ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)คนชอบเที่ยวเวียงชมวังอย่างเลดี้ ดาริกา ไปเที่ยวที่ไหนๆ นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้ว หากมีเวียงวังหรือคุ้มหลวงที่ไหนก็ต้องขอแวะเขาไปสัมผัสบรรยากาศคลาสสิกๆ ดูเสียหน่อย เพราะนอกจากจะได้ชมของเก่าแก่สวยๆ งามๆ แล้ว ยังได้สัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตที่ไม่สามารถหาได้แล้วแน่นอนในปัจจุบัน ถึงเราจะย้อนเวลากลับไปไม่ได้ แต่ก็พอจะมีสถานที่บางแห่งเอาไว้โหยหารำลึกถึงรากเหง้าวัฒนธรรมบ้าง จริงไหมคะ?อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ ปัจจุบันเป็นที่ทำการของศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา
มาอยู่เมืองเชียงใหม่ได้ระยะหนึ่งจึงตระหนักได้ว่าที่นี่หาคุ้มหลวงเก่าๆ ให้เข้าไปเยี่ยมชมได้ยากเต็มที่ ทั้งๆ ที่ถ้าเทียบกับจังหวัดเพื่อนบ้านหลายแห่งแล้ว เชียงใหม่ถือเป็นเมืองไฮไลท์ของล้านนาทีเดียว แต่ในขณะที่จังหวัดชนบทที่ยังคงวิถีพื้นถิ่นได้ดีอย่างเมืองน่าน แพร่ และลำปางยังคงรักษาอาคารสถานเก่าๆ และเปิดให้คนได้เยี่ยมชม แต่ก็ใช่ว่าเชียงใหม่จะสิ้นไร้อาคารเก่าๆ เสียทีเดียว แต่คงเป็นพระบ้านเก่าๆ และคุ้มของเจ้านายหลายองค์ถูกใช้ประโยชน์ในทางอื่นๆ เสียมากกว่าจะเอามาเป็นพิพิธภัณฑ์ นอกจากพระตำหนักดาราภิรมย์นอกเมืองในเขตอำเภอแม่ริมแล้ว ก็ยังมี คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ นี่แหละที่ทำให้ฉันแฮปปี้ดี้ด้าขึ้นมาได้บ้าง ว่าแล้ววันนี้ก็ขอนำเสนอที่ท่องเที่ยวกลางเมืองเชียงใหม่ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ กันดีกว่าค่ะคุ้มกลางเวียง สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นผสมตะวันตก โดดเด่นแต่เรียบง่าย
คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ หลายๆ คนเรียกกันติดปากว่า คุ้มกลางเวียง ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน สี่แยกกลางเวียงเก่าเชียงใหม่พอดิบพอดี ปัจจุบันอยู่ภายใต้กำกับดูแลของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเป็นอาคารทำการของศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานการศึกษาวิจัยว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมล้านนาของนักศึกษา เผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปที่สนใจคุ้มกลางเวียงแห่งนี้ เจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ หลานของเจ้าหลวงเศรษฐีคำฟั่น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ๒๔๓๖ อายุประมาณ ๑๑๐ ปีแล้ว คุ้มแห่งนี้ตกทอดสู่ทายาทรุ่นต่อรุ่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับมอบจากทายาทเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ รูปแบบสถาปัตยกรรมแห่งนี้โดดเด่น เป็นการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมท้องถิ่นล้านนา และสถาปัตยกรรมตะวันตกสองชั้น ชั้นล่างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ชั้นสองเป็นโครงสร้างไม้ มีระเบียงยาวหนึ่งฟาก หลังคาจั่วทรงปั้นหยาแบบมะนิลา ชั้นล่างก่ออิฐหนาเป็นทรงโค้งฉาบปูน ชั้นบนเป็นพื้นไม้สักมีระเบียงโดยรอบ ถือเป็นสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกที่ยุคแรกๆ ของเชียงใหม่เลยทีเดียวโครงสร้างชั้นสองเป็นอาคารไม้คลาสสิกมาก
ระเบียงด้านทิศเหนือ มีพื้นที่สำหรับพักผ่อนและห้องพระ
ระเบียงทางด้านทิศใต้ชั้นสอง
ปัจจุบันคุ้มแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานของนักศึกษาโดยไม่เก็บค่าผ่านประตูค่ะ ภายในจัดแสดงเป็นห้องๆ เน้นนิทรรศการหมุนเวียน เมื่อเข้าไปในส่วนแรก เป็นส่วนจัดแสดงประวัติของอาคารหลังนี้ มีแบบจำลองของอาคารให้ชม ห้องด้านข้างจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เดินขึ้นบันไดไปชั้นสองของอาคารใช้จัดแสดงเรื่องราวของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในเมืองเชียงใหม่ พร้อมแบบจำลอง ไม่เพียงแต่วิหาร หรืออาคารพื้นบ้านเท่านั้น แต่รวมไปถึงอาคารอิทธิพลตะวันตก ตลอดจนอาคารพานิชย์ในแต่ละยุค เรียกได้ว่าใครชื่นชอบงานสถาปัตยกรรมเชิญที่นี่ได้เลยค่ะส่วนจัดแสดงภาพถ่ายและนิทรรศการหมุนเวียนชั้นล่าง
ห้องจัดแสดงชั้นสองเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ในเมืองเชียงใหม่
แบบจำลองสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ในเชียงใหม่
ด้านนอกอาคารมีลานกว้างล้อมรอบด้วยกำแพงเก่าคลาสสิกใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมและจัดแสดงผลงานกลางแจ้งในโอกาสต่างๆ จุดสนใจของที่นี่ (อาจกลายเป็นสัญลักษณ์ของที่นี้ไปแล้ว) คืองานศิลปะที่สร้างขึ้นจากการดัดไม้ไผ่ให้เป็นทรงเรียวยาวคล้ายเมล็ดข้าว ตั้งอยู่บนโครงไม้ไผ่อีกทีหนึ่ง ศิลปินต้องการทดลองดัดไม้ไผ่ให้เป็นรูปทรงต่างๆ ซึ่งผลงานชิ้นนี้เคยจัดแสดงร่วมกับงานชิ้นอื่นๆ หลังจากหมดช่วงเวลาจัดแสดงงาน ผลงานชิ้นอื่นถูกเก็บไปเหลือเพียงชิ้นนี้ไว้เท่านั้นผลงานการดัดไม้ไผ่ให้เป็นรูปทรงเมล็ดข้าวตั้งโดดเด่นอยู่ที่ลานหน้าคุ้ม
จากภายในบริเวณคุ้มแห่งนี้มองออกไปทางทิศตะวันตกจะเห็นยอดวิหารไม้แบบล้านนาของวัดพันเตา ไกลออกไปเห็นซากเจดีย์หลวงใหญ่โต เสียดายที่เจดีย์หลวงหักพังไป และมีสายไฟพาดผ่าน ทำให้ทัศนียภาพแย่ลงนิดหน่อย แต่ลองมานั่งคิดถึงช่วงเวลาในอดีตที่ไม่มีสายไฟพันกันรุงรังมารกรบกวนสายตา และถ้าหากเจดีย์หลวงตั้งตระหง่านอยู่ในสภาพสมบูรณ์ คงจะเป็นทัศนียภาพที่สวยงามติดตาตรึงใจไม่น้อยกำแพงอิฐเก่าๆ ที่ดูไร้ค่าแต่กลับทรงคุณค่า...งงไหม? :)
ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 8:30 16:30 นเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา