นอกจากนิทรรศการที่ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ผมไปประจำทุกเดือนแล้ว ก็จะมีที่ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา (คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์) อีกแห่งนี้แหละครับ ที่ผมมาเกือบทุกเดือน เพื่อเสพนิทรรศการหมุนเวียน
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าที่ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา (คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์) ก็มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนกัน แต่ไม่รู้ว่าจัดกันตรงไหน เลยจะขอบอกใบ้กันว่า จัดตรงห้องแสดงนิทรรศการชั้น 2 กันครับ
มาในส่วนของเดือนกรกฎาคมนี้ ที่นี้ก็มีการจัดงานนิทรรศการแสดงผลงานนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันเป็น 5 ผลงานประกวดรอบสุดท้ายในโครงการประกวดออกแบบ แนวคิด รีสอร์ท ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดแสดงในระหว่างวันที่ 7-31 กรกฏาคม 2557
มาดูกันในส่วนของผลงาน จะขอยกตัวอย่างมาซัก 3 ชิ้นก็แล้วกันครับ โดยเริ่มจากทีมที่ 1 ชื่อผลงาน Simple life l ชีวิตธรรมดา อันมีแนวความคิดในการออกแบบชีวิต
อณูวิญญาณขนาดเล็กภายในร่างกายของมนุษย์ ที่ขับเคลื่อนกาลเวลาและความรู้สึกของจิตใจมนุษย์ให้ตื่นขึ้น จากกายาที่หยาบกระด้างให้ดูอบอุ่นและเคลื่อนไหว ณ ทุกวินาทีขณะที่เมืองเติบโตคืบคลายสู่ป่าจิตวิญญาณของมนุษย์ก็เลือนหายไปฉันนั้น เรือนไม้หลังงามหลังเก่าในชีวิตชนบทที่เลือนหายไปแทนที่ด้วยท้องถนนและตึกรามบ้านช่องใหญ่โตจิตวิญญาณของมนุษย์ก็เลวทรามต่ำช้าไปด้วยเช่นกัน แก่งแย่ง ชิงดี แข่งขันภายใต้กงเกวียนบ่วงกรรม
แนวทางที่ผู้ออกแบบได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวความคิด ของโครงการเป็นการนำเสนอเอาความรู้สึกเอาพลังของที่ตั้งมา เป็นปัจจัยช่วยในการออกแบบและสะท้อนเสียดสีสังคมเมืองของมนุษย์ ที่ละโมบในกายหยาบและรูปธรรม ของสรรพสิ่งจนหลงลืมคุณค่าที่ซ่อนอยู่ใต้ความหมายเชิงนามธรรมที่ทรงคุณค่าในชีวิตจริง การออกแบบจึงมุ่งเน้นหา ชีวิตธรรมดา ในสังคมสมัยอดีตที่มนุษย์โหยหาภายใต้การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของสังคมหมู่บ้าน อย่างพื้นที่ ข่วงเฮือน ไปสู่ การทลายความรู้สึกของรีสอร์ทไปสู่ความเป็นหมู่บ้าน เพื่อเติมเต็มความสัมพันธ์มนุษย์และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดีของที่ตั้ง รีสอร์ทชิ้นนี้ จึงเป็นเสมือน Co-Housing ที่ใช้พื้นที่กลางบางอย่างร่วมกันมุ่งเน้นให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านอย่างประณีประนอม ไม่เว้นแม้กระทั่งธรรมชาติที่ซึ่งผู้ออกแบบทลายความเป็นผนังทึบของบ้านให้หายไปให้ธรรมชาติลอดเข้าผ่านด้วยการเปิดม่านบางๆ ที่กั้นอยู่และปิดตัวลง เมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวด้วยม่านไผ่สร้างความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตด้วยการผสมผสานพื้นที่แบบเติ๋น ชานแดดและห้องของเรือนพื้นถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน
ผลงานต่อมา ทีมที่ 2 Concept: ลูกครึ่ง (MIX&MATCH) เป็นการผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ จนออกมากเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์แต่ยังคงความเป็นไทยที่ทันสมัยมากขึ้น อีกทั้งยังนำเส้นสายของธรรมชาติมาล้อเลียนกับเส้นสายของสิ่งก่อสร้างผสมผสานอยู่ร่วมกัน โดยที่งานสถาปัตยกรรมและการจัดวางอาคารจะเข้าไปรบกวนพื้นที่ธรรมชาติน้อยที่สุด อีกทั้งยังส่งเสริมมุมมองวิวให้เห็นความงามภายในและภายนอกที่มีอยู่ของโครงการออกมาให้มากที่สุด เป็นการอยู่ร่วมกันของสองความแตกต่างผสมกันออกมาอย่างลงตัว
ตบท้ายด้วยผลงานชิ้นที่ 3 VOTE ทีมที่ 3 CONCEPT กาลเปลี่ยนผ่าน มิติสัมพันธ์ ธรรมชาติเลือก กาล ณ ที่นี้ คือฤดูกาลและเวลา ที่เกิดการเปลี่ยนผ่านในเรื่องของ ระยะ ระดับ ภาษาของธรรมชาติ สถาปัตยกรรมและบุคคล ที่มีมิติทางวัฒนธรรม สี กลิ่น เสียง ซึ่งสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมและพื้นที่ของโครงการ ที่ธรรมชาติได้เลือกสรร ดั่งเฉกเช่น เราเอาเมล็ดโยน เมล็ดพันธ์นั้นเลือกที่จะขึ้นเอง ธรรมชาติเลือกธรรมชาติโดยให้ธรรมชาติอยู่กับธรรมชาติ
ในส่วนของผลงานอื่นๆ ที่เหลือจากนี้ ใครสนใจก็สามารถแวะเข้าไปดูกันได้ เผื่อดูแล้วเกิดไอเดียดีๆ นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองได้