วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน อลังการศิลปะล้านนาประยุกต์เพื่อพุทธบูชายอมรับว่าฉันรู้จักที่นี่ครั้งแรกจากการหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในอินเตอร์เน็ต ชื่อ วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน ช่างกระชากใจวัยรุ่นตอนปลายอย่างฉันเสียจริง เมื่อเราตัดสินใจสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวแม่แตง วัดแห่งนี้จึงอยู่ในลิสต์รายชื่อสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องไปเยือนรายชื่อแรกๆ เลยทีเดียว และที่นี่ก็ไม่ทำให้ฉันผิดหวัง (แม้ว่าแดดจะแรงมาก ทั้งๆ ที่เป็นหน้าหนาวก็ตาม)พระวิหารวัดบ้านเด่น สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ ลวดลายวิจิตร
พระธาตุเจดีย์ประธานของวัด กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และประดับทองจังโก
วัดแห่งนี้เดิมเป็นเพียงวัดเล็กๆ ของหมู่บ้าน ทำเลที่ตั้งอยู่บนเนินเขาขนาดย่อม มีพื้นที่สูงกว่าบ้านของชาวบ้านเล็กน้อย ในเขตตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ พระอารามแห่งนี้เดิมชื่อว่า วัดหรีบุญเรือง ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า วัดเด่น หรือ วัดบ้านเด่น หากเปรียบเทียบกับวัดวาอารามอีกหลายแห่งที่มีชื่อเสียง และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในเชียงใหม่แล้ว วัดแห่งนี้เป็นเพียงวัดธรรมดาที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญอะไร ชื่อ เด่นสะหลีศรีเมืองแกน นั้น เกิดขึ้นเมื่อครูบาเทือง นาถสีโล พระเกจิชื่อดังของภาคเหนือเข้ามาบูรณะ และพัฒนาวัดแห่งนี้ให้ใหญ่โตสวยงาม พร้อมกับนำต้นโพธิ์ ซึ่งคำเมืองเรียกว่า เก๊าสะหรี ซึ่งถือกันว่าเป็นไม้มงคล และมีความสำคัญต่อพระศาสนามาปลูกไว้ในวัด และบริเวณที่ตั้งของวัดนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า ๗๐๐ ปีก่อน (สมัยพญามังรายมหาราช) ที่นี่คือชุมชนโบราณที่มีชื่อเรียกว่า เมืองแกน เมื่อนำมาต่อกันจึงกลายเป็นชื่อใหม่ของวัดที่ติดอยู่ในความทรงจำของใครก็ตามที่มีโอกาสมาเยือน แต่ชาวบ้านก็ยังคงเรียก วัดบ้านเด่น เช่นเคยพระประธานปางมารวิชัยในพระวิหารใหญ่
หากจะวัดกันที่ความเก่าแก่ของสถาปัตยกรรม วัดแห่งนี้คงไม่มีชื่อติดโผ แต่ถ้ากล่าวถึงการสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจนเป็นที่รู้จักไปทั่วแล้วละก็ วัดแห่งนี้จัดอยู่ระดับแนวหน้า ด้วยความวิจิตรพิสดารของอาคารสถานต่างๆ ภายในวัด รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมล้านนาประยุกต์ ซึ่งเก็บลายละเอียดได้อย่างหมดจด สอดแทรกความทันสมัยเข้าไปในงานช่างฝีมือแบบดั้งเดิมได้อย่างลงตัวศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของประเทศ (องค์จำลอง)
พระพุทธรูปสำคัญของประเทศ (องค์จำลอง) จำลองมาจากวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
เมื่อเราผ่านซุ้มประตูหน้าเข้ามาภายในบริเวณวัด อาคารต่างๆ ปรากฏอยู่ตรงหน้าสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน พระวิหาร คืออาคารหลังแรกที่สะดุดตาผู้มาเยือน เพราะมีขนาดใหญ่ และตกแต่งรายละเอียดอย่างวิจิตรงดงามตามแบบฉบับของวิหารล้านนา หน้าบันลวดลายพรรณพฤกษาสีทองขดม้วนอย่างวิจิตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่ปางมารวิชัย บนฐานชุกชีสีทองสลักเสลาลวดลายงดงาม ด้านหลังเป็นภาพเขียนสีทองรูปต้นพระศรีมหาโพธิ์ และเทพชุมนุมบนพื้นสีดำ ผนังวิหารด้านขวามือเรียงรายไปด้วยพระพุทธรูปในอิรอยาบทต่างๆ เรียงรายกันสวยงามอานุสาวรีย์ครูบาเทือง นาถสีโล ด้านหลังคือหอพระธรรมสองชั้น สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง
ด้านขวาของพระวิหารมีโกฏิบรรจุอัฐิของครูบาเทือง ถัดไปเป็นศาลายาวขวางตะวัน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของเมืองไทย ซึ่งจำลองมาจากวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ใช่เพียงแต่ภาคเหนือเท่านั้น เรียกได้ว่ามาทีเดียวได้สักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หลายองค์วิหารพระเศรษฐีนวโกฏิ
ด้านซ้ายของพระวิหารมีอาคารเรียงรายมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงาม ด้านหลังอนุสาวรีย์ครูบาเทือง นาถสีโล มีหอพระธรรมฯ เรือนไม้สองชั้น ศิลปะล้านนาประยุกต์ รูปทรงโดดเด่นสะดุดตา ถัดมาคือวิหารพระเศรษฐีนวโกฏิ เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ทั้งคนในท้องที่ และคนต่างถิ่น ใกล้ๆ กันคือพระวิหารไม้สักทองทั้งหลัง บันไดทางขึ้นขนาบด้วยนกหัสดีลิงค์ (หัวเป็นช้าง ตัวเป็นนก) นกในวรรณคดีพระพุทธศาสนา ด้านในประดิษฐาน พระพุทธมหาบารมีศรีศากยวงศ์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก ทรงเครื่องทอง ในกู่ลงรักปิดทองงดงามมาก นอกจากนี้ยังมีธรรมมาสน์ และรูปปั้นเทวดาสีทองสุกปลั่งทั้งองค์ยืนเรียงรายสองฝั่ง ตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงกู่พระประธานวิหารไม้สักทองทั้งหลัง ประดิษฐานพระพุทธมหาบารมีศรีศากยวงศ์
นกหัสดีลิงค์ หัวเป็นช้าง ตัวเป็นนก สัตว์ในวรรณคดีพระพุทธศาสนา
พระธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของวัด กำลังอยู่ระหว่างการสร้าง และปิดทองยังไม่แล้วเสร็จ แม้ว่าวัดแห่งนี้จะยังไม่เสร็จสิ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีคณะทัวร์ และนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่องตลอดวัน นอกจากที่ได้เล่าให้ฟังด้านบนแล้ว บริเวณอันกว้างใหญ่ของวัดแห่งนี้ ยังมีส่วนที่น่าสนใจอีกหลายแห่งพระพุทธมหาบารมีศรีศากยวงศ์ พระพุทธรูปทรงเครื่อง ประดิษฐานในกู่ลงรักปิดทอง
พระอารามแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร การเดินทางมาก็แสนง่ายดาย มาตามเส้นทางขึ้นเหนือ ถนนเชียงใหม่-ฝาง เข้ามาตามทางไปเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ก่อนถึงตัวเทศบาลเมืองแกน ให้เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายบอกทาง เส้นทางเดียวกับแหล่งเตาโบราณอินทขีลนั่นเอง มาเที่ยวแม่แตงครั้งเดียว เก็บได้สองแหล่งท่องเทียวเลยนะคะเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา