐานว่าเมืองแหงเป็นเมืองที่พระองค์เสด็จสวรรคต อนุสรณ์นี้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์ยอดนักรบแห่งกรุงศรีอยุธยา
บ่อน้ำช้างศึก (ตำบลแสนไห อำเภอเวียงแหง)
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพักกองทัพบริเวณหน้าวัดพระบรมธาตุแสนไห ทรงรับสั่งให้ขุดบ่อน้ำขึ้น เพื่อใช้เป็นน้ำสรงองค์พระธาตุ และน้ำพุทธมนต์ปะพรมให้แก่กำลังพลในกองทัพ ตลอดจนใช้เป็นน้ำสำหรับเสวยและน้ำสรงส่วนพระองค์ ชาวบ้านนับถือว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกบ่อน้ำแห่งนี้ว่า บ่อน้ำช้างศึก ในทุกๆ ปีชาวบ้านก็ได้ใช้น้ำจากบ่อศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ในการประกอบพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุแสนไห จวบจนปัจจุบัน
วัดฟ้าเวียงอินทร์ (ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง)
เป็นวัดไทใหญ่ที่ตั้งอยู่สุดเขตประเทศไทย ณ ช่องเขาหลักแต่ง พื้นที่ของวัดถูกแยกออกเป็นสองฝั่ง คือส่วนหนึ่งอยู่ฝั่งไทย บางส่วนอยู่ฝั่งพม่า มีศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่สร้างขึ้นในวาระที่ท่านทรงเสด็จสวรรคต ครบรอบ 400 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2548 ด้วยเนื้อที่เขตชายแดนนี้ จึงถือเป็นจุดสุดท้ายของเส้นทางการเดินทัพ ที่มีหลักฐานในฝั่งของประเทศไทย
บทความท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นี้ ขออุทิศแด่ดวงพระวิญญาณมหาราชผู้ล่วงลับ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อให้ประชาชนคนรุ่นหลังได้รู้ซึ้งถึงส่วนหนึ่งของชีวประวัติของพระองค์ ..ด้วยจิตคารวะby Traveller Freedomติดตามบทความท่องเที่ยวในเชียงใหม่ ได้ที่
www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php/topic,7801.0.html#.U5LFbvl_sig