ชมเจดีย์เจ็ดยอด และลายปูนปั้นอันงดงามวัดเจ็ดยอดหรือวัดโพธารามมหาวิหาร ได้ชื่อว่ามีเจดีย์รูปทรงแปลกที่สุด คือมียอดตั้งอยู่บนเรือนธาตุสี่เหลี่ยมถึงเจ็ด ยอด เหมือนมหาโพธิเจดีย์พุทธคยาที่ประเทศอินเดีย จัดเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย
[
ที่ตั้งและการเดินทาง ตั้งอยู่ริม ถ. ซุปเปอร์ไฮเวย์สายเชียงใหม่-ลำปาง ถ้ามาจาก ถ. ห้วยแก้วด้านหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้วิ่งตรงเข้าเมือง เมื่อถึงสี่แยกรินคำให้เลี้ยวซ้ายเข้า ถ. ซุปเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำปาง) โดยวิ่งบนถนนทางคู่ขนาน ประมาณ 1 กม. วัดเจ็ดยอดจะอยู่ซ้ายมือ
ประวัติ ราวปี พ.ศ. 1999 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 11 ของอาณาจักรล้านนาไทย โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต เป็นนายช่างทำการก่อสร้างอารามขึ้น แล้วโปรดให้ปลูกต้นมหาโพธิในบริเวณพระอารามแห่งนั้น เพราะเหตุที่มีต้นมหาโพธิอยู่ในวัด จึงปรากฏชื่อว่า วัดโพธารมหาวิหาร เจ้าอาวาสองค์แรกคือ พระโพธิรังษีมหาเถระ ผู้รจนาคัมภีร์จามเทวี
สิ่งน่าสนใจเจดีย์เจ็ดยอด เป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของวัด เชื่อว่าถ่ายทอดมาจากเจดีย์มหาโพธิวิหารพุทธคยา ประเทศอินเดีย สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 เมื่อ พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราช โปรดให้จัดการประชุมพระเถรานุเถระทั่วทุกหัวเมืองในอาณาจักรล้านนา และทรงคัดเลือกได้พระธรรมทิณ เจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้จัดเจนในพระบาลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระองค์ทรงเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ทำสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดนี้ ใช้เวลาปีหนึ่งจึงสำเร็จ เป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ลำดับที่ 8 โดยทำมาแล้วทั้งในอินเดียและศรีลังการรวมเจ็ดครั้ง และเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ลายปูนปั้น บนผนังด้านนอกองค์เจดีย์เจ็ดยอดมีงานประติมากรรมปูนปั้น เป็นภาพเทพยดานั่งขัดสมาธิเพชร ประนมหัตถ์อยู่กลางพระอุระ กับภาพเทพยดาพนมมือยืน ทรงเครื่องภูษาภรณ์อันเป็นสมัยนิยมในหมู่ชนชั้นสูงสมัยโบราณ สวมเครื่องศิราภรณ์ทรงเทริด มีทั้งแบบทรงสูงและทรงเตี้ย สังเกตบนยอดศิราภรณ์ประดิษฐ์ด้วยลายวิจิตรแตกต่างๆ กันไปในแต่ละองค์ เช่น ลายกระจับ ลายดอกบัว ลายหน้ากาล ลายดอกไม้ ฯลฯ เป็นที่น่าชมยิ่ง
บนพื้นผนังเป็นลายดอกไม้ร่วงคล้ายลายถ้วยชามสมัยราชวงศ์เหม็งของจีน นอกจากนี้ยังมีลายประดับหัวเสาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา แม้พม่ายังรับเอาไปและเรียกว่า ลายเชียงใหม่
พระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช เมื่อพระเจ้าติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ. 2030 พระยอดเชียงราช ราชนัดดาได้สืบราชสมบัติแทน และโปรดให้สร้างจิตกาธาน (เชิงตะกอน) ขึ้นในวัดนี้เพื่อเป็นสถานที่ฌาปณสถานถวายพระเพลิงพระศพของพระอัยกาธิราช แล้วโปรดให้สร้างพระสถูปใหญ่บรรจุพระอัฐิและพระอังคารธาตุของพระเจ้าติโลกราชไว้ภายในบริเวณวัด
พระสถูปนี้ก่ออิฐถือปูน ทรงมณฑปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มคูหาเป็นจตุรมุข หลังคาทรงบัวกลุ่ม ส่วนเครื่องยอดต่อขึ้นไปก่อเป็นพระสถูปทรงระฆังกลม ซุ้มคูหาด้านทิศตะวันออกฝังเข้าไปในตัวมณฑป ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรปูนปั้นปางมารวิชัยหนึ่งองค์