วิจิตรสถาปัตยกรรม วัดหัวข่วง (แสนเมืองมาหลวง) กราบพระมหาธาตุเจดีย์คู่เวียงบนถนนพระปกเกล้าด้านประตูช้างเผือก เขตเมืองเก่าเชียงใหม่ มีพระอารามแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่คนผ่านไปมาไม่สังเกตก็อาจมองไม่เห็น ใช่แล้วค่ะ เลดี้ ดาริกากำลังพูดถึง วัดหัวข่วง หรือมีชื่อเรียกสวยๆ อีกชื่อหนึ่งว่า วัดแสนเมืองมาหลวง แม้ว่าพระอารามแห่งนี้จะมีสภาพใหม่เอี่ยมอ่อง และดูสวยงาม แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นพระอารามที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ทางเข้าวัดแสนเมืองมาหลวง หรือวัดหัวข่วง เป็นตรองแคบๆ จากถนนพระปกเกล้า
วัดหัวข่วง หรือวัดแสนเมืองมาหลวง ตั้งอยู่บนถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ แรกสร้างมีชื่อว่า วัดลักขปุราคมาราม มีความหมายว่า วัดที่พระเจ้าแสนเมืองมาทรงสร้าง มีอายุเก่าแก่กว่า ๖๐๐ ปี ในอดีตพระอารามแห่งนี้ถือเป็นวัดประจำเมืองที่มีความสำคัญมากอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากใช้เป็นสถานที่ประชุมทัพและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญต่างๆชื่อ วัดหัวข่วง มีที่มาจากที่ตั้งของวัด ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมือง ใกล้กับสนามหลวง (ภาษาล้านนาเรียกว่า ข่วง) หรือคุ้มของเจ้านาย เป็นธรรมเนียมการสร้างวัดของเมืองทางตอนเหนือของประเทศ สังเกตได้ว่ามีพระอารามที่มีชื่อแบบเดียวกันนี้ อยู่ในเกือบทุกจังหวัดในภาคเหนือ และเชียงตุงวิหารหลวงวัดแสนเมืองมาหลวง สร้างขึ้นใหม่ทดแทนหลังเดิมที่ไฟไหม้เสียหาย
ตามพงศาวดารบันทึกไว้ว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๖๓ พระเมืองแก้ว กษัตริย์เชียงใหม่ ราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ ๑๑ ทรงโปรดให้บูรณะพระเจดีย์ของวัดหัวข่วงขึ้นใหม่ใหญ่กว่าเก่า และโปรดให้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในมหาเจดีย์นั้นด้วย เมื่อสร้างพระเจดีย์แล้วเสร็จทรงโปรดให้สร้างหอพระมณเฑียรธรรมเพื่อบรรจุคัมภีร์พระไตรปิฎก เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าแสนเมืองมา พระอัยกาธิราช (หรือปู่) พระอารามแห่งนี้ร้างอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งพระครูปลัดทรงสวัสดิ์ ปัญญาวชิโรบูรณะฟื้นฟูวัดนี้ขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยท่านได้สร้างปูชนียสถานสำคัญต่างๆ ขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงแต่พระมหาธาตุเจดีย์เท่านั้นที่ยังคงความคลาสสิกเอาไว้ บันไดนาควิหารหลวง
เข้ามาภายในบริเวณวัด สิ่งแรกที่สะดุดตาผู้มาเยือนคือวิหารหลวง สถาปัตยกรรมล้านนา ลวดลายวิจิตรงดงามมาก พระวิหารหลังนี้สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อทดแทนพระวิหารหลังเดิมที่ถูกไฟไหม้เสียหาย พระประธานภายในพระวิหารคือ พระพุทธรัตนบุรีสะหลีแสนเมืองมา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง ๖ เมตร สูง ๙ เมตร กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามองค์หนึ่งของล้านนาเลยทีเดียวพระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์
ด้านข้างพระวิหารคือพระอุโบสถ สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ภายในประดิษฐานนำ พระเจ้าศรีเมืองมา อายุเก่าแก่กว่า ๕๐๐ ปี เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดเท่าพระองค์จริงของพระเจ้าแสนเมืองมาพระมหาธาตุเจดีย์วัดหัวข่วง ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร เป็นเจดีย์ล้านนาผสมสุโขทัย สัดส่วนงดงามมาก องค์เจดีย์อยู่ในสภาพดี และไม่ถูกโบกปูนปิดทองอย่างเจดีย์องค์อื่นๆ ในเชียงใหม่ ทำให้เราได้ชื่นชมความสวยงาม และคลาสสิกขององค์เจดีย์ ซึ่งน่าประทับใจมาก ลักษณะเจดีย์สิบสองเหลี่ยม ส่วนบนมีองค์ระฆัง แสดงอิทธิพลสุโขทัย เป็นรูปแบบพระเจดีย์ที่นิยมสร้างกันมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ราวๆ รัชสมัยพระเจ้าติโลกราชต่อรัชกาลพระเมืองแก้ว มีลักษณะคล้ายพระธาตุดอยสุเทพ และพระธาตุลำปางหลวงหอพระมณเฑียรธรรม
หอพระมณเฑียรธรรม สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระเมืองแก้ว พร้อมๆ กับการบูรณะพระเจดีย์ครั้งแรก เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎก แต่ก็ผุพังไปตามกาลเวลา หอพระมณเฑียรธรรมหลังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นใหม่เพื่อทดแทนหลังเดิมวัดหัวข่วง หรือวัดแสนเมืองมาหลวงอาจไม่ใช่หนึ่งในลิสต์สำคัญของนักท่องเที่ยวหลายๆ คน แต่หากพอจะมีเวลาเหลือ เลดี้ ดาริกาอยากจะแนะนำให้เพื่อนมาเยี่ยมชมความงดงามของพระอารามแห่งนี้ แม้ว่าการบูรณะจะยังไม่ครบถ้วยร้อยเปอร์เซ็น และอาคารต่างๆ อาจจะปิด ไม่สามารถเข้าชมภายในได้ แต่รับรองว่าหากเป็นคนชอบสถาปัตยกรรมสวยๆ แล้วล่ะก็ วัดแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจมากๆ ค่ะเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา