ถ้าให้พูดเรื่องคนไทยกับพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ ผมว่าแทบจะห่างกันเป็นโยชน์เรื่องความรู้จักมักจี่ที่เมืองนอกอย่างอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ของเขาแทบจะมีกันทุกตรอกทุกซอกทุกซอยไม่แพ้บ่อนการพนัน ส่วนขนาดจะเล็กใหญ่ประมาณไหน ก็ลดหลั่นกันไปตามความสำคัญ
นั้นพอจะบ่งชี้ได้ว่าบ้านอื่นเมืองอื่นเขาชอบการเรียนรู้อยู่เป็นนิจ ต่างจากพี่ไทยที่เรียนไปเพื่อเอาเกรดและใบปริญญา
อีกตัวนึงที่พอจะสังเกตได้เลยง่ายๆคือเวลาเที่ยวคุณจะเห็นคนต่างชาติเขามีสมุดบันทึกไว้เล่มนึง พร้อมหนังสือเหน็บติดมือไปด้วย แต่ถ้ากลับกันเป็นคนไทย อย่าหวังว่าจะได้เห็น นู้นนะที่คุณจะเห็น ยืนถ่ายรูปเก๊กสวยเก๊กหล่ออัพรูปลงโซเชียลเน็ตเวิร์คกันอย่างกระจาย
ฉะนั้น ทุกครั้งเวลาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ในเมืองไทย คนไทยเลยมีจำนวนน้อยเอามั่กมาก หรือจนแทบจะไม่มี เนื่องด้วยคนไทยขี้เกียจ ดูศึกษา หาความรู้ อ่านอะไรยาวๆ
แล้วเห็นเขียนมาเยอะๆ แบบนี้มึงไม่ใช่คนไทยเหรอครับ?
แหม ผมก็คนไทยคนนึงแบบล้านเปอร์เซ็นเนี่ยแหละครับ แต่เผอิญผมชอบแดกดันคนชาติเดียวกันเฉยๆ ฮ่าๆๆ แบบว่ารำคาญ
ตกลงเราจะพูดถึงเรื่องพิพิธภัณฑ์กันนะครับ แถมพิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้มันก็แสนจะไม่ธรรมดา เพราะว่ามันเป็นพิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง อำเภอสันทราย ที่ขนเอาของเก่า มาเล่ากันใหม่
เหตุเกิดจากความที่พระครูโกวิทธรรมโสภณ เจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย มีความสนใจเป็นพิเศษในการอนุรักษ์ศาสนวัตถุที่มีคุณค่า อีกทั้งยังเล็งเห็นคุณค่าของเก่า โบราณ หายาก มาตั้งแต่เป็นสามเณร ซึ่งจากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ทำให้พระคุณเจ้าเริ่มคิดถึงสิ่งของ เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้นมาเพื่อประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงครอบครัว ว่ามีความสำคัญมาก และน่าจะอนุรักษ์สิ่งของเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไปได้เห็น ได้สัมผัส และรู้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อน
ว่าแล้วก็เลยได้รับวัตถุโบราณชิ้นแรกมาจากโยมแม่ คือ แบบพิมพ์ปั้นอิฐรูปโค้ง (ปิมปั้นดินกี่ ซึ่งเป็นสิ่งของที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นแบบพิมพ์ทำด้วยไม้สัก มีอายุกว่า 100 ปี และจากนั้นเป็นต้นมา พอเห็นอะไรเก่า ๆ เช่น ถ้วย ชาม กระเบื้อง ฯลฯ ก็นำมาวาง ๆ ไว้ รวมกันประมาณ 100 ชิ้น จนชาวบ้านที่มาพบเห็นเข้าก็เริ่มสนใจ สอบถามถึงที่ไปที่มา และวัตถุประสงค์ของการเก็บรักษา สุดท้ายก็เลยเลยเถิด จนชาวบ้านพากันนำวัตถุโบราณ สิ่งของเครื่องใช้เก่า ๆ พระพุทธรูปเก่า มาถวายไว้ กันเยอะแยะ จนได้ก่อตั้งและสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด
นอกจากในอาคารพิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง จะเต็มไปด้วยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของใช้เก่าแก่มากมายแล้ว ผนังของอาคารทั้งสี่ด้าน พระครูโกวิทธรรมโสภณก็ได้ให้ช่างฝีมือดี (นายเจริญ มานิตย์) ชาวอำเภอสันทราย เป็นผู้เขียนภาพเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวล้านนาในอดีต ซึ่งภาพเหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากจินตนาการของพระคุณเจ้าเอง ที่นึกย้อนหลังไปในอดีตเมื่อ 40-50 ปีก่อน ว่าหมู่บ้านเป็นอย่างไร ผู้คนมีความเป็นอยู่อาศัยกันอย่างไรบ้าง
ดูๆไปแล้ว การมาเที่ยวที่นี้ ก็ไม่ต่างอะไรกันกับการนั่งไทม์แมชชีน พาย้อนอดีตมารู้จักสิ่งของเครื่องใช้เก่าๆ ว่าสมัยก่อนรุ่นปู่ย่าตายายเรา มันเป็นแบบนี้กันนะเฟ้ย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องลงบัญชีโบราณขนาดใหญ่ ธนบัตรเก่าแบบต่างๆ หม้อไหในสมัยก่อน จักรเย็บผ้า ตาชั่ง ทีวีขาวดำ เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องฉายหนัง เครื่องพิมพ์ดีด โทรศัพท์ ปืนผาหน้าไม้ หรือแม้กระทั่งวิทยุในสมัยก่อนที่ใช้ถ่านไฟฉายถึง 80 ก้อน
ของเก่าแม้มันจะเก่าไปตามกาลเวลา แต่ทว่าคุณค่า มันไม่เคยเก่าตามระยะเวลาเลยซักนิดเดียว