ห่างหายจาก หอศิลปวัฒธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปนานเกือบสองเดือนสำหรับผม มาเดือนล่าสุดนี้แวะมาชมนิทรรศการ เจอเข้าติดๆ กันไปถึง 3 นิทรรศการด้วยกันครับ ซึ่งก็มีจัดกันทั้งชั้นล่างส่วนด้านหน้า ด้านหลัง และชั้น 2
สำหรับนิทรรศการแรกที่อยากจะเล่าถึงนั้น ชื่อ นิทรรศการกลุ่มเจ็ดยอดหรือนิทรรศการผลงานผู้สอนศิลปะ สาขาวิชาทัศนศิลป์คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาซึ่งเป็นการจัดขึ้นครั้งที่ 12 เข้าให้แล้ว โดยเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558 ได้รับเกียรติจากอาจารย์พิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ.2546 เป็นประธานเปิดนิทรรศการ
โดยนิทรรศการกลุ่มเจ็ดยอด ครั้งที่ 12 เป็นการนำเสนอผลงานศิลปกรรมที่มีการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องเพื่อเผยแพร่และบริการวิชาการเกี่ยวกับผลงานสร้างสรรค์ทัศนศิลป์แก่สาธารณชน บูรณาการเรียนการสร้างสรรค์เพี่อยกระดับวิชาชีพ แสดงศักยภาพการสร้างสรรค์งานทัศนศลิป์ของผู้สอนศิลปะ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ของการสร้างสรรค์ที่สามารถยกระดับจิตใจให้ละเอียดงดงามทำนุบำรุงศิลปกรรมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ มหิดล ทรงพระกรุณาประทานผลงานForbidden Fruit of Eden 1 องค์ร่วมแสดงในครั้งนี้ด้วย
จากผลงานที่นำมาจัดแสดงนั้น มีทั้งงานวาดภาพสีน้ำมัน ไฟเบอร์กลาสแต่งสีและผลงานลักษณะอื่นๆ ส่วนแนวคิดของผลงงานนั้นจะเน้นไปในทางของศิลปะนามธรรม (Abstract Art) ที่ใช้ภาษาภาพในการสื่อความหมายด้วยรูปทรง, สี และลายเส้น เพื่อสร้างสัดส่วนซึ่งอาจจะประกอบขึ้นในระดับความเป็นนามธรรมที่แตกต่างกันไป
ทั้งนี้ ศิลปะนามธรรม เป็นศิลปะไร้รูปแบบตายตัว ศิลปะไร้รูปธรรม และศิลปะไม่แสดงลักษณ์ คือศิลปะที่เกี่ยวข้องกันอย่างหลวมๆ แม้ในความหมายเชิงลึกอาจมีความแตกต่างกันก็ตาม นอกจากนี้ ศิลปะนามธรรมชี้ให้เห็นการละทิ้งค่านิยมในการสร้างสรรค์ภาพให้มีความสมจริงของวงการศิลปะ ซึ่งการวาดภาพโดยที่ไม่เน้นความสมจริงนี้อาจแสดงไว้เพียงเล็กน้อย, บางส่วน หรืออาจจะแสดงไว้โดยสมบูรณ์ทั้งชิ้นงาน และจะสังเกตเห็นได้ว่าศิลปะนามธรรมคงอยู่ต่อเนื่องเรื่อยมา แม้แต่ศิลปะที่พยามยามจะทำให้มีองศามากที่สุดก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปะนามธรรม และตั้งแต่การแสดงภาพอย่างสมบูรณ์แบบเริ่มมีความยุ่งยากที่จะเข้าถึงแก่นแท้ งานศิลปะที่ใช้ความเป็นอิสระและแตกต่างไปจากเดิมทั้งรูปแบบและการใช้สีซึ่งมีความเด่นสะดุดตาก็อาจถูกเรียกว่าเป็นศิลปะนามธรรมได้ด้วยเช่นกัน
ศิลปะนามธรรมโดยสมบูรณ์คือศิลปะที่ไม่สามารถโยงเข้ากับแหล่งอ้างอิงรูปธรรมใดได้เลย ตัวอย่างเช่น ในศิลปะนามธรรมทรงเรขาคณิตน้อยครั้งที่จะพบแหล่งต้นตอของแนวคิดหรือรูปทรงที่ปรากฏเป็นรูปธรรมในธรรมชาติ ซึ่งทั้งศิลปะรูปแบบตายตัวและศิลปะนามธรรมโดยสมบูรณ์ต่างก็มีความเฉพาะตัวที่เหมือน แต่ศิลปะรูปแบบตายตัวและศิลปะเสมือนจริง (หรือศิลปะสัจนิยม) มักจะมีบางส่วนที่เป็นนามธรรมปรากฏด้วยอยู่บ่อยครั้ง
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถชมนิทรรศการกลุ่มเจ็ดยอดครั้งที่ 12 นิทรรศการจะมีให้ชมกันตั้งแต่วันนี้ 18 กันยายน 2558 ณ หอศิลปวัฒธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานนี้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายครับ