กราบพระบรมสารีริกธาตุสำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่ พระธาตุศรีจอมทองเอ่ยถึงเชียงใหม่ ใครๆ ก็คงจะนึกถึงพระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ของเวียงเชียงใหม่แต่เก่าก่อน คนต่างถิ่นหลายคนอาจไม่ทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว เชียงใหม่ยังมีพระธาตุเจดีย์อีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญ และประวัติความเป็นมายาวนาน น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ใช่แล้วค่ะ...ฉันกำลังพูดถึง พระธาตุศรีจอมทอง พระธาตุที่มีตำนานการสร้างย้อนกลับไปเมื่อครั้งพุทธกาลเลยทีเดียววัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
พระธาตุศรีจอมทอง ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ในตัวอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากเทศบาลเมืองเชียงใหม่ มุ่งหน้าลงใต้ ใช้เส้นทางสานเชียงใหม่ ฮอด ประมาณ ๕๘ กิโลเมตร เลยทางแยกขึ้นดอยอินทนนท์เล็กน้อย เข้าไปในตัวอำเภอจอมทอง พระอารามแห่งนี้ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ย่านกลางเมือง ในอดีตบริเวณที่ตั้งพระธาตุเจดีย์แห่งนี้เป็นเนินดิน สูงจากระดับปกติเล็กน้อย ชาวบ้านเรียกว่า ดอยจอมทอง มีผู้คนมาสักการะกราบไหว้อย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังเป็นพระธาตุสำคัญสำหรับคนเกิดปีชวด (หนู) ตามความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดอีกด้วยพระบรมสารีริกธาตุเจ้าศรีจอมทอง เป็นส่วนพระเศียรเบื้องขวา ถือเป็นพระธาตุสำคัญของเมืองเชียงใหม่
พระบรมธาตุที่ประดิษฐานอยู่ ณ พระธาตุเจ้าศรีจอมทองแห่งนี้ เป็น พระทักษิณโมลี หรือพระเศียรเบื้องขวา ตามตำนานกล่าวไว้ว่าพระพุทธองค์เคยเสด็จมายังยอดดอยจอมทองแห่งนี้ และทำนายว่า หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวาจะประดิษฐานอยู่ ณ ดอยจอมทองนี้ ตามประวัติการสร้างวัดสันนิษฐานว่าพระอารามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ แต่จากการสำรวจงานสถาปัตยกรรม และลักษณะพุทธศิลป์ภายในวัด ปรากฏว่าเป็นลักษณะศิลปกรรมล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งเป็นช่วงฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่พระธาตุศรีจอมทอง ปิดทองจังโกเหลืออร่ามทั้งองค์ พระธาตุประจำปีชวด
ด้านหลังพระธาตุ มองเห็นวิหารทรงจตุรมุข สร้างในรัชสมัยพระเมืองแก้ว
พระบรมสารีริกธาตุศรีจอมทอง มีความพิเศษแตกต่างจากพระธาตุแห่งอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้ฝังอยู่ในดินใต้ฐานพระเจดีย์ แต่ประดิษฐานอยู่ในกู่ปราสาทปิดทอง ตั้งอยู่ในพระวิหารทรงจัตุรมุข สร้างโดยพระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ ๑๔ แห่งราชวงศ์มังราย สามารถนำออกมาประชาชนสักการะ และสรงน้ำได้ ซึ่งในอดีตกษัตริย์เมืองเชียงใหม่หลายพระองค์ได้อัญเชิญพระธาตุศรีจอมทองนี้ไปทำพระราชพิธีสรงน้ำในเมืองเชียงใหม่เป็นประจำ โดยจะแวะพักที่วัดต้นเกว๋น นอกเมืองเชียงใหม่เพื่อในประชาชนย่านนั้นได้สักการะด้วย ซึ่งวัดพระธาตุศรีจอมทองจะจัดให้มีพิธีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุเป็นประจำทุกปีในวันมาฆะบูชา และวันวิสาขบูชาภาพจิตรกรรมตกแต่งหน้าบันพระวิหาร
มุขด้านหลังของพระวิหาร ห้องนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
องค์พระเจดีย์ศรีจอมทองมีลักษณะศิลปะล้านนาในสมัยหลัง ฐานเจดีย์ย่อเก็จตามลักษณะเจดีย์แบบล้านนา ส่วนยอดเป็นองค์ระฆังขนาดเล็ก มีรั้วล้อมรอบพระเจดีย์ และมีฉัตรทองที่มุมเจดีย์ทั้งสี่ทิศ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพม่าในงาศิลป์ล้านนา ด้านหน้าประตูทางเข้ามีสถูปองค์เล็กศิลปะแบบพม่า คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยที่เชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เพื่อให้เป็นเจดีย์คู่ภายในพระวิหารตกแต่งอย่างสวยงาม
กู่คำและพระประธานภายในพระวิหาร
ด้านหน้าพระเจดีย์ประธานเป็นที่ตั้งของพระวิหารจัตุรมุข ก่ออิฐถือปูนเรียบๆ ไม่มีลวดลายมากมายนัก แต่หลังคาเป็นแบบล้านนา หน้าบันแบบม้าต่างไหม แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาสีทองสวยงามมาก ภายในพระวิหาตกแต่งอย่างวิจิตร โดยเฉพาะการวาดลวดลายบนโครงสร้างหลังคา มีพระประธานปางมารวิชัยประทับอยู่หน้ากู่คำแบบล้านนาที่ถือว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่ง พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ในห้องด้านหลังกู่คำ สามารถเดินเข้าไปนมัสการได้วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร มีความสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หากใครมีโอกาสไปเยือนดอยอินทนนท์ ยอดเขาที่สุดที่สุดในประเทศไทย จะลองแวะไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุก่อน ก็ถือเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หรือผู้เกิดปีชวด อยากมาทำบุญไหว้สาพระธาตุประจำปีเกิดก็เชิญได้ที่นี่เช่นกันเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา