ข่วงพระเจ้าล้านนา พุทธมณฑลภาคเหนือ พุทธศิลป์ล้านนาสมัยใหม่ล้านนาคือดินแดนแห่งพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งอดีต พระพุทธศาสนาหยั่งรากลึกบนแผ่นดินแห่งนี้ หล่อหลอมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิถีชีวิตของผู้คน ประเพณี ศิลปะ และวรรณคดีอย่างแยกไม่ออก จึงไม่น่าแปลกใจ หากเราจะเห็นวัดวาอารามน้อยใหญ่ ทั้งเก่าและใหม่ กระจายอยู่ทุกหนแห่ง สอดแทรกอยู่ในภาพจิตรกรรม นิทานที่เล่าขานสืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่ามุมมองข่วงพระเจ้าล้านนาจากถนนเลียบคลองชลประทาน
ข่วงพระเจ้าล้านนา สร้างขึ้นจากเหตุและผลดังที่กล่าวมานั้น เพื่อเป็นศูนย์รวมใจแห่งใหม่ของพุทธศาสนิกชนในเมืองเชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ เป็นสถานที่ประชุมพลเพื่อประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ด้วยความตั้งใจมั่นของอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ ที่จะสร้างพุทธสถานเอาไว้เป็นพุทธบูชา และมรดกของแผ่นดินสืบไป หลังจากข่วงพระเจ้าล้านนาแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จ อาจารย์และชาวเชียงใหม่ได้ถวายสถานที่แห่งนี้ให้กับแผ่นดิน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสฉลองพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ปัจจุบัน ข่วงพระเจ้าล้านนา อยู่ในความดูแลของกองทัพบก ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ บนถนนเลียบคลองชลประทานพุทธมหาเจดีย์ข่วงพระเจ้าล้านนา เจดีย์แบบล้านนาประยุกต์
ข่วงพระเจ้าล้านนาได้รับการรังสรรค์โดยสถาปนิก ผศ. จุไรพร ตุมพสุวรรณ โดยเน้นการออกแบบให้สอดคลองกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยผสมผสานกลิ่นไอสมัยใหม่เข้าไปด้วย อาคารสถานต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณพุทธมณฑลแห่งนี้จึงเป็นแบบล้านนาประยุกต์ ที่มองแล้วได้กลิ่นไอความเป็นเมืองเหนือ แต่ก็ดูไม่ล้าสมัย หรือเก่าเกินไปจนคนรุ่นใหม่เข้าไม่ถึง ใครที่สนใจเข้าชมก็เดินทางมาเยี่ยมชมได้เลยค่ะภายในพุทธมหาเจดีย์ข่วงพระเจ้าล้านนา ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง
โดยรอบจำลองพระธาตุปีนักษัตร ๑๒ ปีเอาไว้ให้ผู้คนได้สักการะ
สิ่งแรกที่จะสะดุดตาผู้มาเยือนคืออาคารรูปทรงคล้ายสถูปแบบล้านนาประยุกต์ หลังคาสีทองสดใส สะท้อนแสงแดดจ้าในยามกลางวัน อาคารแห่งนี้คือ พุทธมหาเจดีย์ข่วงพระเจ้าล้านนา เป็นเจดียสถานที่สามารถเข้าไปภายในได้ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย จำลองมาจากวัดพระพุทธบาทสี่รอยในอำเภอแม่ริม ซึ่งถือว่าเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของเชียงใหม่ และเป็นที่สักการะของประชาชนทั่วไป พระพุทธบาทสี่รอยสร้างจากความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ เสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทซ้อนกันเอาไว้ ผนังด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิดไว้จำนวน ๙๙ พระองค์ บนฐานโดยรอบพระเจดีย์ด้านนอก จำลองพระธาตุประจำปีนักษัตรทั้ง ๑๒ องค์มาไว้ที่นี่ เพื่อให้พุทธศาสนานิกชนได้กราบไหว้ โดยไม่ต้องเดินทางไกลพระเจ้าล้านนา พระประธานของพุทธมณฑลแห่งนี้
ด้านหน้าสถูปมีลานกว้างใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา บริเวณใกล้ๆ กันนั้นประดิษฐาน พระเจ้าล้านนา พระพุทธรูปทองเหลืองมารวิชัย ภายในซุ้มโขงแบบล้านนา ตั้งอยู่บนพื้นยกสูง เพื่อเป็นพระประธานของมณฑลแห่งนี้ ลักษณะพุทธศิลป์สร้างให้ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบล้านนาศาลาบาตร
ภายในศาลาบาตร ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิดจำนวน ๙ องค์
ใกล้ๆ กันนั้นคืออาคารล้านนาประยุกต์ เรียกว่า ศาลาบาตร เป็นอาคารยาว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิด ๙ องค์ พร้อมวาดภาพจิตรกรรมไว้ด้านหลังองค์พระพุทธรูป แม้จะเป็นภาพวาดใหม่ แต่ก็รักษาเอกลักษณ์และกลิ่นอายแบบล้านนาเอาไว้ได้ดีทีเดียวศาลธรรม สร้างไว้เพื่อการปฏิบัติธรรม
พระเจ้าทันใจ พระประธานภายในศาลาธรรม
บริเวณไม่ไกลจากทางเข้านัก เราจะพบอาคารหลังหนึ่งตั้งอยู่กลางสระน้ำ เชื่อมระหว่างฝั่งกับตัวอาคารด้วยสะพานนาค เรียกว่า ศาลาธรรม ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนที่สนใจ ส่วนสระน้ำดังกล่าวเป็นการจำลองสระอโนดาตตามพุทธคติ ภายในศาลธรรมประดิษฐานพระเจ้าทันใจ พร้อมซุ้มโขงและแท่นแก้วบรรยากาศด้านในข่วงพระเจ้าล้านนา
จำลองเหตุการณ์พุทธประวัติ "ประสูติ"
จำลองเหตุการณ์พุทธประวัติ
ชมภาพบรรยากาศสวยๆ ภายในข่วงฯ
ปิดท้ายด้วยภาพนี้นะคะ :)
ด้านในของข่วงพระเจ้าล้านนา มีอาคารเล็กๆ ประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถต่างๆ เป็นการจำลอง สังเวชนียสถาน ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาไว้ที่นี่ ได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เป็นต้น ข่วงแห่งนี้เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน ต้นไม้ที่ปลูกไว้จึงยังโตไม่เต็มที่ แต่จากที่ได้เดินเล่นเข้าไปภายในนั้น คิดว่าเมื่อต้นไม้โตเต็มที่คงจะร่มรื่นไม่น้อยทีเดียวเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา