วัดบุพพาราม เยี่ยมชมพระอารามตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ในช่วงที่ผ่านมาปริมาณนักท่องเที่ยวชาวจีนในเมืองเชียงใหม่เพิ่มขึ้นเร็วมาก เดินไปทางไหนก็มีแต่ชาวจีน แม้กระทั่งป้ายตามสถานที่สำคัญต่างๆ ก็ยังต้องมีคำอธิบายภาษาจีนกำกับไว้ ปรากฏการณ์เชียงใหม่ฟีเวอร์นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากภาพยนตร์คอมเมอดี้ Lost in Thailand ที่สร้างรายได้ถล่มทลายในประเทศจีน เอาชนะหนังฮอลลีวู้ดไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เรื่องราวในภาพยนตร์มีฉากถ่ายทำหลักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่นี่เอง หอมณเฑียรธรรม landmark สำคัญของวัดบุพพาราม
มณฑปทรงไทยประยุกต์ ก่ออิฐถือปูนสองชั้น หรือ หอมณเฑียรธรรม ของ วัดบุพพาราม เป็นหนึ่งในฉากสำคัญของเรื่อง วัดแห่งนี้หลายคนที่ผ่านไปมาบนถนนท่าแพ คงมีโอกาสเห็นอยู่บ่อยๆ แต่ด้วยสถาปัตยกรรมประยุกต์ร่วมสมัย ไม่เก่าแก่เหมือนอีกหลายๆ วัด หลายคนคงผ่านเลยไป เพราะมองเป็นวัดธรรมดาๆ ทั้งๆ ที่จริงแล้ววัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ มีเรื่องราว และความเป็นมาน่าสนใจมาก ในบทความนี้จึงขออาสาพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับวัดแห่งนี้กันให้มากขึ้นพระพุทธรูปสำคัญ ประดิษฐานบนชั้นสองของหอมณเฑียรธรรม
วัดบุพพาราม ตั้งอยู่บนถนนท่าแพ ย่านเศรษฐกิจสำคัญของเมืองเชียงใหม่ และเป็นศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ หลายคนเข้าใจผิดว่าวัดนี้ชื่อ บุปผาราม เพราะเป็นชื่อที่คุ้นเคย และเรียกง่ายกว่า ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วชื่อดั่งกล่าวเป็นชื่อทางการของวัดสวนดอก บุปผา แปลว่า ดอกไม้ นั่นเอง ส่วนคำว่า บุพพาราม แปลว่า ทิศตะวันออก เพราะว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเมืองภาพจิตรกรรมภายในชั้นแรกของหอมณเฑียรธรรม
วัดแห่งนี้เดิมชื่อว่า วัดเม็ง หรือ วัดอุปปาใน เป็นวัดเก่าแก่ มีฐานะเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดชัยมงคล (วัดอุปปานอก) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๔๐ ในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ ๑๒ แห่งราชวงศ์มังราย ทรงโปรดเกล้าให้สร้างวัดแห่งนี้บริเวณพระราชอุทยานเก่าของพระเจ้าติโลกราช และตั้งชื่อว่า วัดบุพพาราม แปลว่า พระอารามตะวันออกชั้นแรกของหอมณเฑียรธรรมเป็นพื้นที่จัดแสดงโบราณวัตถุของวัด
หอมณเฑียรธรรม มณฑปทรงปราสาทจตุรมุขล้านนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นอาคารปูนสองชั้น ประดับด้วยลายปูนปั้นสีทองทั่วทั้งหลัง หน้าบันมีตราพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดับอยู่ ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสามองค์ สององค์แกะสลักด้วยไม้สัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชพระราชทานนามว่า พระพุทธบุพพาภิมงคล ภปร. หันหน้าไปทางทิศเหนือ พระพุทธนเรศร์สักชัยไพรีพินาศ หรือพระองค์ขาวหันไปทางทิศตะวันออก ส่วนอีกองค์เป็นพระแก้วหยกหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ชั้นล่างจัดเป็นห้องสมุดศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา รวบรวมวัตถุโบราณต่างๆ เช่น คัมภีร์โบราณ รูปโบราณ หีบธรรม และสัตภัณฑ์เอาไว้ให้ชมวิหารโบราณหลังเล็ก ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
พระวิหารหลังเล็ก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๒ โดยเจ้าหลวงธรรมลังกา เป็นอาคารไม้ทั้งหลัง สถาปัตยกรรมแบบล้านนาดั้งเดิม หน้าบันแกะสลักเป็นรูปดอกไม้ต่างๆ มีเทพพนมประจำอยู่สามองค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธไชยลาภประสิทธิโชค พระวิหารหลังนี้เป็นของเก่าแก่ รูปทรง สัดส่วนสง่างามตามแบบล้านนาดั้งเดิมปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติแล้ว ถือเป็นจุดหนึ่งที่ผู้มาเยือนที่ชื่นชอบศิลปะโบราณไม่ควรพลาดชมลวดลายหน้าบันของวิหารหลังเล็ก ประดับกระจกละเอียดปราณีต
พระวิหารหลังใหญ่ ตั้งอยู่ข้างๆ พระวิหารหลังเล็ก สร้างขึ้นสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ หรือเจ้าชีวิตอ้าว เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ อาคารก่ออิฐถือปูนศิลปะล้านนา ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นแบบพม่า ภายในประดิษฐานพระพุทธมหาปฏิมากร ผนังด้านในมีภาพเขียนสีฝุ่นเล่าเรื่องพุทธประวัติ และพระมหาเวสสันดรชาดกซุ้มพระของเจดีย์ประธานของวัด
พระเจดีย์ประธานของวัด ตั้งอยู่ด้านหลังวิหารทั้งสองหลัง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๕๓ โดยพระเมืองแก้ว สมัยเดียวกับการสร้างวิหารหลังเล็ก ฐานกว้างประมาณ 6 เมตร สูงประมาณ 15 เมตร เดิมปิดด้วยทองทั้งองค์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ หลวงโยนวิจิตรบูรณะพระเจดีย์ แล้วเปลี่ยนรูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่า ขยายฐานให้กว้าง 19 เมตร สูง 22.5 เมตร มีเจดีย์องค์เล็กทั้งสี่มุม องค์เจดีย์ประดับด้วยกระจกสี ส่วนยอดมีฉัตรสีทองขนาดใหญ่ได้ทำความรู้จักกับวัดบุพพาราม หนึ่งในจุดสำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมมาเยือน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน must list สำหรับเมืองเชียงใหม่เลยก็ว่าได้เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา