จากที่ไปที่มาของนิทรรศการ มาถึงคราวของการตระเวนดูผลงานกันบ้าง นิทรรศการ Neo Lanna Lllusion จะมีการจัดแสดงสองส่วนด้วยกัน คือด้านหน้าของชั้นแรก และส่วนของด้านหลัง โดยผลงานที่จัดแสงดนั้นจะมีเป็นจุดๆ ไป ไม่ได้มีหมดทุกส่วนของพื้นที่ ตอนดูๆ ก็เลยเหมือนกับอารมณ์มันขาดแหว่งไปนิด
ผลงานชิ้นแรกที่นำเสนอ (เรียงลำดับตามภาพ) เป็นภาพถ่ายวิถีชีวิตของชาวปะกากะญอ เรื่องของ เตาไฟ ที่ในภาษาปะกากะญอเรียกว่า ผักขวาทิ เป็นเตาไฟที่ไม่สามารถเดินหาซื้อได้ทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า แต่ทว่าเป็นเตาไฟที่ของชาวปะกากะญอ ที่เปรียบเสมือนดังศูนย์รวมจิตวิญญาณตามความเชื่อของบรรพบุรุษที่หล่อเลี้ยงมา เรียกได้ว่าให้ทั้งความสว่าง และเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตของชนเผ่า
นอกจากเรื่องของเตาไฟแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังสอดแทรกเรื่องของปะกากะญอ กับผืนป่า ที่หลังๆ มักโดนสังคมประณามว่าเป็นคนทำลายป่า กรณีไฟป่า ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ปะกากะญอ คือผู้ที่ดูแลผืนป่ายิ่งกว่าชีวิต และรักษาให้คงอยู่ตลอด โดยมีคำพูดอ้างอิงอันนึงที่ผมได้ดูจากรายการท่องเที่ยว We Roam Around เป็นภาษิตของปะกากะญอที่บอกว่า กินน้ำ ต้องดูแลน้ำ อยู่กับป่าต้องรักษาป่า อันเป็นสิ่งที่ปลูกฝังอยู่ในสายเลือดพวกเขา ใครอยากดูกดเข้าไปชมกันได้ฮะ
https://www.youtube.com/watch?v=BOcsovZDNK8ส่วนอีกฟากฝั่งของห้องจัดส่วนแรกนั้น เป็นงานจิตรกรรมภาพสีอะคริลิค หลายผลงานด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นงานในแบบนามธรรม แต่ติดใจอยู่อย่างเดียว คือชื่อผลงานของผู้สร้างสรรค์ ดันไม่แปะควบคู่กับชิ้นงาน ทั้งๆ ที่มีพื้นที่ตั้งเยอะแยะ
จากนั้นสับตีนเข้ามาด้านในที่เป็นส่วนด้านหลังของห้องจัดแสดง ผลงานชิ้นแรกก็กระแทกและทิ่มเบ้าตาทันที เพราะเป็น ศิวลึงค์
อันนี้อยากให้มองในแง่อื่นที่ไม่ใช่ในทางลามกจกเปรตนะ
เพราะ ศิวลึงค์ นั้น เป็นสัญลักษณะของพระศิวะเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ใช้ในการบูชาสักการะในโบสถ์วิหารฮินดู ทั้งนี้ ในศาสนาฮินดูยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าศิวลึงค์เป็นตัวแทนทางกายภาพของเทพเจ้าหรือเป็นเครื่องหมายทางจิตวิญญาณ
ศิวลึงค์ ถูกแปลความว่าเป็นเครื่องหมายแห่งพลังสร้างสรรค์ในบุรุษเพศที่มาจากองคชาต แม้ว่าในปัจจุบันชาวฮินดูส่วนใหญ่จะมองศิวลึงค์เป็นเครื่องหมายแห่งพลังศักดิ์สิทธิ์มากกว่าเครื่องหมายทางเพศ ศิวลึงค์มักปรากฏอยู่พร้อมกับโยนีสัญลักษ์ของพระแม่ปารวตีอันบ่งบอกถึงพลังสร้างสรรค์ของสตรีเพศ และการที่ศิวลึงค์และและโยนีอยู่ร่วมกันแสดงถึง "ความเป็นสองในหนึ่งเดียวที่แยกออกจากกันไม่ได้ของบุรุษและสตรี อวกาศที่หยุดนิ่งและเวลาซึ่งเคลื่อนที่อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิต ตั้งแต่สิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักวิชาการตีความว่าศิวลึงค์และโยนีเป็นอวัยวะเพศชายและหญิง ขณะที่ชาวฮินดูเห็นว่าทั้งสองสิ่งเป็นเครื่องแสดงถึงหลักการที่ว่าหญิงและชายไม่อาจแยกออกจากกันได้และเป็นเครื่องหมายแห่งการก่อกำเนิด