ชมจิตกรรมฝาผนังฝีมือชาวไทยใหญ่ที่ วัดบวกครกหลวงบรรยากาศมุมกว้างภายในวัด เงียบสงบดี :)
จิตรกรรมฝาผนังนับเป็นศิลปกรรมอีกแขนงหนึ่งที่มักปรากฏอยู่ในปูชนียสถานสำคัญภายในวัดต่างๆ ซึ่งในแต่ละแห่งจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป วัดบวกครกหลวง เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร ผลงานของช่างชาวไทยใหญ่ที่ในปัจจุบันหาชมได้ยาก วันนี้จะขอพาเพื่อนๆ ไปเยี่ยมชมวัดแห่งนี้กันค่ะวิหารเก่าแก่ของวัด
วัดบวกครกหลวง ตั้งอยู่บนถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง ต.ท่าศาลา อ.เมืองเชียงใหม่ เดิมชื่อว่า วัดม่วงคำ และวัดบวกครก ความเป็นมาของวัดไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ในอดีตที่หมู่บ้านบวกครกหลวงแห่งนี้ เคยเกิดเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพง เจ้าผู้ปกครองเชียงใหม่สมัยนั้นจึงนำข้าวออกมาจากท้องพระคลัง และขุดหลุมขนาดใหญ่ เพื่อตำข้าวแจกจ่ายให้กับประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับชื่อวัด คำว่า "บวก" แปลว่า หลุม และ ครก สื่อความหมายถึงภาชนะตำข้าว ส่วนคำว่า "หลวง" แปลว่า ใหญ่ ดังนั้นชื่อวัดบวกครกหลวงจึงหมายถึง ภาชนะตำข้าวขนาดใหญ่ นั่นเองวิหารล้านนาแห่งนี้มีอายุถึง 300 ปี
หน้าบรรณแบบม้าต่างไหม สวยงามมากค่ะ
พระวิหารศิลปะล้านนาอายุประมาณ 300 ปี เป็นอาคารปูนผสมไม้ หลังคาจั่วซ้อนกันสามชั้น ประดับด้วยกระเบื้องดินเผา ด้านหน้าเป็นมุขยื่นออกมาคลุมบันได หน้าบรรณเป็นไม้แกะสลักเป็นช่องฝาปะกนรูปพันธุ์พฤกษาทาด้วยสีทอง ด้านบนสุดมีจารึกบอกปี 2468 แสดงถึงปีที่บูรณะ ราวบันไดเป็นประติมากรรมมกรคายนาค มีจุดเด่นตรงที่ปากนาคเป็นปากนกแก้ว หรือปากครุฑ ประตูทางเข้าเป็นไม้แกะสลักรูปทวารบาลปิดทองอย่างงดงามเมื่อเข้ามาภายในพระวิหารจะเห็นโครงสร้างม้าต่างไหมตามแบบฉบับเดิมของล้านนา ด้านในสุดประดิษฐานพระประธาน ด้านข้างมีธรรมาสน์เก่าแก่ทรงปราสาทสวยงาม และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างชาวไทยใหญ่ (ช่างเงี้ยว) เขียนเรื่องพุทธประวัติ และทศชาติชาดกจำนวน 14 ห้อง เป็นภาพเขียนที่มีสีสันจัดจ้าน ซึ่งเป็นศิลปะที่หาชมได้ยากในปัจจุบันเจดีย์ประธานขนาดเล็กตั้งอยู่บนลานด้านหลังพระวิหาร
เจดีย์ทรงปราสาทอยู่ด้านหลังพระวิหารบุด้วยทองจังโก้ทั้งองค์ บริเวณฐานรอบเจดีย์มีรูปนักษัตร 12 ราศี มีซุ้มพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน องค์เจดีย์เป็นทรงระฆัง ส่วนยอดเป็นฉัตร 7 ชั้นพระอุโบสถ และลวดลายบนกรอบประตู
พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนา เป็นอาคารปูนทั้งหลัง หน้าบันตลอดจนตัวเสาประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา
หอไตร อยู่ทางทิศเหนือของพระวิหาร เป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้แบบเรียบง่าย บริเวณหน้าบรรณและหน้าต่างประดับด้วยลายไม้แกะสลักพันธุ์พฤกษา
พอไตรครึ่งอิฐครึ่งไม้ ลวดลายหน้าบรรณสวยงามมาก
วัดบวกครกหลวงจึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความโดดเด่นทั้งทางด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษา และเป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่นับวันหาชมได้ยากขึ้นทุกที ปัจจุบันกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนวัดบวกครกหลวงเป็นโบราณสถาน ตามประกาศขึ้นทะเบียนและ กำหนดขอบเขต ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 41 ลงวันที่ 14 เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2523เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา