นมัสการพระเจ้าแสนแส้ ณ วัดยางกวงหากใครมีโอกาสไปเยือนพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงใหม่ คงจะเคยเห็นเศียรพระพุทธรูปหล่อสำริดขนาดใหญ่ ตั้งเด่นเป็นสง่า จัดแสดงอยู่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ เคยทราบเรื่องราวของพระพุทธรูปงามงดองค์นี้ ซึ่งถือเป็นงานศิลปวัตถุชิ้นเอกของเมืองเชียงใหม่อีกชิ้นกันไหมคะ... เศียรพระพุทธรูปนี้มาจากที่ไหน วันนี้จะพาเพื่อนๆ ไปทำรู้จักวัดที่เป็นจุดกำเนิดของงานศิลปวัตถุชิ้นนี้กันค่ะ ที่วัดยางกวง เมืองเชียงใหม่วัดยางกวง ตั้งอยู่ที่ซอยสุริยวงศ์ ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ วัดนี้หาไม่ยาก ใครคิดไม่ออกให้นึกถึงถนนคนเดินวัวลายวันเสาร์ จะมีถนนเส้นหนึ่งอยู่ติดกับถนนวัวลาย ให้ไปตามทางนั้นประมาณ ๕๕๐ เมตร ก็จะถึงวัด พระเจ้าแสนแส้ หล่อใหม่ตามแบบเศียรพระเจ้าแสนแส้องค์เดิมในพิพิธภัณฑ์
วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในยุคต้นของราชวงศ์มังราย ไม่พบว่าสร้างขึ้นโดยผู้ใด เดิมมีชื่อว่า วัดน่างรั้ว หรือ วัดหน่างรั้ว คำว่า หน่าง ในภาษาถิ่นล้านนา หมายถึง รั้ว หรือ แนวกั้น ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวไว้ว่า หลังจากพญามังรายเสด็จออกจากเวียงกุมกาม เพื่อหาชัยภูมิในการสร้างเมืองใหม่ พระองค์เคยเสด็จมาตั้งค่ายบริเวณนี้ และให้เหล่าทหารสร้างหน่างรั้วรอบที่พักเอาไว้ จึงเป็นชื่อมาของชื่อวัดรูปเศียรพระเจ้าแสนแส้องค์เดิม ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
ในนิราศหริภุญชัย (พ.ศ.๒๐๖๐) ได้กล่าวถึงวัดยางกวงไว้ว่า นับตั้งแต่พม่ายึดครองล้านนา ทำให้วัดต่างๆ กลายเป็นวัดร้าง วัดยางกวงก็เป็นหนึ่งในจำนวนวัดเหล่านั้น ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละได้ขับไล่พม่าออกไป และไปกวาดต้อนเอาชนเผ่าไทยจากเชียงรุ้งสิบสองปันนา และเชียงตุงมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ คนกลุ่มหนึ่งเป็นชาวไทยเขินมาตั้งถิ่นฐานรอบๆ วัดหน่างรั้งแห่งนี้ และได้ช่วยกันบูรณะวัดที่ทรุดโทรมเสียหายให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาพระอารามนี้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดยางกวง เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชาวไทยเขินกลุ่มนี้ว่าย้ายมาจากบ้านนายางกวง จากนั้นวัดนี้ก็กลายเป็นวัดร้างอีกครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ วัดนี้จึงได้รับการบูรณะขึ้นมาอีกครั้งเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี บรรยากาศภายในวัดค่อนข้างเปิดโล่ง ไม่ค่อยมีต้นไม้ ก้าวแรกเมื่อเราย่างกรายเข้าสู่เขตวัด สายตาสะดุดกับพระพุทธรูปทองเหลืององค์ใหญ่มีนามว่า พระเจ้าแสนแส้ หล่อขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ขนาดหน้าตัก ๕ เมตร สูง ๙ เมตร หนัก ๑๒ ตัน เป็นพระพุทธรูปทองเหลืองที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ โดยใช้พระเจ้าแสนแส้องค์เดิมเป็นต้นแบบ ซึ่งปัจจุบันพระเศียรของพระพุทธรูปองค์นี้รักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ และถอเป็นไฮไลท์สำคัญของพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้ก็เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา พระวิหารของวัด
พระประธานในพระวิหาร
พระวิหาร สถาปัตยกรรมล้านนา ตัวอาคารก่อด้วยอิฐ หลังคาซ้อนกันสามชั้น หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรษพฤกษา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระประธาน ด้านหลังมีรูปพระพุทธเจ้าปิดทองสวยงามมาก พระมหาเจดีย์จ๋อมสะหลีปุรีนางรั้ว ศิลปะล้านนา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ตั้งแต่ฐานจรดยอดล้วนเป็นแปดเหลี่ยมทั้งสิ้น ที่ส่วนปลียอดนี้เองเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ ใต้องค์ระฆังมีซุ้มจระนำแปดด้าน แต่มีเพียงไม่กี่ด้านที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ นอกจากนั้นยังมีระเบียงคตรอบพระเจดีย์อีกด้วยระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูป
วัดยางกวงแม้เป็นวัดเล็ก แต่ก็เป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธรูปสวยงามขนาดนี้ หากจินตนาการภาพเมืองเชียงใหม่ในอดีตที่เคยรุ่งเรือง และเต็มไปด้วยวัดวาอารามมากมาย ก็นึกเสียดายอยากจะให้สภาพเชียงใหม่ในวันเก่าๆ กลับมาให้เราได้เห็นอีกครั้ง เพราะคงจะงามหยดย้อยสมกับเป็นเมืองเอกของล้านนาเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา