วัดกู่เต้า ชมความงดงามพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะพม่า และเจดีย์ทรงน้ำเต้าอันเป็นเอกลักษณ์
หากเพื่อนๆ มีโอกาสมาเยือนวัดในเขตจังหวัดภาคเหนือ คงจะสังเกตเห็นพระเจดีย์ หรือที่ในภาษาเหนือเรียกว่า กู่ อยู่ด้านหลังพระวิหาร ซึ่งเป็นค่านิยมการสร้างวัดในอดีต เจดีย์ตามแบบล้านนานั้นมีหลากหลายลักษณะ ที่พบเห็นได้ทั่วไปคือเจดีย์ทรงปราสาทล้านนา ซึ่งมีฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันหลายชั้น และเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ที่รับเอาอิทธิพลการสร้างเจดีย์แบบสุโขทัยเข้ามา แล้วประยุกต์จนกลายเป็นแบบล้านนาโดยเฉพาะ นอกจากเจดีย์รูปทรงดังกล่าว บางวัดกลับมีเจดีย์ประธานรูปทรงแปลกแตกต่างไปจากวัดอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือ เจดีย์วัดกู่เต้า
บรรยากาศภายในวัด
วัดกู่เต้าตั้งอยู่ที่ ต.ศรีภูมิ อ.เมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ ติดกับสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ เดิมชื่อว่า วัดเวฬุวนาราม ไม่มีประวัติแน่ชัดว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยใด แต่พงศาวดารโยนกกล่าวถึงวัดแห่งนี้ว่า หลังจากที่พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ตีเอาหัวเมืองเหนือทั้งหลายได้แล้ว ก็ส่งพระราชโอรสพระนามว่า พระเจ้านรธาเมงสอ มาปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราชในระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๒๒ ๒๑๕๖ เพื่อคอยควบคุมเจ้านายฝ่ายเหนือไม่ให้กระด้างกระเดื่อง (เฉลิมพระนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าสารวดี) เมื่อเจ้าฟ้าสารวดีสิ้นพระชนม์ลง พระอนุชาถวายเพลิงพระศพอย่างสมพระเกียรติ แล้วโปรดให้สร้างเจดีย์กู่เต้าขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิและพระอังคารธาตุของพระองค์ แล้วจึงโปรดให้สร้างพระอารามขึ้นในบริเวณนั้น ซึ่งก็คือ วัดกู่เต้า ในปัจจุบันเจดีย์วัดกู่เต้า เป็นทรงแตงโมผ่าครึ่ง หรือบาตรคว่ำซ้อนกัน ๕ ชั้น
เจดีย์กู่เต้ามีลักษณะคล้ายการนำผลแตงโม (ชาวล้านนาเรียกแตงโมว่า บะเต้า) หรือบาตรคว่ำมาวางซ้อนกัน ๕ ลูก อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนาคมโน พระกัสสโป พระโคตโม และพระอริยเมตไตยโย องค์เจดีย์แต่ละชั้นประดับด้วยกระจกสีเป็นลวดลายดอกไม้ขนาดเล็ก มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน บนยอดมีเจดีย์สีทององค์เล็ก และประดับด้วยยอดฉัตร คล้ายเจดีย์ศิลปะพม่านักวิชาการสันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นเพียงเจดีย์ก่ออิฐถือปูน การประดับกระเบื้องสีบนเจดีย์น่าจะเพิ่งทำขึ้นใหม่ระหว่างการบูรณะพระเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากการประดับองค์พระเจดีย์ด้วยกระเบื้องสี และถ้วยชามนั้น เป็นเอกลักษณ์ของการสร้างพระเจดีย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นพระวิหารหลวงแบบล้านนา-รัตนโกสินทร์ประยุกต์ สัดส่วนสวยงามมาก
นอกจากพระเจดีย์กู่เต้าเอกลักษณ์สำคัญของวัดแล้ว พระวิหารหลวง เป็นอาคารอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ พระวิหารสร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ หลังคาทรงเครื่องแบบวัดไทยในภาคกลางลดหลั่นกัน 3 ชั้น หน้าบันตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น สวยงามมาก พระประธานในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องทอง เครื่องทรงของพระพุทธรูปลวดลายวิจิตรงดงาม แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะพม่าอย่างชัดเจน ใครก็ตามที่มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนวัดกู่เต้า นอกจากพระเจดีย์ทรงแปลกตา เอกลักษณ์ของวัดแล้ว พระประธานองค์นี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด เลดี้ ดาริกา รับประกันความงดงามค่ะพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพม่า วิจิตรพิศดาร สวยงามมาก
งานประเพณีบวชลูกแก้ว หรือ ปอยส่างลอง เป็นประเพณีขึ้นชื่อของวัดกู่เต้า จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคมของทุกปี เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวไทใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม เชื่อกันว่าได้บุญกุศลมากกว่าการบวชพระภิกษุ ชาวบ้านจะนิยมนำบุตรหรือหลานชายมาเข้าร่วมพิธีบวชด้วย ลูกแก้ว หรือ ส่างลอง จะโกนผม (แต่ไม่โกนคิ้ว) แต่งหน้าทาปาก สวมใส่เสื้อผ้าสวยงาม โพกผ้าแบบพม่าประดับด้วยมวยผมของบรรพบุรุษ และจึงพาลูกแก้วไปขอขมายังบ้านญาติผู้ใหญ่ จากนั้นจึงร่วมขบวนแห่โดยนั่งบนหลังม้าพร้อมด้วยเครื่องไทยทานไปตามถนนสายต่างๆ ในวันสุดท้ายลูกแก้วจะมารวมตัวกันที่วัดกู่เต้าเพื่อทำพิธีบวชสามเณรตามคติความเชื่อของชาวล้านนาที่เป็นไทใหญ่เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา ![917](https://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/Smileys/default/917.gif)