ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
พฤศจิกายน 27, 2024, 08:43:57 AM
หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก
ข่าว: ประกาศ  โพสหัวข้อเดียวซ้ำๆ กัน รับสิทธิ์ โดนลบกระทู้ และโชคดีได้รับสิทธิ์แบนฟรี 90 วันครับ


จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  ข้อมูล เที่ยวลำปาง และ ที่พักลำปาง  |  ทริปข้อมูล รูปภาพลำปาง  |  หัวข้อ: พุทธศาสนา ประเพณีตานก๋วยสลาก (สลากภัต) 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: 1 ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธศาสนา ประเพณีตานก๋วยสลาก (สลากภัต)  (อ่าน 8885 ครั้ง)
TeawChiangmai_IT
Full Member
***
กระทู้: 217


กุหลาบเวียงพิงค์


ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: พฤษภาคม 20, 2008, 10:54:05 AM »


ที่มา และทีไป ประเพณีตานก๋วยสลาก 


คัดลอกมาจาก พระไตรปิฎก อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑

 ๔. เรื่องความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี [๔]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภหญิงหมันคนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ น หิ เวเรน เวรานิ ” เป็นต้น.

               มารดาหาภรรยาให้บุตร               
               ดังได้สดับมา บุตรกุฎุมพีคนหนึ่ง เมื่อบิดาทำกาละแล้ว ทำการงานทั้งปวง ทั้งที่นา ทั้งที่บ้าน ด้วยตนเอง ปฏิบัติมารดาอยู่, ต่อมา มารดาได้บอกแก่เขาว่า “พ่อ แม่จักนำนางกุมาริกามาให้เจ้า.”
               บุ. แม่ อย่าพูดอย่างนี้เลย, ฉันจักปฏิบัติแม่ไปจนตลอดชีวิต.
               ม. พ่อ เจ้าคนเดียวทำการงานอยู่ ทั้งที่นาและที่บ้าน, เพราะเหตุนั้น แม่จึงไม่มีความสบายใจเลย, แม่จักนำนางกุมาริกามาให้เจ้า.
               เขาแม้ห้าม (มารดา) หลายครั้งแล้วได้นิ่งเสีย. มารดานั้นออกจากเรือน เพื่อจะไปสู่ตระกูลแห่งหนึ่ง.
               ลำดับนั้น บุตรถามมารดาว่า “แม่จะไปตระกูลไหน?” เมื่อมารดาบอกว่า “จะไปตระกูลชื่อโน้น” ดังนี้แล้ว ห้ามการที่จะไปตระกูลนั้นเสียแล้ว บอกตระกูลที่ตนชอบใจให้. มารดาได้ไปตระกูลนั้นหมั้นนางกุมาริกาไว้แล้ว กำหนดวัน (แต่งงาน) นำนางกุมาริกาคนนั้นมา ได้ทำไว้ในเรือนของบุตร. นางกุมาริกานั้นได้เป็นหญิงหมัน.
               ทีนั้น มารดาจึงพูดกะบุตรว่า “พ่อ เจ้าให้แม่นำนางกุมาริกามาตามชอบใจของเจ้าแล้ว บัดนี้ นางกุมาริกานั้นเป็นหมัน, ก็ธรรมดา ตระกูลที่ไม่มีบุตรย่อมฉิบหาย, ประเพณีย่อมไม่สืบเนื่องไป, เพราะฉะนั้น แม่จักนำนางกุมาริกาคนอื่นมา (ให้เจ้า)” แม้บุตรนั้นกล่าวห้ามอยู่ว่า “อย่าเลย แม่” ดังนี้ ก็ยังได้กล่าว (อย่างนั้น) บ่อยๆ.
               หญิงหมันได้ยินคำนั้น จึงคิดว่า “ธรรมดา บุตรย่อมไม่อาจฝืนคำมารดาบิดาไปได้, บัดนี้ แม่ผัวคิดจะนำหญิงอื่น ผู้ไม่เป็นหมันมาแล้ว ก็จักใช้เราอย่างทาสี, ถ้าอย่างไร เราพึงนำนางกุมาริกาคนหนึ่งมาเสียเอง” ดังนี้แล้ว จึงไปยังตระกูลแห่งหนึ่ง ขอนางกุมาริกาเพื่อประโยชน์แก่สามี, ถูกพวกชนในตระกูลนั้นห้ามว่า “หล่อนพูดอะไรเช่นนั้น” ดังนี้แล้ว จึงอ้อนวอนว่า “ฉันเป็นหมัน ตระกูลที่ไม่มีบุตร ย่อมฉิบหาย บุตรีของท่านได้บุตรแล้ว จักได้เป็นเจ้าของสมบัติ, ขอท่านโปรดยกบุตรีนั้นให้แก่สามีของฉันเถิด” ดังนี้แล้ว ยังตระกูลนั้นให้ยอมรับแล้ว จึงนำมาไว้ในเรือนของสามี.
               ต่อมา หญิงหมันนั้นได้มีความปริวิตกว่า “ถ้านางคนนี้จักได้บุตรหรือบุตรีไซร้ จักเป็นเจ้าของสมบัติแต่ผู้เดียว, ควรเราจะทำนางอย่าให้ได้ทารกเลย.”

               เมียหลวงปรุงยาทำลายครรภ์เมียน้อย               
               ลำดับนั้น หญิงหมันจึงพูดกะนางนั้นว่า “ครรภ์ตั้งขึ้นในท้องหล่อนเมื่อใด ขอให้หล่อนบอกแก่ฉันเมื่อนั้น.” นางนั้นรับว่า “จ้ะ” เมื่อครรภ์ตั้งแล้ว ได้บอกแก่หญิงหมันนั้น. ส่วนหญิงหมันนั้นแลให้ข้าวต้มและข้าวสวยแก่นางนั้นเป็นนิตย์. ภายหลัง นางได้ให้ยาสำหรับทำครรภ์ให้ตกปนกับอาหารแก่นางนั้น. ครรภ์ก็ตก [แท้ง]. เมื่อครรภ์ตั้งแล้วเป็นครั้งที่ ๒ นางก็ได้บอกแก่หญิงหมันนั้น. แม้หญิงหมันก็ได้ทำครรภ์ให้ตก ด้วยอุบายอย่างนั้นนั่นแลเป็นครั้งที่ ๒.
               ลำดับนั้น พวกหญิงที่คุ้นเคยกัน ได้ถามนางนั้นว่า “หญิงร่วมสามีทำอันตรายหล่อนบ้างหรือไม่? นางแจ้งความนั้นแล้ว ถูกหญิงเหล่านั้นกล่าวว่า “หญิงอันธพาล เหตุไร หล่อนจึงได้ทำอย่างนั้นเล่า?” หญิงหมันนี้ได้ประกอบยาสำหรับทำครรภ์ให้ตกให้แก่หล่อน เพราะกลัวหล่อนจะเป็นใหญ่, เพราะฉะนั้น ครรภ์ของหล่อนจึงตก, หล่อนอย่าได้ทำอย่างนี้อีก.” ในครั้งที่ ๓ นางจึงมิได้บอก.
               ต่อมา [ฝ่าย] หญิงหมันเห็นท้องของนางนั้นแล้วจึงกล่าวว่า “เหตุไร? หล่อนจึงไม่บอกความที่ครรภ์ตั้งแก่ฉัน” เมื่อนางนั้นกล่าวว่า “หล่อนนำฉันมาแล้ว ทำครรภ์ให้ตกไปเสียถึง ๒ ครั้งแล้ว, ฉันจะบอกแก่หล่อนทำไม?” จึงคิดว่า “บัดนี้ เราฉิบหายแล้ว” คอยแลดูความประมาทของนางกุมาริกานั้นอยู่, เมื่อครรภ์แก่เต็มที่แล้ว, จึงได้ช่อง ได้ประกอบยาให้แล้ว ครรภ์ไม่อาจตก เพราะครรภ์แก่ จึงนอนขวาง [ทวาร]. เวทนากล้าแข็งขึ้น. นางถึงความสิ้นชีวิต.๑-
____________________________
๑- ชีวิตกฺขยํ

               นางตั้งความปรารถนาว่า “เราถูกมันให้ฉิบหายแล้ว, มันเองนำเรามา ทำทารกให้ฉิบหายถึง ๓ คนแล้ว, บัดนี้ เราเองก็จะฉิบหาย, บัดนี้ เราจุติจากอัตภาพนี้ พึงเกิดเป็นนางยักษิณี อาจเคี้ยวกินทารกของมันเถิด” ดังนี้แล้ว ตายไปเกิดเป็นแม่แมวในเรือนนั้นเอง. ฝ่ายสามีจับหญิงหมันแล้ว กล่าวว่า “เจ้าได้ทำการตัดตระกูลของเราให้ขาดสูญ” ดังนี้แล้ว ทุบด้วยอวัยวะทั้งหลายมีศอกและเข่าเป็นต้นให้บอบช้ำแล้ว. หญิงหมันนั้นตายเพราะความเจ็บนั้นแล แล้วได้เกิดเป็นแม่ไก่ในเรือนนั้นเหมือนกัน.

               ผลัดกันสังหารคนละชาติด้วยอำนาจผูกเวร               
               จำเนียรกาลไม่นาน แม่ไก่ได้ตกฟองหลายฟอง. แม่แมวมากินฟองไก่เหล่านั้นเสีย. ถึงครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ มันก็ได้กินเสียเหมือนกัน. แม่ไก่ทำความปรารถนาว่า “มันกินฟองของเราถึง ๓ ครั้งแล้ว เดี๋ยวนี้ มันก็อยากกินตัวเราด้วย, เดี๋ยวนี้ เราจุติจากอัตภาพนี้แล้ว พึงได้กินมันกับลูกของมัน” ดังนี้แล้ว จุติจากอัตภาพนั้น ได้เกิดเป็นแม่เสือเหลือง.
               ฝ่ายแม่แมวได้เกิดเป็นแม่เนื้อ. ในเวลาแม่เนื้อนั้นคลอดลูกแล้วๆ แม่เสือเหลืองก็ได้มากินลูกทั้งหลายเสียถึง ๓ ครั้ง. เมื่อเวลาจะตาย แม่เนื้อทำความปรารถนาว่า “พวกลูกของเรา แม่เสือเหลืองตัวนี้กินเสียถึง ๓ ครั้งแล้ว เดี๋ยวนี้มันจักกินตัวเราด้วย. เดี๋ยวนี้ เราจุติจากอัตภาพนี้แล้ว พึงได้กินมันกับลูกของมันเถิด” ดังนี้แล้ว ได้ตายไปเกิดเป็นนางยักษิณี.
               ฝ่ายแม่เสือเหลืองจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นกุลธิดา๑- ในเมืองสาวัตถี. นางถึงความเจริญแล้ว ได้ไปสู่ตระกูลสามีในบ้านริมประตู [เมือง].
____________________________
๑- หญิงสาวของตระกูล หญิงสาวในตระกูล หรือหญิงสาวมีตระกูล

               ในกาลต่อมา นางได้คลอดบุตรคนหนึ่ง. นางยักษิณีจำแลงตัวเป็นหญิงสหายที่รักของเขามาแล้ว ถามว่า “หญิงสหายของฉันอยู่ที่ไหน?” พวกชาวบ้านได้บอกว่า “เขาคลอดบุตรอยู่ภายในห้อง” นางยักษิณีฟังคำนั้น แสร้งพูดว่า “หญิงสหายของฉันคลอดลูกเป็นชายหรือหญิงหนอ, ฉันจักดูเด็กนั้น” ดังนี้แล้ว เข้าไปทำเป็นแลดูอยู่ จับทารกกินแล้วก็ไป. ถึงในหนที่ ๒ ก็ได้กินเสียเหมือนกัน. ในหนที่ ๓ นางกุลธิดามีครรภ์แก่ เรียกสามีมาแล้ว บอกว่า “นาย นางยักษิณีตนหนึ่งกินบุตรของฉันเสียในที่นี้ ๒ คนแล้วไป, เดี๋ยวนี้ ฉันจักไปสู่เรือนแห่งตระกูลของฉันคลอดบุตร” ดังนี้แล้ว ไปสู่เรือนแห่งตระกูล คลอด [บุตรที่นั่น].
               ในกาลนั้น นางยักษิณีนั้นถึงคราวส่งน้ำ. ด้วยว่า นางยักษิณีทั้งหลายต้องตักน้ำจากสระอโนดาตทูนบนศีรษะมา เพื่อท้าวเวสสวัณ ตามวาระ ต่อล่วง ๔ เดือนบ้าง ๕ เดือนบ้างจึงพ้น (จากเวร) ได้. นางยักษิณีเหล่าอื่นมีกายบอบช้ำ ถึงความสิ้นชีวิตบ้างก็มี.
               ส่วนนางยักษิณีนั้น พอพ้นจากเวรส่งน้ำแล้วเท่านั้น ก็รีบไปสู่เรือนนั้น ถามว่า “หญิงสหายของฉันอยู่ที่ไหน?” พวกชาวบ้านบอกว่า “ท่านจักพบเขาที่ไหน? นางยักษิณีตนหนึ่งกินทารกของเขาที่คลอดในที่นี้, เพราะฉะนั้น เขาจึงไปสู่เรือนแห่งตระกูล” นางยักษิณีนั้นคิดว่า “เขาไปในที่ไหนๆ ก็ตามเถิด จักไม่พ้นเราได้” ดังนี้แล้ว อันกำลังเวรให้อุตสาหะแล้ว วิ่งบ่ายหน้าไปสู่เมือง.
               ฝ่ายนางกุลธิดา ในวันเป็นที่รับชื่อให้ทารกนั้นอาบน้ำ ตั้งชื่อแล้ว กล่าวกะสามีว่า “นาย เดี๋ยวนี้ เราพากันไปสู่เรือนของเราเถิด” อุ้มบุตรไปกับสามี ตามทางอันตัดไปในท่ามกลางวิหาร มอบบุตรให้สามีแล้ว ลงอาบน้ำในสระโบกขรณีข้างวิหารแล้ว ขึ้นมารับเอาบุตร, เมื่อสามีกำลังอาบน้ำอยู่, ยืนให้บุตรดื่มนม แลเห็นนางยักษิณีมาอยู่ จำได้แล้ว ร้องด้วยเสียงอันดังว่า “นาย มาเร็วๆ เถิด นี้นางยักษิณีตนนั้น” ดังนี้แล้ว ไม่อาจยืนรออยู่จนสามีนั้นมาได้ วิ่งกลับบ่ายหน้าไปสู่ภายในวิหารแล้ว.

               เวรไม่ระงับด้วยเวร แต่ระงับได้ด้วยไม่ผูกเวร               
               ในสมัยนั้น พระศาสดาทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท. นางกุลธิดานั้นให้บุตรนอนลงเคียงหลังพระบาทแห่งพระตถาคตเจ้า แล้วกราบทูลว่า “บุตรคนนี้ ข้าพระองค์ถวายแด่พระองค์แล้ว ขอพระองค์ประทานชีวิตแก่บุตรข้าพระองค์เถิด”
               สุมนเทพผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตู ไม่ยอมให้นางยักษิณีเข้าไปข้างใน.
               พระศาสดารับสั่งเรียกพระอานนทเถระมาแล้ว ตรัสว่า “อานนท์ เธอจงไปเรียกนางยักษิณีนั้นมา” พระเถระเรียกนางยักษิณีนั้นมาแล้ว.
               นางกุลธิดากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางยักษิณีนี้มา”
               พระศาสดาตรัสว่า “นางยักษิณีจงมาเถิด, เจ้าอย่าได้ร้องไปเลย” ดังนี้แล้ว ได้ตรัสกะนางยักษิณีผู้มายืนอยู่แล้วว่า “เหตุไร? เจ้าจึงทำอย่างนั้น ก็ถ้าพวกเจ้าไม่มาสู่เฉพาะหน้าพระพุทธเจ้าผู้เช่นเราแล้ว เวรของพวกเจ้าจักได้เป็นกรรมตั้งอยู่ชั่วกัลป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน, ของหมีกับไม้สะคร้อ และของกากับนกเค้า, เหตุไฉน พวกเจ้าจึงทำเวรและเวรตอบแก่กัน? เพราะเวรย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร หาระงับได้ด้วยเวรไม่”
               ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
                         ๔.  น หิ เวเรน เวรานิ  สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ 
                          อเวเรน จ สมฺมนฺติ                  เอส ธมฺโม สนนฺตโน 
                          “ในกาลไหนๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับ 
                          ด้วยเวรเลย ก็แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร, 
                          ธรรมนี้เป็นของเก่า.”


               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น หิ เวเรน เป็นต้น ความว่า เหมือนอย่างว่า บุคคล แม้เมื่อล้างที่ซึ่งเปื้อนแล้วด้วยของไม่สะอาด มีน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้น ด้วยของไม่สะอาดเหล่านั้นแล ย่อมไม่อาจทำให้เป็นที่หมดจด หายกลิ่นเหม็นได้, โดยที่แท้ ที่นั้นกลับเป็นที่ไม่หมดจดและมีกลิ่นเหม็นยิ่งกว่าเก่าอีก ฉันใด. บุคคลเมื่อด่าตอบชนผู้ด่าอยู่ ประหารตอบชนผู้ประหารอยู่ ย่อมไม่อาจยังเวรให้ระงับด้วยเวรได้, โดยที่แท้ เขาชื่อว่าทำเวรนั่นเองให้ยิ่งขึ้น ฉันนั้นนั่นเทียว. แม้ในกาลไหนๆ ขึ้นชื่อว่าเวรทั้งหลาย ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวร, โดยที่แท้ ชื่อว่าย่อมเจริญอย่างเดียว ด้วยประการฉะนี้.
               สองบทว่า อเวเรน จ สมฺมนฺติ ความว่า เหมือนอย่างว่า ของไม่สะอาดมีน้ำลายเป็นต้นเหล่านั้น อันบุคคลล้างด้วยน้ำที่ใสย่อมหายหมดได้, ที่นั้นย่อมเป็นที่หมดจด ไม่มีกลิ่นเหม็น ฉันใด, เวรทั้งหลายย่อมระงับ คือย่อมสงบ ได้แก่ย่อมถึงความไม่มีด้วยความไม่มีเวร คือด้วยน้ำคือขันติและเมตตา ด้วยการทำไว้ในใจโดยแยบคาย [และ] ด้วยการพิจารณา ฉันนั้นนั่นเทียว.
               บาทพระคาถาว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน ความว่า ธรรมนี้ คือที่นับว่า ความสงบเวร ด้วยความไม่มีเวร เป็นของเก่า คือเป็นมรรคาแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพทั้งหลาย ทุกๆ พระองค์ดำเนินไปแล้ว.
               ในกาลจบพระคาถา นางยักษิณีนั้นตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผลแล้ว, เทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์ แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว.

               นางยักษิณีรู้ฝนมากฝนน้อย               
               พระศาสดาได้ตรัสกะหญิงนั้นว่า “เจ้าจงให้บุตรของเจ้าแก่นางยักษิณีเถิด.”
               ญ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กลัว.
               ศ. เจ้าอย่ากลัวเลย, อันตรายย่อมไม่มีแก่เจ้า เพราะอาศัยนางยักษิณีนี้.
               นางได้ให้บุตรแก่นางยักษิณีนั้นแล้ว. นางยักษิณีนั้นอุ้มทารกนั้น จูบกอดแล้ว คืนให้แก่มารดาอีก ก็เริ่มร้องไห้.
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามนางยักษิณีนั้นว่า “อะไรนั่น?”
               นางยักษิณีนั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน ข้าพระองค์ แม้สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยไม่เลือกทาง ยังไม่ได้อาหารพอเต็มท้อง, บัดนี้ ข้าพระองค์จะเลี้ยงชีพได้อย่างไร.”
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสปลอบนางยักษิณีนั้นว่า “เจ้าอย่าวิตกเลย” ดังนี้แล้ว ตรัสกะหญิงนั้นว่า “เจ้าจงนำนางยักษิณีไปให้อยู่ในเรือนของตนแล้ว จงปฏิบัติด้วยข้าวต้มและข้าวสวยอย่างดี.” หญิงนั้นนำนางยักษิณีไปแล้ว ให้พักอยู่ในโรงกระเดื่อง ได้ปฏิบัติด้วยข้าวต้มและข้าวสวยอย่างดีแล้ว.
               ในเวลาซ้อมข้าวเปลือก สากปรากฏแก่นางยักษิณีนั้นดุจต่อยศีรษะ. เขาจึงเรียกนางกุลธิดาผู้สหายมาแล้ว พูดว่า “ฉันจักไม่อาจอยู่ในที่นี้ได้ ขอท่านจงให้ฉันพักอยู่ในที่อื่นเถิด”
               แม้อันหญิงสหายนั้นให้พักอยู่ในที่เหล่านี้ คือในโรงสาก ข้างตุ่มน้ำ ริมเตาไฟ ริมชายคา ริมกองหยากเยื่อ ริมประตูบ้าน,
               (นาง) ก็กล่าวว่า “ในโรงสากนี้ สากย่อมปรากฏดุจต่อยศีรษะฉันอยู่, ที่ข้างตุ่มน้ำนี้ พวกเด็กย่อมราดน้ำเป็นเดนลงไป, ที่ริมเตาไฟนี้ ฝูงสุนัขย่อมมานอน, ที่ริมชายคานี้ พวกเด็กย่อมทำสกปรก, ที่ริมกองหยากเยื่อนี้ ชนทั้งหลายย่อมเทหยากเยื่อ, ที่ริมประตูบ้านนี้ เด็กพวกชาวบ้าน ย่อมเล่นการพนันกันด้วยคะแนน” ดังนี้แล้ว ได้ห้ามที่ทั้งปวงนั้นเสีย.
               ครั้งนั้น หญิงสหายจึงให้นางยักษิณีนั้นพักอยู่ในที่อันสงัดภายนอกบ้านแล้ว นำโภชนะมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นอย่างดีไปเพื่อนางยักษิณีนั้น แล้วปฏิบัติในที่นั้น. นางยักษิณีนั้นคิดอย่างนี้ว่า “เดี๋ยวนี้ หญิงสหายของเรานี้มีอุปการะแก่เรามาก, เอาเถอะ เราจักทำความแทนคุณสักอย่างหนึ่ง” ดังนี้แล้ว ได้บอกแก่หญิงสหายว่า “ในปีนี้จักมีฝนดี, ท่านจงทำข้าวกล้าในที่ดอนเถิด, ในปีนี้ฝนจักแล้ง ท่านจงทำข้าวกล้าในที่ลุ่มเถิด. ข้าวกล้าอันพวกชนที่เหลือทำแล้ว ย่อมเสียหายด้วยน้ำมากเกินไปบ้าง ด้วยน้ำน้อยบ้าง. ส่วนข้าวกล้าของนางกุลธิดานั้น ย่อมสมบูรณ์เหลือเกิน.

               นางยักษิณีเริ่มตั้งสลากภัต               
               ครั้งนั้น พวกชนที่เหลือเหล่านั้นพากันถามนางว่า “แม่ ข้าวกล้าที่หล่อนทำแล้ว ย่อมไม่เสียหายด้วยน้ำมากเกินไป ย่อมไม่เสียหายด้วยน้ำน้อยไป, หล่อนรู้ความที่ฝนดีและฝนแล้งแล้วจึงทำการงานหรือ? ข้อนี้เป็นอย่างไรหนอแล?”
               นางบอกว่า “นางยักษิณีผู้เป็นหญิงสหายของฉัน บอกความที่ฝนดีและฝนแล้งแก่ฉัน, ฉันทำข้าวกล้าทั้งหลายในที่ดอนและที่ลุ่ม ตามคำของยักษิณีนั้น, เหตุนั้น ข้าวกล้าของฉันจึงสมบูรณ์ดี, พวกท่านไม่เห็นโภชนะมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้น ที่ฉันนำไปจากเรือนเนืองนิตย์หรือ? สิ่งของเหล่านั้น ฉันนำไปให้นางยักษิณีนั้น, แม้พวกท่านก็จงนำโภชนะมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นอย่างดี ไปให้นางยักษิณีบ้างซิ, นางยักษิณีก็จักแลดูการงานของพวกท่านบ้าง”
               ครั้งนั้น พวกชนชาวเมืองทั้งสิ้นพากันทำสักการะแก่นางยักษิณีนั้นแล้ว. จำเดิมแต่นั้นมา นางยักษิณีแม้นั้นแลดูการงานทั้งหลายของชนทั้งปวงอยู่ ได้เป็นผู้ถึงลาภอันเลิศ [และ] มีบริวารมากแล้ว.
               ในกาลต่อมา นางยักษิณีนั้นเริ่มตั้งสลากภัต ๘ ที่แล้ว สลากภัตนั้น ชนทั้งหลายยังถวายอยู่จนกาลทุกวันนี้แล.

               เรื่องความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี จบ               
               ------------------------       
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 02, 2008, 04:23:45 PM โดย TeawChiangmai_IT » บันทึกการเข้า
sayarak
Newbie
*
กระทู้: 1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2008, 01:33:49 PM »


 ;D >:( ??? ::)
บันทึกการเข้า
TeawChiangmai_IT
Full Member
***
กระทู้: 217


กุหลาบเวียงพิงค์


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: สิงหาคม 02, 2008, 03:12:17 PM »


ขออภัยครับ ช่วงนี้ยุ่งมาก เลยลืมโพสต์

เด๋วจะมาคุยเรื่อง พุทธศาสนสุภาษิต

กับเรื่อง เศรษฐีหาสะใภ้ ครับ
บันทึกการเข้า
TeawChiangmai_IT
Full Member
***
กระทู้: 217


กุหลาบเวียงพิงค์


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: สิงหาคม 02, 2008, 03:15:24 PM »


ธรรมะออนไลน์ครับ ศึกษาไว้ อารมณ์เสียดแทงจิตใจ จะได้น้อยลง

84000.org/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 22, 2014, 04:52:34 PM โดย TripChiangmai » บันทึกการเข้า
TeawChiangmai_IT
Full Member
***
กระทู้: 217


กุหลาบเวียงพิงค์


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: สิงหาคม 02, 2008, 03:27:39 PM »


                                                          เศรษฐีหาศรีสะใภ้



-----ท่านเศรษฐี มีทรัพย์มหาศาล มีลูกชายอยู่คนหนึ่ง ต้องการจะได้ลูกสะใภ้ที่ดีที่ฉลาด และมีคุณธรรม ครั้นจะปล่อยให้ลูกชายหาเอาเอง ก็เกรงจะไปได้เอาคนไม่ดีเข้า จะมาพล่าผลาญทรัพย์สมบัติเสียหมด จึงจัดการเลือกหาเสียเอง วิธีเลือกหาหญิงดีมาเป็นศรีสะใภ้ ท่านใช้การผูกปริศนาคำทาย ส่งไปให้บรรดาสาวนางทั้งหลายตอบ

-----------ปริศนามีว่า "มีปลาอยู่ตัวหนึ่ง จะทำอะไรกิน จึงจะได้อิ่มและทนนานที่สุด ?"



---------ถ้านางใดตอบได้ถูกต้องมีเหตุมีผล ท่านเศรษฐีจะยกขึ้นเป็นสะใภ้ โดยจัดการตบแต่งให้กับบุตรชายของท่าน ปรากฏมีสตรีสาวๆในละแวกนั้นส่งคำตอบมามากราย บ้างก็ว่าใส่เกลือทำปลาเค็ม บ้างก็ว่าทำเป็นปลาย่าง บางนางก็ว่าทำปลาร้า ฯลฯ


---------ท่านเศรษฐีไม่ชอบใจมีอยู่รายหนึ่งตอบมาว่า *จะต้มจะแกงอย่างไรก็ได้เจ้าค่ะ แต่ทำแล้วอย่ากินคนเดียว ควรตักแบ่งให้เพื่อนบ้าน พี่บ้านเหนือ น้องบ้านใต้ได้กินบ้าง วิธีนี้ปลาตัวนั้น จะกินได้อิ่มและทนนานที่สุด รายนี้ท่านเศรษฐีชอบใจ รับเป็นศรีสะใภ้ จัดการแต่งงานกับบุตรชาย
-----ฝ่ายเจ้าลูกชายยังโง่อยู่เลย ค้านพ่อของตนว่า "รายที่ตอบว่าทำปลาเค็มและปลาย่างน่าจะถูกกว่านะพ่อ เพราะปลาเค็ม ปลาย่างมันอยู่ได้นานกว่าเอาไปแกงแจกชาวบ้าน เพราะที่เอาไปแจกชาวบ้าน มันยิ่งจะทำให้หมดเร็วเข้าไปเสียอีก ผมไม่เห็นด้วยเลย" ฝ่ายพ่อย้อนว่า "เจ้าลูกโง่ที่เอาไปทำปลาเค็มปลาแห้งนั้นน่ะ มันเก็บได้นานต่างหาก ปัญหาของข้าให้ตอบว่า กินได้นาน ไม่ใช่เก็บได้นาน เก็บกับกินนั้นมันต่างกัน การเก็บไว้เฉยๆ มันช่วยให้เอ็งอิ่มได้หรือ ?" พ่อขมวดถาม เจ้าลูกชายก็ยังไม่ยอมย้อนแย้งว่า "ถึงกระนั้นก็เถอะครับพ่อ ต้มแกงแล้วเอาไปเที่ยวแจกชาวบ้านน่ะผมว่าก็ไม่เห็นจะกินได้นานตรงไหน กลับจะหมดเร็วเข้าน่ะซิ" พ่อบอกว่า "เอ็งมันคิดสั้น ข้าจะอธิบายให้ฟัง ปลาในถ้วยแกงที่เอ็งตักแบ่งให้เพื่อนน่ะแม้จะหมดไปเร็วไว แต่วันหลังเจ้าปลาในถ้วยที่แจกไปน่ะ มันจะว่ายกลับมาให้เอ็งกินอีก อาจจะกลับมามากกว่าเก่า ดีกว่าเดิมก็ได้ เช่น กลับมาเป็นไก่เป็นหมู เพราะเพื่อนบ้านที่เขารับของเราไปกินน่ะ ไม่มีใครใจจืดใจดำหรอก คนมีหัวใจนะโว๊ย.. ย่อมจะรู้สึกคุณเพื่อนบ้าน *ชาติคนมีน้ำใจน่ะเอ็งเอ๋ย ไม่ยอมกินของของใครข้างเดียวหรอก* พวกเรามันมีวัฒนธรรม มีอะไรก็เฉลี่ยแบ่งกัน พริกเรือนเหนือ เกลือเรือนใต้ หมูไปไก่มา ไม่ใช่หมูมา หมาก็ไปโว๊ย เหตุนี้และข้าจึงรับแม่หนูคนนี้มาเป็นเมียเอ็ง เพราะได้คนที่มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาเป็นเลือดเนื้อเชื้อสาย มันจะช่วยให้มีความอบอุ่นมั่นคง เป็นที่รักใคร่นับถือของเพื่อนบ้าน ?"
-----นิยายเรื่องนี้ เป็นทั้งนิยายตัวอย่าง และนิยายปริศนา ทำให้เห็นคุณค่าและอานิสงส์ของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้ชัดเจน และอยากจะล้อมรั้วบ้านด้วยไมตรีขึ้นมาเอง.... !

ข้อคิดสอนใจ...
-----อย่าลืมประเพณีไทย "พริกเรือนเหนือ เกลือเรือนใต้ หมูไปไก่มา" คอยสอดคอยส่องคอยมองคอยเมียง บ้านใก้ลเรือนเคียงคอยเรียกขานไต่ถามยามทุกข์ข้าวสุขข้าวสาร ขาดเหลือเจือจานกันไปตามมี

-----เนกาสี ลภเต สุขํ องค์พระพุทธังท่านตรัสชี้ว่า
-----กินคนเดียวความสุขไม่มี ถึงจะอ้วนพีก็ไม่กี่วัน...
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 02, 2008, 03:44:40 PM โดย TeawChiangmai_IT » บันทึกการเข้า
TeawChiangmai_IT
Full Member
***
กระทู้: 217


กุหลาบเวียงพิงค์


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: สิงหาคม 02, 2008, 03:48:12 PM »


คัดลอกมาจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

ภริยาสูตร


    [๖๐] ครั้งนั้น เมื่อเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือ
บาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ประทับนั่งบน
อาสนะที่ปูลาดแล้ว ก็สมัยนั้นมนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิก-
*เศรษฐีส่งเสียงอื้ออึง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัส
ถามว่า ดูกรคฤหบดี เหตุไรหนอ มนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่านจึงส่งเสียง
อื้ออึง เหมือนชาวประมงแย่งปลากัน อนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ นางสุชาดาคนนี้ข้าพระองค์นำมาจากตระกูลมั่งคั่งมาเป็นสะใภ้ใน
เรือน นางไม่เชื่อถือ แม่ผัว พ่อผัว สามี แม้แต่พระผู้มีพระภาคนางก็ไม่
สักการะเคารพนับถือบูชา ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกนางสุชาดาหญิง
สะใภ้ในเรือนว่า มานี่แน่ะนางสุชาดา นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับพระผู้
มีพระภาคแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรนางสุชาดา
ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้ ๗ จำพวกเป็นไฉน คือ ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต
๑ เสมอด้วยโจร ๑ เสมอด้วยนาย ๑ เสมอด้วยแม่ ๑ เสมอด้วยพี่สาวน้องสาว
๑ เสมอด้วยเพื่อน ๑ เสมอด้วยทาสี ๑ ดูกรนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗
จำพวกนี้แล เธอเป็นจำพวกไหนใน ๗ จำพวกนั้น
             นางสุชาดากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันยังไม่รู้ทั่วถึง
ความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่
หม่อมฉัน โดยที่หม่อมฉันจะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสโดยย่อนี้ โดยพิสดารเถิด ฯ
             พ. ดูกรนางสุชาดา ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัส
พระพุทธพจน์นี้ว่า


ภริยาผู้มีจิตประทุษร้าย
                         ไม่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล
                          ยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นสามี เป็นผู้อันเขาซื้อมาด้วยทรัพย์
                          พยายามจะฆ่าผัว ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า วธกาภริยา

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------



ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต                         
                          สามีของหญิงประกอบด้วย
                          ศิลปกรรม พาณิชยกรรม และกสิกรรม ได้ทรัพย์ใดมา ภริยา
                          ปรารถนาจะยักยอกทรัพย์ แม้มีอยู่น้อยนั้นเสีย ภริยาของ
                          บุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า โจรภริยา ภริยาเสมอด้วยโจร
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------



                 
ภริยาที่ไม่สนใจการงาน
                          เกียจคร้าน กินมาก ปากร้าย ปากกล้า
                          ร้ายกาจ กล่าวคำหยาบ ข่มขี่ผัวผู้ขยันขันแข็ง ภริยาของ
                          บุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า อัยยาภริยา



-------------------------------------------------------------------------------------------------------------





 ภริยาเสมอด้วยนาย
                          ภริยาใดอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษา
                          สามีเหมือนมารดารักษาบุตร รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้
                          ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า มาตาภริยา ภริยาเสมอด้วย
                          มารดา

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------




 ภริยาที่เป็นเหมือนพี่สาวน้องสาว
                          มีความเคารพในสามีของตน เป็นคนละอายบาป เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยา
                          ของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ภคินีภริยา ภริยาเสมอด้วยพี่สาว
                          น้องสาว


-------------------------------------------------------------------------------------------------------------





 ภริยาใดในโลกนี้เห็นสามีแล้วชื่นชมยินดี
                          เหมือนเพื่อนผู้จากไปนานแล้วกลับมา เป็นหญิงมีตระกูล มีศีล
                          มีวัตรปฏิบัติสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า สขีภริยา
                          ภริยาเสมอด้วยเพื่อน

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------






 ภริยาใดสามีเฆี่ยนตี ขู่ตะคอกก็ไม่โกรธ
                         ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้ เป็นไป
                          ตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ทาสีภริยา
                          ภริยาเสมอด้วยทาสี


-------------------------------------------------------------------------------------------------------------





ภริยาที่เรียกว่าวธกาภริยา ๑ โจรี
                          ภริยา ๑ อัยยาภริยา ๑ ภริยาทั้ง ๓ จำพวกนั้น ล้วนแต่เป็น
                          คนทุศีลหยาบช้า ไม่เอื้อเฟื้อ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรก



                          ส่วนภริยาที่เรียกว่า มาตาภริยา ๑ ภคินีภริยา ๑ สขีภริยา ๑
                          ทาสีภริยา ๑ ภริยาทั้ง ๔ จำพวกนั้น เพราะตั้งอยู่ในศีล
                          ถนอมรักไว้ยั่งยืน เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ
             ดูกรนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้แล เธอเป็นภริยาจำพวก
ไหน ใน ๗ จำพวกนั้น ฯ
             ส.  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นภริยาของสามีผู้เสมอด้วยทาสี ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 02, 2008, 04:03:16 PM โดย TeawChiangmai_IT » บันทึกการเข้า
kate
Jr. Member
**
กระทู้: 52



ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: มีนาคม 11, 2010, 04:59:33 PM »


 :111: :111: แถวเจียงฮายบ้านเฮา จะมีช่วงเดือน ตุลาคม เจ้าาาา :25: :25:
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ขึ้นบน พิมพ์ 
จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  ข้อมูล เที่ยวลำปาง และ ที่พักลำปาง  |  ทริปข้อมูล รูปภาพลำปาง  |  หัวข้อ: พุทธศาสนา ประเพณีตานก๋วยสลาก (สลากภัต) « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  




Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.5 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.099 วินาที กับ 21 คำสั่ง