600 ปี พระเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ ราชกุฏาคาร , วัดโชติการาม สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ.1934 ถ้านับจนถึงปัจจุบันมีอายุ 616 ปี วัดเจดีย์หลวงเป็นพระอารามหลวงแบบโบราณ
ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ แปลโดย ศาสตราจารย์แสง มนวิฑูร พิมพ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2501 กล่าวถึงเจดีย์หลวงว่า "จุลศักราช 289 (พ.ศ.1874) พระเจ้าแสนภู โปรดให้สร้างเมืองเชียงแสน และต่อมาอีก 4 ปีทรงสร้างมหาวิหารขึ้นในท่ามกลางเมืองเชียงแสน" มหาวิหารที่ว่านี้คือวัดเจดีย์หลวงองค์ที่ 1 ซึ่งอยู่ในวัดพระเจ้าตนหลวง เมืองเชียงแสน ปัจจุบันยังปรากฏองค์พระธาตุให้เห็นอยู่
สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ขณะที่มีพระชนมมายุ 39 ปี พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จดีก็ทรงสวรรคต พระราชินีผู้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ได้โปรดให้ทำยอดพระธาตุเจดีย์หลวงจนแล้วเสร็จ "พระธาตุเจดีย์หลวงเมื่อสร้างเสร็จ (พระเจ้าติโลกราชสร้างเสริมให้สูงใหญ่ขึ้น) เรียบร้อยแล้ว มีระเบียบกระพุ่มยอดเป็นอันเดียว ฐานกว้างด้านละ 52 ศอก สูง 92 ศอก ก่อด้วยศิลาแลงทั้งสี่ด้าน"
พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ราชวงศ์มังราย ลำดับที่ 11 โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต ไปจำลองแบบมหาเจดีย์จากเมืองลังกามาสร้างเป็นเจดีย์สูง 43 วา ฐานกว้าง 27 วา เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระเจ้าติโลกราชทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต (องค์เดียวกับที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ) มาจากเมืองลำปาง โปรดให้สร้างซุ้มประดิษฐานไว้ที่ข้างองค์พระเจดีย์ด้านทิศตะวันออก ในสมัยหลังพระแก้วมรกตถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองล้านช้าง ประเทศลาว กระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรีและกรุงเทพมหานคร
ตำนานเมืองเหนือกล่าวถึงการสร้างวัดเจดีย์หลวงในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ากือนาว่า "ส่วนเจ้ากือนาตนพ่อ เมื่อละวางอารมณ์ไปแล้ว ก็ได้เป็นอสุรกายรุกขเทวดารักษาต้นไม้นิโครธต้นหนึ่ง อยู่ริมทางเดินที่จะเดินเข้าไปเวียง ขณะนั้นมีพ่อค้าหมู่หนึ่งไปเมืองพุกามมา ก็มาถึงต้นนิโครธต้นนั้นและพักอยู่ เมื่อนั้นรุกขเทวดาก็แสดงบอกแก่พ่อค้าทั้งหลายว่า กูนั้นเป็นพญากือนา กินเมืองเชียงใหม่ที่นี่แล ก็ครบด้วยสหาย มีศิลปอาคมเป็นหมอช้าง ครั้นกูตายก็ได้มาเป็นอสุรกายรุกขเทวดา อยู่รักษาต้นไม้นี้แล กูจะไปเกิดในสวรรค์เทวดาโลกไม่ได้ ให้สูไปบอกแก่ลูกกูเจ้าแสนเมืองมา ให้สร้างพระเจดีย์หลังหนึ่งที่ท่ามกลางเวียง สูงพอคนอยู่ไกลสองปันวาแลเห็นนั่นเถิด จึงให้ทานกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่กู กูจักได้พ้นอันเป็นรุกขเทวดาที่นี่ แล้วจักได้ไปเกิดในสวรรค์"
เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมาทราบความ จึงโปรดให้แผ้วถางที่ แล้วก่อพระเจดีย์สวมทับไว้ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จพระเจ้าแสนเมืองก็สวรรคตเสียก่อน ต่อมาจึงได้มีผู้สร้างเจดีย์เพิ่มเติมขึ้นภายหลัง ปี พ.ศ.2055 พระราชา (พระเมืองแก้ว) พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งหลาย เอาเงินมาทำกำแพงล้อมพระธาตุเจดีย์หลวง 3 ชั้นได้เงิน 254 กิโลกรัม จากนั้นจึงได้เอาเงินมาแลกเป็นทองคำจำนวน 30 กิโลกรัม แล้วแผ่เป็นแผ่นทึบหุ้มองค์พระธาตุเจดีย์หลวง เมื่อรวมกับทองคำที่หุ้มองค์พระเจดีย์หลวงอยู่เดิม ได้น้ำหนักทองคำถึง 2,382.517 กิโลกรัม
ต่อมาในสมัยพระมหาเทวีจิระประภา ประมาณ พ.ศ.2088 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงใหม่ จึงทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมา หลังจากนั้นพระเจดีย์หลวงจึงถูกทิ้งให้ร้างมานานกว่า 400 ปี กระทั่งปี พ.ศ.2423 พระเจ้าอินทวิชายานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ได้รื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างวิหารหลวงขึ้นใหม่ด้วยไม้ทั้งหลัง
ช่วงปี พ.ศ.2471-2481 สมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ถือได้ว่าเป็นทศวรรษแห่งการบูรณะครั้งสำคัญของวัดพระเจดีย์หลวง ได้มีการรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง แผ้วถางป่าที่ขึ้นปกคุลมโบราณสถานต่างๆออก แล้วสร้างเสริมเสนาสนขึ้นใหม่ให้เป็นวัดสมบูรณ์แบบในเวลาต่อมา
พระเจดีย์หลวง ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2533 ใช้งบประมาณในการบูรณะถึง 35 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2535 จนปัจจุบันมีขนาดความกว้างด้านละ 60 เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในเชียงใหม่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางเมือง
เอกสารประกอบ
1.บุญเสริม สาตราภัย "ลานนาไทยในอดีต" ,2522
2.วัดเจดีย์หลวง พิมพ์ในโอกาสสมโภช 600 ปีพระธาตุเจดีย์หลวง,2538
จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]8/1/52