เที่ยว วัดป่าจี้ เรียนรู้ประเพณีเลี้ยงดงผีอันเก่าแก่เลดี้ ดาริกาขอพาเพื่อนๆ ออกนอกเมืองกันอีกครั้ง คราวนี้เราไม่เพียงแต่เที่ยวชมวัดวาอารามสวยๆ เท่านั้น แต่เราจะไปเรียนรู้วิถีชุมชนเก่าแก่ และประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานาน เกริ่นมาเท่านี้ก็น่าสนใจแล้วใช่ไหมคะ บทความนี้อาจจะออกแนวมานุษยวิทยาสักหน่อย อย่าเพิ่งเบื่อเสียก่อนนะวัดป่าจี้ หรือวัดป่าชี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จากตลาดต้นพะยอม ใช้เส้นทางเลียบคลองชลประทานลงมาทางทิศใต้ประมาณ ๖ กิโลเมตร ถึงสามแยกอุโบสถวารีประทาน ขับรถเลยแยกมาประมาณ ๓๐๐ เมตร เลี้ยวขวาข้ามสะพาน เข้าไปในซอยอีก ๒๐๐ เมตรก็จะถึงวัด ความเป็นมาของวัดทราบแต่เพียงว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๕ วิหารโบราณวัดป่าจี้ สวยสดงดงามตามแบบล้านนา
บริเวณวัดค่องข้างโล่ง ต้นไม้น้อยมาก มีอยู่รอบๆ วัดเพียงไม่กี่ต้น อากาศอาจจะร้อนไปหน่อย แต่พอได้เห็นพระวิหารโบราณที่ยังคงความสวยงามแบบดั้งเดิม บอกกับตัวเองได้เลยว่าร้อนแค่ไหนก็ไม่เกี่ยง ลวดลายปูนปั้นสีชมพูอ่อนๆ สวยงาม
เรามาเริ่มจุดแรกกันที่พระวิหารโบราณ สถาปัตยกรรมล้านนา ตั้งอยู่บนพื้นยกสูงประมาณครึ่งเมตร ราวบันไดเป็นพญานาคเกล็ดสีส้มเขียว ส่วนหัวประดับด้วยกระจกสีเขียวและน้ำเงิน ช่อฟ้าและนาคสะดุ้งตกแต่งด้วยกระจกหลากสี โดดเด่นมาก ด้านหน้าพระวิหารประดับด้วยลายปูนปั้นแทบทุกตารางนิ้ว ละเอียดมากๆ หน้าบันแบ่งออกเป็นช่องต่างๆ ตามโครงสร้างหลังคาแบบม้าต่างไหม เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมล้านนา ตกแต่งด้วยลวดลายพรรณพฤกษาและสัตว์ต่างๆ ประตูก็วิจิตรไม่แพ้กัน เป็นงานแกะสลักไม้รูปพระอินทร์ประทับยืนอยู่บนช้างเอราวัณพระอุโบสถวัดป่าจี้
ด้านหลังพระวิหาร เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถสถาปัตยกรรมล้านนา ข้างๆ กันเป็นพระเจดีย์ศิลปะล้านนาผสมสุโขทัย ตั้งอยู่บนพื้นสี่เหลี่ยมยกสูงประมาณ ๑ เมตร แต่ละมุมมีเจดีย์บริวาร ฐานล่างสุดเป็นสีเหลี่ยมย่อเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นฐานยกสูง มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประทานพรอยู่ทั้งสี่ด้าน เหนือขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำหุ้มด้วยทองจังโกที่ค่อนข้างสูงเพรียว ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง ด้านหน้าพระเจดีย์เป็นศาลาพระเจ้าทันใจพระเจดีย์วัดป่าจี้
หลังจากทำความรู้จักกับปูชนียสถานต่างๆ แล้ว เรามารู้จักกับประเพณีที่สำคัญของชาวแม่เหียะกันบ้างนะคะ เลี้ยงดง ประเพณีเก่าแก่ของชาวเชียงใหม่ หาดูได้ยากมาก เพราะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวแม่เหียะ ประเพณีเลี้ยงดงเกี่ยวข้องอย่างไรกับวัดป่าจี้แห่งนี้ วัดป่าจี้เป็นสถานที่เก็บรักษา พระบฏ หรือ ผ้าพระบฏ อายุเก่าแก่กว่า ๑,๐๐๐ ปี คำว่า บฏ มาจากภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ-ตะ) แปลว่า ผ้าทอหรือผืนผ้าที่วาดภาพพระพุทธเจ้า นิยมแขวนไว้ในสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อเป็นรูปเคารพบูชา ซึ่งพระบฏเป็นองค์ประกอบสำคัญในพิธีเลี้ยงดงผี ซึ่งจัดขึ้นปีละ1 ครั้ง ราวๆ เดือนพฤษภาคม มิถุนายนประเพณีเลี้ยงดง ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี เพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณผีในป่า มีการแห่ขบวนพระบฏจากวัดป่าจี้ไปยังสถานที่ประกอบพิธีที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยที่4 (แม่เหียะ) มายังสถานที่ประกอบพิธี และนำมาห้อยไว้ที่กิ่งไม้ เชื่อกันว่าภาพของพระพุทธองค์สามารถสะกดดวงวิญญาณปู่แสะย่าแสะ และผีป่าให้อยู่ในกรอบ จากนั้นจะอัญเชิญดวงวิญญาณ ปู่แสะย่าแสะ เชื่อกันว่าเป็นผู้ปกปักษ์รักษาผืนป่าในแถบนี้ ผ่านร่างทรงที่จะมารับเครื่องเซ่นที่เป็นควายรุ่นเขาเพียงหูสีดา โดยการกินเนื้อดิบและเครื่องเซ่นอื่นๆเป็นยังไงบ้างคะกับความงดงามของเสนาสนะต่างๆ ในวัดป่าจี้ และประเพณีเลี้ยงดงผีที่เก่าแก่ และหาชมได้ยาก หลายคนไม่ทราบด้วยซ้ำว่าใกล้ๆ เมืองเชียงใหม่นี้ยังมีประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน บางคนมองว่าเป็นประเพณีล้าสมัย แต่จริงๆ แล้ว เลี้ยงดงผี เป็นประเพณีทางจิตวิญญาณที่อยู่คู่กับคนชนชาติไทมายาวนาน แฝงคติธรรมมากมาย และมุ่งสอนให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนหวงแหนผืนป่าอันสมบูรณ์ของดอยสุเทพ-ปุย เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา