ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
พฤศจิกายน 27, 2024, 06:23:54 AM
หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก
ข่าว: ประกาศ ปัมพ์โพสต์ตอบแต่ emoticon ต่อเนื่อง เพื่อจะให้กระทู้ตัวเองมาอยู่อันดับต้นๆ ประจำ รับสิทธิ์โดนแบน 90 วันครับ


จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  ข้อมูล ที่พักโรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวเชียงราย  |  ทริปข้อมูลรูปภาพสวยๆ ที่น่าสนใจของจังหวัดเชียงราย  |  หัวข้อ: อลังการศาสนสถานแห่งอำเภอแม่สรวย @ วัดแสงแก้วโพธิญาณ (Page 1-8) 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: 1 ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: อลังการศาสนสถานแห่งอำเภอแม่สรวย @ วัดแสงแก้วโพธิญาณ (Page 1-8)  (อ่าน 3095 ครั้ง)
Traveller Freedom
Sr. Member
****
กระทู้: 416



ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2016, 05:30:13 PM »


อลังการศาสนสถานแห่งอำเภอแม่สรวย @ วัดแสงแก้วโพธิญาณ (Page 1)

สถานที่ตั้ง : 191 ม.11 บ้านใหม่แสงแก้ว ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
โทรศัพท์ : 085 614 3764, 085-614-3764
พิกัด : 19.602007, 99.526715

ครูบาอริยชาติ พระนักพัฒนาแห่งยุค

    เมื่อปี พ.ศ.2545 หลังจากครูบาอริยชาติ จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดลำพูนได้ 2 ปี การศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติรุดหน้าไปมาก ทั้งศาสตร์ด้านคาถาอาคมซึ่งร่ำเรียนจากครูบาอาจารย์ในยุคโบราณก็มีความเข้มขลังแตกฉานยิ่งขึ้น ทำให้เป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมอย่างสูงทั้งในพื้นที่จังหวัดลำพูน และแผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วภาคเหนือ

    จนกระทั่งคณะศรัทธาชาวบ้านซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลแม่พริก อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ได้มากราบอาราธนานิมนต์ครูบาอริยชาติให้ไปช่วยบูรณะวัดพระธาตุดงสีมา ซึ่งอยู่ในสภาพวัดร้าง ไม่มีพระจำพรรษามาเนิ่นนาน เมื่อครูบาอริยชาติพิจารณาเห็นว่าเป็นเหตุผลอันสมควร ท่านจึงรับนิมนต์จากญาติโยมและเข้ามาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้เพื่อสนองศรัทธาญาติโยมนับแต่นั้นเป็นต้นมา และในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุดงสีมา ครูบาอริยชาติได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้างแห่งนี้อย่างเต็มกำลัง ทั้งก่อสร้างศาสนสถานและถาวรวัตถุต่างๆ เพื่อให้ญาติโยมได้สักการบูชา นับตั้งแต่บูรณะองค์พระธาตุซึ่งเก่าแก่และทรุดโทรมอย่างมาก ในขณะเดียวกันพระอุโบสถและวิหารของวัดก็ยังอยู่ในช่วงวางรากฐานการก่อสร้าง ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้ปัจจัยจำนวนมาก แต่ด้วยเจตนาที่จะสงเคราะห์บรรดาญาติโยมด้วยจิตเมตตาของครูบาอริยชาติ ก็เป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาสาธุชนโดยทั่วกัน จนทำให้มีผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลมากราบนมัสการครูบาหนุ่มกันอย่างเนืองแน่นไม่เว้นแต่ละวัน และต่างมีความปรารถนาที่จะสร้างกุศลร่วมกับครูบาอริยชาติด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า ทำให้งานด้านการบูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนสถานต่างๆ สำเร็จลงได้ในที่สุด

    ครูบาอริยชาติจำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุดงสีมาได้ 3 ปี 4 เดือน ปฏิบัติหน้าที่ในการสั่งสอนธรรมะ นำพาเหล่าญาติโยมสู่วิถีทางแห่งกุศลกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยซึ่งเกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาของญาติโยมจึงผุดขึ้นในรูปแบบของถาวรวัตถุและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสาธารณประโยชน์มากมาย เมื่อปัจจัยมีมากขึ้น ความขัดแย้งของหลายฝ่ายจึงเริ่มก่อตัวขึ้นด้วย

    จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2549 คณะลูกศิษย์และคณะศรัทธาบ้านป่าตึง ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
มีความต้องการสร้างวัดแห่งใหม่ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน ซึ่งจะทำให้สามารถทำบุญและปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ได้อย่างสะดวกขึ้น ดังนั้นคณะชาวบ้านจึงกราบนิมนต์ให้ท่านไปเป็นเสาหลักในการสร้างอารามแห่งใหม่นี้ เนื่องจากเห็นว่าท่านเป็นพระนักพัฒนา ซึ่งได้ริเริ่มและช่วยเหลือด้านการก่อสร้างศาสนสถานตลอดจนศาสนวัตถุต่างๆ เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เป็นที่ประจักษ์มาแล้วมากมาย แล้วครูบาท่านก็รับนิมนต์

by Traveller Freedom


* AUOIAOAOuO_1.JPG (378.24 KB, 1000x560 - ดู 349 ครั้ง.)

* AUOIAOAOuO_2.JPG (361.35 KB, 1000x632 - ดู 367 ครั้ง.)

* AUOIAOAOuO_3.JPG (378.23 KB, 667x963 - ดู 295 ครั้ง.)

* AUOIAOAOuO_4.JPG (392.86 KB, 714x1000 - ดู 253 ครั้ง.)

* AUOIAOAOuO_5.JPG (386.31 KB, 667x1000 - ดู 260 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
Traveller Freedom
Sr. Member
****
กระทู้: 416



ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2016, 05:32:38 PM »


อลังการศาสนสถานแห่งอำเภอแม่สรวย @ วัดแสงแก้วโพธิญาณ (Page 2)

สถานที่ตั้ง : 191 ม.11 บ้านใหม่แสงแก้ว ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
โทรศัพท์ : 085 614 3764, 085-614-3764
พิกัด : 19.602007, 99.526715

ก่อกำเนิดวัดแสงแก้วโพธิญาณ

    คณะศรัทธาบ้านป่าตึงสำรวจพื้นที่ในบริเวณหมู่บ้านและพื้นที่โดยรอบเพื่อหาทำเลสำหรับสร้างวัด แต่หลายวันผ่านไปก็ยังไม่พบทำเลที่เหมาะสม กระทั่งครูบาอริยชาติได้เกิดนิมิตขึ้น ในนิมิตนั้นท่านได้พบสถานที่ที่มีลักษณะเป็นเนินเขาที่ไม่สูงนัก มีต้นไม้ใหญ่น้อยให้ร่มเงาเย็นสบาย อาณาบริเวณที่กว้างขวางนั้นล้อมรอบด้วยป่าไผ่ เป็นสถานที่ซึ่งสงบร่มรื่นเหมาะแก่การสร้างพุทธสถานเพื่อบำเพ็ญกุศลและปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง จึงเล่านิมิตดังกล่าวให้กับชาวบ้านฟัง ดังนั้น คณะชาวบ้านจึงนำครูบาอริยชาติออกสำรวจพื้นที่โดยรอบของหมู่บ้านอีกครั้ง จนพบพื้นที่ตามลักษณะดังกล่าว เรียกว่า “ดอยม่อนแสงแก้ว” ครูบาอริยชาติก็พบว่าพื้นที่บริเวณนี้คล้ายกับภาพในนิมิตของท่าน

    แต่เนื่องจากพื้นที่บริเวณนั้นเป็นสวนของผู้มีฐานะดี ซึ่งอาจจะไม่ขายที่ให้ หรือขายให้ในราคาแพง ครูบาอริยชาติเดินไปจุดธูปเทียนปักไว้บนยอดเนิน และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลพร้อมทั้งตั้งจิตอธิษฐาน กระทั่งครูบามีโอกาสได้พบกับเจ้าของที่ดิน แล้วปรากฏว่าเจ้าของที่ดินได้ถวายที่ดินจำนวน 19 ไร่ ให้กับครูบาอริยชาติอย่างง่ายดาย ท่ามกลางความประหลาดใจของคณะลูกศิษย์และชาวบ้าน

    เนินดอยที่มีชื่อว่า “ม่อนแสงแก้ว” ซึ่งปรากฏในนิมิตของครูบา จึงกลายเป็น “วัดแสงแก้วโพธิญาณ” พุทธสถานที่สำคัญแห่งยุค ที่เกิดขึ้นใหม่ในดินแดนล้านนาแห่งนี้ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวบ้านป่าตึงและพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาตั้งแต่บัดนั้นจวบจนปัจจุบัน ส่วนความหมายของชื่อ วัดแสงแก้วโพธิญาณ คำว่า “แสงแก้ว” หมายถึงแสงอันสว่างไสวราวกับดวงแก้วที่เปล่งประกายออกจากดอกบัว และสัญลักษณ์ดอกบัวที่พบในนิมิตก็อุปมาได้ดั่ง “พระโพธิญาณ” อันเป็นความรู้แจ้งสูงสุด หรือ “ความรู้ในการตรัสรู้” นั่นเอง ซึ่งคำว่า “โพธิญาณ” มาจากคำว่า โพธิ แปลว่า ตรัสรู้ และคำว่า ญาณ แปลว่า หยั่งรู้ คำว่า “โพธิญาณ” จึงแปลให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า “ความรู้ในการตรัสรู้” ซึ่งก็คือ “ตรัสรู้ความรู้ในสัจจธรรม”

    ส่วนในขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาตตั้งวัดนั้น หลังจากได้เสนอเรื่องไปยังกรมการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
นับจากนั้น ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต จึงย้ายจากวัดพระธาตุดงสีมา มาเป็นเจ้าอาวาสวัดแสงแก้วโพธิญาณ และจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งใหม่นี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

    ในขณะเริ่มดำเนินการสร้างวัดแสงแก้วโพธิญาณ ครูบาอริยชาติมีอายุเพียง 25 ปี จึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตและมุมมองของท่านที่มีต่อโลกและสิ่งต่างๆ รอบตัว มุมมองเกี่ยวกับธรรมะที่เป็นไปอย่างละเอียดลึกซึ้งมากขึ้นของท่านนี้เองก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาสู่ผลงานชิ้นสำคัญจนเกิดเป็น “วัดแสงแก้วโพธิญาณ”

by Traveller Freedom


* eOuO_1.JPG (375.05 KB, 1000x646 - ดู 261 ครั้ง.)

* eOuO_2.JPG (487.33 KB, 703x1000 - ดู 285 ครั้ง.)

* eOuO_3.JPG (459.4 KB, 667x1000 - ดู 283 ครั้ง.)

* eOuO_4.JPG (385.09 KB, 667x922 - ดู 465 ครั้ง.)

* eOuO_5.JPG (412.17 KB, 1000x627 - ดู 288 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 14, 2016, 08:44:30 PM โดย Traveller Freedom » บันทึกการเข้า
Traveller Freedom
Sr. Member
****
กระทู้: 416



ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2016, 05:37:05 PM »


อลังการศาสนสถานแห่งอำเภอแม่สรวย @ วัดแสงแก้วโพธิญาณ (Page 3)

สถานที่ตั้ง : 191 ม.11 บ้านใหม่แสงแก้ว ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
โทรศัพท์ : 085 614 3764, 085-614-3764
พิกัด : 19.602007, 99.526715

พุทธคติ : ชั้นล่าง (โลกมนุษย์) ตอน 1

    นอกเหนือจากความยิ่งใหญ่และวิจิตรงดงามของสิ่งก่อสร้างและศาสนวัตถุต่างๆ แล้ว ครูบาอริยชาติยังได้สอดแทรกนัยสำคัญอันเป็น “สัจธรรม” แห่งชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาเอาไว้ในศิลปะต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งนี้เพื่อเป็นพุทธานุสสติ หรือเป็นสิ่งเตือนใจให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชนที่มาเยี่ยมเยือนได้พึงระลึกไว้นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาในด้านโครงสร้างหรือรูปแบบในการก่อสร้างแล้ว จะเห็นว่าการออกแบบและตกแต่งวัดแห่งนี้ นอกจากแสดงออกถึงความเชื่อและวัฒนธรรมของชาวพุทธในดินแดนล้านนาอย่างชัดเจนแล้ว การแบ่งพื้นที่ใช้สอยตลอดจนแผนผังรูปแบบศาสนวัตถุและเสนาสนะต่างๆ ล้วนมีนัยที่สื่อความหมายในเชิงธรรมะและแฝงหลัก “พุทธธรรม” อันลึกซึ้งเอาไว้ในแทบทุกองค์ประกอบของผังวัด

    วัดแสงแก้วโพธิญาณ ตั้งอยู่บนเนินเขาที่ไม่สูงนัก เมื่อมองลงไปจะเห็นบ้านเรือนของชาวบ้านอยู่เบื้องล่าง ซึ่งก็คือหมู่บ้านป่าตึง และหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลเจดีย์หลวง ด้วยสภาพภูมิประเทศดังกล่าว ทำให้ครูบาอริยชาติได้นำแนวคิดจากความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา มาใช้ในการออกแบบส่วนต่างๆ ภายในวัด โดยแบ่งเนื้อที่ภายในบริเวณวัดออกเป็น 3 ส่วน ตามระดับความสูงของพื้นที่ซึ่งเล่นระดับเป็นชั้นๆ ได้แก่ ชั้นล่าง (โลกมนุษย์) ชั้นกลาง (ชั้นสวรรค์-พรหมโลก) และชั้นบน (นิพพาน)

    ชั้นล่าง (โลกมนุษย์) คือบริเวณส่วนที่อยู่ด้านหน้าของวัด มีลักษณะเป็นลานกว้าง ใช้เป็นที่จอดรถสำหรับพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาทำบุญที่วัด โดยนอกจากจะปลูกต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับเพื่อตกแต่งและให้ร่มเงาแล้ว ยังจัดสร้างศาลาเล็กๆ ให้เป็นที่สาธารณะสำหรับพุทธศาสนิกชนได้พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย

    จากบริเวณหน้าวัดนี้เอง เมื่อมองเข้าไปตรงบันไดทางขึ้นจะเห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการของสถานที่และศิลปวัตถุต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากที่บริเวณบันไดนาคอันเป็นทางขึ้นของวัด มี “สิงห์” ขนาดใหญ่มาก 1 คู่ ตัวสิงห์มีความสูง 9 เมตร ตั้งอยู่ด้านซ้ายและขวาของบันได หากเป็นพุทธสถานที่ผู้สร้างได้รับอิทธิพลจากขอมหรือกัมพูชาโบราณ “สิงห์คู่” ที่ตั้งอยู่หน้าประตูจะเรียกว่า “สิงห์ทวารบาล” หรือสิงห์ที่ทำหน้าที่อารักขาอยู่ที่หน้าประตูของสถานที่นั้นๆ แต่สำหรับความเชื่อของชาวล้านนาไทยซึ่งรับอิทธิพลทางศาสนามาจากวัชรยาน “สิงห์คู่” มีความหมายและมีบทบาทสำคัญกว่าการเฝ้ายาม

     ทั้งนี้ ตามความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา กล่าวกันว่า มีพระพุทธเจ้ามาจุติก่อนหน้านี้แล้วหลายพระองค์ แต่ในภัทรกัปนี้มีอยู่ 5 พระองค์ โดยพระศากยมุนีพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 คือองค์ปัจจุบันในภัทรกัปนี้ และในอนาคตเมื่อสิ้นยุคของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน จะมีพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 มาจุติยังโลกมนุษย์อีกครั้งในนาม “พระศรีอริยเมตไตย”

by Traveller Freedom


* DSC_7825.JPG (385.71 KB, 667x926 - ดู 261 ครั้ง.)

* DSC_7894.JPG (325.5 KB, 1000x667 - ดู 351 ครั้ง.)

* DSC_7898.JPG (342.52 KB, 667x1000 - ดู 343 ครั้ง.)

* DSC_7899.JPG (314.18 KB, 1000x667 - ดู 366 ครั้ง.)

* DSC_7926.JPG (375.7 KB, 1000x667 - ดู 260 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
Traveller Freedom
Sr. Member
****
กระทู้: 416



ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2016, 05:45:40 PM »


อลังการศาสนสถานแห่งอำเภอแม่สรวย @ วัดแสงแก้วโพธิญาณ (Page 4)

สถานที่ตั้ง : 191 ม.11 บ้านใหม่แสงแก้ว ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
โทรศัพท์ : 085 614 3764, 085-614-3764
พิกัด : 19.602007, 99.526715

พุทธคติ : ชั้นล่าง (โลกมนุษย์) ตอน 2

    ความเชื่อตามหลักวัชรธาตุมณฑล ซึ่งได้กล่าวถึงตำนานพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ หรือ พระพุทธเจ้า 5 สกุล เอาไว้ว่า ในสมัยปฐมกัป มีพญากาเผือก 2 ตัวผัวเมียทำรังอยู่ที่ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำคงคา ในเวลาต่อมาพระโพธิสัตว์ได้ทรงปฏิสนธิในครรภ์แม่พญากาเผือกพร้อมกันถึง 5 พระองค์ แต่เนื่องจากวันหนึ่งได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และลมแรงจนทำให้ไข่ของพญากาเผือกพลัดตกน้ำไป ซึ่งต่อมาก็มีผู้เก็บไปเลี้ยงดูรักษา คือ
   
    ไข่ใบที่ 1 มีแม่ไก่เก็บไป พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 1 จึงมีชื่อว่า กกุสันโธ (ไก่)
    ไข่ใบที่ 2 มีแม่นาคราชเก็บไป พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 2 จึงมีชื่อว่า โกนาคมโน (นาค)
    ไข่ใบที่ 3 มีแม่เต่าเก็บไป พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 3 จึงมีชื่อว่า กัสสโป (เต่า)
    ไข่ใบที่ 4 มีแม่โคเก็บไป พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 4 จึงมีชื่อว่า โคตโม (โค)
    ไข่ใบที่ 5 มีแม่ราชสีห์ เก็บไป พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 จึงมีชื่อว่า อริยเมตไตยโย (ราชสีห์)

    ดังนั้น “สิงห์คู่” ซึ่งตั้งอยู่ด้านซ้ายขวาที่บันไดทางขึ้น หรือตั้งอยู่ที่หน้าประตูวัด ตามคติความเชื่อดังกล่าวนี้ จึงเปรียบเป็นสิงห์ตัวผู้และสิงห์ตัวเมีย หรือ “พ่อสิงห์-แม่สิงห์” ซึ่งกำลังทำหน้าที่สำคัญ คือ รอคอยไข่ใบที่ 5 ผู้เป็น “ตนบุญ” หรือผู้มีบุญญาบารมีสูงส่งซึ่งจะจุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 นั่นคือ “พระศรีอริยเมตไตย” นั่นเอง นอกจากสิงห์คู่ที่ตั้งอยู่คนละฝั่งของบันไดนาคแล้ว ด้านข้างของสิงห์ทั้งสองตัวยังมีประติมากรรมปูนปั้นขนาดใหญ่จำนวนมากตั้งเรียงเป็นแนวยาวจนสุดบริเวณด้านหน้าวัด คือ

    บันไดด้านขวา ประกอบด้วย ประติมากรรมรูปสิงห์ขนาดใหญ่ ต่อด้วยพระสังกัจจายน์ที่มีขนาดใหญ่ไม่แพ้กัน ถัดไปอีกเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นจำนวน 4 องค์ พระสังกัจจายน์ คือตัวแทนของ พระศรีอริยเมตไตย เทพบุตรผู้เปี่ยมบุญญาบารมีซึ่งในกาลอนาคตจะได้มาจุติเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 ตามคติความเชื่อของชาวพุทธ ส่วนพระพุทธรูปอีก 4 องค์ เป็นตัวแทนของ พระกกุสันโธ พระโกนาคมโน พระกัสสโป แลพระสมณโคดม คือพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ที่ทรงจุติในโลกมนุษย์มาก่อนแล้วนั่นเอง

    บันไดด้านซ้าย ประกอบด้วย ประติมากรรมรูปสิงห์ ต่อด้วยพระอุปคุตปูนปั้นซึ่งอยู่ในท่า “จกบาตร” มีความหมายในเชิงให้พรว่า ทันทีที่ญาติโยมเข้ามาในวัด จะได้พบกับพระอุปคุตซึ่งเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์และมีชื่อเสียงด้านโชคลาภ เพื่อให้ญาติโยมได้กราบไหว้ขอพรให้มีโชคลาภและความร่ำรวยนั่นเอง

by Traveller Freedom


* aEaeC_1.JPG (325.07 KB, 1000x667 - ดู 390 ครั้ง.)

* aEaeC_2.JPG (397.3 KB, 1000x667 - ดู 462 ครั้ง.)

* aEaeC_3.JPG (366.89 KB, 1000x667 - ดู 462 ครั้ง.)

* aEaeC_4.JPG (541.62 KB, 667x1000 - ดู 328 ครั้ง.)

* aEaeC_5.JPG (367.6 KB, 667x932 - ดู 267 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
Traveller Freedom
Sr. Member
****
กระทู้: 416



ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2016, 05:51:01 PM »


อลังการศาสนสถานแห่งอำเภอแม่สรวย @ วัดแสงแก้วโพธิญาณ (Page 5)

สถานที่ตั้ง : 191 ม.11 บ้านใหม่แสงแก้ว ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
โทรศัพท์ : 085 614 3764, 085-614-3764
พิกัด : 19.602007, 99.526715

พุทธคติ : ชั้นกลาง ชั้นสวรรค์-พรหมโลก

    ชั้นกลาง ชั้นสวรรค์-พรหมโลก คือพื้นที่นับตั้งแต่ทางขึ้นบันไดนาคด้านหน้าวัดเป็นต้นไป จนถึงด้านหลังของวิหารซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ใช้สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและศาสนพิธีต่างๆ ตลอดจนใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส หากพิจารณาตามพื้นที่ใช้งานส่วนนี้นับเป็นเขตพุทธาวาส เนื่องจากเป็นพื้นที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นหลัก โดยสิ่งปลูกสร้างที่จัดให้อยู่ในพื้นที่นี้ ได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหาร หอระฆัง และหอไตร เป็นต้น

    ชั้นกลางนี้ ครูบาอริยชาติท่านเปรียบเป็นชั้นสวรรค์จนถึงชั้นพรหม โดยท่านได้ออกแบบให้มีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของชั้นสวรรค์และพรหมโลกเอาไว้หลายอย่าง เมื่อเดินขึ้นบันไดนาคมาถึงเขตนี้จะเห็นปราสาท 16 หลัง เปรียบเสมือนชั้นพรหมซึ่งมีอยู่ 16 ชั้น โดยจะเห็นว่านอกเหนือจากพระอุโบสถแล้ว สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของชั้นพรหมแห่งนี้ จะมีจำนวน 16 อย่างทั้งสิ้น คือ ปราสาท 16 หลัง ศาลาด้านเหนือ 16 ห้อง ศาลาด้านใต้ 16 ห้อง (วิหารด้านล่าง 9 ห้อง ด้านบน 7 ห้อง)

    นอกจากนี้ ครูบาอริยชาติท่านเจาะจงให้สร้าง “สัญลักษณ์” ที่แสดงนัยสำคัญทางพระพุทธศาสนาเอาไว้หลายประการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นอนุสสติเตือนใจญาติโยมให้นึกถึงสัจธรรมของชีวิต เพื่อความไม่ประมาททั้งทางกาย วาจา และใจ เช่น พญานาคสามเศียร ที่บริเวณด้านหน้าวัด ตรงราวบันไดทางขึ้นทั้ง 2 ด้านซ้ายขวา มีพญานาคสามเศียรทอดกายออกมาต้อนรับ เป็นสัญลักษณ์ของธรรม 3 ประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และที่ส่วนฐานของพญานาคจะมีตัว “มกร” หรือ “ตัวกิน” เป็นสัตว์หิมพานต์ในเทพนิยายตามความเชื่อของชาวพม่า เป็นสัตว์ลูกครึ่ง คือพ่อเป็นนาค แม่เป็นมังกร บ้างว่าเป็นลูกครึ่งนาคกับจระเข้ เป็นสัญลักษณ์ของ “เทวทูตทั้ง 3” อันได้แก่ ชรา พยาธิ มรณะ เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนสติ ดังคำที่ว่า

“ชะราธัมโมมหิ, ชะรัง อะนะตีโต, เรามีความแก่เป็นธรรมดา, จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้
พะยาธิธัมโมมหิ, พะยาธิง อะนะตีโต, เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา, จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้
มะระณะธัมโมมหิ, มะระณัง อะนะตีโต, เรามีความตายเป็นธรรมดา, จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้”

    หลังจากผ่านเศียรนาคและตัวเหรามาแล้ว เมื่อก้าวขึ้นบันไดวัดจะเห็นว่าบันไดทางขึ้นสร้างให้มี 32 ขั้น เป็นการเปรียบเทียบถึงอาการทั้ง 32 ของมนุษย์โดยทั่วไป เป็นเครื่องเตือนสติว่า อาการทั้ง 32 ประการของคนเราตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว จนถึงวัยชรา ล้วนไม่เที่ยง เป็นไปตามหลักของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

by Traveller Freedom


* sang_1.JPG (495.85 KB, 1000x667 - ดู 355 ครั้ง.)

* sang_2.JPG (393.82 KB, 667x966 - ดู 304 ครั้ง.)

* sang_3.JPG (379.23 KB, 667x949 - ดู 240 ครั้ง.)

* sang_4.JPG (404.35 KB, 667x1000 - ดู 249 ครั้ง.)

* sang_5.JPG (479.55 KB, 696x1000 - ดู 331 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
Traveller Freedom
Sr. Member
****
กระทู้: 416



ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2016, 05:53:03 PM »


อลังการศาสนสถานแห่งอำเภอแม่สรวย @ วัดแสงแก้วโพธิญาณ (Page 6)

สถานที่ตั้ง : 191 ม.11 บ้านใหม่แสงแก้ว ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
โทรศัพท์ : 085 614 3764, 085-614-3764
พิกัด : 19.602007, 99.526715

พุทธคติ : ชั้นบน นิพพาน

    ชั้นบน นิพพาน เป็นชั้นสูงสุดของวัดแห่งนี้ โดยเป็นเขตสังฆาวาสคือสำหรับเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ ตลอดจนเป็นที่กระทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ ที่ชั้นนี้นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมธาตุแล้ว ยังเป็นส่วนที่ใช้ประดิษฐานรูปหล่อโลหะ “ครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ที่สุดในโลก” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของวัดอีกด้วย

    พุทธธรรมที่แฝงอยู่ในสิ่งปลูกสร้างของชั้นนี้ เริ่มมาตั้งแต่สะพานด้านหลังพระวิหาร ซึ่งครูบาอริยชาติอุปมาให้สะพานแห่งนี้เป็น “สะพานข้ามวัฏฏะสงสาร” เนื่องจากเป็นสะพานเชื่อมสำหรับข้ามพื้นที่ส่วนกลางมายังส่วน “นิพพาน” อันเป็นส่วนบนสุดของวัด เนื่องจากครูบาศรีวิชัยได้ให้ความสำคัญกับ “พระโพธิญาณ” อย่างมาก โดยครูบาอธิบายว่า ในความเชื่อของชาวล้านนานั้น เชื่อว่าพระโพธิสัตว์ที่ลงมาจุติในล้านนาก็คือ “ครูบาศรีวิชัย” ดังนั้น นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ท่านจัดสร้างรูปหล่อของ “พระโพธิสัตว์” มาตั้งเอาไว้ในพื้นส่วนนี้ให้เป็นสัญลักษณ์แทน “พระโพธิญาณ” เพื่อเป็นความหมายว่า “เหนือโพธิญาณ มีพระโพธิสัตว์” และครูบาศรีวิชัยก็คือพระโพธิสัตว์ที่จะนำพาญาติโยมทั้งหลายข้ามวัฏฏะสงสารนั่นเอง

    ครูบาอริยชาติเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนและช่างจดช่างจำ ความรู้จากตำรา จากการธุดงค์ และจากการฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาอาจารย์ผู้ทรงภูมิธรรมหลายต่อหลายท่าน ทำให้ท่านเป็น “พหูสูต” ผู้มีความรอบรู้อย่างยิ่งผู้หนึ่ง ที่สำคัญ จากผลงานชิ้นสำคัญคือการอำนวยการก่อสร้างวัดแสงแก้วโพธิญาณ ทำให้ได้เห็นถึงความเป็นพระนักพัฒนาที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ของครูบาอริยชาติได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่ท่านได้อ่านได้ศึกษาเรียนรู้มา ตลอดจนความรู้จากประสบการณ์ตรงที่ท่านพบจากการออกธุดงค์ ล้วนถูกนำมาถ่ายทอดสู่องค์ประกอบต่างๆ ภายในวัดแสงแก้วโพธิญาณได้อย่างงดงาม แยบยล และลงตัว เป็น “พุทธศิลป์” ซึ่งเป็นได้ทั้ง “อาหารตา” และ “อาหารใจ” ให้กับญาติโยมผู้เข้ามาเยี่ยมเยือนได้เสพงานศิลป์เหล่านี้อย่างอิ่มเอมและเห็นถึงคุณค่าในวัฒนธรรมเก่าแก่ของบรรพบุรุษ นี่เองจึงเป็นเหตุผลให้ครูบาอริยชาติได้นำศิลปะต่างๆ มาผสมผสานอยู่ในงานช่างและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ของวัดให้มากที่สุด คือเพื่อให้วัดแสงแก้วโพธิญาณ เป็นทั้งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่พึ่งทางใจของชาวพุทธ และเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้มุ่งเสพงานศิลป์โดยเฉพาะได้อีกทางหนึ่ง

by Traveller Freedom


* san_1.JPG (416.72 KB, 1000x667 - ดู 326 ครั้ง.)

* san_2.JPG (569.37 KB, 667x1000 - ดู 321 ครั้ง.)

* san_3.JPG (391.08 KB, 727x1000 - ดู 237 ครั้ง.)

* san_4.JPG (420.46 KB, 1000x667 - ดู 248 ครั้ง.)

* san_5.JPG (346.52 KB, 1000x640 - ดู 213 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
Traveller Freedom
Sr. Member
****
กระทู้: 416



ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #6 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2016, 05:55:12 PM »


อลังการศาสนสถานแห่งอำเภอแม่สรวย @ วัดแสงแก้วโพธิญาณ (Page 7)

สถานที่ตั้ง : 191 ม.11 บ้านใหม่แสงแก้ว ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
โทรศัพท์ : 085 614 3764, 085-614-3764
พิกัด : 19.602007, 99.526715

พุทธศิลป์ล้านนายุคใหม่

    ลักษณะของ “พุทธศิลป์” และศิลปะต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่ภายในวัดแสงแก้วโพธิญาณ เป็นการผสมผสานงานศิลป์ ๓ รูปแบบ นั่นคือ ศิลปะล้านนา ศิลปะไต และศิลปะพม่า ซึ่งศิลปะแต่ละรูปแบบเหล่านี้มีเอกลักษณ์และความงามที่โดดเด่นและแตกต่างกัน โดยศิลปะล้านนาส่วนมากจะมีลักษณะสงบเงียบเรียบง่าย ในขณะที่ศิลปะพม่าจะเน้นความอลังการ ส่วนศิลปะไทใหญ่ จะเน้นความสลับซับซ้อน วิจิตรพิสดาร ครูบาอยากให้ดูแล้วมีทั้งความสงบ มีทั้งความอลังการ และมีความสลับซับซ้อนของงานศิลปะด้วย

    สำหรับลักษณะการวางรูปแบบศิลปะภายในวัดแสงแก้วโพธิญาณนั้น หากเป็นโครงสร้างหลักหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นองค์ประกอบหลัก เช่น พระอุโบสถ หอระฆัง หอไตร เป็นต้น จะใช้รูปแบบศิลปะล้านนา ในขณะที่สิ่งปลูกสร้างรอง เช่น ศาลา วิหาร กุฏิ หอฉัน ส่วนใหญ่เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะพม่ากับล้านนาซึ่งเป็นรูปแบบที่พบเห็นโดยทั่วไปในวัดทางภาคเหนือ ส่วนศิลปะแบบไทใหญ่ซึ่งมีรูปแบบที่สลับซับซ้อนส่วนใหญ่นำมาใช้ในการตกแต่งส่วนประกอบของอาคารต่างๆ เช่น บริเวณส่วนยอดหลังคา หรือส่วนยอดปราสาท เป็นต้น

    นอกจากศิลปะที่ปรากฏในสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารต่างๆ แล้ว ยังมีงานศิลปะปูนปั้นและศิลปะประดับต่างๆ ซึ่งพบเห็นได้ตามส่วนต่างๆ ภายในวัด แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลด้านคติความเชื่อที่ได้รับมาจากหลายๆ แหล่ง ศิลปะเหล่านี้ เช่น

    นกยูง สิ่งน่าสนใจอีกประการหนึ่งซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์สำคัญของวัดแสงแก้วโพธิญาณ ทั้งยังเป็นศิลปะประดับที่ปรากฏอยู่ในส่วนสำคัญของศาลาหรือสิ่งปลูกสร้างหลายๆ หลัง เช่น ที่ส่วนหน้าบัน หรือส่วนสำคัญอื่นๆ ลูกศิษย์และญาติโยมหลายท่านให้ความเห็นว่า สาเหตุที่มักมีสัญลักษณ์ “นกยูง” ปรากฏอยู่ทั่วไปภายในวัด เนื่องจากนกชนิดนี้เป็นสัตว์ที่ครูบาอริยชาติโปรดปรานมากเป็นพิเศษ อีกทั้งยังเป็นความเชื่อจากชาดกที่ว่า ก่อนที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในพระชาติหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นพญานกยูงทอง ดังนั้นนกยูงจึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า การตกแต่งส่วนสำคัญๆ ของอาคารด้วยงานศิลป์รูปนกยูง จึงเป็นการสื่อถึงพระพุทธเจ้าอีกทางหนึ่งนั่นเอง

    มกรคายนาค เป็นศิลปะพม่า ทั้งนี้เพราะดินแดนภาคเหนือของไทยมีอาณาเขตติดกับพม่า ทั้งยังเคยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ามาก่อน จึงรับอิทธิพลจากฝั่งพม่ามาโดยปริยาย ดังนั้น บันไดนาคทางขึ้นของวัดที่เป็นแบบ “มกรคายนาค” จึงเป็นรูปแบบงานศิลปะที่พบเห็นได้ทั่วไปในพุทธสถานแถบทางเหนือของไทย

    มอม เป็นสัตว์ผสมระหว่างนาค แมว และสิงห์ เป็นศิลปะทางเหนือ กล่าวกันว่าในสมัยก่อนชาวบ้านใช้ “มอม” ในการแห่ขอฝน ก่อนที่จะมาจึงใช้แมวอย่างที่คุ้นเคยกันในปัจจุบัน

by Traveller Freedom


* sangk_1.JPG (228.7 KB, 667x1000 - ดู 301 ครั้ง.)

* sangk_2.JPG (401.09 KB, 1000x639 - ดู 343 ครั้ง.)

* sangk_3.JPG (401.63 KB, 1000x667 - ดู 413 ครั้ง.)

* sangk_4.JPG (433.66 KB, 1000x667 - ดู 230 ครั้ง.)

* sangk_5.JPG (495.83 KB, 688x1000 - ดู 283 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
Traveller Freedom
Sr. Member
****
กระทู้: 416



ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #7 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2016, 05:56:54 PM »


อลังการศาสนสถานแห่งอำเภอแม่สรวย @ วัดแสงแก้วโพธิญาณ (Page 8)

สถานที่ตั้ง : 191 ม.11 บ้านใหม่แสงแก้ว ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
โทรศัพท์ : 085 614 3764, 085-614-3764
พิกัด : 19.602007, 99.526715

กำเนิดองค์ครูบาศรีวิชัยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

    ครูบาอริยชาติตั้งใจออกแบบวัดให้มีความวิจิตรงดงาม มีความยิ่งใหญ่อลังการ และสลับซับซ้อนด้วยเชิงชั้นแห่งศิลปะ เพื่อให้วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปด้วยในตัวแล้ว นอกจากนี้ ครูบาอริยชาติยังมีนิมิตถึงครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ภาพที่ปรากฏในนิมิตทำให้ครูบาอริยชาติเกิดความปีติอย่างยิ่ง ครูบาจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากครูบาอริยชาติกับครูบาศรีวิชัยมีบุญวาสนาซึ่งกันและกัน ก็ขอให้ได้เห็นองค์ท่านใกล้ๆ และได้กราบนมัสการสักครั้งหนึ่ง สิ้นคำอธิษฐาน องค์ครูบาศรีวิชัยในนิมิตรก็ได้ขยายใหญ่ขึ้นจนมีองค์ที่ใหญ่โตมโหฬารประมาณขนาดไม่ได้ ครูบาอริยชาติจึงก้มกราบนมัสการด้วยความปีติอย่างยิ่ง

    หลังจากนำนิมิตอันเป็นมงคลดังกล่าวมาพิจารณา ครูบาอริยชาติจึงเกิดดำริที่จะสร้างศูนย์รวมความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนคนล้านนา เมื่อภาคใต้มีหลวงปู่ทวด ภาคอีสานมีหลวงปู่มั่น ภาคกลางมีหลวงพ่อโต ภาคเหนือก็ต้อง “ครูบาศรีวิชัย” นอกจากนี้ เมื่อครูบาอริยชาติได้พิจารณาโดยถี่ถ้วน ก็แจ้งถึง “นัย” ที่แฝงอยู่ เช่น การที่ครูบาศรีวิชัยเนรมิตองค์ท่านให้ใหญ่โตเหลือประมาณ น่าจะมีความหมายว่าในอนาคตภายหน้าพระพุทธศาสนาจะมารุ่งเรืองอย่างยิ่งในสถานที่ที่ท่านสร้างวัดแสงแก้วโพธิญาณแห่งนี้ ซึ่งหากสร้างรูปหล่อครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ที่สุดในโลก นำมาประดิษฐานที่วัดแสงแก้วโพธิญาณแห่งนี้ก็จะกลายเป็นอารามที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งในดินแดนภาคเหนือ ญาติโยมพุทธศาสนิกชนที่มายังวัดแห่งนี้ เพื่อนมัสการสักการะ “ตนบุญ” ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งล้านนา

    การสร้างรูปหล่อโลหะองค์ครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยนำ 2 ส่วนมาประกอบกัน คือส่วนองค์รูปหล่อครูบาศรีวิชัย กำหนดให้หน้าตักกว้าง 9 เมตร ความสูง 12 เมตร และส่วนของฐานรองรับองค์พระรูปหล่อครูบาศรีวิชัย รวมทั้งการปรับปรุงตกแต่งบริเวณและจัดทำภูมิทัศน์ ทั้งนี้ หลังจากใช้เวลาสร้างและหล่อเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน องค์ครูบาศรีวิชัยก็เสร็จสมบูรณ์และได้นำชิ้นส่วนทั้งหมดจำนวน 45 ชิ้น มาประกอบและประดิษฐานยังส่วนฐานรองรับ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

    นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งที่ครูบาอริยชาติต้องการสร้างรูปหล่อครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ที่สุดในโลก คือเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนพรรษา 84 พรรษา ในปี พ.ศ. 2554 อีกทั้ง การที่ครูบาศรีวิชัยเป็นตนบุญองค์สำคัญของชาวล้านนา ผู้เปรียบเสมือนครูบาอาจารย์ของพระสงฆ์ในแถบนี้ทั้งหมด การสร้างรูปหล่อของท่านให้ยิ่งใหญ่และมั่นคงถาวร จึงเป็นการแสดงออกซึ่งความมีกตัญญุตาของครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต ที่มีต่อครูบาอาจารย์ที่ท่านเคารพศรัทธายิ่งนั่นเอง

by Traveller Freedom


* potiyan_1.JPG (404.64 KB, 1000x633 - ดู 343 ครั้ง.)

* potiyan_2.JPG (293.92 KB, 1000x636 - ดู 295 ครั้ง.)

* potiyan_3.JPG (483.44 KB, 1000x667 - ดู 298 ครั้ง.)

* potiyan_4.JPG (327.71 KB, 1000x667 - ดู 224 ครั้ง.)

* potiyan_5.JPG (406.16 KB, 667x1000 - ดู 309 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
DDjung
Sr. Member
****
กระทู้: 374



ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: กรกฎาคม 16, 2016, 09:32:15 AM »


ขอบคุณ เกี่ยวกับ เรื่องราว ของวัดเชียงราย ที่น่าไป สักการะ อีกแห่ง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ขึ้นบน พิมพ์ 
จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  ข้อมูล ที่พักโรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวเชียงราย  |  ทริปข้อมูลรูปภาพสวยๆ ที่น่าสนใจของจังหวัดเชียงราย  |  หัวข้อ: อลังการศาสนสถานแห่งอำเภอแม่สรวย @ วัดแสงแก้วโพธิญาณ (Page 1-8) « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  




Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.5 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 21 คำสั่ง