วิหารไม้วัดปราสาท...ความงดงามกลางเมืองเชียงใหม่ภายในคูเมืองเชียงใหม่เป็นที่ตั้งวัดวาอารามมากมาย แต่วัดที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้จักมีเพียงวัดที่มีชื่อเสียงไม่กี่แห่งเท่านั้น วัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง ถือเป็นวัดที่มีชื่อเสียงที่สุด ใครมาเชียงใหม่ก็มักต้องไปเยือน (เป็นโปรแกรมภาคบังคับสำหรับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ก็ว่าได้) แต่ก็คงจะน่าเสียดายไม่น้อย หากมาเยือนเมืองเอกแห่งล้านนาทั้งที แล้วไปเพียงไม่กี่วัด ทั้งๆ ที่ยังมีวัดที่น่าสนใจอีกหลายแห่งอยู่ทั่วทุกทิศในเมืองเชียงใหม่ ครั้งนี้ขอพาผู้อ่าน และนักเดินทางที่หลงใหลความงามเชิงพุทธศิลป์ไปเปิดหูเปิดตากับวัดแห่งอื่นกันบ้างนะคะ วัดนี้อาจเป็นเพียงวัดธรรมดาๆ ที่นักท่องเที่ยวชอบผ่านไปผ่านมา ทั้งๆ ที่วัดแห่งนี้ทีเด็ด เป็นวิหารไม้ทรงล้านนาหลังงาม และพระพุทธรูปปากแดงองค์ใหญ่ในพระวิหาร วันนี้เราจะไปเที่ยว วัดปราสาท กันค่ะกู่ประดิษฐานพระประธานในพระวิหาร ก่ออิฐถือปูน ทรางปราสาท ที่มาของชื่อวัด
บรรยากาศร่มรื่นข้างวิหารไม้ของวัด
หลายคนกำลังสงสัยว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ไหน? ใครอยากไปเที่ยวที่นี่ก็ไม่ยากเลยค่ะ เหมือนเส้นผมบังภูเขา อยู่ข้างๆ วัดพระสิงห์วรวิหาร สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของเมืองเชียงใหม่นี่เอง ก่อนอื่นมาทำความรู้จักที่มาที่ไปของวัดแห่งนี้กันนะคะ วัดปราสาท เป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มาแต่ครั้งเก่าก่อน ไม่ได้สร้างใหม่แต่อย่างใด เพราะปรากฏชื่ออยู่ในหลักศิลาจารึกของวัดตะโปธาราม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรือง รัชสมัยของพญายอดเชียงราย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2035 ต่อมาในปี 2133 ในรัชสมัยของพญาหลวงแสนคำ พระองค์โปรดให้หล่อพระเจ้าหมื่นทอง พระพุทธรูปทองคำสำริด เพื่อประดิษฐานภายในวัด (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในกู่ก่ออิฐถือปูนด้านในวิหารไม้ของวัด) ต่อมาในสมัยของเจ้าหลวงธรรมลังกา เมื่อปี พ.ศ. 2366 ได้มีพระราชประสงค์ให้บูรณะวัดปราสาท โดยโปรดฯ ให้พระยาหลวงสามล้าน สร้างพระวิหารขึ้น ซึ่งก็คือพระวิหารหลวงของวัดที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันวิหารไม้ศิลปะล้านนา จุดที่น่าสนใจของวัด
ลวดลายของหน้าบรรณพระวิหาร
ที่มาของชื่อวัดนั้นมาจากกู่มณฑปทรงปราสาทก่ออิฐถือปูน ซึ่งตั้งอยู่ด้านในสุด ติดกับตัวอาคารพระวิหาร ซึ่งถือเป็นรูปแบบการสร้างพระอุโบสถและพระวิหารโบราณ และยังหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในปัจจุบัน ภายในวิหาร ฝาผนังประดับด้วยจิตกรรมลายรดน้ำ เขียนสีทอง เป็นเรื่องราวพระพุทธประวัติ ด้านใจสุดของพระวิหารมีซุ้มประตูโขงติดกับฐานชุกชี สร้างเป็นซุ้มโค้งสองชั้น ประดับด้วยฝาชามเบญจรงค์ เมื่อเข้าไปภายในคือส่วนของกู่มณฑปทรงปราสาท เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพักเปื้อนรอยยิ้ม ทำให้ผู้มองรู้สึกอบอุ่นใจ ด้านบนเพดานจะเห็นโครงสร้างของหลังคาวิหารโปร่งโล่ง สบายตา การเรียงคานไม้ประณีต สวยงาม ตามแบบล้านน้าแท้ เรียกโครงสร้างลักษณะนี้ว่า ม้าต่างไหม ได้ชื่อมาจากลักษณะการถ่ายน้ำหนักบรรทุกสินค้าบนหลังม้าของพ่อค้าม้าต่างบนเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นโครงสร้างที่สืบทอดมามากกว่า 600 ปีพระเจ้าหมื่นทอง ในกู่ทรงปราสาท สงบงาม และเยือกเย็นมาก
การตกแต่งซุ้มประตูของกู่ภายในพระวิหาร สวยงามอ่อนช้อยมาก
นอกจากโครงสร้างภายในที่สวยงามแล้ว ภายนอกพระวิหารก็วิจิตรไม่แพ้กัน นับตั้งแต่ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ โดยเฉพาะหน้าบรรณ แกะสลักเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดี และลวดลายดอกไม้นานาพรรณ ประดับด้วยกระจกสีสวยงาม แม้แต่ต้นเสาก็ยังแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ทั้งต้น จึงนับว่าเป็นพระวิหารที่สร้างอย่างประณีตใน ให้ความใส่ใจกับทุกๆ ลายละเอียดเลยทีเดียวภาพเขียนสีด้านในวิหาร
พระพุทธรูปไม้ศิลปะพม่าประดับกระจก งดงามมาก
ด้านหน้าพระวิหารไม้ ยังมีวิหารก่ออิฐถือปูนอีกหลังหนึ่งมีการตกแต่งอาคารและลวดลายปราณีตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่เสียดายที่บางทีอาจปิดไว้ ไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมชมในอาคารได้ ด้านข้างพระวิหารไม้มีศาลาไม้สร้างอย่างง่ายๆ ขนานกับแนวกำแพง ในศาลามีพระพุทธรูปไม้แกะสลักยืน สูงเท่าคนจริง ศิลปะแบบพม่า ประดับกระจกสี สวยงามมากบรรยากาศภายในวัด สงบเงียบมาก
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้มาเยือนประทับใจคือความเป็นระเบียบ และความสะอาดภายในวัด ที่บริหารพื้นที่ได้ดีมาก สวยงาม หากมาเที่ยวเชียงใหม่แล้วพอมีเวลา ลองแวะไปวัดปราสาทนะคะ ใช้เวลาไม่มาก ยิ่งยามเย็นๆ มีกลิ่นลั่นทมหอมๆ บริเวณลานวัด ยิางมีเสน่ห์ค่ะเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริืกา