ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
กรกฎาคม 02, 2024, 09:28:42 AM
หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก
ข่าว: ประกาศ ปัมพ์โพสต์ตอบแต่ emoticon ต่อเนื่อง เพื่อจะให้กระทู้ตัวเองมาอยู่อันดับต้นๆ ประจำ รับสิทธิ์โดนแบน 90 วันครับ


  แสดงกระทู้
หน้า: « 1 2 3 4
181  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดอุปคุต กราบพระอุปคุต ไหว้สาครูบาฯ ชมวิหารพระพันองค์ และจิตรกรรมพื้นถิ่น เมื่อ: มกราคม 13, 2014, 10:48:47 AM
วัดอุปคุต กราบพระอุปคุต ไหว้สาครูบาฯ ชมวิหารพระพันองค์ และจิตรกรรมพื้นถิ่น

ถนนท่าแพ คือถนนสายเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่ เพราะเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อเมืองเชียงใหม่กับท่าเรือแม่น้ำปิง ในอดีตตลอดแนวถนนท่าแพจึงเป็นชุมชนของเหล่าพ่อค้าวานิชจากดินแดนต่างๆ ทั้งชาวพม่า และชาวจีน ก่อเกิดวิถีชีวิต ประเพณี และศิลปะมากมายฝากไว้เป็นมรดกตกทอดสู่รุ่นลูกหลาน หลายๆ วัดบนถนนสายนี้จึงมีเรื่องราวที่น่าสนใจ วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จัก “วัดอุปคุต” พระอารามอีกแห่งหนึ่งบนถนนเส้นนี้ค่ะ

วัดอุปคุต ถนนท่าแพ ต. ช้างคลาน อ. เมืองฯ จ. เชียงใหม่ (ทางเข้าไนท์บาร์ซา)

วัดอุปคุตตั้งอยู่ริมถนนท่าแพ ต. ช้างคลาน อ. เมืองเชียงใหม่ ห่างจากสี่แยกสะพานนวรัฐ (ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง) เพียง 10 เมตร

ซุ้มประตูทางเข้าวัด

พระวิหารของวัด สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม ปี พ.ศ. 2470 เป็นอาคารปูน ทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่าย ฝีมือช่างท้องถิ่น มองเผินๆ อาจไม่รู้เลยว่าเป็นพระวิหาร ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ทำจากไม้ประดับด้วยกระจกสี หน้าบันเป็นไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาดูเก่าแก่มาก เข้ามาด้านในสิ่งแรกที่สะดุดตา คือตุงขนาดเล็กจำนวนมากมายแขวนเรียงรายอยู่อย่างสวยงาม

หลังคาวิหารของวัดอุปคุต

โถงด้านในพระวิหาร

เดินเข้ามาด้านในเล็กน้อยเป็นฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระประธานของพระวิหาร “พระอุปคุต” ที่มาของชื่อวัด และพระพุทธรูปสำคัญอื่นๆ ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระประธานเขียนสีน้ำมัน ฝีมือศิลปินพื้นบ้าน เล่าเรื่องราวในพระเวสสันดรชาดก ลักษณะการวาดค่อนข้างเสมือนจริง ไม่ใช่ภาพจิตรกรรมแบบประเพณีนิยมที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในวัดต่างๆ

พระประธานในพระวิหาร

พระเจดีย์ประธาน ทรงล้านนา ฐานล่างย่อมุม ต่อด้วยฐานกลมซ้อนกันสามชั้น ด้านบนเป็นองค์ระฆังแบบล้านนา ยกฉัตรสีทองไว้บนเรือนยอด มีซุ้มโขงแบบล้านนาประดิษฐานพระพุทธรูปประดับอยู่บนฐานเจดีย์ทั้งสี่ทิศ

พระเจดีย์ประธานของวัด

พระวิหารหลังใหม่

พระวิหารหลังใหม่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับปูนปั้นทั้งหลัง จุดเด่นคือลายปูนปั้นเทพพนม อ่อนช้อยงดงามตามแบบล้านนาสมัยใหม่ประดับอยู่โดยรอบตัวอาคาร ด้านในประดิษฐานรูปหล่อสัมฤทธิ์ครูบาศรีวิชัย และพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดับซุ้มเรือนแก้ว ผนังพระวิหารไม่ได้เขียนภาพจิตรกรรมอย่างที่นิยมกัน แต่ประดับพระพิมพ์ปางสมาธิขนาดเล็กนับพันองค์ ส่วนเพดานประดับด้วยไม้แกะสลักสวยงามมาก

พระประธานในพระวิหารหลังใหม่

มีรูปหล่อสำริดครูบาศรีวิชัยอยู่ภายในพระวิหารด้วย

พระพิมพ์องค์เล็กๆ ประดับอยู่บนผนังมากมายกว่าพันองค์

หอเก็บพระพุทธรูปเป็นอีกอาคารหนึ่งภายในวัดที่น่าสนใจ เพราะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมทรงลูกบาศก์ ยกพื้นสูง ก่อสร้างด้วยปูนและไม้ผสมกัน ประตูทางเข้ามียักษ์ปูนปั้นสองตนเฝ้าไว้

ปูนปั้นเทวดา ประดับพระวิหารหลังใหม่


ประเพณีสำคัญของวัดแห่งนี้นี้ เรียกว่า “ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน” หรือ “เป็งปุ๊ด” (เพ็ญพุทธ) เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานมากกว่า 250 ปี   ได้รับอิทธิพลจากพม่า เมื่อครั้งอาณาจากล้านนาตกเป็นเมืองขึ้น ในปัจจุบันมีเพียงวัดอุปคุตเท่านั้นที่ยังคงสืบทอดประเพณีนี้อยู่ โดยจะมีพิธีตักบาตรตอนเที่ยงคืนในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันพุธ พระสงฆ์จะประกอบกิจพุทธมนต์ในพระวิหารหลวงตั้งแต่เวลา 22.00 น. และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนจะออกจากพระวิหารเพื่อมารับบิณฑบาตจากญาติโยม โดยในแต่ละปีอาจจะมีเพียงครั้งเดียว มากกว่าหนึ่งครั้ง หรือไม่มีเลย

ยักษ์ปูนปั้นหน้าหอเก็บพระพุทธรูป

ตามตำนานเล่าเอาไว้ว่า “วันเป็งปุ๊ด” เป็นวันที่ “พระอุปคุต” พระเถระที่สำคัญในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ซึ่งเปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ ขึ้นชื่อเรื่องการปราบมาร และสิ่งชั่วร้าย จะละจากการบำเพ็ญบารมีใต้ท้องสมุทรขึ้นมาโปรดสัตว์โลก โดยปลอมตัวเป็นสามเณรออกบิณฑบาตในยามเที่ยงคืน ผู้ใดได้ทำบุญกับพระอุปคุตจะได้บุญมาก เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต


นอกจากความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมทางพุทธศิลป์ วัดอุปคุต ยังเป็นวัดที่สืบทอดประเพณีอันเก่าแก่ที่ในทุกวันนี้หาชมได้ยากมาก ใครสนใจก็อย่าลืมเปิดดูปฏิทินจันทรคติน และติดตามข่าวสารจากทางวัดให้ดีว่า “วันเป็งปุ๊ด” จะจัดขึ้นในวันใด หากมีโอกาสก็อย่าลืมไปสัมผัสประเพณีที่เหลือพียงหนึ่งเดียวของล้านนาให้ได้นะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  905


182  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / ดอยอ่างขาง แนะนำเส้นทาง รูปภาพที่เที่ยวดอยอ่างขาง ที่พักบนดอยอ่างขาง / Re: สอบถามเส้นทางขับรถจากเชียงใหม่ไปฝาง และที่พักใกล้ทางขึ้นดอยอ่างขาง เมื่อ: มกราคม 13, 2014, 09:38:34 AM
ทางขึ้นดอยอ่างขางมีสองทาง คือทางขึ้นปกติในอำเภอฝาง (ทางชันเอาเรื่องค่ะ เคยขี่มอเตอร์ไซค์ไปขึ้นไม่ไหว แต่รถยนต์น่าจะไปได้อยู่)

อีกทางคือจากบ้านอรุโณทัย เชียงดาว (ทางนี้ไปง่ายกว่า แต่ไกล และเปลี่ยวกว่าค่ะ)

มาถึงดึกๆ ไปพักที่ใกล้ๆ ทางขึ้น แถวอำเภอฝางก็น่าจะดีกว่าค่ะ ตื่นเช้ามากหน่อย อาจจะไปดูทะเลหมอกทัน :)
183  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว เส้นทางหลวงหมายเลข 108-1009 สู่จุดที่สูงที่สุดในประเทศไทย / ย้อนรอยความรุ่งเรืองแห่ง “เวียงท่ากาน” เมืองโบราณพันปี เมื่อ: มกราคม 13, 2014, 02:12:37 AM
ย้อนรอยความรุ่งเรืองแห่ง “เวียงท่ากาน” เมืองโบราณพันปี

ทุกวันนี้เราพบเห็นร่องรอยความรุ่งเรืองของชุมชนในอดีตได้ทั่วไปในดินแดนล้านนา วัดวาอาราม คุ้มหลวง ข่วงคู ประตูเมือง และกำแพงอิฐเก่าแก่เหล่านี้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาอันยาวนานของชุมชน และวิถีสังคมนั้นๆ ให้พวกเราชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณงามความดีที่บรรพบุรุษสรรสร้างเอาไว้ให้ วันนี้จึงขอพาเพื่อนๆ ออกนอกเมืองเชียงใหม่ไปไกลสักนิด เพื่อย้อนรอยอดีตอันรุ่งเรืองของแผ่นดินล้านนากันที่ “โบราณสถานเวียงท่ากาน”

โบราณสถานเวียงท่ากาน บ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

โบราณสถานเวียงท่ากาน ตั้งอยู่บนที่ราบแม่น้ำปิง ในเขตตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ จากการสืบค้นทางโบราณคดี และตำนานต่างๆ สันนิษฐานได้ว่า “เวียงท่ากาน” อาจมีอายุอานามเก่าแก่กว่าพันปี (พุทธศตวรรษที่ ๑๓) ร่วมสมัยกับอาณาจักรหริภุญชัย (ลำพูน) กลุ่มวัฒนธรรมมอญ-ทวาราวดี ซึ่งเคยยิ่งใหญ่อยู่บนแอ่งที่ราบแห่งนี้มาก่อนล้านนา

กลุ่มโบราณสถานกลางเวียง (วัดกลางเวียง) เป็นกลุ่มอาคารสถานที่ใหญ่ที่สุดในเขตเวียงท่ากาน

ชื่อ “ท่ากาน” ปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมือง และเอกสารโบราณหลายฉบับ ตามพงศาวดารโยนกกล่าวไว้ว่า ในสมัยพญามังราย “เวียงท่ากาน” มีฐานะเป็นเมืองบริวารของเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ เรียกว่า “พันนาทะการ” เมื่อครั้งที่พญามังรายได้รับต้นโพธิ์จากศรีลังกาจำนวน ๔ ต้น ก็ทรงโปรดให้นำมาปลูกไว้ที่ “เวียงพันนาทะการ” นี้ด้วย ๑ ต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีความสำคัญไม่น้อย

เจดีย์ประธานวัดต้นกอกร้าง นอกเมืองเวียงท่ากานทางทิศตะวันตก

เราเดินทางมายังโบราณสถานเวียงท่ากานด้วยเส้นทางสายเชียงใหม่ – ฮอด เลยตัวเมืองสันป่าตองมาเล็กน้อย เลี้ยวซ้ายที่แยกทุ่งเสี้ยว ขับรถไปเรื่อยๆ ปรากฏเจดีย์โบราณ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัดต้นกอก (ร้าง) งดงามเด่นเป็นสง่าอยู่ข้างทาง พระเจดีย์องค์นี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์ที่ค้นพบในเขตโบราณสถานเวียงท่ากาน เป็นเจดีย์ทรงระฆังล้านนาตั้งอยู่บนฐานปัทม์ย่อเก็จ ๓ ชั้น บริเวณโดยรอบปรากฏฐานพระวิหาร ตั้งอยู่ด้านหน้าพระเจดีย์ ตามรูปแบบการสร้างวัดอันเป็นเอกลักษณ์ของเผ่าไทแต่เก่าก่อน นอกจากนี้ยังพบฐานอาคารอีกสองแห่ง ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ใด รวมไปถึงบ่อน้ำ และส้วมด้วย

ฐานอาคารก่ออิฐที่ขุดค้นพบในบริเวณกลุ่มโบราณสถานวัดต้นกอกร้าง

ภายบริเวณกลุ่มโบราณสถานกลางเวียง (วัดกลางเวียง) เป็นที่ตั้งของศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากาน นักท่องเที่ยวสามารถศึกษาหาความรู้จากนิทรรศการภายในอาคารก่อนออกไปชมสถานที่จริง เพื่อความเข้าใจ และสนุกกับการชมซากปรักหักพังมากขึ้น ภายในอาคารหลังนี้ไม่เพียงแต่มีป้ายสื่อความหมายบอกเล่าประวัติศาสตร์ของที่นี่เท่านั้น แต่ยังจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบที่นี่อีกด้วย

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากาน

โครงกระดูกมนุษย์เพศหญิง ขุดค้นพบภายในกลุ่มโบราณสถานกลางเวียง

ซากโบราณกลางเวียง เป็นศาสนสถาน (วัดในพระพุทธศาสนา) ๓ แห่ง ตั้งเรียงรายกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยมีกำแพงแก้วกั้นเป็นอาณาบริเวณ ภายในเขตกำแพงแก้ว ปรากฏเจดีย์ที่ยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์หลงเหลืออยู่ ๒ องค์ องค์แรกเป็นเจดีย์ในศิลปะหริภุญชัย ส่วนอีกองค์ที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา นอกจากนี้ยังมีฐานของอาคารอื่นๆ รวมทั้งหมด ๑๘ จุด ซึ่งประกอบด้วย ซุ้มประตูโขง ๒ แห่ง ฐานพระวิหาร และพระอุโบสถ เป็นต้น

เจดีย์ศิลปะหริภุญชัย ในเขตโบราณสถานหมายเลข ๑ กลุ่มโบราณสถานกลางเวียง

เจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ในเขตโบราณสถานหมายเลข ๒ กลุ่มโบราณสถานกลางเวียง

พื้นที่โดยรอบกลุ่มโบราณสถานกลางเวียงนี้ นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุมากมาย อาทิ พระพิมพ์ดินเผา คนโทดินเผา พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปหินทราย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีรูปแบบพุทธศิลป์หริภุญชัย โครงกระดูกมนุษย์ และโครงกระดูกม้าอีกด้วย จึงสันนิษฐานได้ว่าเวียงท่ากานอาจก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นชุมชนสำคัญตั้งแต่ครั้งอาณาจักรหริภุญชัยเจริญรุ่งเรือง

ฐานพระอุโบสถ ในเขตโบราณสถานหมายเลข ๓ กลุ่มโบราณสถานกลางเวียง ปรากฎเสาหินแสดงเขตพัธสีมา

ฐานอาคาร ในเขตโบราณสถานหมายเลข ๓ กลุ่มโบราณสถานกลางเวียง

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ค้นพบในเขตเวียงท่ากาน คือ “โถมีฝาลายคราม” ศิลปะจีนสมัยราชวงศ์หยวนตอนปลาย สันนิษฐานว่าในโลกนี้ผลิตขึ้นมาเพียง ๙ ใบเท่านั้น ปัจจุบันโถลายครามใบนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดท่ากาน ใกล้ๆ กับกลุ่มโบราณสถานกลางเวียงนั้นเอง

โถลายครามมีฝา ศิลปะจีนสมัยราชวงศ์หยวนตอนปลาย (จำลอง)

เมืองเวียงท่ากานโบราณมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดไม่ใหญ่มากนัก มีคูเมือง และประตูเมืองล้อมรอบ ภายในเขตคูเมืองยังปรากฏโบราณสถานอีกหลายแห่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวัดในพระพุทธศาสนา อาทิ วัดป่าเป้า วัดหนองหล่ม วัดเจ้าก่ำ วัดหัวข่วง วัดอุโบสถ และวัดป่าไผ่ลวก เป็นต้น โบราณสถานแต่ละแห่งอยู่ในพื้นที่สวน แซมด้วยบ้านเรือนของชาวบ้านแถบนี้ คล้ายกับชุมชนเก่าเวียงกุมกามที่อำเภอสารภี

กลุ่มโบราณสถานวัดอุโบสถ

เจดีย์ประธานวัดอุโบสถ ทรงปราสาทแบบล้านนา ด้านหน้าปรากฏฐานพระวิหาร

ใครมาเชียงใหม่ก็คงนึกถึง “เวียงกุมกาม” อันโด่งดัง แต่เมืองเชียงใหม่ยังมีกลุ่มโบราณสถานอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ “เวียงท่ากาน” ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าพันปี (เก่ากว่าเวียงกุมกามด้วยซ้ำ) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่รักการเรียนรู้ สนใจประวัติศาสตร์ และอยากศึกษาเรื่องราวของชุมชน และวิถีสังคม

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  913
184  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / นมัสการพระสิงห์หยก “วัดอู่ทรายคำ” เมื่อ: มกราคม 12, 2014, 10:15:15 AM
นมัสการพระสิงห์หยก “วัดอู่ทรายคำ”

ฉันเคยบอกกับเพื่อนๆ จากกรุงเทพฯ หลายคนที่มาเที่ยวเชียงใหม่ว่า สำหรับผู้ที่รักงานศิลปะ และวัดวาอารามแบบไทยๆ แล้ว เที่ยวเมืองเชียงใหม่วันเดียวก็ไม่พอ เพราะการเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมอันงดงามวิจิตรที่แทรกตัวอยู่ในเมืองใหญ่นั้น ต้องใช้เวลาละเมียดละไมเป็นพิเศษ จึงจะซึมซับความอ่อนโยนของชิ้นงานต่างๆ ที่ประกอบกันจนเป็นอาคาร ซึ่งสล่า หรือศิลปินพื้นถิ่นในอดีตบรรจงสร้าง และสอดแทรกเรื่องราวเอาไว้ วันนี้ดิฉันยังมีวัดเล็กๆ อีกแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่มานำเสนอ

วัดอู่ทรายคำ ต.ช้างม่อย อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่

วัดอู่ทรายคำ ตั้งอยู่บนถนนช้างม่อยเก่า ต.ช้างม่อย อ.เมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2384 ในสมัยเจ้าหลวงแผ่นดินเย็น หรือพ่อเจ้าหลวงพุทธวงศ์ (ครองเมืองเชียงใหม่ระหว่าง ปี พ.ศ. 2369 - 2389) โดยอุบาสิกาอุปคำ ซึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงแสน (จังหวัดเชียงราย) อันเนื่องมาจากสงคราม มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตะวันออกของคูเมืองเชียงใหม่ ด้วยศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จึงร่วมแรงร่วมใจกับชาวบ้านเชียงแสนที่อพยพมาด้วยกัน สร้างวัดอู่ทรายคำขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระวิหารประดิษฐานพระพุทธสิงห์หยกไตรภาคี

ฐานชุกชีภายในพระวิหาร ประดิษฐานพระประธาน และพระพุทธรูปสิงห์หยกสำคัญ


จุดเด่นที่สุดของวัดนี้คือ “พระพุทธสิงหิงค์หยกไตรภาคี”  หรือเรียกสั้นๆ ว่า “พระสิงห์หยก” (The Jade Buddha Image) สร้างจากเนื้อหยกธรรมชาติจากพม่า ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นแหล่งหยกชั้นยอดของโลก องค์แรกสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2546 มีขนาด 29 นิ้ว องค์ที่สองและสามสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 มีขนาด 25 นิ้ว และ 20 นิ้วตามลำดับ ทั้งสามองค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ภายใน ต่อมามีการสร้างพระหยกพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปางมารวิชัย ศิลปะล้านนาแบบสิงห์หนึ่ง ขนาดหน้าตักกว้าง 29 นิ้ว สูง 41 นิ้ว น้ำหนัก 900 กิโลกรัม ในการนั้นสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชฯ ประธานพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในผอบทองคำไว้ในเศียรพระพุทธรูปอีกด้วย

หนึ่งพระพุทธรูปสิงห์หยกสำคัญทั้งสามองค์


พระวิหาร ศิลปะล้านนาผสม เป็นอาคารปูนทั้งหลัง หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นเทพพนม ลายพรรณพฤกษา และลายดอกบัว บนพื้นสีแดง เมื่อเข้ามาด้านในจะพบพระสิงห์หยกทั้งสี่องค์ดั่งที่กล่าวไว้ พระพุทธรูปประธาน ปางมารวิชัย สูง 2.62 เมตร หน้าตักกว้าง 2.22 เมตร ตามตำนานเล่าว่าสร้างตามแบบพระเจ้าเก้าตื้อ พระประธานของวัดสวนดอก ผนังพระวิหารมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ

กู่ธรรมมาสน์ไม้ แกะสลักสวยงาม

พระเจดีย์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2384 ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร มีฐานสามชั้น องค์เจดีย์ทรงระฆังสีทอง ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทองเจ็ดชั้น แต่เดิมคาดว่ามีขนาดเล็ก ต่อมามีการสร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบองค์เดิมเอาไว้

พระอุโบสถของวัด

พระอุโบสถ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2427 อยู่ด้านข้างพระวิหาร เป็นศิลปะล้านนาผสม แบบจตุรมุข หน้าบันเป็นลายพญาครุฑ ลายเทพพนม และพรรณพฤกษา จุดเด่นคือบริเวณผนังด้านนอกมีลายปูนปั้นเรื่องสังข์ทอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของเชียงใหม่

หอไตรเรือนไม้ลักษณะสถาปัตยกรรมแตกต่างมีเอกลักษณ์

หอไตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2452 อยู่ทางทิศตะวันออกของวัด เป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ ศิลปะแบบล้านนา ลักษณะการโดดเด่นแตกต่างจากหอไตรของวัดอื่น ฝีมือช่างชั้นครู ชาวเหนือเรียกว่า “ประสาทหลังก๋าย”

พระหยกพม่าองค์ใหญ่ภายในพระวิหาร

แม้ว่าวัดอู่ทรายคำจะเป็นวัดเล็กๆ ตั้งอยู่ในทำเลที่ไม่มีใครสังเกตเห็น แต่ก็เป็นสถานที่รวบรวมงานศิลปกรรมอันมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร นับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่เพื่อนๆ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  914

185  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / แนะนำ ร้านกาแฟ ชา เบเกอรี่ เค้ก ขนม ไอศกรีม อาหารว่าง ของทานเล่น ในเชียงใหม่ / “ม่อนระมิงค์” เหนื่อยนักก็พักเสียหน่อย :) เมื่อ: มกราคม 12, 2014, 12:39:30 AM
“ม่อนระมิงค์” เหนื่อยนักก็พักเสียหน่อย :)

การเดินทางไกลกับความเหนื่อยล้าเป็นของคู่กัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ถนนหลักหลายสายในบ้านเราจะมีจุดพักรถเรียงรายคอยให้บริการนักเดินทาง ทั้งของรัฐและเอกชน “ม่อนระมิงค์” คือจุดบริการนักเดินทางน้องใหม่บนถนนสายเชียงใหม่ – ฝาง ต.ขี้เหล็ก อ.แม่แตง ก่อนถึงแยกแม่มาลัยไปอำเภอปาย แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตเพียงนิดเดียว หลายคนอาจรู้สึกว่าทำไมต้องนำเสนอเรื่องราวของจุดพักรถด้วย เพราะมันเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดา และดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ “ม่อนระมิงค์” ตอบโจทย์ความต้องการของนักเดินทางอย่างรู้ใจ ด้วยบริการที่หลากหลาย

"ม่อนระมิงค์" จุดพักนักเดินทางบนถนนเชียงใหม่ - ฝาง อ. แม่แตง

โครงการม่อนระมิงค์เกิดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายบริการนักเดินทางทุกเพศทุกวัย มีทั้งศูนย์อาหาร และห้องอาหารไว้คลายหิว สระว่ายน้ำ คาราโอเกะ และบริการนวดผ่อนคลายสำหรับผู้ที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทาง และร้านกาแฟสดรามิโน่ (Ramino De café) ไว้เอาใจคนรักกาแฟอีกด้วย


ศูนย์อาหารม่อนระมิงค์

ก่อนหน้านี้ เลดี้ ดาริกา เคยนำเสนอร้านชาสุดโปรดไปแล้วครั้งหนึ่ง ร้านชาในเรือนไม้สถาปัตยกรรมแบบขนมปังขิงบนถนนท่าแพ ใครที่คอยติดตามอ่าน หรือเป็นแฟนพันแท้ของบอร์ดคงจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง ส่วนใครคิดเท่าไรก็คิดไม่ออก ก็สามารถตามกลับไปอ่านกันได้ที่ลิงค์นี้นะคะ
http://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php/topic,6870.0.html


ที่ยกเรื่องร้านชา “ระมิงค์ทีเฮาส์” ขึ้นมาก็เพราะว่า “ม่อนระมิงค์” เกี่ยวดองกับระมิงค์ทีเฮาส์ในฐานะพี่น้องร่วมกลุ่มบริษัทเดียวกันนั่นเอง ถ้าใครมีโอกาสลองลิ้มชิมรสผลิตภัณฑ์ชาของระมิงค์ทีเฮาส์แล้วเกิดติดใจ สัมผัสละมุนละไมใส่ใจคุณภาพเช่นนั้นก็หาได้ที่ “Ramino De café” เช่นเดียวกัน และร้านกาแฟแห่งนี้ก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของม่อนระมิงค์ที่เลดี้ ดาริกาอยากจะขอนำเสนออีกด้วย

ร้านกาแฟรามิโน่ "Ramino De Cafe"


หากถามหาจุดเด่นของ “Ramino De café” ที่แตกต่างไปจากร้านกาแฟอื่นๆ ก็มีเปิดอยู่มากมายทุกหัวระแหงในบ้านเราทุกวันนี้ ก็คงจะต้องพูดถึงคุณภาพของเมล็ดกาแฟออร์แกนิค สายพันธุ์อาราบิก้า จากไร่ชาระมิงค์ ต้นแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพาะปลูกในสภาพแวดล้อมเหมาะสม และคั่วด้วยเครื่องคั่วกาแฟมาตรฐานระดับโลก เรียกได้ว่าใส่ใจคุณภาพกันสุดๆ ประคบประหงมราวกับลูกน้อยเลยทีเดียว ทั้งนี้ก็เพื่อคุณภาพกาแฟที่คับจนล้นแก้ว :)

Organic Latte & Caramel Latte

มาถึง “Ramino De café” ทั้งที ขอนำเสนอพระเอกของร้านกันเสียหน่อย สูตรกาแฟออร์แกนิคคัดพิเศษ คั่วและชงสไตล์อิตาเลียนคือซิกเนเจอร์ที่ทำให้ร้านกาแฟแห่งนี้โดดเด่นไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็น แกรนด์รามิโน่ ออร์แกนิคเอสเปรสโซ่ ออร์แกนิคคาปูชิโน่ และออแกร์นิคลาเต้ รสชาติเข้มข้น มีกลิ่นกาแฟหอมๆ ลอยมายั่วยวนให้ตาสว่างได้ดีทีเดียว โดยส่วนตัวขอแอบกระซิบบอกเพื่อนๆ ว่าปลื้ม “คาราเมลลาเต้ (ปั่น)” มากๆ ค่ะ


ใครแวะไปแม่แตง เดินทางขึ้นเหนือไปเที่ยวเชียงดาว ฝาง ปาย หรือแม่ฮ่องสอน ก็ลองหาโอกาสแวะเยี่ยมชมเยี่ยมชิมที่ม่อนระมิงค์ดูได้นะคะ ขาเข้าเมืองเชียงใหม่อาจต้องกลับรถไกลหน่อย แต่ก็ถือว่าคุ้ม

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  913
186  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน อลังการศิลปะล้านนาประยุกต์เพื่อพุทธบูชา เมื่อ: มกราคม 12, 2014, 12:17:13 AM
วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน อลังการศิลปะล้านนาประยุกต์เพื่อพุทธบูชา

ยอมรับว่าฉันรู้จักที่นี่ครั้งแรกจากการหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในอินเตอร์เน็ต ชื่อ “วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน” ช่างกระชากใจวัยรุ่นตอนปลายอย่างฉันเสียจริง เมื่อเราตัดสินใจสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวแม่แตง วัดแห่งนี้จึงอยู่ในลิสต์รายชื่อสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องไปเยือนรายชื่อแรกๆ เลยทีเดียว และที่นี่ก็ไม่ทำให้ฉันผิดหวัง (แม้ว่าแดดจะแรงมาก ทั้งๆ ที่เป็นหน้าหนาวก็ตาม)

พระวิหารวัดบ้านเด่น สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ ลวดลายวิจิตร

พระธาตุเจดีย์ประธานของวัด กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และประดับทองจังโก

วัดแห่งนี้เดิมเป็นเพียงวัดเล็กๆ ของหมู่บ้าน ทำเลที่ตั้งอยู่บนเนินเขาขนาดย่อม มีพื้นที่สูงกว่าบ้านของชาวบ้านเล็กน้อย ในเขตตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ พระอารามแห่งนี้เดิมชื่อว่า “วัดหรีบุญเรือง” ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “วัดเด่น” หรือ “วัดบ้านเด่น” หากเปรียบเทียบกับวัดวาอารามอีกหลายแห่งที่มีชื่อเสียง และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในเชียงใหม่แล้ว วัดแห่งนี้เป็นเพียงวัดธรรมดาที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญอะไร ชื่อ “เด่นสะหลีศรีเมืองแกน” นั้น เกิดขึ้นเมื่อครูบาเทือง นาถสีโล พระเกจิชื่อดังของภาคเหนือเข้ามาบูรณะ และพัฒนาวัดแห่งนี้ให้ใหญ่โตสวยงาม พร้อมกับนำต้นโพธิ์ ซึ่งคำเมืองเรียกว่า “เก๊าสะหรี” ซึ่งถือกันว่าเป็นไม้มงคล และมีความสำคัญต่อพระศาสนามาปลูกไว้ในวัด และบริเวณที่ตั้งของวัดนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า ๗๐๐ ปีก่อน (สมัยพญามังรายมหาราช) ที่นี่คือชุมชนโบราณที่มีชื่อเรียกว่า “เมืองแกน” เมื่อนำมาต่อกันจึงกลายเป็นชื่อใหม่ของวัดที่ติดอยู่ในความทรงจำของใครก็ตามที่มีโอกาสมาเยือน แต่ชาวบ้านก็ยังคงเรียก “วัดบ้านเด่น” เช่นเคย

พระประธานปางมารวิชัยในพระวิหารใหญ่

หากจะวัดกันที่ความเก่าแก่ของสถาปัตยกรรม วัดแห่งนี้คงไม่มีชื่อติดโผ แต่ถ้ากล่าวถึงการสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจนเป็นที่รู้จักไปทั่วแล้วละก็ วัดแห่งนี้จัดอยู่ระดับแนวหน้า ด้วยความวิจิตรพิสดารของอาคารสถานต่างๆ ภายในวัด รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมล้านนาประยุกต์ ซึ่งเก็บลายละเอียดได้อย่างหมดจด สอดแทรกความทันสมัยเข้าไปในงานช่างฝีมือแบบดั้งเดิมได้อย่างลงตัว

ศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของประเทศ (องค์จำลอง)

พระพุทธรูปสำคัญของประเทศ (องค์จำลอง) จำลองมาจากวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

เมื่อเราผ่านซุ้มประตูหน้าเข้ามาภายในบริเวณวัด อาคารต่างๆ ปรากฏอยู่ตรงหน้าสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน พระวิหาร คืออาคารหลังแรกที่สะดุดตาผู้มาเยือน เพราะมีขนาดใหญ่ และตกแต่งรายละเอียดอย่างวิจิตรงดงามตามแบบฉบับของวิหารล้านนา หน้าบันลวดลายพรรณพฤกษาสีทองขดม้วนอย่างวิจิตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่ปางมารวิชัย บนฐานชุกชีสีทองสลักเสลาลวดลายงดงาม ด้านหลังเป็นภาพเขียนสีทองรูปต้นพระศรีมหาโพธิ์ และเทพชุมนุมบนพื้นสีดำ ผนังวิหารด้านขวามือเรียงรายไปด้วยพระพุทธรูปในอิรอยาบทต่างๆ เรียงรายกันสวยงาม

อานุสาวรีย์ครูบาเทือง นาถสีโล ด้านหลังคือหอพระธรรมสองชั้น สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง

ด้านขวาของพระวิหารมีโกฏิบรรจุอัฐิของครูบาเทือง ถัดไปเป็นศาลายาวขวางตะวัน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของเมืองไทย ซึ่งจำลองมาจากวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ใช่เพียงแต่ภาคเหนือเท่านั้น เรียกได้ว่ามาทีเดียวได้สักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หลายองค์

วิหารพระเศรษฐีนวโกฏิ

ด้านซ้ายของพระวิหารมีอาคารเรียงรายมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงาม ด้านหลังอนุสาวรีย์ครูบาเทือง นาถสีโล มีหอพระธรรมฯ เรือนไม้สองชั้น ศิลปะล้านนาประยุกต์ รูปทรงโดดเด่นสะดุดตา ถัดมาคือวิหารพระเศรษฐีนวโกฏิ เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ทั้งคนในท้องที่ และคนต่างถิ่น ใกล้ๆ กันคือพระวิหารไม้สักทองทั้งหลัง บันไดทางขึ้นขนาบด้วยนกหัสดีลิงค์ (หัวเป็นช้าง ตัวเป็นนก) นกในวรรณคดีพระพุทธศาสนา ด้านในประดิษฐาน “พระพุทธมหาบารมีศรีศากยวงศ์” พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก ทรงเครื่องทอง ในกู่ลงรักปิดทองงดงามมาก นอกจากนี้ยังมีธรรมมาสน์ และรูปปั้นเทวดาสีทองสุกปลั่งทั้งองค์ยืนเรียงรายสองฝั่ง ตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงกู่พระประธาน

วิหารไม้สักทองทั้งหลัง ประดิษฐานพระพุทธมหาบารมีศรีศากยวงศ์

นกหัสดีลิงค์ หัวเป็นช้าง ตัวเป็นนก สัตว์ในวรรณคดีพระพุทธศาสนา

พระธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของวัด กำลังอยู่ระหว่างการสร้าง และปิดทองยังไม่แล้วเสร็จ แม้ว่าวัดแห่งนี้จะยังไม่เสร็จสิ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีคณะทัวร์ และนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่องตลอดวัน นอกจากที่ได้เล่าให้ฟังด้านบนแล้ว บริเวณอันกว้างใหญ่ของวัดแห่งนี้ ยังมีส่วนที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง

พระพุทธมหาบารมีศรีศากยวงศ์ พระพุทธรูปทรงเครื่อง ประดิษฐานในกู่ลงรักปิดทอง

พระอารามแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร การเดินทางมาก็แสนง่ายดาย มาตามเส้นทางขึ้นเหนือ ถนนเชียงใหม่-ฝาง เข้ามาตามทางไปเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ก่อนถึงตัวเทศบาลเมืองแกน ให้เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายบอกทาง เส้นทางเดียวกับแหล่งเตาโบราณอินทขีลนั่นเอง มาเที่ยวแม่แตงครั้งเดียว เก็บได้สองแหล่งท่องเทียวเลยนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  904
187  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / ชมจิตรกรรมฝีมือช่างไทใหญ่ที่ “วัดท่าข้าม” คุณค่าที่ควรอนุรักษ์ เมื่อ: มกราคม 09, 2014, 01:30:49 AM
ชมจิตรกรรมฝีมือช่างไทใหญ่ที่ “วัดท่าข้าม” คุณค่าที่ควรอนุรักษ์

ล้านนาคือแผ่นดินแห่งวัดวาอาราม ในเมืองเชียงใหม่ และเมืองใหญ่น้อยในภาคเหนือ ไม่ว่าจะเดินไปมุมไหนก็มีแต่วัด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาอันแน่นแฟ้นของผู้คนที่มีต่อพระพุทธศาสนา วัดชนบทนอกเมืองหลายแห่ง ถึงแม้เป็นวัดเล็กๆ ไม่มีชื่อเสียงมากมายนัก ไม่มีนักท่องเที่ยวหรือผู้คนศรัทธาจำนวนมาก เป็นเพียงวัดของชุมชน แต่บางแห่งอาจซุกซ่อนเรื่องราวน่าสนใจ หรือศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าไว้

วิหารล้านนาเก่าแก่วัดท่าข้าม ต.สบเปิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

วันนี้ เลดี้ ดาริกา ขออนุญาตพาเพื่อนๆ ออกไปนอกเมืองเชียงใหม่ไกลสักหน่อย ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ตามเส้นทางเชียงใหม่ – ฝาง แล้วแยกไปตามเส้นทางแม่มาลัย – ปาย ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร มีแยกเล็กๆ ต้องเป็นคนช่างสังเกตสักหน่อย ในเขตตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง ซึ่งจะพาเราไปยังหมู่บ้านท่าข้าม ที่ตั้งของ “วัดท่าข้าม” วัดเล็กๆ ที่เราอยากจะนำเสนอในวันนี้

ภาพด้านหลังพระวิหาร

วัดท่าข้าม เป็นวัดเก่าแก่ จากประวัติตามสมุดข่อยกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๗ โดยครูบาพรหม สรวิจา เดิมชื่อ “วัดสันป่าสักติถัง” เพราะตั้งอยู่ในบริเวณที่มีป่าไม้สักมาก มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดสุปัตนาราม” แต่เนื่องจากที่ตั้งของวัดเป็นจุดข้ามฝากแม่น้ำแม่ฮาว คนส่วนใหญ่จึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดท่าข้าม”จนคุ้นเคยกันมาถึงปัจจุบัน ในอดีตว่ากันว่าพ่อค้าแม่ค้ามักล่องตามแม่น้ำแม่ฮาวสินค้ามาขายในย่านนี้กันอย่างคึกคัก

ใบระกาของหลังคาพระวิหารแกะด้วยไม้ เป็นลายนาคสะดุ้ง

จุดเด่นของวัดแห่งนี้คือพระวิหารทรงล้านนาแท้ หลังคาซ้อนเป็นชั้นลดหลั่นกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวิหารแบบล้านนา แม้สภาพของพระวิหารปัจจุบันจะชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก แต่ก็ยังคงร่องรอยความสวยงาม และเรียบง่ายในอดีต เหนือบานประตูวิหารประดับด้วยกระจกสีเป็นลวดลายมังกร แม้จะฝุ่นจับ และสีซีดจางลงไปตามกาลเวลา แต่เชื่อได้ว่าในอดีตคงสดใสและงดงามทีเดียว ด้านข้างพระวิหารมีประตูและบันได มีหลังคาแบบล้านนาคลุมไว้ เพื่อเป็นทางสำหรับพระคุณเจ้าใช้เข้าออกพระวิหารเพื่อสอนธรรมได้สะดวก

ภายในพระวิหาร แม้จะเก่าและขาดการดูแลรักษาที่ดี แต่ก็มีเค้าความงามแบบท้องถิ่นในอดีต

ภายในพระวิหาร ด้านในสุดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยฝีมือช่างพื้นเมืองบนฐานชุกชีสูง ประดับกระจกสีวิจิตร ด้านหลังองพระประธานเป็นภาพลายพรรณพฤกษาเขียนด้วยสีทองบนพื้นดำ เสาวิหารเขียนลวดลายสีทองบนพื้นแดงสวยงามมาก

ภาพจิตรกรรมฝีมือสล่าชาวไทใหญ่ เน้นการใช้สีแดงและน้ำเงินบนพื้นขาว

ภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ และนิทานชาดกพื้นบ้าน

ส่วนสำคัญที่สุดของพระวิหารหลังนี้คือภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือสล่าหรือช่างชาวไทใหญ่ ความโดดเด่นของภาพเขียน หรือ “ฮูปแต้ม” ของวิหารหลังนี้ คือการใช้สีน้ำเงิน และสีแดงบนพื้นขาว ภาพแต่ละภาพจะมีกรอบแบ่งไว้ชัดเจน แต่ละกรอบจะเล่าเรื่องราวจบภายในกรอบเดียวไม่ต่อเนื่องกัน เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และนิทานชาดกพื้นถิ่น เช่น เรื่องแสนเมืองหลงถ้ำ เรื่องแม่กาเผือก เป็นต้น

ขอปิดท้ายด้วยรูปนี้ สียังสด และสมบูรณ์อยู่พอสมควร

พระวิหารหลังนี้ถูกละเลยเรื่องการดูแลรักษา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง ส่วนตัวคิดว่าควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดการดูแล เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่งดงามนี้เอาไว้ให้ลูกหลานได้รักษาเรียนรู้ต่อไป

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  913
188  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำสถานทีเที่ยว ในจังหวัดเชียงใหม่-สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ / ชมดอกไม้บานที่ “สวนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา” เมื่อ: มกราคม 09, 2014, 12:55:30 AM
ชมดอกไม้บานที่ “สวนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา”

“ดอกทิวลิป” ดูเหมือนจะกลายดารายอดนิยมไปเสียแล้วสำหรับเทศกาลดอกไม้หน้าหนาวหลายๆ แห่งในเขตจังหวัดภาคเหนือ หลังจากที่บ้านเราสามารถเพาะพันธุ์และปลูกดอกทิวลิป ซึ่งเป็นดอกไม้เมืองหนาวยอดนิยมในยุโรปได้ (แม้จะยังต้องเลี้ยงกันอยู่ในอาคารปรับอากาศ เพราะอากาศบ้านเราก็ยังแปรปรวนร้อนๆ หนาวๆ อยู่อย่างนี้ก็ตาม) ชาวเชียงใหม่หลายคนคงมีโอกาสไปสัมผัสดอกทิวลิปตามเทศกาลดอกไม้ต่างๆ กันมาบ้างแล้ว บางคนมาพร้อมความประทับใจ แต่หลายคนก็คงมาพร้อมกับความผิดหวัง ทั้งเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณที่ไม่อู่ฟู่สมใจขนาดต้องร้อง โอ้!

ไปดูดอกไม้บานที่สวนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษากันเถอ :)

สวนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา บนถนนเลียบครองชลประทาน ตรงข้ามสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี เป็นอีกแห่งหนึ่งที่จัดงานเทศกาลดอกไม้บานเชียงใหม่ขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงปลายปีต่อต้นปี ซึ่งเป็นเวลาที่อากาศกำลังเย็นสบาย เหมาะกับการเดินเล่นในสวน โดยกิจกรรมนี้อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์สวนเฉลิมพระเกียรติฯ

บรรยากาศของสวนสวยริมทะเลสาบ

ภายในบริเวณสวน คนรักดอกไม้คงจะต้องประทับใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะในช่วงเวลานี้ละลานตาไปด้วยบรรดาดอกไม้หลากสีหลายชนิดบานชูช่ออวดดอกสวยสีสันสดใสแสบตาแก่ผู้มาเยือน หลายคนมาเป็นคู่ก็ดูโรแมนติก มากับพ่อแม่ครอบครัวก็แสนจะอบอุ่น หรือจะมากับกลุ่มเพื่อนก็สนุกเฮฮาไปอีกแบบ

ด้านในอาคารปรับอุณหภูมิ

นอกจากโซนด้านนอกทั่วไปที่ประดับประดาไปด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ หลากหลายรูปทรง และดีไซน์ โชว์ฝีมือของนักออกแบบสวนแล้ว เดินเข้าไปด้านในเล็กน้อยบริเวณริมทะเลสาบจะมีเรือนกระจกตั้งอยู่ ภายในเรือนกระจกนั้นถูกปรับอุณหภูมิให้เย็นสบายพอเหมาะ สำหรับจัดแสดงดอกไม้เมืองหนาวที่ต้องการอากาศเย็นเป็นพิเศษไปจากอากาศภายนอก พระเอกของงานนี้ “ดอกทิวลิป” คือดอกไม้ชนิดหนึ่งที่จัดเรียงไว้อย่างสวยงาม แต่ภายในไม่ได้มีเพียงดอกทิวลิปหลากสีเท่านั้น แต่ยังมีดอกลิลลี่ และดอกไม้อื่นๆ ประดับประดาอยู่ด้วย ซึ่งอาคารจัดแสดงนี้มีเวลาเปิดปิด ๒ รอบ คือเปิดระหว่างเวลา 09:00 – 13:00 และ 15:00 – 20:0




ประติมากรรมต่างๆ ที่ถูกประดับประดาไว้ทั่วไปในสวนฯ

นอกจากนี้ภายในสวนยังมีประติมากรรม และอาคารที่น่าสนใจอีกด้วย อาทิ ประติมากรรมพระพิฆเนศ และหอคอยดอกไม้ เป็นต้น


เมื่อมามองถึงประโยชน์ใช้สอยของสวนสาธารณะแห่งนี้ในยามที่ไม่มีเทศกาลดอกไม้สวยๆ มาดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่นี่เป็นที่พักผ่องหย่อนใจ และสถานที่ออกกำลังกายของคนในชุมชนใกล้เคียง ใครหาที่พักผ่อน หนีรถติดในเมืองเชียงใหม่เสนอที่นี่เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งนะคะ ส่วนปลายหนาวแบบนี้ ยังพอมีเวลา ยามเย็นหาที่เดินเล่นใหม่ๆ เบื่อห้างสรรพสินค้าที่พากันเปิดโครมๆ ตอนนี้แล้วล่ะก็ เทศกาลดอกไม้บานก็น่าสนใจไปอีกแบบ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ผ่านมามีเวลาว่างเหมาะเจาะ เทศกาลดอกไม้บานที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้จัดต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ วันที่ ๑๔ นะคะ :)

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  912
189  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ในเชียงใหม่ / พาเที่ยวนอกเมือง เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ “พิพิธภัณฑ์เตาโบราณอินทขีล” เมื่อ: มกราคม 09, 2014, 12:32:15 AM
พาเที่ยวนอกเมือง เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ “พิพิธภัณฑ์เตาโบราณอินทขีล”

เราเรียนรู้เรื่องราวในอดีตจากอะไรได้บ้าง? ตำนานเมือง ศิลาจารึก สมุดใบลาน หรือซากปรักหักพังของโบราณสถาน ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้ทำให้เรารู้จักอดีตของตัวเอง และของเพื่อนมนุษย์ในสังคมต่างๆ ทั่วโลกได้ เรื่องราวในอดีตที่ถูกบันทึกขึ้นอาจคลาดเคลื่อน หรือเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามแต่ใจของผู้บันทึก แต่หลักฐานที่เป็นโบราณสถาน และโบราณวัตถุนั้น แสดงให้เราเห็นความเป็นจริงในอดีตได้อย่างซื่อตรงกว่า แม้ว่าจะเข้าใจได้ยากกว่า และอาจต้องพยายามเข้าใจมากสักหน่อยก็ตาม

พิพิธภัณฑ์ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านสันป่าตอง ตำบลอินทขีล อำเภอแม่แตง เชียงใหม่ ดูแลโดยเทศบาลเมืองเมืองแกน

“เครื่องปั้นดินเผา” เป็นสินค้าส่งออกที่โดดเด่นมากในยุคสมัยหนึ่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ค้นพบแหล่งเตาเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่สมัยโบราณกระจายตัวอยู่ทั่วไปหลายแห่ง สำหรับใครที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงความรู้ อยากเรียนรู้เรื่องราวในอดีต วันนี้ขอนำเสนอ “พิพิธภัณฑ์เตาโบราณอินทขีล” บ้านสันป่าตอง ตำบลอินทขีล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่


วัตถุที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ


ออกจากเมืองเชียงใหม่ด้วยเส้นทางขึ้นเหนือ สายเชียงใหม่-ฝาง ก่อนมุ่งหน้าขึ้นเขาไปอำเภอเชียงดาว เราจะเจอสามแยกใหญ่ ให้เลี้ยวขวาไปทางเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เข้าเขตเทศบาลเมืองแกนเล็กน้อย มีสี่แยกเล็กๆ ก่อนถึงตลาดเทศบาล เลี้ยวซ้ายไปทางวัดบ้านเด่น หรือถ้ามาจากทางเขื่อนแม่งัดก็ต้องผ่านตลาดเทศบาลมาก่อน การเดินทางมาที่นี่สะดวก เพราะมีป้ายบอกชัดเจนตลอดทางค่ะ

แหล่งขุดค้นเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาโบราณ

แหล่งโบราณคดีเตาเผาอินทขีลค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยชามดินเผาสมัยโบราณอายุกว่า ๕๐๐ – ๖๐๐ ปี ราวๆ รัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน-พระเจ้าติโลกราช แห่งราชวงศ์มังราย บริเวณดังกล่าวปรากฏหลักฐานปากปล่องเตาเผาบนผิวดิน ๒ แห่ง ก่อด้วยอิฐ เป็นปล่องกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘๐ เซนติเมตร เตาเผามีโครงสร้างเป็นดินเหนียวแบบระบายความร้อนผ่าเฉียงขึ้น รูปร่างคล้ายไห จึงถูกเรียกว่า "เตาไห"

ลักษณะของเตาเผา จากหลุมขุดที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด

บริเวณเดียวกันนี้ยังค้นพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบสีเขียวอ่อน และเคลือบสีน้ำตาลแกมเขียวเข้ม เนื้อดินสีเทา และเศษภาชนะดินเผาเนื้ออ่อนไม่เคลือบผิว หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ศิลาดล” หรือ “เซลาดอน” กระจายอยู่ทั่วไป ต่อมาจึงตรวจสอบโบราณวัตถุที่ "เนินขมุ" ในป่าห้วยช้างตาย พบเศษเครื่องถ้วยชามจำนวนมาก เมื่อสำรวจต่อไปจึงพบปล่องเตาเผาก่อด้วยดินเหนียวเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งในที่ดินเอกชน

“เมืองแกน” เมืองโบราณซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งเตาเผานี้ เป็นชุมชนโบราณที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยพญามังรายครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๑๘๐๑ – พ.ศ. ๑๘๕๔) การค้นพบแหล่งเตาเผาโบราณอินทขีลนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า "ทุ่งพันแอกพันเฝือเมืองแกน" นั้นมีอยู่จริงตามประวัติศาสตร์ล้านนา

แบบจำลองเตาเผา

พิพิธภัณฑ์เตาโบราณอินทขีล อยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองแกน เป็นการจัดการมรดกของท้องถิ่นโดยคนในชุมชน แม้การดูแลโบราณวัตถุ และการจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ดูไม่น่าสนใจเท่าที่ควร แต่มีคุณค่ามากทางประวัติศาสตร์ เพราะยังไม่เคยมีการค้นพบเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาใดในบริเวณภาคเหนือตอนบนที่มีความสมบูรณ์ขนาดนี้มาก่อน

พิพิธภัณฑ์เตาโบราณอินทขีลเปิดให้เข้าชมทุกวันทำการ เวลา 08.00-16.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 5385 7360 ต่อ 17 (ปิดเสาร์-อาทิตย์นะคะ)

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  917
190  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / ยลความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในแผ่นดินล้านนาที่ “วัดเจ็ดยอด” เมื่อ: มกราคม 07, 2014, 10:40:43 PM
ยลความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในแผ่นดินล้านนาที่ “วัดเจ็ดยอด”

ฉันมาเชียงใหม่ครั้งแรกเมื่อกว่าสิบปีก่อน ตอนนั้นยังเป็นแค่นักศึกษามหาวิทยาลัย ที่อยากลองออกเดินทางกันเองสักครั้ง เชียงใหม่คือเมืองที่ฉันและเพื่อนๆ เลือก และ “วัดเจ็ดยอด” โบราณสถานเก่าแก่นอกเมืองเชียงใหม่คือสถานที่ที่เราประทับใจเหมือนเจอรักแรก เวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ความทรงจำและความรู้สึกในครั้งนั้นคือภาพจำที่แสนประทับใจภาพเดียวกันที่ฉันมองเห็นในปัจจุบัน และทุกๆ วัน

พระวิหารวัดเจ็ดยอด ศิลปะชิ้นเอกของช่างล้านนา

บริเวณย่านชุมชนวัดเจ็ดยอด ตำบลช้างเผือก ขอบเมืองเชียงใหม่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นที่ตั้งของวัดชื่อเดียวกัน ที่นี่ไม่ใช่เพียงแค่วัด (ซึ่งมีอยู่มากมายทั่วทุกมุมเมือง) แต่คือโบราณสถานเก่าแก่อายุกว่า ๕๐๐ ปี ไม่ใช่แค่เพียงพระอารามคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ แต่มีความสำคัญระดับประเทศ ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ และการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มาดูกันนะคะว่าวัดนี้มีดีอย่างไร?

“วัดโพธารามมหาวิหาร พระอารามหลวง” ชาวเมืองเชียงใหม่เรียกกันติดปากว่า “วัดเจ็ดยอด” ตามลักษณะของเจดีย์ทรงวิหาร ซึ่งมียอดพระเจดีย์ประดับบนหลังคาเจ็ดองค์ เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๗ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช แห่งราชวงศ์มังราย ถ้ายังนึกความเก่าแก่ไม่ออกจะลองเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็ราวๆ รัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ย้อนไปราวๆ ๕๖๐ ปีมาแล้ว

พระวิหารองค์นี้ มีพระพุทธรูปประดิษฐานภายใน เข้าไปกราบนมัสการขอพรได้

แรกเริ่มเดิมทีวัดแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองพระพุทธศาสนาอายุครบ ๒๐๐๐ ปี โดยจำลองโบราณสถานพุทธคยาในอินเดียมาไว้ให้ชาวเชียงใหม่ได้สักการบูชา ในครั้งนั้นพระองค์โปรดให้ข้าราชบริพารไปตัดเอากิ่งต้นโพธิ์จากวัดป่าแดงหลวง ซึ่งเป็นหน่อพระศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากศรีลังกา มาปลูกไว้ด้านหลังพระวิหารแห่งนี้ด้วย ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ พระอารามแห่งนี้มีบทบาทสำคัญอีกครั้ง เป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลก และเป็นครั้งแรกที่กระทำขึ้นในแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยปัจจุบันด้วย

ภาพมุมกว้างลายปูนปั้นที่งามที่สุดในแผ่นดินล้านนา

ทราบความเป็นมาและแง่มุมสำคัญของพระอารามหลวงแห่งนี้กันแล้ว ลองมาเดินเที่ยวชมภายในบริเวณวัดกันดูบ้าง “พระวิหารเจ็ดยอด” คือหัวใจสำคัญของวัด โบราณสถานแห่งนี้คือเจดีย์ทรงวิหาร ไม่ใช่เจดีย์อย่างที่คนไทยคุ้นเคย เพราะด้านหน้าเจาะเป็นประตู สามารถเข้าไปสักการะพระประธานภายในได้ ว่ากันพระพระเจ้าติโลกราชตั้งใจจะจำลองพระวิหารพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากประเทศอินเดีย แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันของนักประวัติศาสตร์ว่า พระองค์ทรงส่งช่างไปลอกแบบมาจากอินเดียจริง หรือได้รับอิทธิพลจากเจดีย์วิหารจากอาณาจักรพุกามซึ่งรุ่งเรืองอยู่ทางทิศตะวันตก ในประเทศพม่าปัจจุบัน ซึ่งเป็นอู่อารยธรรมที่เก่าแก่และมีอิทธิพลต่อศิลปะไทยต่อเนื่องกันมาหลายสมัย


เทวดาแบบยืน และแบบนั่ง :)


อย่างไรก็ดี พระวิหารแห่งนี้ถือเป็นพุทธศิลป์ชิ้นเอกของล้านนา และชิ้นหนึ่งของไทย ตัวอาคารก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูน ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นเทวดา ว่ากันว่าเป็นลายปูนปั้นฝีมือช่างล้านนาที่งดงามที่สุด ถือเป็นเพชรน้ำเอกของประติมากรรมล้านนาเลยทีเดียว


เจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา บรรจุพระอัฐิพระเจ้าติโลกราช


ต้นศรีมหาโพธิ์ด้านหลังพระวิหาร เป็นตัวแทนของต้นศรีมหาโพธิ์จากสถานที่ตรัสรู้ ด้านหลังพระวิหาร และต้นศรีมหาโพธิ์นี้ หลายคนที่ไปกราบไหว้เป็นครั้งแรกอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงมีรูปปั้นงูตั้งเรียงอยู่มากมาย เนื่องจากพระวิหารแห่งนี้เป็นองค์จำลองของพระวิหารพุทธคยา ซึ่งตามความเชื่องของชาวพม่า และชาวล้านนาคือพระธาตุประจำปีมะเส็ง พระวิหารองค์นี้จึงเป็นที่สักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวมะเส็ง ที่ไม่สามารถเดินทางไปนมัสการพระธาตุเจดีย์ที่อินเดียได้

นอกจากพระวิหารแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญในพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าอีก ๖ แห่ง ถูกจำลองไว้บริเวณโดยรอบ ตามพระดำริของพระเจ้าติโลกราชที่ปรารถนาจะจำลองสัตตมหาสถาน (สถานที่สำคัญทั้ง ๗ แห่งในพุทธประวัติ ซึ่งพระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขหลังจากตรัสรู้ แห่งละ ๑ สัปดาห์) ได้แก่ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ อนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ อชปาลนิโคธร มุจลินท์ และราชายตน

บรรยากาศร่มรื่นในบริเวณวัด

ไม่ไกลจากบริเวณพระวิหารนัก มีเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนาขนาดกลางองค์หนึ่ง มีรูปทรงงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนาแท้ พระเจดีย์องค์นี้คือที่บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าติโลกราช ผู้สร้างคุณูปการนานัปการแด่เมืองเชียงใหม่ ว่ากันว่าพระเจดีย์องค์นี้มีรูปทรงเดียวกับเจดีย์ใหญ่ที่วัดเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ (หากพระเจดีย์ไม่พังลงมาเสียก่อน)


บริเวณวัดร่มรื่น และเป็นสัปปายะ การเดินทางมาเยี่ยมชม หรือสักการะพระเจดีย์ก็ไม่ยากเย็นนัก หากเดินทางมาจากนอกเมือง วิ่งตามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ วัดเจ็ดยอดตั้งอยู่ก่อนถึงแยกรินคำประมาณ ๕๐๐ เมตร ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงใหม่ หรือหากมาจากภายในเมือง ขับรถมาตามถนนห้วยแก้ว แยกขวาที่แยกรินคำ ใครมีโอกาสมาเยือนเชียงใหม่ ก็ลองมาเยี่ยมชมวัดนี้กันดูนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903
191  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำ สถานที่ท่องเที่ยว ในตัวเมืองเชียงใหม่ / ชิวๆ ยามค่ำ รับลมหนาว @ THE HARBOUR เมื่อ: ธันวาคม 26, 2013, 10:18:41 PM
ชิวๆ ยามค่ำ รับลมหนาว @ THE HARBOUR

อากาศหนาวเวียนมาเยือนอีกครั้ง ปีนี้หนาวจัด และยาวนานกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา คงจะถูกใจหลายๆ คนที่ชอบความหนาว หรือปรารถนาให้หน้าหนาวนั้นหนาวสมชื่อเสียที อีกไม่กี่วันปีใหม่ก็กำลังมาเยือน หลายๆ คนที่พลัดถิ่นมาเชียงใหม่ก็คงจะมีแผนกลับไปเยี่ยมครอบครัว ส่วนอีกหลายคนหรือหลายครอบครัวก็กำลังมุ่งหน้ามาเชียงใหม่ เพื่อสัมผัสอากาศเย็นให้ฉ่ำอกฉ่ำใจ

The Habour ยามค่ำ @ ลานเบียร์

สำหรับคนเชียงใหม่ หลังจากคร่ำเคร่งกับการทำงานมาทั้งวัน ก็คงอยากหาสถานที่ผ่อนคลายหลังเลิกงานกันเสียหน่อย และสำหรับคนที่มาเที่ยวเชียงใหม่ แล้วอยากใช้เวลาชิวๆ ยามเย็นเดินเล่น (หลังจากออกไปตระเวนผจญภัยในป่าเขาลำเนาห้วย หรือชมวัดวาอารามจนจุใจแล้ว) ช็อปปิ้ง เลือกหาของขวัญสำหรับตัวเอง หรือคนพิเศษเก๋ๆ หรือหาของกินอร่อยๆ เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ วันนี้เลดี้ ดาริกา ขอพาเพื่อนๆ ไปใช้เวลาหน้าหนาวกับแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่เปิดมาได้ไม่นานอง

ประติมากรรมเก๋ไก๋สไตล์กรีกโรมัน

“The Harbour” แหล่งช็อปฯ แหล่งกินบนถนนห้วยแก้ว ห่างจากสี่แยกภูคำเพียง 300 เมตร หรือใครมาจากในเมือง มุ่งหน้ามาตามถนนห้วยแก้ว ในทิศทางมุ่งสู่ดอยสุเทพ เลยแยกรินคำ (ทางเข้าถนนนิมมานเหมินทร์ ย่านไนท์ไลฟ์เลื่องชื่อของเมืองเชียงใหม่) ในระยะทางใกล้เคียงกัน (ประมาณ 500 เมตร) บนเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ ถูกเนรมิตให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบคอมมิวนิตี้ มอล ศูนย์รวมร้านค้า และร้านอาหารต่างๆ มากมาย เปิดตัวเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ร้านรวงต่างๆ เรียงราย รอนักช็อปฯ

อาคารร้านค้าต่างๆ ที่นี้ทาด้วยสีสันฉูดฉาดสะใจวัยรุ่น ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ให้บรรยากาศหมู่บ้านท่าเรือแบบอังกฤษ ที่มีประภาคารสีขาวเด่นเป็นสง่า แลนด์มาร์คของ The Harbour ด้านหน้ามีลานน้ำพุขนาดย่อม จัดเป็นลานเบียร์ให้ผู้ที่ชอบสังสรรค์นัดเพื่อนๆ มานั่งจิบเบียร์กันยามเย็นด้วยกัน

หาอะไรอร่อยๆ กินเป็นมื้อเย็นดีนะ?


เมื่อเดินเข้ามาภายในจะพบกับร้านค้าต่างๆ มากมาย ทั้งร้านขายเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้จิปาถะ ให้สาวๆ ช็อปปิ้งกันอย่างสะใจ ส่วนคนที่ชอบของอร่อยๆ ก็มีร้านอาหารขึ้นชื่อต่างๆ รวบรวมไว้ที่นี้ให้ได้ลิ้มรสเช่นกัน อาทิ ตำแหลของคุณเอ ศุภชัย Oishi Ramen Sushi Box Catnip ภัตตาคารซั่งไห่หลง ฯลฯ (นอกจากนี้ยังมีธนาคาร และสถาบันเสริมความงามตั้งอยู่ด้วย เรียกว่าครบครันจริงๆ) ด้านหลังมีคาร์แคร์อยู่ เรียกได้ว่าถ้าไม่รู้ว่าจะไปล้างรถที่ไหนก็ขับมาล้างที่นี่ก็ได้ ระหว่างรอก็เดินเล่นหาอะไรกินรองท้อง เผลอๆ อาจจะได้ของติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย ส่วนเพื่อนๆ ที่กลัวว่าจะไม่มีที่จอดรถ เลิกกังวลได้เลย เพราะด้านข้างโครงการมีที่จอดรถขนาดใหญ่ จอดได้เป็นร้อยคันทีเดียว

บรรยากาศเท่ๆ สำหรับคนรักการถ่ายรูป


ด้านหลังเป็นลานกิจกรรมสำหรับจัดงานตามเทศกาล และโอกาสต่างๆ นอกจากร้านรวงที่กล่าวมาแล้วนั้น โอกาสดีๆ อาจมีตลาดนัด ให้พ่อค้าแม่ค้าทั้งมืออาชีพ และสมัครเล่น นำสินค้าน่ารักๆ ดีไซน์เก๋ๆ ออกมาประชันโฉมกัน ให้นักช็อปได้เลือกซื้อหากันอย่างเพลิดเพลิน ยิ่งอากาศเย็นสบายอย่างนี้ด้วยแล้ว คงเดินกันได้ไม่รู้เบื่อเลยทีเดียว

ลานกิจกรรมด้านใน


ชิวๆ ยามเย็นในแบบที่คุณชอบ และเลือกได้เอง

เป็นยังไงบ้างคะกับ “The Harbour” แหล่งท่องเที่ยวยามค่ำของวัยมันส์ที่นำเสนอครั้งนี้ นอกจากจะมาช็อป กิน เที่ยวแล้ว ใครที่ชอบถ่ายรูปน่าจะถูกใจ เพราะอาคารสีสันสวยงาม รูปปั้นสไตล์กรีก และการตกแต่งแบบหมู่บ้านท่าเรือเก๋ไก๋ อาจทำให้นางแบบมือสมัครเล่นทั้งหลายแอคชั่นฉายเดี่ยว หรือถ่ายคู่กับหวานใจได้อย่างจุใจ ในวันส่งท้ายปีเช่นนี้ เพื่อนๆ ที่ผ่านไปผ่านมาแถวนี้ หรือนักท่องเที่ยวท่านไหนที่มาเยือนเชียงใหม่ ก็อย่าลืมลองแวะมาเที่ยวดู ให้ The Harbour เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  912
192  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / ชมจิตกรรมฝาผนังฝีมือชาวไทยใหญ่ที่ “วัดบวกครกหลวง” เมื่อ: ธันวาคม 23, 2013, 06:28:17 PM
ชมจิตกรรมฝาผนังฝีมือชาวไทยใหญ่ที่ “วัดบวกครกหลวง”

บรรยากาศมุมกว้างภายในวัด เงียบสงบดี :)

จิตรกรรมฝาผนังนับเป็นศิลปกรรมอีกแขนงหนึ่งที่มักปรากฏอยู่ในปูชนียสถานสำคัญภายในวัดต่างๆ ซึ่งในแต่ละแห่งจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป วัดบวกครกหลวง เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร ผลงานของช่างชาวไทยใหญ่ที่ในปัจจุบันหาชมได้ยาก วันนี้จะขอพาเพื่อนๆ ไปเยี่ยมชมวัดแห่งนี้กันค่ะ

วิหารเก่าแก่ของวัด

วัดบวกครกหลวง ตั้งอยู่บนถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง ต.ท่าศาลา อ.เมืองเชียงใหม่ เดิมชื่อว่า วัดม่วงคำ และวัดบวกครก ความเป็นมาของวัดไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ในอดีตที่หมู่บ้านบวกครกหลวงแห่งนี้ เคยเกิดเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพง เจ้าผู้ปกครองเชียงใหม่สมัยนั้นจึงนำข้าวออกมาจากท้องพระคลัง และขุดหลุมขนาดใหญ่ เพื่อตำข้าวแจกจ่ายให้กับประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับชื่อวัด คำว่า "บวก" แปลว่า หลุม และ “ครก” สื่อความหมายถึงภาชนะตำข้าว ส่วนคำว่า "หลวง" แปลว่า ใหญ่ ดังนั้นชื่อวัดบวกครกหลวงจึงหมายถึง “ภาชนะตำข้าวขนาดใหญ่” นั่นเอง

วิหารล้านนาแห่งนี้มีอายุถึง 300 ปี

หน้าบรรณแบบม้าต่างไหม สวยงามมากค่ะ

พระวิหารศิลปะล้านนาอายุประมาณ 300 ปี เป็นอาคารปูนผสมไม้ หลังคาจั่วซ้อนกันสามชั้น ประดับด้วยกระเบื้องดินเผา ด้านหน้าเป็นมุขยื่นออกมาคลุมบันได หน้าบรรณเป็นไม้แกะสลักเป็นช่องฝาปะกนรูปพันธุ์พฤกษาทาด้วยสีทอง ด้านบนสุดมีจารึกบอกปี 2468 แสดงถึงปีที่บูรณะ ราวบันไดเป็นประติมากรรมมกรคายนาค มีจุดเด่นตรงที่ปากนาคเป็นปากนกแก้ว หรือปากครุฑ ประตูทางเข้าเป็นไม้แกะสลักรูปทวารบาลปิดทองอย่างงดงาม


เมื่อเข้ามาภายในพระวิหารจะเห็นโครงสร้างม้าต่างไหมตามแบบฉบับเดิมของล้านนา ด้านในสุดประดิษฐานพระประธาน ด้านข้างมีธรรมาสน์เก่าแก่ทรงปราสาทสวยงาม และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างชาวไทยใหญ่ (ช่างเงี้ยว) เขียนเรื่องพุทธประวัติ และทศชาติชาดกจำนวน 14 ห้อง เป็นภาพเขียนที่มีสีสันจัดจ้าน ซึ่งเป็นศิลปะที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน

เจดีย์ประธานขนาดเล็กตั้งอยู่บนลานด้านหลังพระวิหาร

เจดีย์ทรงปราสาทอยู่ด้านหลังพระวิหารบุด้วยทองจังโก้ทั้งองค์ บริเวณฐานรอบเจดีย์มีรูปนักษัตร 12 ราศี มีซุ้มพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน องค์เจดีย์เป็นทรงระฆัง ส่วนยอดเป็นฉัตร 7 ชั้น


พระอุโบสถ และลวดลายบนกรอบประตู


พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนา เป็นอาคารปูนทั้งหลัง หน้าบันตลอดจนตัวเสาประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา

หอไตร อยู่ทางทิศเหนือของพระวิหาร เป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้แบบเรียบง่าย บริเวณหน้าบรรณและหน้าต่างประดับด้วยลายไม้แกะสลักพันธุ์พฤกษา


พอไตรครึ่งอิฐครึ่งไม้ ลวดลายหน้าบรรณสวยงามมาก

วัดบวกครกหลวงจึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความโดดเด่นทั้งทางด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษา และเป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่นับวันหาชมได้ยากขึ้นทุกที ปัจจุบันกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนวัดบวกครกหลวงเป็นโบราณสถาน ตามประกาศขึ้นทะเบียนและ กำหนดขอบเขต ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 41 ลงวันที่ 14 เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2523

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  916
193  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดป่าเป้า อีกหนึ่งพระอารามไทใหญ่ อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ เมื่อ: ธันวาคม 08, 2013, 11:12:51 PM
วัดป่าเป้า อีกหนึ่งพระอารามไทใหญ่ อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่


ถนนรอบคูเมืองด้านนอกฝั่งทิศเหนือ เป็นเส้นทางที่ฉันขับผ่านเป็นประจำ  ทุกครั้งที่ขับรถผ่านย่านนี้สายตาของฉันมักจะสะดุดกับยอดฉัตรของเจดีย์องค์หนึ่ง ที่ปรากฏให้เห็นโดดเด่นเหนือหลังคาอาคารพาณิชย์และบ้านเรือน ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว กับภาพยอดฉัตรของเจดีย์มากมากที่กระจายอยู่ทั่วเมืองเชียงใหม่ แต่ลักษณะของยอดฉัตรแบบพม่ามักทำให้ฉันตื่นเต้น และสนใจใคร่รู้เสมอ เพราะมันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมอื่นที่ผสมผสานกลายเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่อย่างลงตัว เมื่อลองขับรถเข้าไปดู เบื้องหน้าปรากฏเจดีย์สีดำศิลปะแบบพม่า ยอดฉัตรสีทองอร่าม เจดีย์ประธานของวัดป่าเป้า

เจดีย์ประธานศิลปะพม่า

วัดป่าเป้า ตั้งอยู่ทิศเหนือ ด้านนอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ ใกล้แจ่งศรีภูมิ ติดกับถนนมณีนพรัตน์ ในอดีตบริเวณวัดนี้เคยเป็นที่ตั้งของหอคำของพระเจ้ากือนา กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย แต่หลังจากพระองค์สวรรคต หอคำแห่งนี้ถูกทิ้งให้รกร้าง และทรุดโทรมลงตามการเวลา ต้นไม้หลายชนิดขึ้นเต็มไปหมด โดยเฉพาะ ไม้ต้นเป้า ยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากกว่าต้นไม้ชนิดอื่น ต่อมาชาวเงี้ยว (ไทใหญ่) ได้ขอพระราชทานอนุญาตจากเจ้าผู้ครองนคร เพื่อเข้าไปแพ้วถางป่าไม้เป้าที่หอคำ และสร้างวัดขึ้น ตั้งชื่อวัดตามต้นเป้า ซึ่งมีอยู่มากภายในบริเวณวัดว่า “วัดป่าเป้า” พระอารามแห่งนี้จึงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทใหญ่ ตามเชื้อชาติของผู้สร้าง



ลักษณธอาคารสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ หลังคาเครื่องไม้ แกะสลักอ่อนช้อยมาก

ในสมัยพระเจ้ากาวิละ มีนโยบายทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง จึงได้กวาดต้อนคนจากเมืองต่างๆ มาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ หนึ่งในนั้นมีชาวเงี้ยว (ไต หรือไทใหญ่) เข้ามาอาศัยพึ่งพระบารมีอยู่ด้วย ต่อมาในสมัยพ่อเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ ได้กวาดต้อนผู้คนทางบ้านแม่กะตอนเข้ามาในนครเชียงใหม่อีกระรอก ครั้งนี้มีครอบครัวของแม่เฒ่าต้าว พื้นเพตั้งเดิมเป็นคนเมืองลางเคอ (ชาวเงี้ยว) มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณประตูช้างเผือก มีบุตรธิดาทั้งหมด 6 ในเวลาต่อมาลูกสาวคนหนึ่งของแม่เฒ่า ชื่อแม่นางไหล ได้เป็นสนมของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ มียศเป็น "หม่อมบัวไหล"

ต่อมาหม่อมบัวไหลร่วมมือกับชาวไทยใหญ่ที่อพยพมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ ขออนุญาตพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เพื่อบูรณะซ่อมแซมวัดป่าเป้าครั้งใหญ่ พระองค์ก็ทรงเห็นชอบด้วย และมีการบูรณะขึ้นในปี 2426

พระอุโบสถของวัด มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพม่า โครงสร้างอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ หลังคาจั่วซ้อนขึ้นไปสามชั้น แต่ละชั้นประดับไม้แกะสลักฝีมือประณีตสวยงาม ชั้นล่างเป็นอาคารปูน กรอบหน้าต่างประดับปูนปั้นรูปซุ้มโค้งศิลปะตะวันตก ลายใบไม้ ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมาก มีต้นไม้ขึ้นรกเรื้อ น่าเสียดาย


ปูนปั้นลายพรรณพฤกษา อิทธิพลแบบตะวันตก ประดับกรอบหน้าต่าง

คันธกุฎี สร้างขึ้นเมื่อปี 2468 อาคารก่ออิฐถือปูนศิลปะพม่าผสมตะวันตก ผนังปูนปั้นมีซุ้มโค้งแบบตะวันตก หลังคาเครื่องไม้ทรงปราสาทหกชั้นศิลปะพม่า ปัจจุบันอาคารหลังนี้เป็นพื้นที่จัดแสดงพระพุทธรูปโบราณ

พระธาตุเจดีย์ศิลปะพม่า เป็นเจดีย์ประธานของวัดป่าเป้า ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ มีเจดีย์และสิงห์ประจำทั้งสี่มุม และซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ ตามรูปแบบศิลปะพม่าที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองเชียงใหม่ เชิงบันไดประดับปูนปั้นมกร องค์เจดีย์ประดับด้วยกระจกสี มีปูนปั้นรูปยักษ์อยู่โดยรอบ ยอดฉัตรสีทอง ตามแบบพม่า-ไทใหญ่



นอกจากวัดนี้จะเป็นพระอารามเก่าแก่แล้ว ยังเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวไทใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ เรื่อยมาจนถึงสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เอกลักษณ์แบบพม่าโดดเด่น สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของชาวไทใหญ่ที่เคยรุ่งเรื่องในยุคหนึ่ง ประเพณีปอยส่างลอง หรือการบวชลูกแก้วของชาวไทใหญ่เป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของวัด จะจัดขึ้นเป็นประจำในเดือนเมษายนของทุกปี

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903

194  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำ น้ำตกที่น่าเที่ยวของเชียงใหม่ / วนอุทยานน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี กรุ่นกลิ่นธรรมชาติ หลังฝนซา เมื่อ: ธันวาคม 08, 2013, 08:44:43 PM
วนอุทยานน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี กรุ่นกลิ่นธรรมชาติ หลังฝนซา

เมื่อฝนเบาบางลง สายลมเย็นๆ เริ่มพัดเข้ามา เป็นสัญญาณให้เริ่มออกเดินทางอีกครั้ง ปลายทางของเราในครั้งนี้ไม่ไกลจากเชียงใหม่มากนัก มุ่งหน้าตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเชียงใหม่ วนอุทยานน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี ตำบลแม่หอพระ ในเขตอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

ผู้คนใช้เวลาพักผ่อนวันหยุดบริเวณวนอุทยาน

ลมอ่อนๆ พัดเอาไอเย็น และกลิ่นต้นไม้ใบหญ้าปะทะใบหน้าตลอดทางที่รถมอเตอร์ไซค์พุ่งทะยานไป กลิ่นไอของการเดินทางช่างหอมหวานและสดชื่น หลังจากที่ห่างหายไปนาน เพราะฝนตกหนักตลอดช่วงฤดูฝน ทิวทัศน์ข้างทางเปลี่ยนจากเมืองใหญ่ กลายเป็นชุมชนขนาดกลาง จากชุมชนกลายเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่อิงแอบอยู่กับป่าเขาลำเนาไพร สลับกับเขตป่า และภูเขาสุดลูกหูลูกตา งดงามจนบรรยายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้

เดินลงไปตามทางนี้เพื่อชมน้ำตกแต่ละชั้น

น้ำตกชั้นที่สอง น้ำน้อยไปหน่อย :)

เราขับรถไปเรื่อยๆ ตามถนนสายเชียงใหม่-พร้าว ผ่านอำเภอสันทราย มุ่งหน้าไปทางอำเภอพร้าว จนกระทั่งถึงหมู่บ้านป่าไม้ เลยปางไม้ไปเล็กน้อย ด้านขวามือมีป้ายใหญ่บอกทางเข้าสู่เขตวนอุทยาน จากทางเข้าเราผ่านป่าสักร่มครึ้ม มีฝนตกโปรยปราย ใบสักหนาทึบ แสงสว่างส่องผ่านมาไม่ถึงพื้นดิน ถนนค่อนข้างแคบ ผ่านมาไม่ไกล เราก็ถึงที่ทำการวนอุทยาน วนอุทยานได้รับการดูแลอย่างดีจากกรมอุทยานฯ พื้นที่โดยรอบสะอาด ร่มรื่น มีไม้ยืนต้นมากมายให้ร่มเงาไปทั่วบริเวณ นักท่องเที่ยวมีไม่มากนัก


บรรยากาศบริเวณวนอุืทยาน ร่มรื่น และเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจ


น้ำตกบัวตอง เป็นน้ำตกขนาดเล็ก เกิดจากธารหินปูน ความสูง ๑๐๐ เมตร มีทั้งหมด ๓ ชั้น มีต้นกำเนิดจากตาน้ำที่เรียกว่า “น้ำพุเจ็ดสี” สายน้ำนี้จะไหลผ่านเขตป่าอนุรักษ์สู่ลำห้วยแม่ป๋อน


น้ำตกชั้นล่างสุด สงบ และร่มรื่นมาก :)


เรามุ่งตรงไปยังตัวน้ำตก จากลานกว้างบริเวณหน้าที่ทำการ เดินลงบันไดไปเล็กน้อย ผ่านป่าไผ่ เลาะเลียบลงไปถึงน้ำตกชั้นที่ ๓ ซึ่งอยู่ล่างสุด ชั้นนี้มีคนน้อย สงบกว่าทุกชั้น ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้ ในยามไม่มีผู้คนเสียงนกร้อง และเสียงน้ำกระทบหิน ทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากชีวิตจำเจ จำเจจนบางครั้งเราลืมไปแล้วว่ามนุษย์ไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด และไม่ใช่เจ้าของโลกใบนี้ เราเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ส่วนเล็กๆ ของโลกทั้งใบ


บรรยากาศชั้นสองมุมกว้าง อีกสักรูป


เดินกลับขึ้นมาบนลานพักหน้าที่ทำการ ฝนหยุดตก ผู้คนหนาตามากขึ้น หลายคนพาลูกๆ หลานๆ มาพักผ่อนด้วย บางคนมาแบบคู่รัก หรือกลุ่มเพื่อนพร้อมอาหารตะกร้าใหญ่ ปูเสื่อชมทิวเขาที่ทอดตัวยาวอยู่ด้านหน้า ใกล้ๆ บริเวณนั้นมีธารน้ำใสจนมองเห็นเบื้องล่าง เป็นลำธารน้ำจากตาน้ำที่เรียกว่า “น้ำพุเจ็ดสี” ที่ได้ชื่อเรียกแบบนี้ว่ากันว่าน้ำบริเวณน้ำพุทำปฏิกิริยากับแสงเกิดมองเห็นเป็นเจ็ดสี ตามสีของสายรุ้งนั่นเอง

มีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมาชาติด้วยค่ะ สนใจติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานก่อนนะ

นอกจากนี้ภายในเขตวนอุทยานยังมีหลายสิ่งที่น่าสนใจเช่นทางเดินศึกษาธรรมชาติ หากใครอยากลองเดินป่าชมพรรณไม้ต่างๆ ศึกษาระบบนิเวศก็ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อนด้วย ที่ทำการอุทยานมีที่พักไว้คอยให้บริการด้วย หรือใครอยากสนุกสนานเฮฮาตามประสาก๊วนเพื่อนๆ ก็มาตั้งแคมป์ได้ด้วย


จุดชมวิวบริเวณลานด้านบนน้ำตก เป็นลานกว้างนั่งพักผ่อนได้ด้วยค่ะ


จากเชียงใหม่เพียงไม่ไกล ขับรถมอเตอร์ไซค์มาก็ไม่ยาก เพราะทางไม่ชัน และไม่ลำบาก ก็มีโอกาสสัมผัสธรรมชาติสวยๆ ใครอยากจะไปต่อที่อื่นในเขตอำเภอแม่แตงก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายที่ เช่น เขื่อนแม่งัดฯ และวัดบ้านเด่นสะหรีศรีเมืองแกน เป็นต้น

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  913
195  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดพระธาตุสุนันทา นมัสการเกศาธาตุท่ามกลางบรรยากาศชนบทเมืองเหนือ เมื่อ: พฤศจิกายน 08, 2013, 10:54:13 PM
วัดพระธาตุสุนันทา นมัสการเกศาธาตุท่ามกลางบรรยากาศชนบทเมืองเหนือ

ทริปสั้นๆ ไปเช้าเย็นกลับรับลมหนาวมุ่งสู่เขตอำเภอแม่แตงของเรา ทำให้เรามีโอกาสทำความรู้จักกับวัดเล็กๆ ริมเส้นทางจากเมืองเชียงใหม่ สู่อำเภอพร้าว ท่ามกลางบรรยากาศชนบทที่เงียบสงบ อากาศเย็นสบายๆ และสายฝนโปรดปรายเล็กน้อย พระอารามบนเนินเขาเล็กๆ แห่งนี้มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ ผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นอย่างแยกไม่ออก เรากำลังกล่าวถึง “วัดพระธาตุสุนันทา” พระอารามในชนบทที่ตั้งอยู่บนดอยแม่หอพระ เขตตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

วิหารหลวงทรงล้านนาประยุกต์ บริเวณลานวัด

คนเฒ่าคนแก่ในท้องถิ่น เล่าความเป็นมาของพระอาราม และพระธาตุแห่งนี้สืบกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นตำนาน ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จมายังบริเวณดอยแม่หอพระแห่งนี้ เมื่อชาวบ้านทราบข่าวการเสด็จมาของพระองค์ จึงช่วยกันสร้างที่ประทับ และถวายภัตตาหาร พระองค์จึงทรงปลงเกศาหนึ่งเส้น มอบให้กับขุนอ้ายบ่อทอง ขุนอาจแก้ ขุนจอมใจเด็ดเป็นการตอบแทน ขุนทั้งสามจึงขุดอุโมงค์กว้างห้าวาลึกเจ็ดวา แล้วฝังพระเกศาธาตุไว้ พร้อมทั้งกล่าวขออนุญาตต่อพระพุทธเจ้า เพื่อสร้างเป็นพระเจดีย์ครอบไว้ พระองค์ตรัสปฏิเสธ มีถ้อยความว่า “ดูก่อนท่านทั้งหลายที่มาร่วมกันในคราวนี้ ภายหน้าหลังกูตถาคตเข้าสู่นิพพานแล้วสองพันปลาย จะได้สร้างพระเจดีย์ที่แห่งนี้ สถานที่แห่งนี้ก็จะเจริญรุ่งเรืองสืบไป”

พระธาตุสุนันทา เชื่อกันว่าบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า

หลังจากพระเจ้ากรุงอังวะยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ชาวบ้านรู้ข่าวจึงพากันหนีออกนอกเมือง สตรีคนหนึ่งชื่อว่า “สุนันทา” มีสามีเป็นทหารรักษาการเมืองหน้าด่าน นำแก้วแหวนเงินทองมาฝังไว้ใกล้กับอุโมงค์ที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้าบนดอยแห่งนี้ แล้วจึงใช้ก้อนหินก่อขึ้นเป็นทรงเจดีย์เหนือหลุมทั้งสอง ชาวบ้านย่านนี้เห็นว่านางไม่มีสามี จึงเข้าใจผิดว่านางเป็นหม้าย เจดีย์องค์นั้นจึงถูกเรียกขายว่า “พระธาตุแม่หม้าย” ตามความเข้าใจของชาวบ้านสืบมาชั่วระยะหนึ่ง


พระธาตุแห่งนี้ได้รับการบูรณะต่อเนื่องกันมาทุกยุคสมัย มีการบรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ และแก้ว แหวน เงิน ทอง ของมีค่าลงไปเพิ่มเติม จนกระทั่งในปี 2536 เมื่อมีการศึกษาประวัติการสร้างพระเจดีย์อย่างละเอียด จึงพบว่าพระธาตุแห่งนี้แท้ที่จริงแล้วไม่ได้สร้างโดยแม่หม้าย จึงเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ เป็น “พระธาตุสุนันทา” มาจนถึงปัจจุบัน

จากองค์พระธาตุ มองเห็นทิวทัศน์ชนบท สงบ สวยงามมาก

พระวิหารหลวงนันทเจติยาภิบาล (โต) ตั้งตระหง่านอยู่บนลานวัด เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ หน้าบันมีประติมากรรมพระยืนปางอุ้มบาตร มีพระอัครสาวกขนาบอยู่ทั้งสองด้าน ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษา บริเวณผนังด้านหน้าประดับด้วยกระจกแวววับสวยงาม ด้านในประดิษฐานนพระพุทธรูปพระเจ้าตนหลวง (หลวงพ่อโต) เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในละแวกนี้


พระธาตุสุนันทา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระวิหาร เป็นเจดีย์สีทองขนาดเล็ก ศิลปะแบบพม่า มีฉัตรอยู่ทั้งสี่มุม ฐานสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์มีลวดลายดอกไม้ประดับอยู่ จากบริเวณพระธาตุนี้ สามารถมองเห็นทิวทัศน์หมู่บ้านชนบท ทุ่งนา และภูเขาของบริเวณตำบลแม่หอพระได้ด้วย


ศาลาแม่นางสุนันทา เป็นอาคารปูนอยู่ใกล้กับพระวิหาร ประดิษฐานรูปปั้นพระนางจามเทวี พระนางสุนันทา และพระนางสามผิว

พระอุโบสถหลวงพ่อทันใจ อยู่บริเวณลานกว้างทางตะวันออกของวัด เป็นอาคารปูนศิลปะล้านนาประยุกต์ ด้านในประดิษฐานพระพุทธนันทศากยมุนีศรีอริยเมตตรัย หรือพระเจ้าทันใจทรงเครื่องแบบล้านนา


ศาลเจ้าแม่สุนันทา

หากใครมีโอกาสผ่านไปมาบนเส้นทางเชียงใหม่-พร้าว เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทาง จะแวะพักระหว่างทางก่อน บรรยากาศสบายๆ แบบชนบทเมืองเหนือที่นี่สามารถช่วยผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยของคุณอย่างไม่ต้องสงสัย หรือใครจะเจาะจงมากราบนมัสการพระเกศาธาตุท่ามกลางบรรยากาศแบบธรรมชาติสุดๆ นอกจากจะอิ่มบุญกันแล้ว ก็คงจะอิ่มเอมกับอากาศบริสุทธิ์สดชื่นแบบที่หาไม่ได้แล้วในเมืองใหญ่

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  917
196  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดมหาวัน และวัดเชตวัน เยียมเยือนพระอารามแฝด ชมความงามสถาปัตยกรรมแบบพม่า เมื่อ: ตุลาคม 19, 2013, 01:24:06 AM
วัดมหาวัน และวัดเชตวัน เยียมเยือนพระอารามแฝด ชมความงามสถาปัตยกรรมแบบพม่า

ก่อนที่พระเจ้ากาวิละจะประกาศเอกราชให้แก่เมืองเชียงใหม่ เมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนาแห่งนี้อยู่ภายใต้การปกครองของพม่าต่อเนื่องมากว่า ๒๐๐ ปี จึงไม่น่าแปลกใจหากปรากฏอิทธิพลของศิลปะพม่าอยู่ทั่วไปในแว่นแคว้นล้านนา ในแง่หนึ่งอาจดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ช่วงเวลานั้นสร้างความเจ็บปวด และบาดแผลให้ผู้คน แต่ประวัติศาสตร์ก็เป็นเพียงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านไปแล้ว ศึกษาเรียนรู้ แต่ไม่ควรยึดโยงไว้ให้เจ็บปวดใจจนก้าวต่อไปข้างหน้าไม่ได้ หากมองอีกมุมหนึ่ง อิทธิพลของศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบพม่าที่หลงเหลือเป็นมรดกจากอดีตเหล่านี้ ทำให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางของงานศิลป์หลากหลายรูปแบบ จากหลายสำนัก ผสมกลมกลื่น เสริมสรรค์ปั้นแต่ง เป็นส่วนช่วยสร้างรูปแบบเฉพาะให้กับศิลปะล้านนาอีกทางหนึ่ง

ทางเข้าวัดมหาวัน บนถนนท่าแพ

สถานที่หลายแห่ง โดยเฉพาะวัดวาอารามต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ ยังหลงเหลืองานศิลป์แบบพม่าให้ผู้สนได้เยี่ยมชม อาทิเช่น วัดแสนฝาง วัดป่าเป้า  วัดบุพพาราม เป็นต้น ครั้งนี้จึงขอนำเสนอพระอารามอีกสองแห่งที่ปรากฏอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบพม่า-ไทใหญ่เข้มข้น สวยงาม ควรค่าไปเยี่ยมชม

วัดเชตวัน บนถนนท่าแพ

เป็นที่น่าสังเกตว่าพระอารามที่ก่อสร้างด้วยศิลปะแบบพม่าส่วนใหญ่ล้วนตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ ย่านถนนท่าแพ เนื่องจากในอดีตบริเวณนี้เป็นถิ่นฐานของชาวพม่า และชาวไทใหญ่ที่อพยพเข้ามาทำอาชีพสัมปทานป่าไม้ “วัดมหาวัน” และ “วัดเชตวัน” เป็นพระอารามที่มีสถาปัตยกรรมแบบพม่าอันเป็นเอกลักษณ์อีกสองแห่งที่ตั้งอยู่บนถนนสายเศรษฐกิจสำคัญของเมืองเชียงใหม่สายนี้

กำแพงสีขาวปลอด มีซุ้มประตูโขงเอกลักษณ์ของล้านนา บอกขอบเขตของวัดมหาวัน ตั้งอยู่ริมถนนท่าแพ นักท่องเที่ยวสังเกตเห็นได้ง่ายจากยอดเจดีย์สีขาวรูปทรงแบบพม่า

วิหารหลวง วัดมหาวัน

พระอารามแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด แต่ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ หลังจากที่พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชให้แก่เมืองเชียงใหม่ ด้วยแรงศรัทธาของชาวพม่า และไทใหญ่ในย่านนี้ ทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ภายในวัดนั้นมีกลิ่นอายของพม่า และล้านนาผสมผสานกันอย่างลงตัว

บานประตู และผนังด้านนอกพระวิหารตกแต่งอย่างประณีต ละเอียดอ่อน

พระวิหารหลวงของวัดงดงามวิจิตรเป็นพิเศษ การตกแต่งตัวอาคารละเอียดอ่อน และประณีต หน้าบันแบบดั้งเดิมเผยให้เห็นโครงสร้างหลังคาแบบม้าต่างไหม สัณฐานอาคารอ่อนช้อย ซ้อนลดหลั่นกันสองชั้นตามแบบศิลปะล้านนา กรอบบานประตูเป็นไม้แกะสลักปิดทอง เล่าเรื่องราวพระพุทธประวัติ ด้านในประดิษฐาน “พระเจ้าโต” พระพุทธรูปแบบพม่า สร้างขึ้นพร้อมๆ กับวิหาร

พระอุโบสถ วัดมหาวัน


ถัดจากพระวิหารเล็กน้อยเป็นพระอุโบสถสีขาวสร้างใหม่ ศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ มีเสมาหินปักอยู่โดยรอบ ด้านหลังพระวิหาร และพระอุโบสถคือพระเจดีย์สีขาว รูปทรงพม่า-ไทใหญ่ ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมซ้อนกันสามชั้น ที่มุมของฐานชั้นแรก และชั้นที่สามประดับด้วยเจดีย์ขนาดเล็ก ส่วนชั้นที่สองนั้นเป็นรูปปั้นสิงห์แบบพม่า จากองค์ระฆังถึงปล้องไฉนมีลวดลายนูนต่ำสวยงาม ด้านบนสุดประดับยอดฉัตรสีทองแบบพม่า ที่ฐานล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วมีซุ้มพระประดิษฐานอยู่ พร้อมกับสิงห์เฝ้าเจดีย์ทั้งสี่มุม

พระเจดีย์ศิลปะพม่า วัดมหาวัน

หลายคนเดินเล่นบนถนนท่าแพ ชมวัดมหาวันกันจนเพลิดเพลินแล้ว อย่าลืมเดินไปฝั่งตรงข้าม แวะเวียนเยียมชม “วัดเชตวัน” ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระอารามแฝดกับวัดมหาวันแห่งนี้ แต่หลายๆ คนมักเลยผ่านไป เพราะที่ตั้งของวัดถูกบดบังด้วยอาคารพาณิชย์  เดินข้ามถนนจากฝั่งวัดมหาวันมายังฝังตรงข้าม เดินเข้าไปในซอยเพียงเล็กน้อยก็ถึงแล้ว

บรรยากาศภายในวัดเชตวัน

หมู่พระประธานภายในวิหาร

วัดเชตวันตั้งชื่อตามพระอารามเชตวัน ในอินเดียเมื่อครั้งพุทธกาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ยาวนานที่สุด แต่ชื่อ “เชตวัน” ในที่นี้หมายถึงพระอารามที่ตั้งอยู่ในป่าเล็ก ตรงข้ามกับ “มหาวัน” วัดฝาแฝดที่มีความหมายถึงพระอารามในป่าใหญ่ ตามตำนานเล่าว่าพระอารามสองแห่งนี้สร้างขึ้นพร้อมกัน โดยวัดมหาวันผู้เป็นพี่สร้าง และวัดเชตวันผู้เป็นน้องสร้าง

พระวิหาร วัดเชตวัน

ภาพจิตรกรรมด้านในพระวิหาร

พระวิหารของวัดเป็นพระวิหารศิลปะล้านนาประยุกต์ หลังใหญ่ ผนังวิหารด้านนอกและด้านในเขียนภาพพุทธประวัติ พระประธานเป็นแบบพม่า แต่ไฮไลท์ของวัดนี้คือพระเจดีย์ศิลปะแบบพม่า เรียงรายกัน ๓ องค์ ด้านข้างวิหารทางทิศตะวันตก เจดีย์ประธานองค์กลางสูงกว่าอีกสององค์เล็กน้อย ด้านหน้ามีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป เจดีย์ทั้งสามองค์ องค์ระฆังถึงยอดเจดีย์ประดับด้วยกระจกสี ลวดลายสวย เหมือนกันเจดีย์ทั้งสามองค์

พระเจดีย์ศิลปะทั้งสามองค์ ด้านข้างพระวิหาร

เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากการบันทึกคำบอกเล่าของใครต่อใคร บ้างเรียนรู้จากการฟังคำบอกเล่าแบบปากต่อปาก จนกลายเป็นตำนาน ในเมืองเชียงใหม่ เรามีทางเลือกในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และวิถีของคนเมืองมากกว่านั้น เพราะเมืองแห่งนี้ยังมีสถาปัตยกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของเมืองได้ดียิ่ง เพราะนี่คือวัตถุพยานที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้คนผ่านวันเวลามานานนับร้อยๆ ปี

เรื่องและภาพดดย เลดี้ ดาริกา  901
197  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดหมื่นเงินกอง ไหว้พระขอพร เงินทองไหลมาเทมา เมื่อ: ตุลาคม 16, 2013, 01:00:11 AM
วัดหมื่นเงินกอง ไหว้พระขอพร เงินทองไหลมาเทมา

ความเชื่อเรื่อง “ไหว้พระเก้าวัด” กำลังเป็นกระแสที่นิยมกันมากในหมู่คนไทย ที่เชื่อเรื่องการเสริมสร้างบารมี และความเป็นสิริมงคล ตามคติที่ว่าเลขเก้าเป็นเลขมหามงคล เสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าในชีวิต  แต่ละวัดที่ผู้คนนิยมไปทำบุญไหว้พระกันนั้นก็ล้วนแต่เป็นวัดที่มีชื่อมงคล เชียงใหม่เองในฐานะเมืองท่องเที่ยวสำคัญ และศูนย์กลางศาสนาของล้านนาก็หนีไม่พ้นกระแสทัวร์บุญนี้ “กิจกรรมไหว้พระเก้าวัด” เสริมสิริมงคล จึงเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่ดึงเม็ดเงินมาสู่เมืองเชียงใหม่มากมาย ปัจจัยหนึ่งในนั้นก็คือเมืองแห่งนี้มีวัดวาอารามที่มีนามอันเป็นมงคลอยู่มากนั่นเอง

เสียดายตอนไปกำลังซ่อมแซมอยู่ แต่ตอนนี้น่าจะเสร็จแล้ว สวยงาม :)

“วัดหมื่นเงินกอง” เป็นหนึ่งในวัดเป้าหมายของการทัวร์บุญ เนื่องจากมีชื่อที่เป็นมงคลมาก เชื่อกันว่าใครมีกาสมาทำบุญที่นี่ก็จะมีเงินทองไหลมาเทมา ทำมาค้าขาย ประกอบอาชีพเจริญรุ่งเรือง

บรรยากาศทั่วๆ ไปภายในวัด


พระอารามแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกำแพงเมืองด้านใน ใกล้ถนนสามล้าน สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา หรือท้าวสองแสนนา กษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งนครเชียงใหม่ ตำนานการสร้างวัดเล่าว่ามีมหาอำมาตย์นามว่า “หมื่นเงินกอง” ดำรงตำแหน่งขุนคลังเป็นผู้สร้าง อำมาตย์คนนี้เดิมชื่อว่า “หนานเมธัง” เป็นเพียงชาวนาธรรมดาๆ เขาและภรรยาขยันทำมาหากินจนร่ำรวย นำเงินที่หามาได้มาสร้างวัดเมธัง และวัดช่างลาน  ต่อมาเมื่อได้รับตำแหน่งจากพระเจ้ากือนาให้เป็น “มหาเสนาอำมาตย์หมื่นเงินกอง” จึงสร้างวัดหมื่นเงินกองขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ต่อบรรดาศักดิ์ที่ตนเองได้รับ

ภายในพระวิหารของวัดหมื่นเงินกอง

ภายในบริเวณวัดมีสถานที่น่าสนใจหลายแห่งให้เราได้เยี่ยมชม พระวิหารโบราณเป็นหนึ่งในสถานที่ที่น่าสนใจวิหารหลังนี้เป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ศิลปะแบบล้านนา หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปพรรณพฤกษาประดับด้วยกระจกสี ภายในประดิษฐานพระประธานศิลปะล้านนา ผนังและเสาทาสีแดงชาดทั้งหลัง เขียนลวดลายด้วยสีทอง ดูแลวิจิตรแปลกตามาก

พระอุโบสถวัดหมื่นเงินกอง

เจดีย์ภายในวัด เป็นสถาปัตยกรรมผสมระหว่างศรีสัชนาลัยกับล้านนา ฐานสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์ทรงปราสาทสีทอง แต่ละด้านมีซุ้มจรนำประดิษฐานพระพุทธรูป มีสิงห์เฝ้าอยู่ทั้งสี่มุมขององค์เจดีย์ มีเจดีย์ 12 ราศีอยู่โดยรอบ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้แล้ว

เจดีย์ประธานวัดหมื่นเงินกอง

วิหารพระนอนประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ศิลปะแบบล้านนาประทับอยู่บนฐานบัว ฝาผนังเขียนเรื่องพระเวสสันดอนชาดก ชาวบ้านในละแวกนั้นเชื่อว่าใครที่สูญทรัพย์สินเงินทองให้มาตั้งจิตอธิษฐานที่วิหารพระนอนแห่งนี้จะได้ทรัพย์กลับคืนมา ใครที่มีปัญหาเรื่องเงินทอง ลองเข้ามาตั้งจิตอธิษฐานที่นี่กันดู เรื่องจริงหรือไม่ยังไม่ต้องพูดถึง ที่แน่ๆ อย่างน้อยๆ ก็เป็นกำลังใจให้เราคิดหาวิธีแก้ปัญหาได้เมื่อจิตใจสงบ

วิหารพระนอน

พื้นที่ภายในบริเวณวัดไม่กว้างนัก ส่วนหนึ่งเป็นวัด อีกส่วนหนึ่งเป็นบริเวณโรงเรียนเทศบาลวัดหมื่นเงินกอง ใครแวะเวียนไปเยี่ยมวัดนี้อาจได้เห็นภาพน่ารักๆ ของเด็กๆ ชั้นประถมศึกษาตอนต้นที่กำลังเรียนรู้วิชาพระพุทธศาสนากับพระสงฆ์อย่างตั้งใจ เห็นแล้วชื่นใจจริงๆ ทำให้รู้สึกว่านี่คือข้อดีหนึ่งของโรงเรียนวัด ทำให้เด็กๆ มีโอกาสเรียนรู้ธรรมะจากพระ และใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามากขึ้น


เด็กๆ กำลังเรียนรู้ธรรมะจากพระ

ชื่อ “หมื่นเงินกอง” มีความหมายเป็นมงคลตามตัว หมายถึงเงินทองที่กองดั่งภูเขา เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความเชื่อเรื่องโชคลาภนั้นยังอยู่คู่สังคมไทย หากใครเชื่อเกี่ยวกับวัดนามมงคล ก็น่าจะหาโอกาสมากราบพระทำบุญที่วัดนี้กันดูนะคะ แต่อย่าเอาแต่ขอพรกันอย่างเดียว เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คงไม่อยากช่วยเหลือคนที่เอาแต่ขอพร โดยไม่พยายามทำอะไร แบบนี้แทนที่เงินทองจะไหลมาเทมา จะกลับทำให้ยิ่งไหลไปเทไปไหนหมดก็ไม่รู้นะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  918
198  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดพวกหงส์ และวัดเชียงโฉม แกะรอยเจดีย์ปล่อง เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมล้านนา เมื่อ: ตุลาคม 15, 2013, 10:59:14 PM
วัดพวกหงส์ และวัดเชียงโฉม แกะรอยเจดีย์ปล่อง เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมล้านนา

หลังจากที่มีโอกาสนำเสนอเรื่องราวของวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) และพระบรมธาตุเจดีย์รูปทรงพิเศษที่มีอยู่เพียงสามแห่งในเมืองเชียงใหม่ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “เจดีย์ปล่อง” ครั้งนี้จึงขอติดตามเรื่องราวของเจดีย์ปล่องอีกสามองค์ที่เหลือมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อใครเกิดสนใจที่มาที่ไปของเจดีย์ลักษณะนี้บ้างจะได้ตามไปชมกันถูกค่ะ

นอกจากวัดร่ำเปิง นอกเมืองเชียงใหม่แล้ว ยังปรากฏเจดีย์ทรงกลมมีองค์เจดีย์ซ้อนกันเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นประดับด้วยซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปอีก ๒ แห่ง คือที่วัดพวกหงษ์ และวัดเชียงโฉม



วัดพวกหงษ์ ตั้งอยู่บนถนนสามล้าน ต.พระสิงห์ ทางเข้าวัดเป็นซอยลึกประมาณ ๕๐ เมตร ตรงข้ามกับซอยสามล้าน ๗ วันนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย ชื่อของวัดขึ้นต้นด้วยคำว่า “พวก” มาจากตำแหน่งของขุนนางระดับล่าง ซึ่งเป็นหัวหน้าช่างในกลุ่ม “พวกหงษ์” ต่อมาวัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐา ในปี พ.ศ. ๒๓๖๔

เจดีย์ศรีพวกหงษ์ วัดพวกหงษ์

“เจดีย์ศรีพวกหงษ์” คือชื่อของเจดีย์ประธานของวัด หนึ่งในเจดีย์รูปทรงพิเศษสามแห่ง ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๐ ในสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานชั้นล่างสุดเป็นสี่เหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นฐานทรงกลมซ้อนลดหลั่นกัน ๓ ชั้น ส่วนองค์เจดีย์เป็นทรงกลมซ้อนขึ้นไป ๗ ชั้น แต่ละชั้นจะมีซุ้มพระพุทธรูปอยู่รอบองค์เจดีย์ รวมทั้งสิ้น ๕๒ ซุ้ม

พระวิหารวัดพวกหงษ์


แม้ว่าเจดีย์ศรีพวกหงส์จะมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับเจดีย์ปล่องที่วัดร่ำเปิง และวัดเชียงโฉม แต่ลักษณะพิเศษของเจดีย์องค์นี้ที่มีฐานกว้าง และสัดส่วนป้อมกว่าอีกสองแห่ง ในขณะที่เจดีย์วัดร่ำเปิงมีลักษณะสูงชะลูดกว่า บริเวณฐานกลมชั้นสองของเจดีย์มีช่องเจาะไว้โดยรอบ บรรจุประติมากรรมทรงกลมคล้ายหม้อน้ำปูรณฆฏะตามความเชื่อของชาวล้านนา

นอกจากพระเจดีย์ที่โดดเด่นแล้ว ภายในวัดยังมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ พระวิหารทรงล้านนา ซึ่งเป็นอาคารปูน บันไดทางขึ้นมีสิงห์สองตน หน้าบันลายพรรณพฤกษาสีทองตัดกับพื้นสีแดง ด้านในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย สร้างขึ้นในปี 2036 โดยพ่อครูเป็นเจ้าและพ่อหมื่นหมอจันทร์ ในสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไว้ให้ผู้มาเยือนศักการะด้วย

เจดีย์ปล่อง วัดเชียงโฉม

อีกวัดหนึ่งคือ “วัดเชียงโฉม” ตั้งอยู่ที่ซอยเจดีย์ปล่อง เยื้องประตูฝั่งตะวันตกของมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่  สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช  ในอดีตบริเวณดังกล่าวคือ “เวียงเชียงโฉม” เป็นเมืองหน้าด่านของเชียงใหม่ ชาวบ้านในละแวกนี้เรียกว่า “วัดเจดีย์ปล่อง” ตามลักษณะขององค์เจดีย์

ในสมัยพระเจ้ากาวิละ พระองค์ทรงฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ โดยการกวาดต้อนชาวบ้านจากเมืองสิบสองปันนามาสร้างฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ แต่วัดเชียงโฉมไม่ได้รับการฟื้นฟู เนื่องจากเน้นฟื้นฟูวัดที่ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองชั้นในเป็นสำคัญ วัดเชียงโฉมจึงกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ชาวบ้านในชุมชนเชียงโฉมได้ร่วมแรงร่วมใจกันบูรณะวัดขึ้นใหม่อีกครั้ง ปัจจุบันเป็นวัดที่มีพระจำพรรษาอยู่


เจดีย์ปล่องวัดเชียงโฉม อยู่บริเวณทางเข้าวัดด้านทิศเหนือ สถาปัตยกรรมศิลปะล้านนาระยะที่ ๓ ลักษณะโดยรวมส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากเจดีย์ที่วัดอีกสองแห่งดังกล่าวมาข้างต้น คือมีฐานสี่เหลี่ยม ๒ ชั้นเหนือขึ้นมาเป็นฐานทรงกลมอีก ๓ ชั้น องค์เจดีย์เป็นทรงกลมซ้อนกัน ๗ ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่โดยรอบ เจดีย์ปล่ององค์นี้มีลักษณะสูงชะลูดใกล้เคียงกับเจดีย์วัดร่ำเปิง แต่อ้วนป้อมกว่าเล็กน้อย ยังคงสภาพเดิมไว้ได้ดีพอสมควร

พระวิหาร วัดเชียงโฉม

พระวิหาร เป็นอาคารที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของวัด เป็นอาคารปูนสองชั้นแบบล้านนาร่วมสมัย บันไดมีมกรคายนาค หน้าบันเป็นลายปูนปั้นพระพุทธรูป เทวดา ธรรมจักร และสัตว์ในวรรณคดี ภายในพระวิหารประดิษฐานพระเจ้าแข้งคมจำลอง หล่อด้วยโลหะปิดทองหนัก ๘๐๐ กิโลกรัม หน้าตักกว้าง ๗๒ นิ้ว ถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตฯ ทรงมีพระชนมายุ ๗๒ พรรษา ผนังมีประติมากรรมพระเกจิอาจารย์ที่สำคัญๆ ในภาคเหนือ


คติสำคัญในการสร้างเจดีย์ที่มีซุ้มพระโดยรอบนี้ คาดว่าสืบทอดมาจากการสร้างเจดีย์สมัยพระนางจามเทวีแห่งหริภุญชัย ซึ่งดั้งเดิมนั้นเป็นทรงสี่เหลี่ยมอย่างวัดเจดีย์เหลี่ยมที่เวียงกุมกาม และเมืองลำพูน ส่วนเจดีย์ทรงกลมนั้นได้อิทธิพลมาจากเจดีย์ทรงลังกาแบบสุโขทัยนั่นเอง

เรื่องราวของคติการสร้างเจดีย์ยังมีอีกมากใครที่สนใจก็ลองศึกษากันเพิ่มเติม จริงๆ แล้วในแว่นแคว้นล้านนา โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่นี้น่าจะมีเจดีย์ลักษณะนี้อีกมาก แต่กาลเวลาก็ทำให้อีกหลายๆ แห่งพังทลายและสูญหายไป เหลือเพียงสามแห่งนี้ที่ยังคงอยู่ และควรค่าอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา


เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  904




199  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดป่าแดด ชมพระวิหารล้านนาสมัยใหม่ที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดในเมืองเชียงใหม่ เมื่อ: ตุลาคม 15, 2013, 12:14:06 AM
วัดป่าแดด ชมพระวิหารล้านนาสมัยใหม่ที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดในเมืองเชียงใหม่


การขับรถเล่น ตระเวนไปตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่เป็นกิจกรรมยามว่างชั้นดีอย่างหนึ่ง เมื่อหลายวันก่อนมีโอกาสขับมอเตอร์ไซค์เล่นยามเย็นไปตามถนนเลียบแม่น้ำปิง สะดุดตากับป้ายทางเข้าวัดป่าแดด ซึ่งขับรถผ่านหลายครั้ง ประกอบกับชื่อเสียงว่าเป็นวัดที่คนในวงการบันเทิงนิยมมาทำบุญกันมาก ชวนให้อยากทำความรู้จัก และแวะเข้าไปเยี่ยมชมสักครั้ง

พระวิหารของวัด สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ร่วมสมัย

วัดป่าแดด ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลป่าแดด ใกล้กับถนนเรียบแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก ห่างออกไปจากเมืองเชียงใหม่ทางทิศใต้พอสมควร บรรยากาศชนบทนอกเมืองยามตะวันคล้อย ทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากความวุ่นวายและรถติดในเมืองได้ดี เดิมวัดนี้ชื่อว่า “วัดดอนแก้ว” สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๔๕ และบูรณะใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ บริเวณวัดไม่ใหญ่นัก แต่เนื่องด้วยพระครูปลัดพยุงศักดิ์ ธีรธัมโม เจ้าอาวาสของวันเป็นที่เคารพนับถือของนักธุรกิจจากกรุงเทพฯ และดารานักแสดงพอสมควร โดยเฉพาะผู้บริหาร และดาราช่อง 3 จึงไม่น่าแปลกใจที่วัดนี้ได้รับการดูแลดี และดูใหม่ เพราะได้รับการอุปถัมภ์จากคนกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง


กรอบประตูวิหารลวดลายสวยงามวิจิตร

พระวิหาร เป็นอาคารปูนทั้งหลัง ศิลปะแบบล้านนา มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ประดับด้วยลายปูนปั้นสีทองอ่อนช้อยสวยงาม หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นลายพรรณพฤกษาสีทอง ซุ้มประตูและหน้าต่างศิลปะล้านนาประดับด้วยลายปูนปั้นสีทองเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าพระวิหารหลังนี้เป็นสีทองอร่ามไปทั่วแทบทุกตารางนิ้วเลยก็ว่าได้ เมื่อเข้ามาภายในจะพบพระประธาน เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา มีกู่สีทองสองหลัง ผนังวิหารเขียนภาพจิตกรรมเกี่ยวกับพระประธานของวัดสำคัญๆ ในภาคเหนือ และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นชื่อ พลตำรวจโท ประเสริฐ คุณทิพย์รัตน์ เหตระกูล นักธุรกิจชื่อดัง อยู่ที่หน้าบันด้านนอกพระวิหาร และมีชื่อของคุณประวิทย์ คุณอรัญญา มาลีนนท์ ผู้บริหารช่อง 3 อยู่ภายในพระวิหารด้วย ซึ่งทั้งสองตระกูลคือผู้อุปถัมภ์การสร้างพระวิหารหลังนี้

พระประธานภายในพระวิหาร

จิตรกรรมฝาผนังด้านในวิหาร

พระเจดีย์ อยู่ด้านหลังพระวิหาร ฐานสี่เหลี่ยมยกสูง มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิทั้งสี่ด้าน มีเจดีย์ขนาดเล็ก 8 องค์ ประดับอยู่บนฐานเจดีย์ องค์เจดีย์เป็นทรงระฆังสีทอง ส่วนยอดประดับด้วยฉัตรเจ็ดชั้น

เจดีย์ประธานด้านหลังพระวิหาร

วิหารพระพิฆเนศ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระวิหารหลวง เป็นอาคารปูนยกพื้นสูงสถาปัตยกรรมล้านนา  ภายในทาสีแดงชาดทั้งหมด ประดิษฐานพระพิฆเนศ สร้างจากโลหะสัมฤทธิ์ รมดำ มีสี่พระกร ทรงวัชระ บ่วง งา และถ้วยขนม

วิหารพระพิฆเนศ

องค์พระพิฆเนศด้านในพระวิหาร

หอไตร อยู่ทางทิศตะวันออกของวิหารพระพิฆเนศ ติดกับกำแพงด้านหน้าของวัด เป็นอาคารปูนสองชั้น หน้าบันเป็นลายไม้ประดับด้วยกระจกสี ชั้นสองมีระเบียงไม้ ปัจจุบันไม่สามารถเข้าไปชมภายในได้

หอไตรภายในวัด

แม้ว่าวัดนี้ไม่ได้มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์เมื่อเทียบกับวัดสำคัญแห่งอื่นๆ ในเมืองเชียงใหม่ อาคารส่วนใหญ่ภายในวัดสร้างขึ้นใหม่ แต่ก็เป็นวัดอีกหนึ่งที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม และละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะพระวิหารหลวง ซึ่งสวยงามไม่แพ้วิหารหลังอื่นๆ ในเชียงใหม่ เพื่อนๆ คนไหนสนใจขับรถเล่นยามเย็นผ่านมาแถวนี้ก็อย่าลืมแวะเข้ามาชมวัดป่าแดดกันนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  914

200  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดบุพพาราม เยี่ยมชมพระอารามตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ เมื่อ: ตุลาคม 11, 2013, 12:29:08 AM
วัดบุพพาราม เยี่ยมชมพระอารามตะวันออกของเมืองเชียงใหม่

ในช่วงที่ผ่านมาปริมาณนักท่องเที่ยวชาวจีนในเมืองเชียงใหม่เพิ่มขึ้นเร็วมาก เดินไปทางไหนก็มีแต่ชาวจีน แม้กระทั่งป้ายตามสถานที่สำคัญต่างๆ ก็ยังต้องมีคำอธิบายภาษาจีนกำกับไว้ ปรากฏการณ์เชียงใหม่ฟีเวอร์นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากภาพยนตร์คอมเมอดี้ “Lost in Thailand” ที่สร้างรายได้ถล่มทลายในประเทศจีน เอาชนะหนังฮอลลีวู้ดไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เรื่องราวในภาพยนตร์มีฉากถ่ายทำหลักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่นี่เอง

หอมณเฑียรธรรม landmark สำคัญของวัดบุพพาราม

มณฑปทรงไทยประยุกต์ ก่ออิฐถือปูนสองชั้น หรือ “หอมณเฑียรธรรม” ของ “วัดบุพพาราม” เป็นหนึ่งในฉากสำคัญของเรื่อง วัดแห่งนี้หลายคนที่ผ่านไปมาบนถนนท่าแพ คงมีโอกาสเห็นอยู่บ่อยๆ แต่ด้วยสถาปัตยกรรมประยุกต์ร่วมสมัย ไม่เก่าแก่เหมือนอีกหลายๆ วัด หลายคนคงผ่านเลยไป เพราะมองเป็นวัดธรรมดาๆ ทั้งๆ ที่จริงแล้ววัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ มีเรื่องราว และความเป็นมาน่าสนใจมาก ในบทความนี้จึงขออาสาพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับวัดแห่งนี้กันให้มากขึ้น

พระพุทธรูปสำคัญ ประดิษฐานบนชั้นสองของหอมณเฑียรธรรม

วัดบุพพาราม ตั้งอยู่บนถนนท่าแพ ย่านเศรษฐกิจสำคัญของเมืองเชียงใหม่ และเป็นศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ  หลายคนเข้าใจผิดว่าวัดนี้ชื่อ “บุปผาราม” เพราะเป็นชื่อที่คุ้นเคย และเรียกง่ายกว่า ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วชื่อดั่งกล่าวเป็นชื่อทางการของวัดสวนดอก “บุปผา” แปลว่า “ดอกไม้” นั่นเอง ส่วนคำว่า “บุพพาราม” แปลว่า “ทิศตะวันออก” เพราะว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเมือง

ภาพจิตรกรรมภายในชั้นแรกของหอมณเฑียรธรรม

วัดแห่งนี้เดิมชื่อว่า “วัดเม็ง” หรือ “วัดอุปปาใน” เป็นวัดเก่าแก่ มีฐานะเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดชัยมงคล (วัดอุปปานอก) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๔๐ ในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ ๑๒ แห่งราชวงศ์มังราย ทรงโปรดเกล้าให้สร้างวัดแห่งนี้บริเวณพระราชอุทยานเก่าของพระเจ้าติโลกราช และตั้งชื่อว่า วัดบุพพาราม แปลว่า พระอารามตะวันออก

ชั้นแรกของหอมณเฑียรธรรมเป็นพื้นที่จัดแสดงโบราณวัตถุของวัด

หอมณเฑียรธรรม มณฑปทรงปราสาทจตุรมุขล้านนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นอาคารปูนสองชั้น ประดับด้วยลายปูนปั้นสีทองทั่วทั้งหลัง หน้าบันมีตราพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดับอยู่ ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสามองค์ สององค์แกะสลักด้วยไม้สัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชพระราชทานนามว่า “พระพุทธบุพพาภิมงคล ภปร.” หันหน้าไปทางทิศเหนือ  “พระพุทธนเรศร์สักชัยไพรีพินาศ” หรือพระองค์ขาวหันไปทางทิศตะวันออก ส่วนอีกองค์เป็นพระแก้วหยกหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ชั้นล่างจัดเป็นห้องสมุดศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา รวบรวมวัตถุโบราณต่างๆ เช่น คัมภีร์โบราณ รูปโบราณ หีบธรรม และสัตภัณฑ์เอาไว้ให้ชม

วิหารโบราณหลังเล็ก ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ

พระวิหารหลังเล็ก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๒ โดยเจ้าหลวงธรรมลังกา เป็นอาคารไม้ทั้งหลัง สถาปัตยกรรมแบบล้านนาดั้งเดิม หน้าบันแกะสลักเป็นรูปดอกไม้ต่างๆ มีเทพพนมประจำอยู่สามองค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธไชยลาภประสิทธิโชค พระวิหารหลังนี้เป็นของเก่าแก่ รูปทรง สัดส่วนสง่างามตามแบบล้านนาดั้งเดิมปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติแล้ว ถือเป็นจุดหนึ่งที่ผู้มาเยือนที่ชื่นชอบศิลปะโบราณไม่ควรพลาดชม

ลวดลายหน้าบันของวิหารหลังเล็ก ประดับกระจกละเอียดปราณีต

พระวิหารหลังใหญ่ ตั้งอยู่ข้างๆ พระวิหารหลังเล็ก สร้างขึ้นสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ หรือเจ้าชีวิตอ้าว เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ อาคารก่ออิฐถือปูนศิลปะล้านนา ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นแบบพม่า ภายในประดิษฐานพระพุทธมหาปฏิมากร ผนังด้านในมีภาพเขียนสีฝุ่นเล่าเรื่องพุทธประวัติ และพระมหาเวสสันดรชาดก

ซุ้มพระของเจดีย์ประธานของวัด


พระเจดีย์ประธานของวัด ตั้งอยู่ด้านหลังวิหารทั้งสองหลัง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๕๓ โดยพระเมืองแก้ว สมัยเดียวกับการสร้างวิหารหลังเล็ก ฐานกว้างประมาณ 6 เมตร สูงประมาณ 15 เมตร เดิมปิดด้วยทองทั้งองค์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ หลวงโยนวิจิตรบูรณะพระเจดีย์ แล้วเปลี่ยนรูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่า ขยายฐานให้กว้าง 19 เมตร สูง 22.5 เมตร มีเจดีย์องค์เล็กทั้งสี่มุม องค์เจดีย์ประดับด้วยกระจกสี ส่วนยอดมีฉัตรสีทองขนาดใหญ่


ได้ทำความรู้จักกับวัดบุพพาราม หนึ่งในจุดสำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมมาเยือน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน must list สำหรับเมืองเชียงใหม่เลยก็ว่าได้

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903
201  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดนันทาราม นมัสการพระเกศาธาตุ กราบหลวงพ่อเพชร เมื่อ: ตุลาคม 10, 2013, 01:43:54 AM
วัดนันทาราม นมัสการพระเกศาธาตุ กราบหลวงพ่อเพชร

“วัดนันทาราม” ตั้งอยู่บนถนนนันทาราม ซอย ๕ ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ ใกล้กับถนนวัวลาย ถนนคนเดินวันเสาร์ที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่

ตำนานเล่าว่าเมื่อครั้งพุทธกาล หลังจากออกพรรษา พระพุทธเจ้าเสด็จเทศนาธรรมแก่ชาวบ้าน และเหล่าเทวดาทั้งหลาย จนกระทั่งมาถึงเมืองเชียงใหม่ พระองค์ทรงมอบพระเกศา ๑ พระองค์ (ผม ๑ เส้น) ให้กับแต่ละวัดที่เสด็จไปเยือน เมื่อเสด็จไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ทรงผ่านกระท่อมหลังหนึ่งในสวนป่าไผ่ของนายธะมิระ นายธะมิระจึงอารธนาพระพุทธองค์ให้พักค้างแรมในกระท่อมของตน และถวายภัตตาหารเช้า หลังจากฉันท์ภัตตาหารเสร็จ พระพุทธองค์ทำนายว่า  “ฐานะที่นี้จะเป็นอารามอันหนึ่งในภายภาคหน้า  ได้ชื่อว่านันทาราม หรือนันตาราม” แล้วพระองค์จึงทรงปลงพระเกศามอบให้นายธะมิระ ๑ เส้น นายธะมิระจึงสร้างเจดีย์ขึ้นบริเวณป่าไผ่แห่งนี้ และกลายเป็นวัดนันทารามในปัจจุบัน

วัดนันทาราม ตำบลหายยา อำเภอเมืองฯ จ.เชียงใหม่

วัดนันทารามเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต และได้รับสถาปนาเป็นหนึ่งในพระอารามสำคัญทั้ง ๘ แห่งของเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยวัดสังฆาราม (วัดเชียงมั่นใน) วัดมหาโพธาราม  (วัดเจ็ดยอด) วัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวง) วัดตโปทาราม  (วัดร่ำเปิง) วัดบุพผาราม (วัดสวนดอก)  วัดฑีฆาวะวัสสาราม (วัดเชียงยืน) วัดบุพพาราม  และวัดนันทาราม ชาวนครเชียงใหม่ยกย่องให้วัดทั้ง ๘ แห่งข้างต้นเป็นวัดสำคัญประจำเมืองสืบต่อกันมา แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสำคัญในอย่างไร สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่เก็บพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า

วิหารหลวงวัดนันทาราม

บานประตูพระวิหารลวดลายสวยงาม

พระวิหารของวัดสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๕ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนศิลปกรรมล้านนาบริสุทธิ์ หน้าบันประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษา รูปแบบสถาปัตยกรรมโดดเด่น แตกต่างจากวิหารแห่งอื่นๆ กล่าวคือบริเวณราวบันไดซ้ายขวาจะมีพญาครุฑ บิดแขนโอบรอบอกพญานาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงพระยศในฐานะเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ โดยกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระบรมธาตุเจ้า วัดนันทาราม บรรจุพระเกศาธาตุ

พระบรมธาตุเจ้าเจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าเจดีย์ศิลปะล้านนาอิทธิพลสุโขทัย ตามประวัติของวัดบันทึกไว้ว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๖๒ พระเจ้าปนัดดาธิราชฯ ทรงดำริสร้างพระเจดีย์สูง 15 เมตร กว้าง 10 เมตร ครอบพระเจดีย์องค์เดิมที่สูงเพียง 1.5 เมตร ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๔ มีการปิดทองพระธาตุใหม่ และหล่อฉัตรจัตุรมุขทั้งสี่ด้าน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้หุ้มแผ่นทองเหลือง จำนวน 1,304 แผ่นรอบองค์พระเจดีย์ ล่าสุดคือการบูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๔๒

วิหารหลวงพ่อเพชร

หลวงพ่อเพชรภายในวิหาร

วิหารหลวงพ่อเพชร อยู่ทางทิศใต้ของพระบรมธาตุเจ้าเจดีย์ เป็นอาคารปูนศิลปะล้านนา ประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อเพชร” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัด อายุมากกว่า ๕๐๐ ปี

หอธรรมหรือหอพระไตรปิฎก ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารทางด้านทิศเหนือข้างๆ กับพระบรมธาตุเจดีย์เจ้า เป็นอาคารปูนสองชั้นศิลปะล้านนาประยุกต์ สีขาว โดดเด่น สวยงาม แต่ละด้านมีซุ้มประตู แต่ละมุมประดับด้วยปูนปั้นรูปนางอัปสรสามตน

หอธรรม หรือ หอพระไตรปิฎก


พระพุทธไสยาสน์โบราณองค์ใหญ่ ไม่พบหลักฐานการสร้าง หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ทอดพระเนตรองค์พระเจดีย์

วัดนันทารามเป็นวัดสำคัญตั้งแต่อดีต เคยเป็นสถานที่ถวายเพลิงพระบรมศพพระเจ้ายอดเชียงราย และเคยเป็นที่พำนักของพระราชาคณะชั้นสมเด็จ คือ สมเด็จพระธรรมกิตติ เป็นศูนย์ศึกษาศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆ บริเวณวัดกว้างขวาง รมรื่น มีต้นไม้สูงใหญ่มาก เหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชนรอบๆ วัด ตอนเย็นมีกิจกรรมออกกำลังกายมากมาย เช่น การเต้นแอโรบิก วิ่งจ๊อกกิ้ง ฟุตบอล เป็นต้น

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  911
202  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำ สถานที่ท่องเที่ยว ในตัวเมืองเชียงใหม่ / “ศาลเจ้าปุงเถ่ากง” สถาปัตยกรรมจีนริมแม่น้ำปิง ศาลเจ้าแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ เมื่อ: ตุลาคม 09, 2013, 01:16:56 AM
“ศาลเจ้าปุงเถ่ากง” สถาปัตยกรรมจีนริมแม่น้ำปิง ศาลเจ้าแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่

ช่วงเวลาสิบวันจากนี้ หลายๆ คนคงงดเว้นเนื้อสัตว์ และหันมารับประทานอาหารที่เน้นปรุงจากผัก และแป้งกันมากขึ้น ว่ากันว่าเพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ งดเว้นการเบียดเบียนชีวิตสัตว์แม้จะเป็นเพียงเวลาสั้นๆ ก็ยังดี แม้ว่าประเพณีถือศีลกินเจนี้จะมีต้นกำนิดมาจากพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมาในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนจากรุ่นสู่รุ่น แต่ในปัจจุบันก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา หรือความเชื่อ ที่เกริ่นมาเสียยาวนั้น เพียงเพื่อจะบอกว่าบทความนี้เลดี้ ดาริกาขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเล็กๆ ในเมืองเชียงใหม่ แต่น่าสนใจ และช่างเข้ากับบรรยากาศช่วงเทศกาลถือศีลกินเจเป็นอย่างยิ่ง

แทนบูชาเทพเจ้าของจีนภายในอาคารศาลเจ้า

ใครมีโอกาสผ่านไปมาแถวตลาดต้นลำไย ถนนเลียบแม่น้ำปิง คงจะสะดุดตากับสถาปัตยกรรมแบบจีนสีสันฉูดฉาด ที่นั่นคือ “ศาลเจ้าปุงเถ่ากง” เป็นสัญลักษณ์สำคัญของชุมชนชาวจีนในเมืองเชียงใหม่ กล่าวได้ว่าเป็นศาลเจ้าตามความเชื่อแบบจีนแห่งแรกของเมือง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๑๒๙ ปีก่อน

ผนังภายในอาคารที่ประดับด้วยประติมากรรมนูนสูงรูปเสือ

ผนังภายในอาคารที่ประดับด้วยประติมากรรมนูนสูงรูปมังกร

แม้เชียงใหม่จะเป็นเมืองในเขตภูเขา ห่างไกลจากชายฝั่งทะเลหลายร้อยกิโลเมตร แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์มีกลุ่มชาวจีนอพยพขึ้นมาตั้งถิ่นฐาน และประกอบอาชีพค้าขายเป็นจำนวนมาก จึงปรากฏชุมชนชาวจีนหลายแห่งในเมืองเชียงใหม่ เช่น บริเวณรอบๆ วัดช่างฆ้อง ย่านวัดเกตุการาม และย่านกาดหลวง ชุมชนชาวจีนบริเวณริมแม่น้ำปิงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เนื่องจากในอดีตการค้าขายส่วนหนึ่งต้องพึ่งการขนส่งทางน้ำเป็นสำคัญ


ในอดีตศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ติดริมน้ำปิง บริเวณดังกล่าวในอดีตเคยเป็นวัดมาก่อน ชื่อว่าวัดเณรจิ๋ว วัดนี้มีเจดีย์บรรจุพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้าเอาไว้ และกลายเป็นวัดร้างในเวลาต่อมา แต่เดิมศาลเจ้าแห่งนี้เป็นเพียงอาคารไม้ชั้นเดียวขนาดเล็ก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพบเลข ๒๔๑๖ สลักไว้บนไม้คานรับน้ำหนักหลังคา ตอนรื้อถอนเพื่อบูรณะ ต่อมาเมื่อมีถนนตัดผ่าน มีการสร้างอาคารบดบังทัศนียภาพของศาลเจ้า อาคารศาลเจ้ารูปแบบปัจจุบันบูรณะ และต่อเติมใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ เพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ ๖ รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมๆ กับการเฉลิมฉลองเมืองเชียงใหม่อายุครบ ๗๐๐ ปี

มองจากซุ้มประตูทางเข้าอาคารศาลเจ้า

คานก็มีภาพวาดลวดลายสวยงาม

ภายในอาคารประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น และจิตรกรรมแบบจีน เมื่อเดินเข้าไปจะสังเกตเห็นแท่นเทพเจ้าต่างๆ ตั้งอยู่ติดผนังด้านใน กรอบแกะสลักไม้ลวดลายแบบจีนสีทองอร่ามอ่อนช้อยมาก ต้นเสาเป็นปูนปั้นมังกรพันรอบประดับด้วยกระเบื้องสีสันต่างๆ ทุกต้น ผนังด้านซ้าย และขวามือเป็นประติมากรรมนูนสูงลวดลายมังกรด้านหนึ่ง และเสือด้านหนึ่ง เป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อแบบจีน ติดกับผนังนั้นเป็นบ่อน้ำขนาดย่อมเป็นมงคล กรอบบานประตูเขียนรูปทวารบาลแบบจีน แม้กระทั่งคานก็ยังเขียนลวดลายประดับสวยงามมาก

การตกแต่งภายในอาคารศาลเจ้า เป็นศิลปะแบบจีนโบราณสวยงามมาก


บริเวณศาลเจ้าถูกแบ่งเป็นสองส่วนด้วยถนนเล็กๆ เรียกว่าถนนไปรษณีย์เชื่อมต่อกับตลาดต้นลำไย ฝั่งตรงข้ามกับตัวอาคารศาลเจ้าเดินไปเพียงไม่กี่เก้าเป็นลานขนาดย่อม ซึ่งเกิดจากการรื้อถอนตึกแถวที่เกิดบดบังศาลเจ้าออก เพื่อเพิ่มความสง่างาม และให้มองเห็นแม่น้ำปิงด้านหน้า บริเวณลานนี้ตกแต่งด้วยประติมากรรม และสถาปัตยกรรมแบบจีนที่สวยงามเช่นกัน

เริ่มจากทางเข้าบริเวณถนนเลียบแม่น้ำปิง มีซุ้มประตูขนาดใหญ่สถาปัตยกรรมแบบจีน เสาประดับด้วยประติมากรรมลวดลายมังกร เขียนชื่อศาลเจ้าทั้งอักษรไทย และจีน มีรูปสิงห์แกะสลักหินเหยีบลูกแก้วสองตัว ถัดเข้ามาภายในลานจะมีกำแพงหินแกรนิตสีดำสลักเรื่องราวการบูรณะและประวัติของศาลเจ้าเป็นภาษาไทย อังกฤษ และจีน ใกล้ๆ กันมีซุ้มบูชา และเสามังกร ฝั่งตรงข้ามเป็นกำแพงประดับประติมากรรมนูนสูงรูปเทพเจ้าทั้งแปด (โป๊ยเซียน) ตามความเชื่อของจีน


บริเวณลานด้านหน้าศาลเจ้า

ผ่านไปๆ มาๆ บนถนนเส้นนี้หลายครั้ง แต่หลายคนอาจจะไม่เคยได้ลงไปเดินชมใกล้ๆ เพราะมองว่าไกลตัว และดูไม่ต่างจากศาลเจ้าที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองไทย แต่หากได้ลองเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของศาลเจ้าปุงเถ่ากงแห่งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการอพยพมาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในแผ่นดินล้านนา พร้อมๆ กับซึมซับบรรยากาศ ชื่นชมศิลปะแบบจีนอันอ่อนช้อยด้วยแล้ว เชื่อว่าสถานที่แห่งนี้คืออีกแหล่งท่องๆ เที่ยวเล็กๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้ที่อื่นๆ ในเมืองเชียงใหม่ ในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ หรือตรุษจีน ที่นี่คงจะคึกคักไม่น้อย นอกจากจะได้ไหว้ขอพรเทพเจ้าแล้ว ยังได้เห็นวิถีของชาวไทยเชื้อสายจีนอีกด้วย

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  909
203  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดช่างฆ้อง – ชมหอไตรเก่าแก่ศิลปะจีน ละเลียดโมงยามอันสงบงามกลางใจเมือง เมื่อ: ตุลาคม 07, 2013, 03:16:20 PM
วัดช่างฆ้อง – ชมหอไตรเก่าแก่ศิลปะจีน ละเลียดโมงยามอันสงบงามกลางใจเมือง

ย่านดาวน์ทาวน์เป็นหนึ่งในจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ เพราะเป็นแหล่งรวมที่พักหลากหลายสไตล์ ตั้งแต่โรงแรมหรูไปจนถึงเกสเฮ้าส์ราคาประหยัด ไนท์บาซ่า ตลาดกลางคืนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศ แหล่งช็อปปิ้งของที่ระลึกและสินค้านานาชนิด เมืองเชียงใหม่ย่านนี้จึงค่อนข้างพลุกพล่าน ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายนั้นเป็นที่ตั้งของ “วัดช่างฆ้อง” ที่ดูเพียงผิวเผินอาจไม่โดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ วัดในเมืองเชียงใหม่ แต่ภายในบริเวณวัดกลับมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจซ่อนอยู่ ใครที่หลงเสน่ห์สถาปัตยกรรมเก่าๆ ควรหาโอกาสไปเยี่ยมสักครั้ง

หอไตรศิลปะจีนวัดช่างฆ้อง ไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดชม

วัดช่างฆ้อง ตั้งอยู่ริมถนนกำแพงดิน ต.ช้างคลาน ด้านหลังโรงแรมเมอริเดียน หน้าวัดมีกำแพงดินโบราณเป็นแนวยาว พระอารามแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ ครั้งหนึ่งพระองค์ยกทัพไปตีพุกาม ได้ช่างผู้ชำนาญศิลปะแขนงต่างๆ ประมาณ 500 ครัวกลับมายังเมืองเชียงใหม่ อาทิเช่น ช่างฆ้อง ช่างเครื่อง ช่างเงิน ช่างทอง ช่างเหล็ก พระองค์โปรดฯ ให้ช่างฆ้องไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เชียงแสนเรื่อยมา จนกระทั่งอาณาจักรล้านนาถูกพม่ารุกราน และตกอยู่ใต้การปกครองของพม่ากว่า ๒๐๐ ปี เมื่อคราวพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พระองค์แรกแห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) กู้เมืองเชียงใหม่คืน พระองค์ยกทัพไปเชียงแสนเพื่อขับไล่พม่า และอพยพชาวเชียงแสนมายังเมืองเชียงใหม่ พวกช่างฆ้องจึงได้ตั้งรกรากอยู่ทางตะวันออกของกำแพงเมือง สร้างวัดขึ้นบนพื้นที่วัดศรีโพธิ์ฆะ หรือวัดศรีพูนโต ซึ่งเคยเป็นวัดเก่ามาก่อน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน และตั้งชื่อใหม่ตามอาชีพของพวกตนว่า “วัดช่างฆ้อง”

ในช่วงที่เมืองเชียงใหม่ปกครองโดยเจ้าผู้ครองนคร มีกลุ่มชาวจีนเดินทางมาตั้งรกรากในเมืองเชียงใหม่และประกอบอาชีพค้าขายมากขึ้น กลุ่มชาวจีนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้วางรากฐานด้านการค้าให้กับเมืองเชียงใหม่ และยังมีส่วนร่วมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บริจาคทรัพย์ และสร้างศาสนสถาน

การตกแต่งขอไตรอ่อนช้อย และสวยงามมาก

ภาพจิตรกรรมตกแต่งผนังหอไตร

บริเวณโดยรอบวัดช่างฆ้อง ปรากฏการชุมชนชาวจีนบริเวณทางด้านทิศใต้ของวัด กลุ่มคนจีนเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนวัดช่างฆ้อง พวกเขาอุปถัมภ์วัดในด้านต่างๆ เสมอมา สิ่งที่โดดเด่น และเป็นเครื่องยืนยันบทบาทของชาวจีนที่มีต่อชุมชนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี คือ “หอไตร” ศิลปะจีนภายในบริเวณวัด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๖  ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้นสถาปัตยกรรมแบบจีน มุงด้วยกระเบื้องดินขอแบบพื้นเมือง  ประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้น ประดับกระจก ไม้แกะสลักฉลุลายศิลปะล้านนาผสมพม่า มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง บริเวณระเบียงชั้นสองของอาคาร เล่าเรื่องราวของปัญญาสชาดก ตอนเจ้าสุวัตรกับบางบัวคำ มีเอกลักษณ์โดดเด่น และงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมประยุกต์ในสมัยนั้น

พระอุโบสถเก่าของวัด ปัจจุบันอยู่ในเขตโรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง


เวลาผ่านไปชุมชนรอบๆ วัดขยายตัวจนรุกล้ำบริเวณวัด ทำให้พื้นที่ส่วนพระอุโบสถถูกตัดขาดออกจากวัด ปัจจุบันพระอุโบสถอยู่ความดูแลของโรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง พระอุโบสถตั้งอยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นไทรใหญ่ เรียบง่าย และสวยงาม  หน้าบรรณเป็นไม้แกะสลักประดับกระจก ตัวอาคารประดับปูนปั้นลายพรรณพฤกษา บันไดทางขึ้นขนาบข้างด้วยพญานาค ส่วนหางเลื้อยขึ้นไปเป็นซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ

พระวิหารของวัด ศิลปะล้านนาประยุกต์

พระประธานภายในวิหาร

พระวิหารของวัดสถาปัตยกรรมพื้นเมืองประยุกต์ หน้าบันประดับลายปูนปั้น มีช้างสามเศียรอยู่ตรงกลาง ภายในวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นบ้านเขียนเรื่องพระเจ้าสิบชาติ (ทศชาติชาดก) หลังพระวิหารมีเจดีย์ ฐานล่างเป็นฐานเขียงเรียบ ถัดขึ้นไปเป็นฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม องค์ระฆังกลมศิลปะล้านนา มีสิงห์ปูนปั้นแบบพม่าอยู่ที่มุมทั้งสี่ด้าน และมีพระพุทธรูปนับร้อยวางเรียงรายรอบพระเจดีย์

พระเจดีย์ด้านหลังพระวิหาร


วัดช่างฆ้องเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ที่สร้างขึ้นจากศรัทธาของประชาชน ตั้งอยู่นอกเขตเมืองเก่า ถึงแม้ปัจจุบันจะถูกล้อมรอบด้วยชุมชน และย่างการค้าที่คึกคักมีนักท่องเที่ยวผ่านไปมาจำนวนมาก แต่ภายในวัดยังคงรักษาความเงียบสงบไว้ได้ดีเยี่ยม เหมาะกับการพักผ่อน เยี่ยมชมความงดงามของหอไตร และสถาปัตยกรรมอื่นๆ ก็น่าจะเพลินดีไม่น้อย

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  908
204  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ในเชียงใหม่ / พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรเชียงใหม่ “โฮงสาย” อดีตอันรุ่งเรืองของการสื่อสารทางไปรษณีย์ เมื่อ: กันยายน 28, 2013, 02:05:09 AM
พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรเชียงใหม่ “โฮงสาย” อดีตอันรุ่งเรืองของการสื่อสารทางไปรษณีย์

พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรเชียงใหม่ ถนนไปรษณีย์ ริมแม่น้ำปิง

อาคารโบราณสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมขนาดย่อม ตั้งตระหง่านอยู่บนถนนไปรษณีย์ เส้นทางเลียบแม่น้ำปิง ใกล้ๆ กับกาดต้นลำไย คือหนึ่งในสถาปัตยกรรมเก่าแก่อันทรงคุณค่าของเมืองเชียงใหม่ที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมของชาติ มองเผินๆ อาคารหลังนี้อาจไม่ได้โดดเด่นนัก หากเปรียบเทียบกับตึกรามบ้านช่องเก่าแก่แห่งอื่นๆ ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดทั่วเมืองเชียงใหม่ บางคนอาจประเมินค่าสถานที่แห่งนี้เป็นเพียงตึกเก่าธรรมดาๆ แต่แท้ที่จริงแล้วที่นี่มีคุณค่ากว่าเพียงแค่การเป็นสถาปัตยกรรมโบราณที่ควรค่าอนุรักษ์

จดหมายติดแสตมป์ Black Penny แสตมป์ดวงแรกของโลก

“พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรเชียงใหม่” มีคุณค่ามากกว่าตึกเก่าธรรมดาๆ เพราะในยุคสมัยหนึ่งมันเคยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการสื่อสารสำคัญของเมืองเชียงใหม่ และดินแดนล้านนา เป็นตัวแทนของการก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ สังคมแห่งการสื่อสารยุคเริ่มต้นของประเทศ จากวันนั้นในอดีตที่จดหมายเป็นการสื่อสารที่สะดวกและนิยมกันในวงกว้าง จนถึงปัจจุบันยุคสมัยของโซเชียลเน็ตเวิร์ค การสื่อสารแบบวินาทีต่อวินาทีอาคารแห่งนี้เปรียบเสมือนประจักษ์พยานที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของเมืองเชียงใหม่ผ่านกาลเวลามานับ ๑๐๐ ปี

โสฬส แสตมป์ชุดแรกของสยาม

สำนักงานไปรษณีย์โทรเลขเชียงใหม่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ในอดีตชาวเมืองเชียงใหม่เรียกอาคารหลังนี้ว่า “โฮงสาย” อาจเป็นเพราะที่นี่นอกจากเป็นที่ทำการไปรษณีย์แล้ว ยังเป็นสำนักงานโทรเลข (ตะแล็บแก็บ) อีกด้วย บริเวณที่ตั้งของอาคารสองชั้นหลังนี้ในอดีตคือหัวใจสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ในยุคที่ยังต้องพึ่งพาเส้นทางน้ำเพื่อการเดินเรือ ขนส่งสินค้า และติดต่อสื่อสารกับเมืองอื่นๆ ทั่วราชอาณาจักร ที่นี่จึงเหมาะสมที่จะตั้งเป็นสำนักงานไปรษณีย์ฯ ด้วยประการต่างๆ เนื่องจากขนส่งพัสดุและจดหมายได้สะดวก

ตู้ไปรษณีย์เก่า ทำจากเหล็ก

ตู้ไปรษณีย์ไม้ มีอักษรล้านนา และอักษรจีน

แรกเริ่มเดิมทีอาคารสำนักงานแห่งนี้เป็นเพียงเรือนไม้ไผ่ยกพื้นสูง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ไปรษณีย์เจริญรุ่งเรืองขึ้น กลายมาเป็นช่องทางการสื่อสารหลักของประชาชน จึงรื้อถอนอาคารหลังเก่าออก และสร้างอาคารปูนแบบยุโรปอย่างที่เห็นในปัจจุบันทดแทน ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายสร้างสำนักงานไปรษณีย์โทรเลขแห่งอื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วเมืองเชียงใหม่ เพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือสำนักงานไปรษณีย์ฯ สันป่าข่อย เพื่อตอบรับการคมนาคมทางรถไฟที่ก้าวเข้ามามีบทบาทแทนทางเรือ

หลังจากย้ายที่ทำการไปรษณีย์แม่ปิงมาอยู่ฝั่งตรงข้ามดังที่เห็นในปัจจุบัน อาคารหลังนี้ได้รับการปรับปรุงใหม่ และพลิกฟื้นอดีตที่เคยรุ่งเรืองอีกครั้งโดยจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ รวบรวมสิ่งละอันพันละน้อย ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของกิจการไปรษณีย์ของชาติให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา



ด้านนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ มีตู้ไปรษณีย์สีแดงแบบต่างๆ จัดแสดงอยู่โดยรอบ ตู้ไปรษณีย์เหล่านี้มองเผินๆ อาจเป็นเพียงตู้ไปรษณีย์เก่าๆ ที่ปลดประจำการแล้ว แต่หากลองใช้ใจศึกษา มันกลับแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการตู้ไปรษณีย์ในแต่ละยุคสมัย บอกเล่าความคิดของผู้ออกแบบ เกิดการตั้งคำถามได้หลากหลายไม่รู้จบ ไม่ต่างไปจากประติมากรรมร่วมสมัยอื่นๆ เลย

เครื่องชั่งแบบโบราณ

อาคารชั้นล่างแบ่งเป็นสองส่วน ห้องโถงกลาง และห้องด้านขวาเป็นส่วนจัดแสดง รวมรวมเรื่องราวของกิจการไปรษณีย์ในอดีต ภาพถ่ายเมืองเชียงใหม่ยุคก่อนเป็นตัวแทนบอกเล่าการเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยหนึ่งสู่อีกยุคสมัยหนึ่งให้กับคนรุ่นหลังที่สนใจ ฉันสะดุดใจกับภาพหญิงสาวมอบจดหมายให้กับบุรุษไปรษณีย์ที่กำลังพายเรืออยู่บนถนนยามน้ำท่วม นอกจากภาพนี้จะเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่เมืองเชียงใหม่แล้ว ยังแสดงถึงความสำคัญของการสื่อสารผ่านกิจการไปรษณีย์อีกด้วย

เครื่องส่งสัญญาณโทรเลข แบบโบราณ

เครื่องส่งสัญญาณโทรเลข ทันสมัยขึ้นมาหน่อย

ใครอยากทำความรู้จักกับแสตมป์เก่าๆ หรือแสตมป์พิเศษต่างๆ ก็ไม่ผิดหวัง “แบล็คเพนนี” แสตมป์ดวงแรกของโลก เกิดขึ้นครั้งแรกในสหราชอาณาจักรฯ คือสิ่งหนึ่งที่หลายคนอยากเห็น แสตมป์โสฬส พระบรมฉายาลักษณ์ของพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ ๕) ผู้ให้กำเนิดการไปรษณีย์  คือแสตมป์ชุดแรกของสยาม ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โทรเลขที่เคยเป็นการสื่อสารทันสมัยสะดวกรวดเร็วในอดีต ปัจจุบันเป็นเพียงเรื่องเล่าเก่าเก็บ หาไม่ได้อีกแล้ว ก็ยังมีให้เราได้ศึกษาที่นี่ ส่วนด้านซ้ายเป็นโซนจำหน่ายของที่ระลึกไปรษณีย์ แสตมป์ และโปสการ์ด

แม่พิมพ์รูปหญิงตะวันตกสวมมงกุฎกุหลาบ ไม่ทราบที่มาที่ไป
คาดว่าเป็นแม่พิมพ์ของปูนปั้นที่เคยใช้ประดับอาคารหลังนี้

ในยุคหนึ่ง “การไปรษณีย์” คือตัวแทนของความก้าวหน้า จวบจนปัจจุบันแม้การสื่อสารรูปแบบอื่นๆ ที่สะดวกกว่าเข้ามาแทนที่ ไปรษณีย์ก็ยังคงทำหน้าที่รับใช้ผู้คนเสมอมา พร้อมกับการปรับตัว และพัฒนารูปแบบการบริการให้ทันยุคสมัย ในอีก ๕๐ ปีข้างหน้ากิจการไปรษณีย์ที่ว่าทันสมัยในวันนี้ อาจจะกลายเป็นเรื่องเล่าเก่าๆ ที่หาดูได้แต่ในพิพิธภัณฑ์ก็ได้เช่นกัน

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903


205  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดหมื่นสาร เยี่ยมชมหอศิลป์เครื่องเงิน สักการะครูบา เรียนรู้ความเป็นมาสมัยสงครามโลก เมื่อ: กันยายน 25, 2013, 09:25:57 PM
วัดหมื่นสาร เยี่ยมชมหอศิลป์เครื่องเงิน สักการะครูบา เรียนรู้ความเป็นมาสมัยสงครามโลก

ทุกเย็นวันเสาร์ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างมุ่งหน้าสู่ถนนคนเดินวัวลาย แหล่งจับจ่ายสินค้าหัตถกรรมนานาชนิด หาซื้อสินค้าที่ระลึก หรือหาของกินอร่อยๆ ตามแบบฉบับชาวเหนือ บางคนอาจจะสุดตากับรูปปั้นวัว บริเวณสามแยกกลางถนนวัวลาย เจ้าวัวตัวนี้เองที่จะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับวัดน่าเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในย่านนี้ “วัดหมื่นสาร”

วัดหมื่นสาร ตั้งอยู่บนถนนวัวลาย ต.หายยา ไม่ทราบประวัติความเป็นมาแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานพื้นบ้านมากมายกล่าวถึงวัดแห่งนี้ ตามตำนานพระศิลา เขียนขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช เล่าว่าหลังจากที่พระองค์ทรงถวายพระศิลาเจ้าแด่พระมหาญาณะโพธิ ณ วัดป่าแดง ต่อมา “หมื่นหนังสือวิมลกิตติสิงหละราชมนตรี” ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งสังฆการี (เจ้าพนักงานเกี่ยวกับสงฆ์ในงานหลวง พระราชพิธี รับรองราชทูต และแปลพระราชสาส์น) ได้สร้างพระวิหารในวัดหมื่นสาร และอาราธนาพระศิลาเจ้าจากวัดป่าแดงมาประดิษฐานเอาไว้ภายในพระวิหารหลังนั้น


พงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2065 พระเจ้าอาทิตยวงศ์ ส่งราชทูตมาสืบสัมพันธไมตรีกับพระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย พระเมืองแก้วทรงจัดการรับรองราชทูตและแปลพระราชสาส์น ณ วัดหมื่นสารแห่งนี้ ตามบันทึกใบลานภาษาบาลีของวัดเจดีย์หลวงกล่าวไว้ว่าในสมัยพระเกษเกล้า กษัตริย์พระองค์ที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย มีเสนาอามาตย์ผู้หนึ่งนามว่า “วิมลกิตติ” (นายทหารยศชั้นหมื่น) สร้างพระอารามแห่งนี้ขึ้น มีข้อความว่า “อาวาสนี้ อันหมื่นวิมลกิตติ ผู้เป็นมหาโยธา (ทหารผู้ใหญ่) ในนครนี้ตั้งไว้แล้ว” ในศิลาจารึกวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ก็ปรากฏชื่อวัดหมื่นสารเช่นกัน สรุปความได้ว่าหมื่นหนังสือวิมลกิตติสิงหละราชมนตรี ท่านได้อุปถัมภ์วัดแห่งนี้ตลอดมา พระอารามนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดหมื่นสาร” ตามชื่อของราชมนตรีผู้นั้น

จากหลักฐานต่างๆ ดังกล่าว จึงพอสรุปได้ว่าวัดหมื่นสารมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช และเป็นวัดสำคัญ เป็นสถานที่รับรองราชทูต และแปลพระราชสาส์นจากเมืองต่างๆ นอกจากนั้นวัดแห่งนี้ยังมีคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก จากการสำรวจเมื่อประมาณปี 2520 พบว่ามีคัมภีร์ใบลานของวัดจำนวน 163 รายการ 815 ผูก อายุประมาณ 200 กว่าปี

หน้าบรรณวิหารหลวงวัดหมื่นสาร

พระวิหารของวัดมีอายุหลายร้อยปี อาคารปูน สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ หน้าบันประดับปูนปั้นลวดลายพรรณพฤกษากับเทวดา ประดับด้วยกระจกสี ผนังด้านนอกบริเวณทางเข้ามีจิตกรรมฝาผนัง พระวิหารนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอดรวม ๔ ครั้ง โดยครั้งล่าสุดปี ๒๕๒๔

พระเจดีย์ประธานศิลปะล้านนาผสมไทยใหญ่

พระเจดีย์ประธานศิลปะล้านนาผสมไทยใหญ่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ โดยฝืมือช่างไทยใหญ่ องค์เจดีย์เป็นทรงปราสาท มีซุ้มโขง ๔ ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาทั้ง ๔ ด้าน มีสิงห์ และฉัตรประดับทั้ง ๔ มุมขององค์พระเจดีย์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยใหญ่และมีบันไดขึ้นเฉพาะทิศตะวันออกเพื่อขึ้นไปสรงน้ำพระบนพระธาตุ

อุโบสถวัดหมื่นสาร สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์

พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ยกพื้นสูง สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๔ หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา โดยรวมมีลักษณะคล้ายกับพระวิหารขนาดย่อส่วน

สถูปบรรจุอัฐิธาตุครูบาศรีวิชัย เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของวัด หลังจากที่ครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาไทยมรณภาพลง อัฐิธาตุของครูบาถูกแบ่งออกเป็น ๖ ส่วน ส่วนหนึ่งนำมาเก็บไว้ที่วัดแห่งนี้ แต่อย่างไรก็ตามอัฐิธาตุที่วัดหมื่นสาร ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีที่มาอย่างไร มีเพียงแต่คำบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านวัวลายเท่านั้นว่า อัฐิธาตุครูบาศรีวิชัยที่บรรจุภายในสถูปวัดหมื่นสารนั้นเป็นอัฐิที่ได้รับมาจากครูบาขาวปี๋ ศิษย์เอกของครูบาศรีวิชัย

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย วัดหมื่นสาร

ในอดีตวัดแห่งนี้เคยเป็นคลังเก็บเสบียง อาวุธ และเป็นที่พักสำหรับทหารบาดเจ็บของกองทัพญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ วัด ทหารเหล่านี้ยังสอนภาษาญี่ปุ่น และมอบอาหารให้แก่เด็กๆ ในละแวกนั้นอีกด้วย หลังกองทัพญี่ปุ่นแพ้สงคราม จึงนำอาวุธสงครามหลายชิ้นทิ้งลงในน้ำบ่อหลวงภายในวัด เมื่อทางการญี่ปุ่นสืบค้นเรื่องราวดังกล่าวในเวลาต่อมา และค้นพบร่องรอยการเสียชีวิตของทหารญี่ปุ่นที่วัดหมื่นสาร จำนวน 32 คน จึงประกอบพิธีไว้อาลัย และสร้างอนุสรสถานขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เสียชีวิต

หอศิลป์สุทธฺจิตฺโต ประดับเครื่องเงินทั้งหลัง


หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต เป็นอาคารล้านนาประยุกต์ ช่างเงินบ้านวัวลายหลายคนช่วยกันดุนลายโลหะประดับตกแต่งทั้งภายใน และภายนอกหอศิลป์ ซึ่งเป็นลวดลายพื้นเมืองล้านนาดั้งเดิม เนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก  รามเกียรติ เทพพนม  และลายเครือเถา  เป็นต้น ลวดลายเหล่านี้สื่อถึงประวัติความเป็นมาของชาวบ้านวัวลาย  ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวบ้านวัวลายในอดีต ภายในมีหุ่นขึ้ผึ้งรูปเหมือน ๓ ครูบา  ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านวัวลายให้ความเคารพ ได้แก่ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ครูบาอินตา  อินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ)  และพระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั่น  ปุญญาคโม)  อดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  912
206  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดเชียงยืน – หนึ่งในวัดมงคลนามของเมืองเชียงใหม่ เมื่อ: กันยายน 20, 2013, 12:36:41 AM
วัดเชียงยืน – หนึ่งในวัดมงคลนามของเมืองเชียงใหม่

ในจำนวนพระอารามมากมายในเมืองเชียงใหญ่ มีเพียง ๑๕ แห่งเท่านั้นที่จัดว่าเป็น “วัดมงคลนาม” คือมีชื่อที่เป็นมงคล เช่น วัดเชียงมั่น วัดดับภัย วัดชัยศรีภูมิ วัดดวงดี เป็นต้น ซึ่ง “วัดเชียงยืน” เป็นหนึ่งในวัดเหล่านั้น เพราะคำว่า “เชียงยืน” มีความหมายอันเป็นมงคลสื่อความหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว ชาวบ้านใกล้เคียง และคนเมืองที่มีความเชื่อเรื่องนี้จึงนิยมไปกราบไหว้พระ และทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิตเสมอ


ก่อนจะพาไปเยี่ยมชมภายในบริเวณวัด ขอกล่าวถึงชื่อของวัดอีกสักเล็กน้อยค่ะ เพื่อให้สมกับที่เป็นวัดมงคลนามเสียหน่อย นอกจากชื่อ “วัดเชียงยืน” แล้ว พระอารามแห่งนี้ยังมีชื่ออื่นๆ ซึ่งเป็นนามมงคลเช่นกัน ตามตำนานต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ที่กล่าวถึงวัดแห่งนี้ มีชื่อเรียกทั้งหมด 3 ชื่อ กล่าวคือ “วัดเชียงยืน” (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่) “วัดฑีฆชีวะวัสสาราม” (พงศาวดารโยนก) และ “วัดฑีฆายวิสาราม” หรือ “ฑีฆาชีวิตสาราม” (ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์) แต่ละชื่อล้วนหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว ทำให้ชาวเชียงใหม่มักจะหาโอกาสไปทำบุญตักบาตรที่วัดแห่งนี้ในวันสำคัญต่างๆ เสมอ โดยเฉพาะวันขึ้นปีใหม่สากล และวันขึ้นปีใหม่ไทย ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมความเป็นศิริมงคลในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิตและครอบครัว

พระเจดีย์ธาตุย่อมุมแบบล้านนา

พระพุทธรูปในซุ้มหน้าพระเจดีย์ธาตุ

ความเป็นมาของวัดนั้นไม่มีบันทึกที่แน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานตามเอกสารของทางวัดว่า ในรัชสมัยของพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งเชียงใหม่ พระองค์ทรงสร้างวัดคู่เมืองเชียงใหม่ขึ้นสองวัด วัดแห่งแรกคือ วัดเชียงมั่น หมายถึง “ความมั่นคง” ต่อมาจึงสร้างวัดเชียงยืน ซึ่งหมายถึง “ความยั่งยืน” พระองค์มีพระราชประสงค์ให้วัดเชียงมั่นตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง และวัดเชียงยืนให้ตั้งอยู่ในทิศมงคลของเมืองเชียงใหม่ด้านนอกกำแพงเมือง มีฐานะเป็นเดชเมืองเชียงใหม่ ทิศเดียวกับที่ตั้งแจ่งศรีภูมินั่นเอง เนื่องจากเมืองเชียงใหม่สร้างขึ้นโดยยึดหลักชัยภูมิและความเชื่อทางโหราศาสตร์ พร้อมทั้งประดิษฐานพระประธานศักดิ์สิทธิ์ภายในพระวิหารนามว่า “พระสัพพัญญูเจ้าเดชเมือง” เพื่อให้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สักการบูชาก่อนเข้าออกเมืองทางด้านประตูช้างเผือก เมื่อมีพิธีราชาภิเษก และสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลในยามออกศึกสงคราม ให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งหลาย ประเพณีที่เจ้าผู้ครองนครนครเชียงใหม่ต้องกราบสักการะพระสัพพัญญูฯ ก่อนเข้าเมืองนั้นเริ่มขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระไชยเชษฐาธิราช เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จจากเมืองลาวมาเพื่อครองนครเชียงใหม่ และประเพณีนี้ได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงสมัยพระเจ้ากาวิละ

วิหารพระสัมพัญญูเจ้าเดชเมือง


สถานที่สำคัญ และน่าสนใจภายในวัดคือ “พระวิหารสัพพัญญู” สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ก่ออิฐถือปูน หน้าบันทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาประดับกระจกสี ภายในประดิษฐาน พระประธานปางมารวิชัย ก็คือ “พระสัพพัญญูเจ้าเดชเมือง” นั่นเอง

พระสัมพัญญูเจ้าเดชเมือง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่

พระมหาธาตุเจดีย์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๖๐ รัชสมัยของพระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย องค์ที่ ๑๓ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  องค์เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม สื่อความหมายถึงบารมีแผ่ไปทั้งแปดทิศ ฐานเหลี่ยมสูง ย่อเก็จทั้งสี่มุม แต่ละมุมมีรูปปั้นสิงห์ตัวใหญ่หนึ่งตัว สิงห์ตัวเล็กสองตัว และเทวดาอีกด้านละสององค์


พระอุโบสถของวัดแห่งนี้น่าสนใจมาก มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแตกต่างจากวัดอื่นๆ เพราะเป็นอุโบสถทรงแปดเหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน ชายคาประดับด้วยไม้ฉลุแบบขนมปังขิง สถาปัตยกรรมแบบพม่า หลังคาซ้อนกันสามชั้น ใครมีโอกาสแวะไปเยือนวัดเชียงยืน อย่าพลาดชมพระอุโบสถหลังนี้ด้วยนะคะ ทั้งๆ ที่เป็นสถานที่น่าสนใจ แต่การดูแลยังไม่ดีเท่าทีควรค่ะ

พระอุโบสถทรงแปดเหลี่ยมแบบพม่า

เพียงเท่านี้เราก็เห็นแล้วว่า นอกจากนามอันเป็นมงคลของวัดแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย ใครมาเที่ยวเชียงใหม่ หรือแม้แต่ชาวเชียงใหม่เอง ใครอยากไปกราบพระเพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ จะลองทำตามความเชื่อของคนเฒ่าคนแก่ของล้านนา ไปที่วัดเชียงยืน ซึ่งมีชื่อเป็นมงคลแห่งนี้กันดูก็ได้นะคะ ได้ผลอย่างไรมาเล่าสู่กันฟังบ้าง

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  912


207  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดกู่เต้า – ชมความงดงามพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะพม่า และเจดีย์ทรงน้ำเต้าอันเป็นเอกลักษณ์ เมื่อ: กันยายน 19, 2013, 09:22:41 PM
วัดกู่เต้า – ชมความงดงามพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะพม่า และเจดีย์ทรงน้ำเต้าอันเป็นเอกลักษณ์

หากเพื่อนๆ มีโอกาสมาเยือนวัดในเขตจังหวัดภาคเหนือ คงจะสังเกตเห็นพระเจดีย์ หรือที่ในภาษาเหนือเรียกว่า “กู่” อยู่ด้านหลังพระวิหาร ซึ่งเป็นค่านิยมการสร้างวัดในอดีต เจดีย์ตามแบบล้านนานั้นมีหลากหลายลักษณะ ที่พบเห็นได้ทั่วไปคือเจดีย์ทรงปราสาทล้านนา ซึ่งมีฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันหลายชั้น และเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ที่รับเอาอิทธิพลการสร้างเจดีย์แบบสุโขทัยเข้ามา แล้วประยุกต์จนกลายเป็นแบบล้านนาโดยเฉพาะ นอกจากเจดีย์รูปทรงดังกล่าว บางวัดกลับมีเจดีย์ประธานรูปทรงแปลกแตกต่างไปจากวัดอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือ “เจดีย์วัดกู่เต้า”

บรรยากาศภายในวัด


วัดกู่เต้าตั้งอยู่ที่ ต.ศรีภูมิ อ.เมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ ติดกับสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ เดิมชื่อว่า “วัดเวฬุวนาราม” ไม่มีประวัติแน่ชัดว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยใด แต่พงศาวดารโยนกกล่าวถึงวัดแห่งนี้ว่า หลังจากที่พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ตีเอาหัวเมืองเหนือทั้งหลายได้แล้ว ก็ส่งพระราชโอรสพระนามว่า “พระเจ้านรธาเมงสอ” มาปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราชในระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๒๒ – ๒๑๕๖ เพื่อคอยควบคุมเจ้านายฝ่ายเหนือไม่ให้กระด้างกระเดื่อง (เฉลิมพระนามใหม่ว่า “เจ้าฟ้าสารวดี”) เมื่อเจ้าฟ้าสารวดีสิ้นพระชนม์ลง พระอนุชาถวายเพลิงพระศพอย่างสมพระเกียรติ แล้วโปรดให้สร้างเจดีย์กู่เต้าขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิและพระอังคารธาตุของพระองค์ แล้วจึงโปรดให้สร้างพระอารามขึ้นในบริเวณนั้น ซึ่งก็คือ “วัดกู่เต้า” ในปัจจุบัน

เจดีย์วัดกู่เต้า เป็นทรงแตงโมผ่าครึ่ง หรือบาตรคว่ำซ้อนกัน ๕ ชั้น


เจดีย์กู่เต้ามีลักษณะคล้ายการนำผลแตงโม (ชาวล้านนาเรียกแตงโมว่า “บะเต้า”) หรือบาตรคว่ำมาวางซ้อนกัน ๕ ลูก อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนาคมโน พระกัสสโป พระโคตโม และพระอริยเมตไตยโย องค์เจดีย์แต่ละชั้นประดับด้วยกระจกสีเป็นลวดลายดอกไม้ขนาดเล็ก มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน บนยอดมีเจดีย์สีทององค์เล็ก และประดับด้วยยอดฉัตร คล้ายเจดีย์ศิลปะพม่า

นักวิชาการสันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นเพียงเจดีย์ก่ออิฐถือปูน การประดับกระเบื้องสีบนเจดีย์น่าจะเพิ่งทำขึ้นใหม่ระหว่างการบูรณะพระเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากการประดับองค์พระเจดีย์ด้วยกระเบื้องสี และถ้วยชามนั้น เป็นเอกลักษณ์ของการสร้างพระเจดีย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พระวิหารหลวงแบบล้านนา-รัตนโกสินทร์ประยุกต์ สัดส่วนสวยงามมาก


นอกจากพระเจดีย์กู่เต้าเอกลักษณ์สำคัญของวัดแล้ว พระวิหารหลวง เป็นอาคารอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ พระวิหารสร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ หลังคาทรงเครื่องแบบวัดไทยในภาคกลางลดหลั่นกัน 3 ชั้น หน้าบันตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น สวยงามมาก พระประธานในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องทอง เครื่องทรงของพระพุทธรูปลวดลายวิจิตรงดงาม แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะพม่าอย่างชัดเจน ใครก็ตามที่มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนวัดกู่เต้า นอกจากพระเจดีย์ทรงแปลกตา เอกลักษณ์ของวัดแล้ว พระประธานองค์นี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด เลดี้ ดาริกา รับประกันความงดงามค่ะ

พระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพม่า วิจิตรพิศดาร สวยงามมาก


“งานประเพณีบวชลูกแก้ว” หรือ “ปอยส่างลอง” เป็นประเพณีขึ้นชื่อของวัดกู่เต้า จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคมของทุกปี เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวไทใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม เชื่อกันว่าได้บุญกุศลมากกว่าการบวชพระภิกษุ ชาวบ้านจะนิยมนำบุตรหรือหลานชายมาเข้าร่วมพิธีบวชด้วย “ลูกแก้ว” หรือ “ส่างลอง” จะโกนผม (แต่ไม่โกนคิ้ว) แต่งหน้าทาปาก สวมใส่เสื้อผ้าสวยงาม โพกผ้าแบบพม่าประดับด้วยมวยผมของบรรพบุรุษ และจึงพาลูกแก้วไปขอขมายังบ้านญาติผู้ใหญ่ จากนั้นจึงร่วมขบวนแห่โดยนั่งบนหลังม้าพร้อมด้วยเครื่องไทยทานไปตามถนนสายต่างๆ ในวันสุดท้ายลูกแก้วจะมารวมตัวกันที่วัดกู่เต้าเพื่อทำพิธีบวชสามเณรตามคติความเชื่อของชาวล้านนาที่เป็นไทใหญ่

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  917
208  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดมณเฑียร ชมวิหารสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ กราบพระพุทธรูปหินทราย เมื่อ: กันยายน 18, 2013, 11:27:35 PM
วัดมณเฑียร ชมวิหารสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ กราบพระพุทธรูปหินทราย

เชียงใหม่คือเมืองแห่ง “วัด” เพียงแค่พื้นที่เล็กๆ ในเขตกำแพงเมืองก็มีวัดรวมตัวกันอยู่หลายสิบวัด มีทั้งวัดเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก ไปจนถึงวัดขนาดใหญ่ที่ใครมาเชียงใหม่ต้องห้ามพลาด ว่ากันว่าถ้าตั้งเป้าหมายจะเที่ยววัดในเขตเมืองเก่าให้ครบ เวลาแค่วันเดียวอาจจะไม่พอ แต่ละวัดก็ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่น่าสนใจ สถาปัตยกรรม และงานศิลปะแบบล้านนาที่อ่อนช้อย งดงาม ใครที่รักงานศิลป์ล้านนาไม่ควรพลาด


"วัดมณเฑียร" ตั้งอยู่บริเวณคูเมืองด้านใน ใกล้กับประตูช้างเผือก ดูเผินๆ อาจเหมือนวัดสร้างใหม่ ไม่ได้เก่าแก่เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองแต่อย่างใด นักท่องเที่ยวไทยหลายคนจึงมองผ่านๆ ไม่ได้สนใจแวะเข้าไปเยี่ยมชมเท่าไรนัก แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน วิหารโครงสร้างสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ริมถนนมณีนพรัตน์นั้นโดดเด่นแปลกตามาก ภาพกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มแล้วกลุ่มเล่ากำลังกดชัตเตอร์อย่างเมามัน จึงเป็นภาพชินตาของผู้สัญจรผ่านไปมา

บรรยากาศวัดมณเฑียรจากถนนมณีนพรัตน์

วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1974 เป็นวัดแรกที่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ทรงสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ด้วยความศรัทธา พระองค์ และพระมหาเทวีทรงโปรดให้รื้อพระตำหนักราชมณเฑียรส่วนพระองค์มาสร้างเป็นวัดถวายแด่พระมหาญาณคัมภีร์มหาเถระ และคณะ ทรงพระราชทานนามพระอารามนี้ว่า "วัดราชมณเฑียร" และเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดมณเฑียร” ในภายหลัง


วัดราชมณเฑียรในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชเจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระองค์ และได้รับการทำนุบำรุงจากราชวงศ์มังรายสืบต่อกันมา อีกทั้งพระมหาญาณคัมภีร์ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดยังเป็นนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น และเป็นพระสงฆ์ที่มีคุณธรรมมากรูปหนึ่ง ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนชาวเชียงใหม่ทั่วไป และเจ้านายชั้นสูง เพราะท่านบำเพ็ญประโยชน์ยิ่งต่อพระพุทธศาสนา คือการทำนุบำรุง และเผยแผ่พระศาสนาในแผ่นดินล้านนาให้เจริญรุ่งเรือง ขยายไปไกลจนถึงแคว้นเชียงตุง ในพม่า และดินแดนสิบสองปันนา ในเขตประเทศจีนตอนใต้

วิหารหลวงวัดราชมณเฑียร (ถ่ายจากบันไดทางขึ้นวัดริมถนน)

เมื่อปี พ.ศ. 2543 วัดราชมณเฑียรได้รับการบูรณะครั้งใหญ่โดยการอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ และท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน พระวิหารหลวงสถาปัตยกรรมไทยล้านนา 2 ชั้นที่เห็นในปัจจุบันนี้สร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ตัวอาคารประดับด้วยลวดลาย ปูนปั้น   และลายคำแบบล้านนา สวยงามมาก ชั้นหนึ่งเป็นสถานที่ทำบุญของพุทธศาสนิกชน ส่วนชั้นที่สองใช้เป็นสถานที่ทำสังฆกรรมของพระภิกษุ และสามเณร

พระประธานหินทรายในวิหารหลวง ทรงเครื่องแบบล้านนา

ภายในพระวิหารมีภาพจิตรกรรมเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของพระมหาญาณคัมภีร์   ตั้งแต่เริ่มบวช เผยแผ่พระศาสนา สืบพระศาสนาไปยังศรีลังกา จนกระทั่งมาเผยแพร่ศาสนาในเมืองเชียงใหม่ นอกจากนี้ฝาผนังยังมีการวาดลวดลายคำ ซึ่งเป็นลายดอกไม้แบบโบราณ หาดูยาก ไว้อีกด้วย ซุ้มประตูหน้าพระวิหารประดับปูนปั้น และกระจกแก้วอังวะ ติดทองคำเปลว ลวดลายล้านนาประยุกต์ งดงามอ่อนช้อยมาก


"พระพุทธราชมณเฑียร" พระประธานในพระวิหารก็สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวสลักด้วยหินทราย ทรงเครื่องศิลปะล้านนา ปัจจุบันในเมืองเชียงใหม่มีพระพุทธรูปหินทรายที่วัดร่ำเปิงเท่านั้น พระมหาชัชวาล โชติธฺมโม เจ้าอาวาส นำหินทรายมาจากเมืองพะเยา


นอกจากความสวยงามอลังการแล้ว วัดมณเฑียรยังมีจุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่เหมือนกับวัดทั่วไปคือ บันไดทางขึ้นพระวิหารจะทอดยาวแทรกระหว่างกำแพงวัดลงไปยังฟุตบาท เพราะว่าหลังการบูรณะ พระวิหารมีขนาดใหญ่ขึ้น ทางขึ้นยาวออกไปถึงบริเวณประตูทางเข้าเดิมของวัด ตามความเชื่อของชาวล้านนาโบราณนั้นห้ามย้ายประตูวัด ทางวัดจึงสร้างบันไดขึ้นพระวิหารเชื่อมต่อกับประตูวัดไปในตัว

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903
209  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ – อีกหนึ่งวัดอุโมงค์กลางเมืองเชียงใหม่ กราบหลวงพ่อสมใจนึก ชมเจดีย์โบราณ เมื่อ: กันยายน 17, 2013, 11:38:47 AM
วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ – อีกหนึ่งวัดอุโมงค์กลางเมืองเชียงใหม่ กราบหลวงพ่อสมใจนึก ชมเจดีย์โบราณ

ช่วงเวลาที่เชียงใหม่เปียกม่อลอกม่อแลก ในหนึ่งสัปดาห์ครึ้มฟ้าครึ้มฝนไปเสียห้าวัน ทริปแม่สะเรียงที่ตั้งใจไว้เป็นอันต้องพับแผนเก็บไปโดยดุษณี เพราะฝนตก น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ เลยยังไม่คิดจะเสียดาย แต่กลัวเสียชีวิตมากกว่า ไว้ฟ้าใสเมื่อไรคงได้เจอกันแน่นอน เวลาที่เราต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่วนเวียนอยู่ในเมืองเชียงใหม่ จะปล่อยให้หมดไปกับการเดินห้าง ดูหนัง ก็กะไรอยู่ พักนี้เลดี้ ดาริกา จึงตระเวนวัดเสียทั่วเมือง เรื่องส่วนใหญ่ที่มาเขียนเล่าให้เพื่อนๆ ฟังก็มีแต่เจดีย์บ้าง อุโบสถบ้าง วิหารบ้าง ไปตามเรื่องตามราว อย่าเพิ่งเบ้หน้าหนีไปเสียก่อนนะคะ เพราะรับรองว่าสถานที่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ยังเป็นตัวเลือกดีๆ ที่น่าสนใจให้เพื่อนๆ ได้ลองไปเที่ยวกันดูเหมือนเดิม

รอบและเวลาเข้าชมหลวงพ่อสมใจนึก และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ตามนี้เลยค่ะ

ใครมาเมืองเชียงใหม่ก็อยากไป “วัดอุโมงค์” แต่ที่นั่นเขาเรียกอีกชื่อว่า “สวนพุทธธรรม” แต่วันนี้เราจะพาไปเยี่ยมชมวัดอุโมงค์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งน้อยคนที่จะรู้จัก วัดอุโมงค์แห่งนี้ชื่อว่า “วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์” หรือ “วัดโพธิ์น้อย” วัดเล็กๆ ในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง บนถนนราชภาคินัย ไม่ไกลจากวัดเชียงมั่นมากนัก บรรยากาศภายในวัดสงบเงียบ เหมาะเป็นสถานปฏิบัติธรรม

บ่อน้ำทิพย์ภายในวัด ไม่รู้ว่าใช้ทำอะไรเหมือนกันค่ะ

หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน คนในวงการท่องเที่ยว นักเดินทางตัวยงคงเคยได้ยินข่าว “พระพุทธรูปยิ้มได้” บ้างก็ว่าพระพุทธรูปเปลี่ยนพระพักต์ได้ถึง ๙ แบบตามอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ ยิ้ม ร้องไห้ น้ำตาไหล เป็นต้น พระพุทธรูปองค์นั้นคือ “หลวงพ่อสมใจนึก” หรือมีชื่อสวยๆ ว่า “พระพุทธเชียงแสนสิงห์หนึ่ง” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิแบนราบ พระประธานในพระอุโบสถของวัดแห่งนี้นั่นเอง ใครอยากเข้าชมพระพุทธรูปต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของวัดก่อน เพราะไม่ได้เปิดให้เข้าชมตลอดเวลา

พระอุโบสถประดิษฐานหลวงพ่อสมใจนึก

พระอุโบสถมีขนาดเล็ก ศิลปะแบบล้านนา ก่ออิฐถือปูน ลวดลายวิจิตรสวยงามมาก สร้างขึ้นพร้อมๆ กับการหล่อพระประธาน และการสร้างวัด ราวปี พ.ศ. ๑๘๓๙ – ๑๘๔๐

วิหารหลวงวัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์

พระวิหารของวัด (ด้านหน้าทางเขาวัด) เป็นอาคารศิลปะล้านนาขนาดกลาง โครงสร้าหลังคาแบบม้าต่างไหม สร้างทีหลังพระอุโบสถ ราวปี พ.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๑๔ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ องค์ประธาน (ใหญ่สุด) คือพระพุทธประฏิมากร หรือหลวงพ่อโต ปางมารวิชัย เกศาแบบเปลวเพลิง ปากแดง อิทธิพลศิลปะพม่า นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนขนาดเล็ก ประดิษฐานหน้าหลวงพ่อโตสามองค์ เรียกว่า “พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์สามแบบ” ทุกองค์อยู่ในท่าขัดสมาธิปางมารวิชัย รัศมีเป็นดอกบัวตูม ตามพุทธลักษณะแบบเชียงแสน

หมู่พระประธานในวิหารหลวง

เดินไปด้านหลังพระวิหาร มีเจดีย์ประธานทรงปราสาทแบบล้านนาสัดส่วนสวยงามมาก สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๑๖ ช่วงเวลาเดียวกับการสร้างวิหาร ยังมีพระเจดีย์อีกองค์หนึ่งที่เก่าแก่กว่ามาก ถือเป็นรูปแบบเจดีย์ยุคต้นของเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์วิหาร ได้เค้าแบบมาจากเจดีย์วิหารในพุกาม คือสามารถเข้าไปภายในเจดีย์ได้ ความลึกของอุโมงค์ที่ฐานเจดีย์ประมาณ ๖ เมตร ว่ากันว่าสร้างไว้ให้พระภิกษุเข้าไปนั่งวิปัสสนาภายใน ชาวบ้านเรียกเจดีย์นี้ว่า “เจดีย์อุโมงค์” ต่อมาในสมัยพระเจ้ากือนา กษัตรย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่ ๗ ทรงโปรดให้บูรณะพระเจดีย์ถวายแด่มหาเถรจันทร์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น และพระเจ้ากือนาทรงให้ความนับถือมาก วัดนี้จึงเปลี่ยนชื่อจาก “วัดโพธิ์น้อย” เป็น “วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์” ตั้งแต่นั้นมา

เจดีย์ประธานทรงปราสาทแบบล้านนา

เจดีย์อุโมงค์ ที่มาของชื่อวัดอุโมงค์ฯ

จากประวัติการสร้างตาม "คัมภีร์ธรรมปัญหาเถรจันทศรมณ์" วัดว่ากันว่าก่อตั้งเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๑๘๓๙ – ๑๘๔๐ พระมหากษัตริย์สามพระองค์ คือพญามังราย พญางำเมือง พ่อขุนรามคำแหงมหาราชร่วมกันสร้างวัดโพธิ์น้อยแห่งนี้ขึ้น หลังจากสร้างเมืองเชียงใหม่แล้วเสร็จ

อุโมงค์ภายในพระเจดีย์ ใช้เป็นที่นั่งวิปัสสนาในอดีต

มาถึงตรงนี้บางท่านอาจสงสัยว่าวัดอุโมงค์แห่งนี้เกี่ยวข้องกับวัดอุโมงค์ที่เชิงดอยสุเทพหรือไม้ ตอบได้เลยว่าตอนนี้ไม่เกี่ยวกันแล้วค่ะ แต่เมื่อก่อนสมัยที่พระมหาเถรจันทร์เป็นเจ้าอาวาส เมื่อหลายร้อยปีมาแล้วท่านเป็นเจ้าอาวาสทั้งสองวัด เรื่องมีอยู่ว่าพระเจ้ากือนา (ผู้บูรณะพระเจดีย์อุโมงค์นั่นแหละค่ะ) ทรงทราบว่าพระมหาเถรจันทร์ชอบไปจำวัดอยู่ที่วัดไผ่สิบเอ็ดกอ ที่เชิงดอยสุเทพ ด้วยศรัทธาพระองค์จึงตามไปสร้างอุโมงค์ใหญ่กว่าเดิม สวยกว่าเดิม ที่วัดแห่งนั้นให้ด้วย เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำวิปัสสนากรรมฐาน ฝึกปฏิบัติธรรมของพระภิกษุทั้งหลาย และกลางมาเป็นวัดอุโมงค์ “สวนพุทธธรรม” ที่เชิงดอยสุเทพอย่างทุกวันนี้


หน้าฝนแบบนี้เชียงใหม่ก็ยังเที่ยวได้ สนุกด้วย และอากาศดีมาก (ถ้าฝนไม่ตก) ใครลังเลว่าจะมาเชียงใหม่ดีหรือไม่ ตอบเลยว่ามาเถอะค่ะ เชียใหม่มีอะไรน่าสนใจให้เที่ยวมากมาย เดินชมวัดในเขตเมืองเก่า สัมผัสอดีตอันรุ่งเรืองแค่นี้ก็เพลินมากแล้วล่ะค่ะ ใครชอบวัดวาอาราม อย่าลืมแวะไปกราบพระที่วัดอุโมงค์กลางเมืองนี้ด้วยนะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  916


210  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / เยือน “วัดแสนฝาง” กราบพระเจดีย์ชเวดากองแห่งนครเชียงใหม่ ชมสถาปัตยกรรมล้ำค่าที่ถูกลืม เมื่อ: กันยายน 16, 2013, 11:44:54 PM
เยือน “วัดแสนฝาง” กราบพระเจดีย์ชเวดากองแห่งนครเชียงใหม่ ชมสถาปัตยกรรมล้ำค่าที่ถูกลืม

ถนนท่าแพเป็นถนนอีกสายหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ที่มีวัดตั้งเรียงรายอยู่ตลอดสองฟากฝั่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมงดงาม ดึงดูดให้ผู้สัญจรไปมาทั้งชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ หนึ่งในวัดบนถนนสายเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่นี้ คือวัดแสนฝาง ซึ่งแตกต่างจากวัดอื่น เพราะมีกำแพงสูงใหญ่ล้อมรอบ จนหากใครไม่ได้สังเกตก็จะไม่ทราบเลยว่าเป็นบริเวณวัด

ทางเข้าวัดจากทางถนนท่าแพ ขนาบด้วยพญานาค

ประวัติการสร้างวัดกล่าวว่าพระอารามแห่งนี้สร้างในรัชสมัยของพญาแสนภู กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์มังราย ในปี พ.ศ. 2119  เดิมเรียกกันว่า “วัดแสนฝัง” โดยคำว่า “แสน” มาจากพระนามของพญาแสนภู ส่วนคำว่า “ฝัง” มาจากพระราชศรัทธาตามแบบบรรพกษัตริย์ ที่นิยมฝังพระราชทรัพย์ไว้พร้อมกับการสร้างวัดด้วย เพื่อสั่งสมบุญกุศล ในอดีตวัดแสนฝางเป็นวัดที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระบรมวงศานุวงศ์นิยมเสด็จมาปฏิบัติธรรมรักษาศีลกันอยู่เสมอ จึงได้รับการอุปถัมภ์จากพระราชวงศ์เป็นอย่างดีตลอดมา ดังที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในแผ่นจารึกไม้สักของวัด

พระเจดีย์มงคลแสนมหาชัย ชเวดากองแห่งนครเชียงใหม่

โบราณสถานที่สำคัญภายในวัดคือ “พระเจดีย์มงคลแสนมหาชัย”  เจดีย์ก่ออิฐถือปูนสีขาวศิลปะพม่า ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อส่วนเก็จแคบ กว้าง 18.7 เมตร สูง 49 เมตร เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ องค์ระฆังตกแต่งด้วยกระเบื้องสีเป็นลวดลายพรรณพฤกษา อ่อนช้อย และงดงามมาก ปลียอดประดับด้วยฉัตรสีทองตามแบบไทยใหญ่-พม่า ที่ฐานมีเจดีย์ขนาดเล็กประดับอยู่ทั้งสี่มุม ต่ำลงมามีปูนปั้นรูปนรสิงห์คอยอารักขาทั้ง 4 ทิศ ทิศละ 4 ตัว พระเจดีย์มีรั้วล้อมรอบ แสดงให้เห็นอิทธิพลศิลปะพม่าอย่างชัดเจน พระเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างวัด ภายหลังพระครูบาโสณโณเถระได้บูรณะองค์พระเจดีย์ โดยตั้งใจให้มีลักษณะคล้ายพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ในนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า

วิหารลายคำ ลวดลายวิจิตรงดงามมาก

พระวิหารลายคำ  เป็นวิหารที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (ราชวงศ์พระเจ้าเจ็ดตน) องค์ที่ 7 และเจ้าทิพเกสรราชเทวี (พระราชบิดาและพระราชมารดาในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี) โปรดให้รื้อพระตำหนักของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 ลง แล้วนำมาถวายวัดเมื่อ พ.ศ. 2420  โดยให้ปรับปรุงดัดแปลงสร้างเป็นวิหารปิดทองล่องชาดทั้งหลัง เมื่อแล้วเสร็จจึงโปรดให้ฉลองสมโภชพระวิหารในปี พ.ศ. 2421 วิหารหลังนี้สร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาเตี้ย และลาดต่ำ ประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลัก และปูนปั้นปิดทอง หน้าบันตกแต่งด้วยไม้แกะสลักลายก้านขด และสัตว์หิมพานต์ขนาดความยาว 49 เมตร กว้าง 12 เมตร

หอไตรหลังเก่าวัดแสนฝาง

หอไตรหลังเก่า สร้างเมื่อ พ.ศ.2412 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนทำด้วยไม้ รูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ระเบียงและเสาเป็นไม้ฉลุงดงามมาก หน้าบันเป็นไม้แกะสลัก ประดับกระจกสี

พระอุโบสถพระราชชายาเจ้าดารารัศมี

พระอุโบสถของวัด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2453 โดยพระราชศรัทธาของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นอาคารตึกโครงสร้างสองชั้นร่วมสมัย หาชมยาก ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ชายคาประดับด้วยไม้ฉลุแบบขนมปังขิง ส่วนชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ลวดลายวิจิตร

วัดแสนฝางถือเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมงดงามมากอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ยิ่ง แต่ภายในบริเวณวัดกลับไม่ค่อยได้รับการดูแลเท่าที่ควร ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก กำแพงสูงที่ล้อมรอบวัดไว้อย่างมิดชิด ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมน้อยมากหากเทียบกับวัดอื่นในเมืองเชียงใหม่ ทั้งๆ ที่มีสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์งดงามไม่น้อยหน้าใครทีเดียว หากใครมีโอกาสมาเยือนเชียงใหม่ หรือชาวเชียงใหม่ที่เดินเล่นบนถนนท่าแพ อย่าลืมลองเข้าไปกราบพระเจดีย์ และเยี่ยมชมความงดงามของหมู่อาคารภายในวัดแสนฝางกันดูสักครั้ง แล้วคุณจะพบว่าในเมืองเชียงใหม่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ น่าสนใจให้เราได้เยี่ยมชมอีกมาก

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  908
211  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ชมพระธาตุเจดีย์ทรงพิเศษหนึ่งในสามของเมืองเชียงใหม่ เมื่อ: กันยายน 15, 2013, 10:33:47 PM
วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ชมพระธาตุเจดีย์ทรงพิเศษหนึ่งในสามของเมืองเชียงใหม่

ในวันที่ฝนตกพรำๆ เสียงสวดมนต์เบาๆ เสียดแทรกขึ้นมาในความสงบเงียบ หญิงวัยกลางคนในชุดนุ่งขาวห่มขาว ข้างๆ มีพานทองใส่ดอกบัวสีขาวบริสุทธ์กำลังสวดมนต์อยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธานของวัด ความสงบสงัดของวัดแห่งนี้ทำให้ที่นี่เหมาะสำหรับปฏิบัติธรรม ภาพสตรีนุ่งขาวห่มขาว หรือผู้ปฏิบัติธรรมภายในวัดจึงเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศภายในวัดไปเสียแล้ว

วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ตั้งอยู่บนถนนเลียบคลองชลประทาน ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ วิธีการเดินทางไม่ยากนัก เพียงขับรถออกจากเขตเทศบาลไปทางทิศใต้ ตามถนนเลียบคลองชลประทาน ขับเลยกาดต้นพยอมไปประมาณ 3 กิโลเมตร จะเจอป้ายบอกทางให้กลับรถ ขับกลับเข้ามาทางตัวเมืองอีกเล็กน้อย จะเห็นป้ายบอกทางเข้าวัด ทางเข้าเป็นซอยเล็กๆ ด้านซ้ายมือ

พระวิหารวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม)

วัดร่ำเปิงเป็นวัดโบราณมีอายุเก่าแก่กว่า 500 กิโลเมตร ตามประวัติซึ่งบันทึกไว้ในพงศาวดารโยนก กล่าวว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมับพระยอดเชียงราย แห่งราชวงศ์มังราย ในปี พ.ศ. ๒๐๓๕ โดยให้ขุดรื้อพัทสีมาเก่าขึ้นมาชำระ แล้วผูกพัทสีมาใหม่

หอไตรนานาชาติภายในบริเวณวัด


ตำนานการสร้างวัดกล่าวว่ามีพระธุดงค์รูปหนึ่งปักกลดบริเวณที่ตั้งวัดร่ำเปิงในปัจจุบัน วันหนึ่งท่านเห็นรัศมีสว่างบริเวณต้นมะเดื่อใหญ่ จึงสงสัยว่าอาจมีพระธาตุประดิษฐานอยู่ เมื่อกราบทูลพระยอดเชียงราย พระองค์ทรงอธิษฐานว่าหากบริเวณนั้นมีพระธาตุจริง ขอให้ช้างพระที่นั่งที่กำลังทรงอยู่ไปหยุด ณ ที่นั่น แล้วคำอธิษฐานก็เป็นจริง ช้างพระที่นั่งเชือกนั้นเดินไปหยุดที่ใต้ต้นมะเดื่อ พระองค์จึงโปรดให้ขุดดินบริเวณดังกล่าว และพบพระเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ในผอบดินเผาแบบเชียงแสน หลังจากจัดพีธีสมโภช แล้วบรรจุลงในผอบทองอันใหม่แล้ว จึงนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณนั้น แล้วจึงโปรดให้มีการจารึกประวัติการสร้างวัดลงในศิลาจารึก ด้วยอักษรฝักขามของไทยยวน โดยมีพระนางอะตะปาเทวี พระมเหสี เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายมหาเถระ และฝ่ายพลเรือน พร้อมกันนี้พระนางก็โปรดให้สร้างพระพุทธรูปประธาน พระพุทธรูปประดิษฐในซุ้มเจดีย์ พระไตรปิฎก และโปรดพระราชทานที่นา เงินทอง เป็นจำนวนมหาศาล วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดตโปทาราม” ตามชื่อพระนางอะตะปาเทวีนั่นเอง

พระเจดีย์ธาตุบรรจุพระเขี้ยวแก้ว

จุดสำคัญของวัดแห่งนี้คือพระมหาธาตุเจดีย์รูปทรงแปลกตา มีตัวเรือนธาตุทรงกลมซ้อนกันเจ็ดชั้น แต่ละชั้นเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป เจดีย์ลักษณะพิเศษแบบนี้ในเชียงใหม่ปรากฏเพียงสามแห่งเท่านั้น องค์หนึ่งคือที่วัดร่ำเปิงแห่งนี้ ส่วนอีกสององค์คือเจดีย์วัดพวกหงส์ และที่วัดเจดีย์ปล่องเท่านั้น

รอยพระพุทธบาทจำลอง

บรรยากาศภายในวัด สงบและร่มรื่นมาก

วัดร่ำเปิงเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของภาคเหนือ มีชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมมาปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง ภายในวัดเงียบสงบมาก หากมีโอกาสมาเยี่ยมเยือนวัดแห่งนี้ นักท่องเที่ยวต้องพึงระวังสำรวมกริยา และไม่กระสำสิ่งใดที่อาจเป็นการรบกวนผู้ปฏิบัติธรรม ส่วนใครที่สนใจปฏิบัติธรรมก็สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานด้านหน้าทางเข้าวัด

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  904
212  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / แนะนำ ร้านกาแฟ ชา เบเกอรี่ เค้ก ขนม ไอศกรีม อาหารว่าง ของทานเล่น ในเชียงใหม่ / “Inbox Coffee Bar” จิบกาแฟเบาๆ ชิวเอาท์ในตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อ: สิงหาคม 30, 2013, 12:19:38 AM
“Inbox Coffee Bar” จิบกาแฟเบาๆ ชิวเอาท์ในตู้คอนเทนเนอร์

Inbox Coffee Bar ร้านกาแฟน้องใหม่ ทางเข้ากองบิน 41 หลังตลาดต้นพะยอม

ช่วงนี้ฝนตกบ่อยๆ ไปเที่ยวไหนก็ไม่ค่อยสะดวก (แต่ก็ยังเที่ยวนะคะ :)) วันนี้เลดี้ ดาริกา เลยจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักร้านกาแฟน้องใหม่ แต่รสชาติกาแฟไม่เป็นรองใคร (แอบใส่ความเห็นส่วนตัวนิดหน่อย เพราะบังเอิญรสชาติกาแฟถูกกับรสนิยมเราค่ะ) เหมาะกับการใช้เวลายามว่างในวันฝนตก เป็นอีกร้านกาแฟตัวเลือกหนึ่งสำหรับเพื่อนๆ ที่หลงรักกาแฟ และกำลังมองหาร้านกาแฟใหม่ๆ ไปลิ้มลองกันได้ค่ะ (เจ้าของกระทู้เป็นแฟนลาเต้ค่ะ :))

บรรยากาศในร้านตกแต่งเก๋ไก๋ น่านั่งมาก

ใครอยากจะนั่งชิวรับแดดนอกร้านก็มีนะ

Inbox Coffee Bar อยู่ใกล้ทางเข้ากองบิน ด้านตลาดต้นพะยอม หากมาจากทางถนนนิมมานฯ เมื่อถึงสามแยก เลี้ยวขวา จะเจอแยกเข้ากองบินอีกทีหนึ่ง (แยกโรงแรมพิงค์พะยอม) หากใครมาทางโรงพยาบาลมหาราชก็ตรงเลยสามแยกมาเลยค่ะ ร้านสังเกตง่ายค่ะ อยู่ด้านซ้ายมือก่อนเข้ากองบิน เห็นตู้คอนเทนเนอร์หลากสีล่ะก็ เลี้ยวเข้าไปเลย นั่นล่ะค่ะ “Inbox Coffee Bar”

เมนูกาแฟให้คุณเลือกตามใจ

ความประทับใจแรกของร้านนี้คือบรรยากาศแปลก และแตกต่างค่ะ ที่นี่มีดีไซน์เก๋ไก๋ โดยนำตู้คอนเทนเนอร์หลากสีสันมาประยุกต์ทำเป็นตัวอาคาร ใครกลัวว่านั่งในตู้คอนเทนเนอร์จะอึดอัดคงต้องลองไปสัมผัสกันดูค่ะ เพราะถึงแม้จะใช้ตู้คอนเทนเนอร์เป็นวัสดุหลัก แต่การปรับเปลี่ยนด้านข้างให้เป็นกระจกบานใหญ่ ทำให้บรรยากาศน่านั่ง ดูโปร่งสบายมากทีเดียว มีที่นั่งชิวๆ ทั้งด้านใน และด้านนอก สำหรับคนที่ชอบอากาศจริงๆ ไม่ใช่เครื่องปรับอากาศ

ของหวานยามว่าง :)

ใครแวะผ่านมา Inbox Coffee Bar แวะเข้ามานั่งเล่น ที่นี่มีกาแฟ และเครื่องดื่มอื่นๆ ให้ลิ้มลอง ราคาร้านกาแฟปกติค่ะ ไม่ได้แพงพิเศษ เครื่องดื่มร้อน 45 – 55 บาท เครื่องดื่มเย็น 50 – 65 บาท และเครื่องดื่มปั่น 70 – 75 บาท จะดื่มควบคู่ไปกับของหวานที่นี่ก็มีให้เลือกนะคะ สำหรับของหวานซิกเนเจอร์ของที่นี่ แนะนำ “Inbox Toast” เจ้าของกระทู้ไม่ได้ลองสั่งมารับประทาน ใครผ่านไปลองชิม อย่าลืมมาเล่าให้ฟังนะคะว่าเป็นอย่างไร สำหรับเจ้าของกระทู้คิดว่าที่นี่ลงตัวทีเดียวค่ะ จะมีติดอยู่ก็แค่เมนูยังไม่ค่อยหลากหลายเท่าไร ถ้ามีอะไรแปลกๆ ที่โดดเด่นจากร้านกาแฟทั่วไปให้เราเลือกก็คงจะดีไม่น้อย (เป็นพวกชอบลองอะไรใหม่ๆ :)

กาแฟเย็นๆ สักแก้ว ในวันฟ้าปิด

Snooze Box Hotel :)

นอกจากจะเป็นร้านกาแฟเก๋ไก๋แล้ว บนดาดฟ้าของร้าน ตอนเย็นๆ จนถึงค่ำเห็นว่าเป็ดเป็นบาร์เบียร์ด้วย ใครเป็นคอเบียร์จะลองไปสัมผัสบรรยากาศ แล้วมาเล่าสู่กันฟังก็ได้ แต่สำหรับเราต้องขอบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่ะ ในโซนตู้คอนเทนเนอร์ ชั้นสองยังมีที่พักเก๋ๆ ด้วยนะคะเรียกว่า “Hotel Snooze Box”


เลดี้ ดาริกา ขอจบรีวิวร้านกาแฟไว้แค่นี้นะคะ ไปลองนั่งเล่น จิบกาแฟกันดู แล้วมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ


เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  906
213  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วิหารไม้วัดปราสาท...ความงดงามกลางเมืองเชียงใหม่ เมื่อ: สิงหาคม 28, 2013, 12:37:15 AM
วิหารไม้วัดปราสาท...ความงดงามกลางเมืองเชียงใหม่

ภายในคูเมืองเชียงใหม่เป็นที่ตั้งวัดวาอารามมากมาย แต่วัดที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้จักมีเพียงวัดที่มีชื่อเสียงไม่กี่แห่งเท่านั้น วัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง ถือเป็นวัดที่มีชื่อเสียงที่สุด ใครมาเชียงใหม่ก็มักต้องไปเยือน (เป็นโปรแกรมภาคบังคับสำหรับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ก็ว่าได้)   แต่ก็คงจะน่าเสียดายไม่น้อย หากมาเยือนเมืองเอกแห่งล้านนาทั้งที แล้วไปเพียงไม่กี่วัด ทั้งๆ ที่ยังมีวัดที่น่าสนใจอีกหลายแห่งอยู่ทั่วทุกทิศในเมืองเชียงใหม่ ครั้งนี้ขอพาผู้อ่าน และนักเดินทางที่หลงใหลความงามเชิงพุทธศิลป์ไปเปิดหูเปิดตากับวัดแห่งอื่นกันบ้างนะคะ วัดนี้อาจเป็นเพียงวัดธรรมดาๆ ที่นักท่องเที่ยวชอบผ่านไปผ่านมา ทั้งๆ ที่วัดแห่งนี้ทีเด็ด เป็นวิหารไม้ทรงล้านนาหลังงาม และพระพุทธรูปปากแดงองค์ใหญ่ในพระวิหาร วันนี้เราจะไปเที่ยว “วัดปราสาท” กันค่ะ

กู่ประดิษฐานพระประธานในพระวิหาร ก่ออิฐถือปูน ทรางปราสาท ที่มาของชื่อวัด

บรรยากาศร่มรื่นข้างวิหารไม้ของวัด

หลายคนกำลังสงสัยว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ไหน? ใครอยากไปเที่ยวที่นี่ก็ไม่ยากเลยค่ะ เหมือนเส้นผมบังภูเขา อยู่ข้างๆ วัดพระสิงห์วรวิหาร สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของเมืองเชียงใหม่นี่เอง ก่อนอื่นมาทำความรู้จักที่มาที่ไปของวัดแห่งนี้กันนะคะ วัดปราสาท เป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มาแต่ครั้งเก่าก่อน ไม่ได้สร้างใหม่แต่อย่างใด เพราะปรากฏชื่ออยู่ในหลักศิลาจารึกของวัดตะโปธาราม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรือง รัชสมัยของพญายอดเชียงราย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2035  ต่อมาในปี 2133 ในรัชสมัยของพญาหลวงแสนคำ พระองค์โปรดให้หล่อพระเจ้าหมื่นทอง พระพุทธรูปทองคำสำริด  เพื่อประดิษฐานภายในวัด (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในกู่ก่ออิฐถือปูนด้านในวิหารไม้ของวัด) ต่อมาในสมัยของเจ้าหลวงธรรมลังกา เมื่อปี พ.ศ. 2366 ได้มีพระราชประสงค์ให้บูรณะวัดปราสาท โดยโปรดฯ ให้พระยาหลวงสามล้าน สร้างพระวิหารขึ้น ซึ่งก็คือพระวิหารหลวงของวัดที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

วิหารไม้ศิลปะล้านนา จุดที่น่าสนใจของวัด

ลวดลายของหน้าบรรณพระวิหาร

ที่มาของชื่อวัดนั้นมาจากกู่มณฑปทรงปราสาทก่ออิฐถือปูน ซึ่งตั้งอยู่ด้านในสุด ติดกับตัวอาคารพระวิหาร ซึ่งถือเป็นรูปแบบการสร้างพระอุโบสถและพระวิหารโบราณ และยังหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในปัจจุบัน ภายในวิหาร ฝาผนังประดับด้วยจิตกรรมลายรดน้ำ เขียนสีทอง เป็นเรื่องราวพระพุทธประวัติ ด้านใจสุดของพระวิหารมีซุ้มประตูโขงติดกับฐานชุกชี สร้างเป็นซุ้มโค้งสองชั้น ประดับด้วยฝาชามเบญจรงค์ เมื่อเข้าไปภายในคือส่วนของกู่มณฑปทรงปราสาท เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพักเปื้อนรอยยิ้ม ทำให้ผู้มองรู้สึกอบอุ่นใจ ด้านบนเพดานจะเห็นโครงสร้างของหลังคาวิหารโปร่งโล่ง สบายตา การเรียงคานไม้ประณีต สวยงาม ตามแบบล้านน้าแท้ เรียกโครงสร้างลักษณะนี้ว่า “ม้าต่างไหม” ได้ชื่อมาจากลักษณะการถ่ายน้ำหนักบรรทุกสินค้าบนหลังม้าของพ่อค้าม้าต่างบนเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นโครงสร้างที่สืบทอดมามากกว่า 600 ปี

พระเจ้าหมื่นทอง ในกู่ทรงปราสาท สงบงาม และเยือกเย็นมาก

การตกแต่งซุ้มประตูของกู่ภายในพระวิหาร สวยงามอ่อนช้อยมาก

นอกจากโครงสร้างภายในที่สวยงามแล้ว ภายนอกพระวิหารก็วิจิตรไม่แพ้กัน นับตั้งแต่ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ โดยเฉพาะหน้าบรรณ แกะสลักเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดี และลวดลายดอกไม้นานาพรรณ ประดับด้วยกระจกสีสวยงาม แม้แต่ต้นเสาก็ยังแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ทั้งต้น จึงนับว่าเป็นพระวิหารที่สร้างอย่างประณีตใน ให้ความใส่ใจกับทุกๆ ลายละเอียดเลยทีเดียว

ภาพเขียนสีด้านในวิหาร

พระพุทธรูปไม้ศิลปะพม่าประดับกระจก งดงามมาก

ด้านหน้าพระวิหารไม้ ยังมีวิหารก่ออิฐถือปูนอีกหลังหนึ่งมีการตกแต่งอาคารและลวดลายปราณีตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่เสียดายที่บางทีอาจปิดไว้ ไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมชมในอาคารได้ ด้านข้างพระวิหารไม้มีศาลาไม้สร้างอย่างง่ายๆ ขนานกับแนวกำแพง ในศาลามีพระพุทธรูปไม้แกะสลักยืน สูงเท่าคนจริง ศิลปะแบบพม่า ประดับกระจกสี สวยงามมาก

บรรยากาศภายในวัด สงบเงียบมาก

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้มาเยือนประทับใจคือความเป็นระเบียบ และความสะอาดภายในวัด ที่บริหารพื้นที่ได้ดีมาก สวยงาม หากมาเที่ยวเชียงใหม่แล้วพอมีเวลา ลองแวะไปวัดปราสาทนะคะ ใช้เวลาไม่มาก ยิ่งยามเย็นๆ มีกลิ่นลั่นทมหอมๆ บริเวณลานวัด ยิางมีเสน่ห์ค่ะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริืกา  903
214  แนะนำสถานที่น่าเที่ยวในภาคเหนือ / แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในภาคเหนือ / “วัดอนาลโยทิพยาราม” ธรรมสถานอันเงียบสงบบนยอดดอยบุษราคัม เมื่อ: สิงหาคม 07, 2013, 12:39:27 AM
“วัดอนาลโยทิพยาราม” ธรรมสถานอันเงียบสงบบนยอดดอยบุษราคัม

พูดถึงเมืองพะเยา นอกจากกว๊านพะเยาทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดในประเทศอันเลื่องชื่อแล้ว หลายคนคงยังนึกสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ไม่ออก เนื่องจากพะเยาเป็นเมืองทางผ่านสู่จังหวัดเชียงราย เมืองท่องเที่ยวสำคัญเหนือสุดแดนสยาม หลายคนจึงมองข้ามจังหวัดเล็กๆ เงียบสงบแห่งนี้ ทั้งๆ ที่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่งรอคอยผู้มาเยือน วันนี้ เลดี้ ดาริกา ขอนำเสนอ “วัดอนาลโยทิพยาราม” แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งของเมืองพะเยา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเพื่อนๆ นักเดินทาง

วัดอนาลโยทิพยาราม บนดอยบุษราคำ เมืองแพร่

วัดอนาลโยทิพยาราม ตั้งอยู่บ้านสันป่าบง บนดอยบุษราคัม ภูเขาทางทิศตะวันตกของกว๊านพะเยา ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร เนื่องจากตั้งอยู่บนยอดเขา บริเวณวัดจึงร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาชนิด ที่ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป บรรยากาศในบริเวณวัดเงียบสงบ เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

วัดแห่งนี้เต็มไปด้วยประติมากรรมพญานาค

พระพุทธเมตตานภาวิสุทธิมงคล

จากบริเวณลานจอดรถเชิงเขาที่มีร้านขายของที่ระลึกเรียงรายให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อหา เราเดินทางขึ้นไปบริเวณวัดบนยอดเขาได้สองวิธี ใครมีกำลังวังชาหน่อย อยากจะสัมผัสความสงบสงัดของธรรมชาติให้ใกล้ชิด ก็เดินขึ้นทางบันไดหน้าวัด ผ่านซุ้มประตูโขงศิลปะแบบล้านนา บันไดไม่ชันมาก แต่ระยะทางไกลพอสมควร ผ่านแนวป่าเบญจพรรณที่บางฤดู ใบไม้ก็จะร่วงปกคลุมหนา นักท่องเที่ยวต้องระวังสัตว์อันตรายจำพวกแมงป่อง หรืองูด้วยนะคะ เนื่องจากเป็นป่า บางครั้งไม่มีผู้เก็บกวาดใบไม้ เนื่องจากปริมาณมาก ทำให้อาจมีสัตว์มีพิษพวกนี้ขดตัวแฝงอยู่ (ถ้าโชคดีบันไดเก็บกวาดสะอาด ก็น่าเดินนะคะ เพราะบรรยากาศดี) อีกวิธีหนึ่งค่อนข้างสะดวก สำหรับใครที่มีรถ สามารถขับรถไปตามถนนลาดยางสู่บริเวณวัดบนยอดเขาได้ หรือใครอยากเดิน แต่ใช้ทางเดินตามถนนลาดยางก็ไม่ว่ากัน เส้นทางค่อนข้างชันหน่อย

วงเวียน ๑๒ นักษัตร ใครตั้งเหรียญบนปีเกิดของตัวเองได้ เชื่อว่าจะโชคดี

วัดแห่งนี้สร้างโดยพระอาจารย์ไพบูลย์ สมังคโล เนื่องจากท่านนิมิตเห็นทรายทองไหลลงมาอาบวัดที่ท่านจำพรรษาอยู่ในขณะนั้นจนแทบจะกลายเป็นวัดทองคำ ลำแสงสีทองนั้นพาดยาวไปยังยอดเขาอีกฝากหนึ่งของกว๊านพะเยา หลังจากนิมิตนั้นก็มีญาติโยมมาอาราธนาไปดูสถานที่แปลกประหลาด เนื่องจากชาวบ้านมักมองเห็นแสงสว่างเหลืองสดดวงกลมๆ ลอยอยู่บริเวณยอดเขาแห่งนั้น บางครั้งก็มีรัศมีสีเหลืองสดอาบบนยอดเขาราวกับทองคำ เพื่อหวังจะสร้างเป็นสำนักสงฆ์ไว้เป็นที่บำเพ็ญกุศลของชาวบ้านละแวกนั้น หลังจากพระอาจารย์ดูสถานที่แล้วเห็นว่าเป็นที่เงียบสงบเหมาะแก่การเจริญเมตาภาวนา จึงสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นบริเวณยอดดอยนี้ โดยสมเด็จพระญาณสังวรฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ แต่อุปสรรคใหญ่ประการหนึ่งคือการขาดแคลนน้ำ เมื่อท่านได้รับอาราธนาไปเจริญพระพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรม ทรงมีพระราชปฏิสันถารว่า “ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์ได้ไปสร้างสำนักสงฆ์บนเขาสูงที่จังหวัดพะเยาทางฟากกว๊าน คงจะขาดแคลนน้ำ ไม่เป็นไรผมจะปรึกษากรมชลประทานให้”

มุมเล็กๆ อีกมุมหนึ่งในบริเวณวัด

ประติมากรรมไม้แกะสลักรูปเทวดา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดแห่งนี้ เพื่อเยี่ยมนมัสการพระอาจารย์ไพบูลย์ สมังคโล เมื่อวันพุธที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๒๗ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งนั้นทรงสนทนาธรรม และเสวยพระกายาหารค่ำ ณ ที่ประทับรับรองของสำนักสงฆ์ เป็นที่สำราญพระราชหฤทัยยิ่ง ครั้งนั้นพระองค์ได้มีพระราชดำริกับกรมชลประทานให้จัดสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ต๋อม และอ่างเก็บน้ำห้วยทับช้าง เพื่อผันน้ำไปใช้บนสำนักสงฆ์ และจ่ายไปยังไร่นาของราษฎรบริเวณใกล้เคียง

พระพุทธรูปนาคปรกองค์ใหญ่ใต้ร่มเงาไม้

บรรยากาศร่มรื่น และเงียบสงบ

วัดอนาลโยทิพยารามมีบริเวณกว้างขวางถึง 2,800 ไร่ ภายในบริเวณวัดมีสถานที่ที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ วงเวียน ๑๒ นักษัตร เชื่อว่าใครสามารถตั้งเหรียญได้บนแถบปีเกิดของตนได้จะมีโชคลาภ และประสบผลสำเร็จดังใจหวัง จากบริเวณประตูทางเข้าวัดบนยอดเขามีประติมากรรมปูนปั้นต่างๆ ที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมตลอดทาง วิหารพระพุทธรูปนาคปรก พระเจดีย์พุทธคยาจำลอง และวิหารพระแก้วบุษราคัมล้วนเป็นสถานที่ที่น่าไปเยี่ยมชมทั้งสิ้น โดยเฉพาะ “วิหารพระแก้วบุษราคัม” นอกจากจะได้กราบนมัสการพระแก้วบุษราคัม พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพะเยาแล้ว บริเวณนี้ยังมีลานชมวิวที่สามารถมองเห็นกว๊านพระเยาในมุมที่สวยงามที่สุดอีกมุมหนึ่งได้ด้วย

วิหารพระแก้วบุษราคัม

การมาเยือนเมืองพะเยาครั้งต่อไปของคุณ อย่าลืมแวะมาทำบุญไหว้พระกันที่วัดอนาลโยทิพยาราม นอกจากอิ่มบุญอิ่มใจกันแล้ว ยังได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ พักผ่อนใต้แมกไม้ และความเงียบสงบอีกด้วย

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  916
215  ข้อมูล ทริปการเดินทาง ที่พัก โรงแรม ปาย แม่ฮ่องสอน / แม่ฮ่องสอน ท่องเที่ยว / “พระธาตุดอยกองมู” นมัสการพระธาตุ นั่งกินลมชมพระอาทิตย์ตกดินกลางเมืองแม่ฮ่องสอน เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2013, 12:53:31 PM
“พระธาตุดอยกองมู” นมัสการพระธาตุ นั่งกินลมชมพระอาทิตย์ตกดินกลางเมืองแม่ฮ่องสอน

การเดินทางไปเมืองแม่ฮ่องสอนในอดีตลำบากยากเย็นอย่างไร ทุกวันนี้แม้เทคโนโลยีจะทำให้ทุกๆ พื้นที่ในโลกนี้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่การเดินทางไปเมืองในหุบเขาที่ต้องผ่านโค้งกว่าพันโค้งก็ยังคงลำบากยากเย็นพอสมควรอยู่ดี สำหรับคนรักการเดินทางแบบลุยถึงไหนถึงกันแล้ว คงจะไม่พลาดมาเยี่ยมเยือนแม่ฮ่องสอนแน่ๆ

“แม่ฮ่องสอน” อาจเป็นปลายทางที่นักท่องเที่ยวหลายๆ คนมองข้าม เมื่อพูดถึงเมืองในหุบเขาแห่งนี้ “ปาย” อำเภอที่เคยเล็ก และเงียบสงบของจังหวัดแม่ฮ่องสอนดูจะเป็นที่รู้จักกันมากกว่าในหมู่นักท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่เมืองแม่ฮ่องสอนมีสิ่งที่น่าสนใจไม่ได้น้อยไปกว่าเมืองไหนๆ ในภาคเหนือเลย หรือนี่อาจเป็นข้อดีที่ทำให้เมืองในหุบเขาอย่างแม่ฮ่องสอน รอดพ้นจากกองทัพนักท่องเที่ยวที่นำรายได้มหาศาลมาให้ แต่ก็ต้องแลกกับความเสื่อมโทรมลงตามการใช้งาน


พระธาตุดอยกองมูทั้งสององค์ ศิลปะไทใหญ่-พม่า สัญลักษณ์สำคัญของเมืองแม่ฮ่องสอน

มาถึงแม่ฮ่องสอนทั้งทีก็ต้องขึ้นไปสักการะพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองบนยอดเขากลางเมือง “พระธาตุดอยกองมู” คำว่า “กองมู” เป็นภาษาไทใหญ่แปลว่า “พระเจดีย์” “ดอยกองมู” จึงหมายถึงยอดเขาที่มีพระเจดีย์ตั้งอยู่ ดังนั้นการเรียกชื่อ “พระธาตุดอยกองมู” จึงดูเหมือนชื่อที่มีความหมายซ้ำซ้อน แต่ก็เป็นชื่อเรียกกันจนติดปาก และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยว เดิมชาวแม่ฮ่องสอนเรียกพระอารามบนเขาแห่งนี้ด้วยคำง่ายๆ ว่า “วัดปลายดอย”

อีกมุมหนึ่งของวัดพระธาตุดอยกองมู งดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่-พม่า

เราใช้เวลาอ้อยอิ่งขับมอเตอร์ไซค์ชมบรรยากาศเมืองแม่ฮ่องสอนกันพอสมควร เพราะตั้งใจจะขึ้นไปนมัสการพระธาตุในช่วงบ่ายคล้อย ถือโอกาสชมพระอาทิตย์ตกบนยอดดอยไปด้วย ซึ่งไม่เพียงแค่เราเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนแม่ฮ่องสอนต่างรู้ดีว่าที่นี่คือจุดชมพระอาทิตย์ตกที่งดงามที่สุดในเมืองแม่ฮ่องสอน จึงมีนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มใหญ่อยู่รอชมพระอาทิตย์เป็นเพื่อนให้หายเหงา

ไฮไลท์ของวัดแห่งนี้คือพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนสีขาวสององค์ศิลปะแบบพม่า-ไทใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดดอย ตามประวัติกล่าวว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2403 โดยนายจองต่องสู ชาวไทใหญ่ พระเจดีย์องค์ใหญ่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะ ซึ่งพระอูเอ่งต๊ะก๊ะ พระชาวไทใหญ่ นำมาจากเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ต่อมาในปี พ.ศ. 2417 พญาสิงปนาทราชา เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรกได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นอีกองค์หนึ่ง มีขนาดเล็กกว่าองค์แรก เพื่อบรรจุพระธาตุของพระสารีบุตร ซึ่งพระอูเอ่งต๊ะก๊ะ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดอัญเชิญมาจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า

วิวเมืองแม่ฮ่องสอน ฉากหลังเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน มองจากพระธาตุดอยกองมู

ลักษณะโดดเด่นของวัดพระธาตุดอยกองมูนั้นเหมือนกับวัดอีกหลายๆ แห่งในแม่ฮ่องสอน คือรูปแบบสถาปัตยกรรมไทใหญ่แปลกตา เนื่องจากชาวไทใหญ่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมืองแม่ฮ่องสอน ที่อพยพย้ายถิ่นมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า และตั้งถิ่นฐานอยู่ในระแวกนี้มาเป็นเวลาช้านานหลายร้อยปีแล้ว แตกต่างไปจากพระธาตุเจดีย์ที่พบเห็นทั่วไปในภาคเหนือ ที่ส่วนใหญ่จะสร้างตามแบบศิลปะล้านนาพื้นถิ่น

"Before Sunset ก่อนตะวันจะลับเหลี่มภูผา" ร้านกาแฟบรรยากาศดีบนดอยกองมู

จากด้านบนของดอยกองมู จะมองเห็นเมืองแม่ฮ่องสอนย่อส่วนในมุมสูง เป็นกลุ่มบ้านเรือนหลังเล็กๆ จำนวนไม่มากกระจุกตัวอยู่ใกล้ๆ กัน มีหนองจองคำ และวัดจองกลางตั้งอยู่เกือบศูนย์กลางของเมือง มีลักษณะสถาปัตยกรรมโดดเด่นจากรูปแบบบ้านเรือนหลังอื่นๆ ไกลออกไปเล็กน้อยคือนาข้าวสุดลูกหูลูกตา สีเหลืองอร่ามพร้อมเก็บเกี่ยว เมืองแม่ฮ่องสอนตั้งอยู่บนพื้นที่ราบขนาดเล็ก โอบล้อมด้วยขุนเขาสูงตระหง่าน สลับซับซ้อน ราวกับเมืองลับแลในตำนานที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก คนไม่มาก รถราเยอะ เมืองมีขนาดเล็ก สงบงาม เหมาะสำหรับการพักผ่อนเงียบๆ อย่างยิ่ง

ระเบียงริมขอบเขา จิบกาแฟ ชมพระอาทิตย์ยามเย็น

กาแฟยามบ่ายคล้อย

บริเวณลานจอดรถด้านทิศตะวันตกบนยอดดอยมีร้านกาแฟเล็กๆ ดีไซน์เก๋ไก๋ตั้งอยู่บนขอบเขา มีระเบียงยื่นออกไปเล็กน้อย พร้อมกับโต๊ะเล็กๆ กับร่มคันใหญ่สีสวย สร้างบรรยากาศแปลกตา เหมาะกับการนั่งทอดอารมณ์ไปกับภาพทิวเขาสุดลูกหูลูกตาด้านหน้า “Before Sunset” ก่อนตะวันลับแนวเหลี่ยมภูผา แค่ชื่อก็น่าสนใจแล้ว ประกอบกับบรรยากาศที่งามจนลืมไม่ลง ยั่วใจให้หลายคนลงหลักปักฐาน หย่อนกายบนเก้าอี้ ให้แสดงอาทิตย์สุดท้ายของวันโอบไล้ พร้อมๆ กับเลื่อมเงาของขุนเขาที่ค่อยๆ ทะมึนลงไปตามแสงตะวัน หากใครต้องการวิวมุมที่สูงขึ้นไปอีก โล่งกว้างเหมาะกับการถ่ายรูป จากลานพระเจดีย์ขึ้นไปบนยอดเขาอีกเล็กน้อย ที่นั้นเป็นลานชมพระอาทิตย์ตกที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง

แนวทิวเขาสลับซับซ้อน ช่วงพระอาทิตย์กำลังตกดิน

พระอาทิตย์ตกดิน บรรยากาศดีมากค่ะ

อำลาไปด้วบรรยากาศพระธาตุดอยกองมูยามค่ำ

เราซึมซับบรรยากาศบนวัดหลังพระอาทิตย์ตกอีกเล็กน้อย แรงศรัทธาของผู้คนไม่ได้ลับหายไปตามแสงตะวัน พระเจดีย์ทั้งสององค์ ประดับด้วยดวงไฟส่องสว่างท่ามกลางไอหมอกยามเย็นที่ทำให้ท้องฟ้ามืดครึ้ม จากพื้นล่าง เรามองเห็นพระเจดีย์ทั้งสองส่องสว่างอยู่บนยอดดอย เป็นศูนย์รวมใจให้ชนทุกเผ่าในเมืองที่สงบงามแห่งนี้

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  913
216  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ในเชียงใหม่ / “พระตำหนักดาราภิรมย์” เรียนรู้ชีวิตและพระกรณียกิจในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ขัตติยนารีแห่งล้านนา เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2013, 02:16:00 AM
“พระตำหนักดาราภิรมย์” เรียนรู้ชีวิตและพระกรณียกิจในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ขัตติยนารีแห่งล้านนา

ล้านนาเคยเป็นอาณาจักรเก่าแก่ และรุ่งเรืองมากเมื่อครั้งอดีต แต่เมื่อวันเวลาล่วงเลยไป หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับชนชั้นปกครองของล้านนาก็ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา นอกจากวัดวาอารามที่ได้รับการทำนุบำรุงสืบต่อกันมาแล้ว คุ้มหรือพระตำหนักต่างๆ ก็หาชมได้ยากมากในเมืองเชียงใหม่ ที่บ้านริมใต้ อำเภอแม่ริม ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของพระตำหนักไม้สัก บรรยากาศเงียบสงบ “พระตำหนักดาราภิรมย์” ในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม

พระตำหนักดาราภิรมย์ บ้านริมใต้ อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่

เลี้ยวรถเข้าไปในซอยข้างที่ว่าการอำเภอแม่ริมจากถนนสายเชียงใหม่ – ฝางที่มีรถวิ่งหนาแน่นเพียงเล็กน้อย ก็จะพบกับอาคารไม้สักชั้นเดียว ยกพื้นสูง รูปแบบสถาปัตยกรรมสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของตะวันตกที่รุ่งเรืองมากในยุคนั้น ตั้งอยู่ในบรรยากาศเงียบสงบ ผิดจากถนนใหญ่ที่เราเพิ่งจากมาเมื่อสักครู่ รอบพระตำหนักรายล้อมไปด้วยต้นไม้ และสวนหย่อมที่ได้รับการดูแลอย่างดี ต้นลำไย และต้นลิ้นจี่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่ทำให้เรานึกย้อนไปถึงคุณูปการด้านการเกษตรที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีมอบให้กับเกษตรกรชาวเชียงใหม่ และพสกนิกรในจังหวัดใกล้เคียง จนปัจจุบันไม้ผลทั้งสองชนิดนี้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

พระอนุสาวรีย์ำสำริดของพระราชชายาฯ ในชุดเสื้อแขนหมูแฮมกับผ้าซิ่น แสดงการผสานกันของวัฒนธรรมสองสำนัก

ก่อนเราจะเข้าเยี่ยมชมภายในตัวพระตำหนัก ด้านหน้ามีเนินสวนหย่อมขนาดย่อม เป็นที่ตั้งของพระอนุสาวรีย์ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในชุดผ้าซิ่นพื้นเมืองแบบชาวเชียงใหม่ กับเสื้อลูกไม้แขนหมูแฮมอย่างที่นิยมกันในหมู่สตรีราชสำนักรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระราชชายาฯ เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ประชาชนชาวเชียงใหม่ และชาวล้านนา เนื่องจากได้สร้างคุณูปการมากมายไว้ให้กับดินแดนแถบนี้จนวาระสุดท้ายของชีวิต

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงเชียงใหม่ เป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต พระองค์ได้ของพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ กลับมาประทับยังนครเชียงใหม่ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์อย่างสงบ ณ บ้านเกิด

พระตำหนักเป็นอาคารไม้สัก ยกพื้นสูง แสดงถึงอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก

พระตำหนักฯ ในมุมต่างๆ

ตลอดพระชนม์ชีพของพระราชชายาฯ นอกจากจะเปรียบดั่งสายสัมพันธไมตรีอันแน่นแฟ้นระหว่างอาณาจักรล้านนากับอาณาจักรสยามแล้ว พระองค์ยังได้สร้างคุณูปการมากมายไว้ให้กับชาวเชียงใหม่ และภูมิภาคนี้ทั้งทางด้านการศึกษา วัฒนธรรม และการศาสนา รวมไปถึงด้านเกษตรกรรม ซึ่งในบริเวณพระตำหนักดาราภิรมย์แห่งนี้ ในอดีตมีการทดลองปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ ในรูปแบบแปลงเกษตรสาธิต เรียกว่า “สวนเจ้าสบาย” เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรชาวเชียงใหม่ต่อไป

พระตำหนักฯ มุมด้านข้าง

อาคารพระตำหนักสร้างด้วยไม้ โปร่งสบาย หลังคาสูงมีช่องระบายลม และหน้าต่างรอบด้าน ทำให้ด้านในเย็นสบายโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ ภายในจัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ ภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาฯ โดยแบ่งการจัดแสดงเป็นห้องๆ ตามการใช้สอยจริงในอดีต เพื่อจำลองรูปแบบพระตำหนักครั้งเมื่อยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ โดยโถงทางเดินด้านหน้าพระตำหนักจัดแสดงพระประวัติ และข้อมูลเกี่ยวกับพระตำหนัก ในห้องรับแขกมีรูปถ่ายเก่าที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาฯ และเครื่องเรือนร่วมสมัย เข้าไปด้านในบริเวณโถงทางเดินมีรูปถ่ายเก่าๆ ที่น่าสนใจอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีห้องแสดงฉลองพระองค์ และผ้าทอลวดลายสวยงาม ถูกใจคนรักผ้าเก่าๆ ห้องพักผ่อนพระอิริยาบถ จัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์ที่น่าสนใจหลายอย่าง ทั้งเครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องเสวย และเครื่องดนตรีเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีห้องที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับราชวงศ์พระเจ้าเจ็ดตนของอาณาจักรล้านนาอีกด้วย

นิทรรศการเกี่ยวกับพระกรณียกิจด้านต่างๆ บริเวณใต้ถุนอาคาร

เส้นไหมหลากสีในตู้แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับผ้าทอ

ด้านล่างพระตำหนักมีนิทรรศการเกี่ยวกับพระกรณียกิจของพระราชชายาในด้านต่างๆ กี่ทอผ้า และตุ๊กตาจำลองการเฉลิมฉลองการเสด็จเยือนเมืองเชียงใหม่ของรัชกาลที่ ๗ ถัดไปด้านหลังพระตำหนักคืออาคารสร้างใหม่ “รัศมีทัศนา” ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรสการหมุนเวียนเกี่ยวกับพระราชชายาฯ และศิลปหัตถกรรมของล้านนาที่น่าสนใจ ซึ่งจะหมุนเวียนไปตามวาระและโอกาสต่างๆ

เที่ยวพระตำหนักฯ ในวันฟ้าใส อากาศดีมาก

ผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ เปิดทำการวันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 9:00 – 17:00 อัตราค่าเข้าชม 20 บาทเท่านั้น พระสงฆ์และนักเรียนนักศึกษาเข้าชมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 053 – 299 – 175 (ด้านบนพระตำหนักไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ)

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903
217  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / แนะนำ ร้านกาแฟ ชา เบเกอรี่ เค้ก ขนม ไอศกรีม อาหารว่าง ของทานเล่น ในเชียงใหม่ / “ระมิงค์ ที เฮาส์” สัมผัสละมุน กรุ่นกลิ่นละไม ลิ้มรสชาเชียงใหม่ ในบรรยากาศบ้านโบราณ เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2013, 12:20:18 AM
“ระมิงค์ ที เฮาส์” สัมผัสละมุน กรุ่นกลิ่นละไม ลิ้มรสชาเชียงใหม่ ในบรรยากาศบ้านโบราณ

บ้านไม้หลังงามข้างลำน้ำแม่ข่า ความประทับใจแรกของระมิงค์ ที เฮาส์

การใช้เวลาว่างในร้านกาแฟกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนในเมืองใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันการดื่มชาเป็นเพียงสุนทรียะเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก นักดื่มชา และผู้หลงใหลรสชาติชาจึงมีตัวเลือกไม่มาก เมื่อพบร้านชาถูกใจสักร้านก็จะแวะเวียนไปเยี่ยมสม่ำเสมอ เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีต้นทุนสูงกว่าอีกหลายเมืองในประเทศ เพราะมีความเป็นสังคมเมืองสูง ที่ตั้งแถบหุบเขาในภาคเหนือ อากาศเย็นสบาย เป็นเมืองท่องเที่ยว และอยู่ไม่ไกลจากแหล่งปลูกชาสำคัญของประเทศ ที่นี่จึงมีร้านชาเก๋ๆ หลายร้านให้คุณเลือกใช้วันหยุดพักผ่อนสบายๆ เลดี้ ดาริกาขอแนะนำร้านชาแห่งหนึ่งบนถนนท่าแพ กลางเมืองเชียงใหม่ ที่ใครได้ไปสัมผัสก็ต้องหลงรัก

เรียบหรูสไตล์ระมิงค์ ที เฮาส์ (บรรยากาศในร้าน)

“ระมิงค์ ที เฮาส์” (Raming Tea House) คาเฟ่สำหรับคนรักชาร้านนี้ หากไม่สังเกตอาจเดินผ่านเลยไป เพราะด้านหน้าเปิดเป็นร้านเครื่องเคลือบดินเผา “ศิลาดล” นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมาเวลาว่าจิบชาที่นี่ “ระมิงค์ ที เฮาส์” ตั้งอยู่ภายในตัวอาคารโบราณแบบโคโลเนียลสีขาวสองชั้น ตั้งอยู่ติดกับสะพานแม่ข่า ถนนท่าแพ อ่อนหวานด้วยลายฉลุไม้แบบขนมปังขิง ความพิเศษของร้านชาแห่งนี้คือการเสิร์ฟชา เครื่องดื่ม และอาหารอื่นๆ ในภาชนะเครื่องเคลือบศิลาดล ทำให้การดื่มชาละเมียดละไม และได้รสสัมผัสที่พิเศษมากขึ้น ใบชาและผลิตภัณฑ์ชาต่างๆ ในร้านเป็นผลผลิตส่งตรงจากไร่ชาคุณภาพในเขตอำเภอเชียงดาว

ส่วนกลางของร้าน รับแสงแดดอ่อนๆ จากด้านนอก

นั่งชิลในร้านรับแดดอ่อนๆ บรรยากาศสบายๆ

ไม่เพียงแต่ชาหลากหลายรูปแบบเท่านั้น “ระมิงค์ ที เฮาส์” ยังมีอาหารจานหลักรสเลิศ ของทานเล่น ไอศกรีม และเบเกอรี่หลากหลายชนิดให้คุณได้ลิ้มลอง ทุกเมนูผลิตจากวัตถุดิบคุณภาพ ปรุงอย่างละเมียดละไม บางรายการอาหารเพิ่มความพิเศษด้วยซอสใบชา และผลิตภัณฑ์จากชาอื่นๆ รักษาแนวคิดร้านชาได้อย่างดีเยี่ยม หากมาเยือนระมิงค์ ที เฮาส์ ลองพูดคุยกับพนักงานสักนิด สอบถามเมนูที่น่าสนใจ หรือเมนูแนะนำ คุณอาจได้ลิ้มรสชาติพิเศษๆ ของเมนูพิเศษๆ จากระมิงค์ ที เฮาส์

เครื่องดื่มเบาๆ ดับร้อนยามบ่าย

แมงโก้สมูตตี้ เครื่องดื่มซิกเนเจอร์ตามฤดูกาล มาแล้วต้องลอง

บรรยากาศภายในร้านตกแต่งอย่างเรียบหรู ไฟสีส้มอ่อนๆ ช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน  คุณจะเลือกนั่งชื่นชมความงามของลายฉลุไม้งดงามภายในร้าน หรือปล่อยใจไปกับบรรยากาศสบายๆ ในสวนร่มรื่นด้านหลังร้านก็น่าสนใจไปอีกแบบ บรรยากาศสงบเงียบ เป็นส่วนตัวเหมาะกับการพักผ่อน

อาคารหลังงามริมน้ำแม่ข่านี้เดิมเป็นของขุนอนุกรบุรี ต้นตระกูลนิมากร เป็นมรดกตกทอดกันมาในตระกูลภายหลังได้ขายต่อให้กับเจ้าของกิจการชาระมิงค์ และได้รับการดูแลรักษา บูรณะให้อยู่ในสภาพดี เนื่องจากเล็งเห็นคุณค่าทางสถาปัตยกรรม

สำหรับคนรักเบเกอรรี่ ที่นี่ก็มีให้จัดเหมือนกันนะคะ

มีผลิตภัณฑ์ระมิงค์ให้เลือกกลับบ้านด้วยนะคะ

ผลิตภัณฑ์ชาหลากหลายรูปแบบจากระมิงค์

ก่อนกลับบ้าน หากคุณเป็นนักดื่มชาตัวยง หรือติดอกติดใจรสชาติของชาระมิงค์ ภายในร้านก็มีผลิตภัณฑ์ชาและกาแฟให้คุณเลือกซื้อหาติดไม้ติดมือกลับบ้าน หรือซื้อเป็นของฝากให้เพื่อนสนิทมิตรสหาย หรือคนที่เรารัก ก็เป็นของฝากที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ กลับไปพร้อมความทรงจำดีๆ กลิ่นหอมกรุ่นของชาระมิงค์ กลับมาเชียงใหม่ครั้งใด อย่าไม่ลืมแวะมาทักทายระมิงค์ ที เฮาส์กันอีกนะคะ


Location: เชิงสะพานแม่ข่า ถนนท่าแพ  ต. ช้างม่อย อ. เมืองฯ จ. เชียงใหม่
Category: Café
Website:  http://www.ramingtea.com/thai.php
เปิดให้บริการทุกวัน : 9.00 น. – 18.00 น.


เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  913
218  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / แนะนำ ร้านกาแฟ ชา เบเกอรี่ เค้ก ขนม ไอศกรีม อาหารว่าง ของทานเล่น ในเชียงใหม่ / “Green O’ Clock” ชิมชิลครบเครื่องกลางเมืองเชียงใหม่กับ “โมงยามสีเขียว” เมื่อ: กรกฎาคม 16, 2013, 08:47:48 PM
“Green O’ Clock” ชิมชิลครบเครื่องกลางเมืองเชียงใหม่กับ “โมงยามสีเขียว”


ฉันมักจะพูดติดตลกเสมอว่าแก้วนวรัฐซอย 2 คือแหล่งรวมร้านรวงแบบอาร์ตตัวแม่ อาร์ตขั้นเทพ เข้ามาในซอยนี้กี่ครั้งก็มักมีร้านแปลกใหม่เสมอ ทั้งๆ ที่ร้านรวงเหล่านี้บางร้านก็ตั้งอยู่คู่ซอยนี้มาแต่ไหนแต่ไร อาจจะสังเกตยากสักหน่อย เพราะหลายๆ ร้านไม่เน้นการค้าเชิงพาณิชย์แบบเงินถุงเงินถัง แต่รังสรรค์ขึ้นมาด้วยใจรัก จะมีก็เพียงแต่คนที่มีหัวใจตรงกันเท่านั้น ที่วนเวียนเข้ามาแวะพักทักทาย และเติมกำลังใจให้กัน ผู้ประกอบการในฐานะเจ้าของบ้านมีความสุขที่ได้แบ่งปันสิ่งที่ตัวเองรักให้คนที่รักในสิ่งเดียวกัน ส่วนลูกค้าในฐานะแขกแก้วก็ได้รับสุนทรียะแบบที่ตัวเองชอบ

GREEN O'CLOCK ในแก้วนวรัฐ ซอย 2 (ซอยตรงข้ามโรงเรียนปริ้นส์ ซอย 2)

“Green O’ Clock” คือที่ว่างสำหรับคนเมืองที่ต้องการพื้นที่สีเขียวมาเติมเต็มวันว่างของชีวิต ร้านกาแฟของ Green O’ clock เป็นกระท่อมเล็กๆ ใต้ร่มไม้เขียวครึ้ม ที่นี่ไม่เพียงเป็นที่จิบกาแฟสุดเก๋ แต่ยังมีเบเกอรี่ และของกินสำหรับผู้มาเยี่ยมเยือนทั้งอาหารไทยจานหลัก และของกินเล่น ราคาอาหารและเครื่องดื่มที่นี่ก็เป็นมิตร ไม่แตกต่างจากร้านอาหารทั่วไปเท่าไร นอกจากจะได้พักผ่อนหลบร้อนยามบ่าย ใช้เวลาว่างกับหนังสือสักเล่ม หรือปล่อยใจไปกับบรรยากาศใต้ร่มไม้ พักสายตากับแมกไม้สีเขียวครึ้ม ยังสบายกระเป๋าคุณอีกด้วย

ร้านกาแฟ GREEN O'CLOCK เล็กๆ น่ารัก ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่

บรรยากาศภายในร้าน เรียบง่าย

นอกจากร้านกาแฟที่ฉันขอเรียกว่า “Coffee Hut” เล็กๆ น่ารักแล้ว พื้นที่ของ Green O’ clock ยังมีลานหญ้าสีเขียวใต้ร่มไม้ใหญ่ แบ่งปันเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่หมุมเวียนเปลี่ยนผ่านมาให้ผู้สนใจได้สัมผัส และมีประสบการณ์ร่วมไปด้วย ถัดจากร้านกาแฟไปเล็กน้อยเรือนไม้ไต้ถุนสูงแบ่งปันพื้นที่ใต้ถุนไว้เป็นพื้นที่ศิลปะ Art Space แหล่งเรียนรู้ทฤษฎีศิลป์สำหรับเด็กนักเรียน และผู้สนใจ Green O’clock ยังมีบริการที่พักในรูปแบบของเกสต์เฮาส์เก๋ไก๋ไว้บริการนักเดินทางที่รักความสงบเงียบอีกด้วย

ลานหญ้าสีเขียวภายในบริเวณร้าน

ตรงนี้นั่งเล่นยามว่าง จิบกาแฟสักถ้วย อ่านหนังสือที่ชอบ แค่นี้ก็สุขใจ

อีกมุมสงบภายในร้าน

ที่นี่คือสถานที่แห่งการแบ่งปันที่จัดสรรให้ผู้คน ด้วยแนวคิดเก๋ไก๋ทิ้งท้ายไว้ให้ขบคิด “When your eye is pain, you need to gaze upon the tree. Why?” หากดวงตาคุณเมื่อยล้า คุณต้องมองไปบนต้นไม้ ทำไมกันนะ? หากมีเวลาว่าง หรือกำลังตามหาพื้นที่เก๋ๆ หลีกหนีความวุ่นวาย ใช้เวลากับตัวเองก็ลองแวะมาที่นี่ดูนะคะ ปล่อยใจไปกับโมงยามสีเขียว คุณอาจจะลืมไปเลยก็ได้ว่ากำลังนั่งอยู่ในเมืองเชียงใหม่ แม้จะไม่ใช่กรุงเทพ แต่ก็เป็นเมืองที่สับสนวุ่นวายมากที่สุดเมืองหนึ่งของประเทศ


ชาเขียวนมสักแก้วดับร้อนดีไหม??

อื้ม...อร่อยใช้ได้เลยค่ะ


Location: แก้วนวรัฐซอย 2 (หน้าโรงเรียนปริ้นซ์ ซอย 2) ต. วัดเกต อ. เมืองฯ จ. เชียงใหม่
Category: Café / Guest House / Art Space / Event
Website: greenoclock.com
เวลาเปิด-ปิด : 09.00 น. – 18.00 น. ปิดวันอังคาร


เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  916

219  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่--สายตะวันตก สะเมิง-แม่แจ่ม-กัลยาณิวัฒนา / เยือนแม่แจ่ม ชมวัดพุทธเอิ้น แจ่มงามยามสายฝนโปรย เมื่อ: กรกฎาคม 12, 2013, 04:39:25 PM
เยือนแม่แจ่ม ชมวัดพุทธเอิ้น แจ่มงามยามสายฝนโปรย

ปลายเดือนพฤษภาคม ไม่ว่าจะภูมิภาคไหนก็พร้อมใจกันเข้าสู่หน้าฝน “ฤดูกาลสีเขียว” ความร้อนระอุที่กินเวลายาวนานถึง 3 เดือนค่อยๆ จางหายไป ความชุ่มช่ำ พร้อมกับอากาศที่เย็นลงเข้ามาแทนที่ ครั้งหนึ่งหน้าฝนคือฤดูกาลที่ใครๆ พากันเรียกว่า “โลว์ซีซั่น” ความเปียกแฉะ และฝนพรำทำให้นักเดินทางหลายคนเลือกที่จะหยุดพัก น้อยคนนักจะมีโอกาสสัมผัสความงามอันสงัดเงียบที่สายฝนมอบให้ ไม่ต้องแย่งกันกิน ไม่ต้องแย่งกันเที่ยว ได้ใกล้ชิดกับวิถีของคนท้องถิ่นมากขึ้น เห็นความงามในมุมที่ต่างไป ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น หลายคนรู้จัก “แม่แจ่ม” อำเภอเล็กๆ ในเขตหุบเขาทางใต้ของเชียงใหม่ ในมุมมองของหน้าหนาว  แต่จะมีสักกี่คนที่เคยรู้จักแม่แจ่มในวันฝนโปรย ในวันที่พื้นที่ราบเล็กๆ กลางหุบเขาแห่งนี้เป็นสีเขียวจัด

เส้นทางสู่เมืองแม่แจ่ม

ถนนคดเคี้ยว เดินทางลำบาก บางจังหวะอาจต้องใช้ความชำนาญในการขับขี่พอสมควร ประกอบกับทิวเขาสูงที่โอบล้อมอำเภอแม่แจ่มเอาไว้ ทำให้เมืองเล็กๆ แห่งนี้ยังคงรักษาอัตลักษณ์แบบชาวพื้นเมืองล้านนาไว้ได้อย่างน่าชื่นชม วิถีชีวิตของคนที่นี้ยังผูกพันแนบแน่นกับงานในสวนในไร่ ความเชื่อแบบชาวพื้นเมือง และศรัทธาแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนาที่เริ่มเลือนหายไปจากสังคมเมือง วิถีอันสงบงามแบบล้านนาจึงยังคงพบได้ทั่วไปในเมืองเล็กๆ แห่งนี้

บนที่ราบแม่แจ่มแห่งนี้ มีลำธารสายเล็กสายน้อยไหลคดเคี้ยวไปทั่ว

ลำธารหลายสายไหลลัดเลาะตามท้องไร่ พ่อเฒ่าแม่เฒ่าใช้เวลายามว่างกับงานหัตกรรมเล็กๆ น้อยๆ เครื่องจักสาน เครื่องเงิน แกะสลักไม้ ไปจนถึงงานหัตถกรรมที่สร้างชื่อให้เมืองเล็กๆ แห่งนี้ และจังหวัดเชียงใหม่อย่างผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ผ้าทอที่ต้องใช้ความประณีตและความอดทนสูง กว่าจะได้งานแต่ละชิ้นที่ทรงคุณค่า สายฝนที่โปรยลงมาเป็นระยะปลุกเร้าเมล็ดพืชหลากหลายชนิดให้ผลิต้นอ่อน ยอดอ่อน และผลลำไยในสวนงอกงามพร้อมเก็บเกี่ยว ข้าวในนาขั้นบันไดที่ลดลั่นกันอยู่บนเชิงเขาเติบโตเขียวชอุ่ม

ความงามของฤดูกาล...รังสรรค์โดยธรรมชาติ

ดอกอะไรใครรู้บ้าง...หอมมาก หอมจนชวนหลงใหล

บ้านช่างเคิ่ง หมู่บ้านเล็กๆ ไกลออกไปจากตัวอำเภอแม่แจ่มเพียงเล็กน้อย เป็นที่ตั้งของวัดชุมชนเก่าแก่ และน่าสนใจ สถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่สวยงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาแม่แจ่มให้มาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย “วัดพุทธเอิ้น” หรือ “วัดพุทธเอ้น” มีอายุเก่าแก่กว่า ๒๐๐ ปีมาแล้ว คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

วัดพุทธเอิ้น (พุทธเอ้น) ต. ช่างเคิ่ง อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่

“โบสถ์กลางน้ำ” เล็กๆ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร เป็นจุดเด่นที่ใครๆ ก็อยากมาเยี่ยมชม อุโบสถไม้หลังนี้มีเสาสี่ต้นรองรับน้ำหนักตัวอาคารทั้งหลัง ตั้งอยู่กลางสระน้ำเล็กๆ สร้างขึ้นตามความเชื่อแบบลังกาที่ถ่ายทอดผ่านกรุงสุโขทัย คือการใช้น้ำกั้นเขตพัทธสีมา เรียกว่า “อุทกสีมา” หน้าบรรณประดับด้วยไม้แกะสลักสีสันสดใส เดินเลยขึ้นบันไดไปในบริเวณวัดพระวิหารโบราณรูปทรงแบบล้านนาแท้แห่งนี้ มีความโดดเด่นที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างไทใหญ่ภายในพระวิหาร แม้จะเลือนรางไปนามกาลเวลา แต่ก็ยังน่าภาคภูมิใจของคนท้องถิ่น การตกแต่งหน้าบรรณด้วยกระจกสีทำให้พระวิหารดูโดดเด่นบนเนินสูง ด้านหลังพระวิหารมีเจดีย์ศิลปะล้านนา อิทธิพลสุโขทัยเป็นที่สักการะของชาวบ้านทั่วไป

พระอุโบสถกลางน้ำ วัดพุทธเอิ้น

พระวิหารวัดพุทธเอิ้น

สิ่งพิเศษของวัดพุทธเอิ้น คือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้านหน้าวัด ชาวบ้านแม่แจ่มพากันหาบภาชนะใส่น้ำบ้าง ถังน้ำพลาสติกบ้างมาเติมน้ำจากบ่อน้ำแห่งนี้ตลอดเวลา บางคนขนถังน้ำมาครั้งละมากๆ เป็นคันรถก็มี น้ำในบ่อแห่งนี้เป็นน้ำบริสุทธิ์ ผุดขึ้นมาจากใต้ดินโดยไม่เคยเหือดแห้ง เปรียบดั่งศรัทธาของชาวแม่แจ่มที่มีต่อพระพุทธศาสนาที่ไม่เคยแห้งเหือดไป

ทิวทัศน์เขียวชะอุ่มของเมืองแม่แจ่ม ไกลสุดลูกหูลูกตา

ความงามในหน้าฝน

แม่แจ่ม ในหน้าฝน มีความงดงามที่ต่างไปจากฤดูกาลอื่นๆ หากมีโอกาสก็น่ามาเยือนเมืองเล็กๆ แห่งนี้ดูสักครั้ง แล้วคุณจะได้สัมผัสความเป็นล้านนาที่ใกล้เคียงกับวิถีดั้งเดิมมากที่สุด “แม่แจ่ม” ยามฝนโปรยนั้น “แจ่ม” สมชื่อจริงๆ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  903
220  ข้อมูล เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลก / เที่ยวทั่วไทย / Re: “บ้านวงศ์บุรี” ตามรอยละคร ยลเสน่ห์สถาปัตยกรรมน้ำเอกแห่งเมืองแพร่ เมื่อ: กรกฎาคม 09, 2013, 12:29:05 AM
ติดตามบทความท่องเที่ยวเรื่องเมืองแพร่ต่อเนื่องได้ตามลิงค์ด้านล่างนะคะ

 908
"คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่" เยือนพิพิธภัณฑ์กลางเมือง ฟังเรื่องเล่าจากอดีต
http://www.teepucks.com/webboard/index.php/topic,180.0.html
221  ข้อมูล เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลก / เที่ยวทั่วไทย / “บ้านวงศ์บุรี” ตามรอยละคร ยลเสน่ห์สถาปัตยกรรมน้ำเอกแห่งเมืองแพร่ เมื่อ: กรกฎาคม 06, 2013, 03:02:41 AM
“บ้านวงศ์บุรี” ตามรอยละคร ยลเสน่ห์สถาปัตยกรรมน้ำเอกแห่งเมืองแพร่

ภาพเรือนไม้ปั้นหยาสีชมพูอ่อนหวานที่เคยปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “รอยไหม” ละครยอดนิยมดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของนักเขียนดาวรุ่ง นามปากกา “พงศกร” เคยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 คงสร้างความประทับใจให้กับแฟนละครบ้างไม่มากก็น้อย สถานที่แห่งนี้ถูกสมมติให้เป็นคุ้มของ “เจ้านางมณีริน” นางเอกของเรื่อง ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเมืองเชียงใหม่ในอดีต แฟนละครหลายคนที่หลงใหลฉากเรือนไม้อันงดงามวิจิตร และตั้งใจจะมาเยี่ยมชมความงามด้วยตาตัวเองสักครั้ง คงต้องพับแผนเก็บ และเบนเข็มออกจากเชียงใหม่ เปลี่ยนเป้าหมายใหม่ไปยังเมืองแพร่ จังหวัดที่อาจไม่โด่งดัง เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเหมือนกับอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ แต่แท้ที่จริงแล้วเมืองแพร่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมายรอให้เรามาเยือน “บ้านวงศ์บุรี” เรือนไม้สีชมพูแห่งนี้อาจเป็นสถานที่แห่งแรกที่ทำให้คุณอยากมาเยือนเมืองแพร่ก็เป็นได้

บ้านวงศ์บุรี คฤหาสถ์สีชมพูแห่งเมืองแพร่

บนถนนคำลือ ถนนสายเล็กๆ เงียบสงบ อยู่ไม่ไกลจากคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่มากนัก เป็นที่ตั้งของ “บ้านวงศ์บุรี” สีชมพูโดดเด่นของอาคารไม้หลังนี้ทำให้ชาวเมืองแพร่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “บ้านสีชมพู” ปัจจุบันบ้านวงศ์บุรียังคงเป็นที่อยู่อาศัยของทายาทเจ้าแม่บัวถา ผู้ดำริให้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นเมื่อครั้งอดีต โดยเปิดส่วนหนึ่งของบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้

เจ้าแม่บัวถา ชายาคนแรกในเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่ โดยมอบหมายให้เจ้าน้อยพรม หรือหลวงพงษ์พิบูล น้องชาย เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง โดยใช้ฝีมือช่างทั้งชาวท้องถิ่น และชาวจีน บ้านวงศ์บุรีสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2440 จนถึงทุกวันนี้รวมเวลากว่า 116 ปีแล้ว

เรือนไม้ขนมปังขิง สถาปัตยกรรมยุควิคตอเรีย ผสมผสานหลังคาจั่วปั้นหยาแบบไทย

บ้านหลังนี้สร้างด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตก ผสมผสานกับหลังคาทรงจั่วปั้นหยาแบบไทย เรียกว่า “เรือนขนมปังขิง” ซึ่งเป็นรูปแบบอาคารที่นิยมกันมากในช่วงรัชสมัยของพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษ แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นรูปแบบบ้านที่ชนชั้นสูงสมัยนั้นนิยมปลูกกันมาก เรือนหลังนี้สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ฐานก่ออิฐถือปูน เป็นอาคารสองชั้น ทาสีชมพูอ่อนหวาน ซึ่งเป็นสีโปรดของเจ้าแม่บัวถา โดดเด่น สะดุดตา การประดับตกแต่อาคารนั้นมีรายละเอียดมาก ชายคาประดับด้วยไม้ฉลุลายวิจิตรพิสดาร หน้าจั่ว และช่องลมเหนือบานหน้าต่างฉลุไม้เป็นลวดลายก้านขดอ่อนช้อย สวยงามราวกับอยู่ในบ้านแห่งเทพนิยาย หน้าต่างไม้บานกระทุ้งตีเกล็ด ช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดี

บรรยากาศภายในบ้าน "ห้องรับแขก" ของบ้านวงศ์บุรี

บรรยากาศภายห้องนอน บ้านวงศ์บุรี

พื้นที่ส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัว จำลองมื้ออาหารของคนในบ้าน

นอกจากการตกแต่งอันวิจิตรพิสดารแล้ว ภายในบ้านยังคงเก็บรักษารูปแบบการใช้งานดั้งเดิมเอาไว้ได้ครบถ้วน เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าศึกษาเยี่ยมชม เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังคงมีชีวิต เราจะได้สัมผัสกับบรรยากาศและรูปแบบการใช้ชีวิตของชนชั้นปกครองของเมืองแพร่ในอดีต แต่ละห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน เครื่องเรือนเก่าแก่ มรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เอกสารเก่าที่หาดูได้ยาก เช่น เอกสารอนุญาตทำสัมปทานป่าไม้ หรือเอกสารการซื้อขายทาส รวมไปถึงเครื่องแต่งกายของเจ้านายฝ่ายเหนือในอดีต

เครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่าลำโพงทองเหลือง จัดแสดงภายในบ้าน

ส่วนจัดแสดงอื่นๆ ยังคงรักษารูปแบบการใช้ชีวิตของสมาชิกครอบครัวในอดีต

ส่วนจัดแสดงเครื่องแต่งกายของชาวล้านนาในอดีต

บ้านวงศ์บุรีได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี ๒๕๔๖ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่เวลา 8:00 – 17:00 น ของทุกวัน ค่าธรรมเนียมการเข้าชม 30 บาทเท่านั้น ถือว่าคุ้มค่ามากๆ กับสิ่งที่เราจะได้ชม และเนื่องจากอาคารหลังนี้เป็นของเอกชน ยังคงเป็นที่พักอาศัยของทายาท นักท่องเที่ยวพึงระวังอย่าเข้าไปในเขตพื้นที่ส่วนบุคคล ใครยังไม่มีแผนท่องเที่ยววันหยุดที่ไหน หรือมีกำหนดการจะไปเยือนเมืองแพร่อยู่แล้ว ลองแวะไปเยี่ยมเยือนบ้านวงศ์บุรีดูสักครั้ง รับรองว่าคุณจะไม่ผิดหวังเลย


เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา   913
222  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ในเชียงใหม่ / “พิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม” เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่ในอดีต เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2013, 02:03:26 AM
“พิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม” เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่ในอดีต

โอกาสในการเรียนรู้ความเป็นมา และวิถีของท้องถิ่นที่เราไปเยือน คือโอกาสที่เราจะได้เข้าถึงหัวใจของผู้คน เข้าใจวิถีปฏิบัติของพวกเขา และเห็นคุณค่าสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น “พิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม” เป็นแหล่งความรู้เล็กๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจยิ่งใหญ่ของคนกลุ่มหนึ่ง ที่มุ่งหวังจะเก็บรักษาโบราณวัตถุ และข้าวของเครื่องใช้ของผู้คนทุกเชื้อชาติ ทุกภาษา ที่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ และทำความรู้จักกับชุมชนของตนให้มากขึ้น

อาคารพิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม ภายในบริเวณวัดเกตการาม อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่

ย่านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงในอดีต คือถิ่นฐานของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกัน บนถนนเลียบแม่น้ำปิงฝั่งตรงข้ามตลาดวโรรสในปัจจุบัน จึงปรากฏหลักฐานเป็นอาคารโบราณหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนของชาวจีน เรือนไม้ของชาวพื้นเวียงล้านนา ชุมชนชาวซิกข์ และชาวมุสลิม หรืออาคารแบบฝรั่งของเหล่ามิชชันนารีชาวตะวันตก กล่าวได้ว่าย่านนี้คืออีกย่านวัฒนธรรมสำคัญของเมืองเชียงใหม่เลยทีเดียว

มุมจัดแสดงพระพุทธรูปศิลปะพม่า บริเวณด้านซ้ายของโถงทางเข้า

บรรยากาศภายในห้องจัดแสดงนั้นเรียบง่าย

“พิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม” เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนลักษณะผสมผสานระหว่างอาคารแบบจีนกับหลังคาจั่วแบบไทย เรียกกันว่า “โฮงตุ๊เจ้าหลวง” เคยเป็นกุฏิของพระครูชัยศีลวิมล พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของคนกลุ่มหนึ่งที่จะเก็บรักษาวัตถุโบราณ ศิลปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ของชาวเมืองเชียงใหม่ ที่จะบอกเล่าอดีตอันรุ่งเรื่องให้กับลูกหลานในรุ่นต่อๆ ไป สิ่งที่นำมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้รับบริจาคจาก คุณจรินทร์ เบน คุณอนันต์ ฤทธิเดช คุณบุญเสริม สาตราภัย และผู้ใจบุญท่านอื่นๆ

วิทยุรุ่นเก่า ในมุมจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของคนในอดีต

ชามกระเบื้องดินเผาในตู้จัดแสดง

แม้การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์จะไม่ทันสมัยนัก แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่า คู่ควรแก่การศึกษา สิ่งของต่างๆ แยกไว้เป็นกลุ่มๆ เมื่อเดินเข้ามาภายในโถงทางเข้าของพิพิธภัณฑ์ ทางด้านขวาเป็นส่วนจัดแสดงหิ้งพระ และพระพุทธรูปศิลปะพม่า ภายในห้องจัดแสดงถัดไปมีตู้กระจกวางเรียงรายเป็นแถว จัดแสดงสิ่งของหลากหลายชนิด ตั้งแต่ถ้วยโถโอชาม เงินตราโบราณ และธนบัตรต่างประเทศ พิมพ์ดีดเก่า พระพุทธรูป และพระพิมพ์ เครื่องใช้ในศาสนา อาทิ วรรณกรรมโบราณจารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ตาลปัตรของพม่า ภาพถ่ายของเชียงใหม่ในอดีตที่หาดูได้ยาก เป็นต้น

ธนบัตรเก่ารุ่นต่างๆ

ธงช้างเผือก ธงชาติของไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕-๖

ในห้องเล็กๆ ติดกันเป็นส่วนจัดแสดงผ้ากำปี (ผ้าปูโต๊ะสำหรับวางคัมภีร์) ลวดลายวิจิตร ปักด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง ไฮไลท์สำคัญของห้องจัดแสดงนี้คือผ้ากำปีที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีถวายแด่วัดเกตการาม นอกจากนี้ยังมีธงช้างเผือก ซึ่งใช้เป็นธงชาติไทยในช่วงรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ด้วย สำหรับผู้ที่สนใจผ้าทอโบราณ และผ้าทอพื้นเมือง ที่พิพิธภัณฑ์วัดเกตการามแห่งนี้ก็มีเก็บรักษาไว้ในตู้กระจก เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม อาทิ ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ผ้าซิ่นที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงใหม่ ที่นับวันจะมีผู้สืบทอดน้อยลง เพราะกรรมวิธีจกผ้านั้นเป็นงานละเอียด และค่อนข้างใช้เวลา

ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ผ้าซิ่นที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่

“คุณจรินทร์ เบน” หรือ “ลุงแจ็ค” คือบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ไม่เพียงแต่คุณลุงจะเป็นผู้ดูแลจัดการพิพิธภัณฑ์ และเป็นผู้เก็บรักษาโบราณวัตถุอันมีคุณค่ามากมายเท่านั้น แต่คุณลุงยังเป็นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคนสำคัญของเชียงใหม่ ที่เข้าใจประวัติศาสตร์ล้านนาในยุคปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ อย่างลึกซึ้งทีเดียว พิพิธภัณฑ์วัดเกตการามคือแหล่งเรียนรู้สำคันของคนเมือง และนักท่องเที่ยวที่อยากทำความรู้จักกับเมืองเชียงใหม่ให้มากขึ้น ที่นี่เปิดให้เข้าเยี่ยมชมโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม ผู้เข้าชมบริจาคได้ตามกำลังศรัทธา เพื่อช่วยสืบสานงานของพิพิธภัณฑ์ให้คงอยู่ต่อไป

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  914
223  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / ร้านอาหารอีสาน ส้มตำ ไก่ย่าง ลาบ เชียงใหม่ / Re: ไม่ต้องรอถึงเที่ยงคืน ก็มีไก่ทอดให้กินที่ "ไก่ทอดใบมะกรูด" ถ.นิมมาน เมื่อ: กรกฎาคม 02, 2013, 03:38:57 PM
เพิ่งได้กิน อร่อยสุดๆ อ่ะ คอนเฟิร์มมากๆ  913
224  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / มุมมองใหม่วัดเชียงมั่น ปฐมอารามแห่งนครพิงค์เชียงใหม่ เมื่อ: กรกฎาคม 02, 2013, 02:46:27 AM
มุมมองใหม่วัดเชียงมั่น ปฐมอารามแห่งนครพิงค์เชียงใหม่

ทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า “เชียงใหม่” ของใครหลายคน ไม่ได้หมายรวมถึง “วัดเชียงมั่น” พระอารามแห่งแรกของนครเชียงใหม่ บรรยากาศรอบวัดทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยี่ยมเยือนอยู่ไม่ขาดสาย แต่มีนักท่องเที่ยวชาวไทย หรือแม้แต่ชาวเชียงใหม่น้อยจนใจหาย ราวกับพระอารามแห่งนี้ถูกกาลเวลากลืนกิน ชื่อเสียงเรียงนามจึงค่อยๆ เลือนไปตามกาลเวลา จะมีคนเมืองรุ่นใหม่สักกี่คนที่รับรู้ถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของพระอารามเก่าแก่อายุกว่า ๗๐๐ ปีแห่งนี้ ไม่มากไม่น้อยไปกว่าอายุอานามของเมืองเชียงใหม่เลย

ครั้งเมื่อพญามังรายตีได้เมืองลำพูน และย้ายศูนย์กลางการปกครองมาอยู่ที่เวียงกุมกามได้เพียง ๒ ปี พระองค์มีดำริสร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นแทนเวียงกุมกาม ซึ่งประสบอุทกภัยอยู่เนืองๆ “เชียงใหม่” คือเมืองแห่งใหม่บนแอ่งที่ราบเชิงดอยสุเทพ บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง หลังจากพญามังราย ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ล้านนา พร้อมด้วยพระสหายคือ พญางำเมือง และพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) สร้างเมืองเชียงใหม่แล้วเสร็จ พระองค์ทรงโปรดให้สร้างวัดขึ้นบริเวณ “เวียงเหล็ก” พระราชวังของพระองค์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และโปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งทับพื้นที่ “หอนอน” หรือ “พระราชมณเฑียร” ของพระองค์ พระราชทานนามพระอารามแห่งแรกนี้ว่า “วัดเชียงมั่น” หมายถึง “บ้านเมืองที่มั่นคง” เป็นเป็นสิริมงคลแก่เมือง

พระประธานภายในวิหารหลวงวัดเชียงมั่น ด้านหลังมีกู่ก่อิฐถือปูนลวดลายสวยงาม

บนถนนราชภาคินัย ฝั่งประตูช้างเผือก ใกล้ๆ กับแจ่งศรีภูมิ ทิศอันเป็นมงคลตามหลักทักษา เป็นที่ตั้งของวัดเชียงมั่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัดแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ บรรยากาศในวัดมีต้นไม้ร่มรื่น ดอกลั่นทมส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ไปทั่ว อาคารหลังแรกที่เราพบเมื่อผ่านประตูหน้าวัดเข้ามาคือ “วิหารหลวง” สถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาซ้อนเป็นชั้น ลดหลั่นกัน ชายคาใกล้พื้นดิน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบล้านนา-สุโขทัย หน้าบรรณของพระวิหารเป็นลายพรรณพฤกษา โก่งคิ้วอ่อนช้อยมีลวดลายประดับงดงาม ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ด้านหลังมีกู่ลวดลายสวยงามประดิษฐานพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง ผนังวิหารประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนังสีทองบนพื้นสีชาด บอกเล่าเรื่องราวการสร้างวัด และการสร้างเมืองเชียงใหม่

พระอุโบสถวัดเชียงมั่น สถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาซ้อนกันเป็นชั้น ชายคาเตี้ย

หน้าบรรณพระอุโบสถแบบม้าต่างใหม่ แสดงถึงลักษณะโครงสร้างหลังคาแบบสถาปัตยกรรมล้านนา

ใกล้กับกำแพงด้านตะวันตกมีพระอุโบสถไม้ ศิลปะล้านนาอ่อนช้อย สวยงาม หน้าบรรณพระอุโบสถเป็นแบบม้าต่างไหม แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างหลังคาอันมีเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมล้านนาดั้งเดิม ด้านหน้าอุโบสถมีศิลาจารึกอักษรฝักขามไทยวน บอกเล่าเรื่องราวของการสร้างเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า “จารึกวัดเชียงมั่น” หรือ “จารึกหลักที่ ๗๖”

พระเจดีย์ทรงปราสาท ฐานมีช้างล้อม ๑๖ เชือก

ด้านหลังพระวิหาร เดิมสันนิษฐานว่าเป็นหอนอนของพญามังราย มีพระเจดีย์ทรงปราสาท บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฐานเจดีย์มีช้างล้อม 16 เชือก เหนือเรือนธาตุเป็นเจดีย์ทรงกลมปิดทองจังโก อิทธิพลศิลปะสุโขทัย สันนิษฐานว่าดั้งเดิมพระเจดีย์องค์นี้เป็นทรงปราสาทห้ายอด (เจดีย์ห้ายอดเชียงยัน) ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเจดีย์ล้านนาในยุคแรก แต่ได้พังลงมาครั้งหนึ่ง และได้รับการบูรณะใหม่เป็นรูปทรงปัจจุบัน ใกล้ๆ กันนั้นมีหอไตรกลางน้ำ สถาปัตยกรรมล้านนา ใช้เก็บรักษาพระไตรปิฎก ปัจจุบันวิหารหลาง พระเจดีย์ อุโบสถ และหอไตรกลางน้ำ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติแล้ว

กู่คำภายในวิหารจตุรมุข ประดิษฐานพระแก้วขาว และพระศิลา

พระแก้วขาว หรือพระเสตังคมณี เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่นับถือสืบต่อกันมา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากผลึกหินสีขาวขุ่น มีอายุกว่า ๑๘๐๐ ปี ตามตำนานกล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างเมืองละโว้ ที่พระนางจามเทวีอัญเชิญขึ้นมาด้วย ครั้งเมื่อพระนางมาครองเมืองลำพูนหริภุญไชย พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ พระศิลาปางปราบช้างนาฬาคีรี เป็นพระพุทธรูปแกะสลักบนหินสีดำ สกุลช่างปาละ จากอินเดีย อายุกว่า ๒๕๐๐ ปี พระพุทธรูปสำคัญทั้งสององค์นี้ประดิษฐานอยู่ในกู่ภายในวิหารจตุรมุข

หากใครมีโอกาสมาเยือนเมืองเชียงใหม่ นอกจากดอยสุเทพ วัดพระสิงห์ และวัดเจดีย์หลวงแล้ว อย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมวัดเชียงมั่น พระอารามคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่แห่งนี้กันบ้าง แล้วคุณจะได้สัมผัสลึกถึงอดีตอันรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา บนจุดกำเนิดนครเชียงใหม่กันเลยทีเดียว

เรื่องโดย เลดี้ ดาริกา
ภาพโดย Darkslayer

 917
225  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำ ถนนคนเดินเชียงใหม่ / เดินเล่นเสาร์-อาทิตย์ กาดนัดมือสองหลังปรินส์ฯ เมื่อ: มิถุนายน 30, 2013, 11:23:46 PM
เดินเล่นเสาร์-อาทิตย์ กาดนัดมือสองหลังปรินส์ฯ

วันหยุดพักผ่อนเสาร์-อาทิตย์ไปเที่ยวไหนกันบ้างคะ? บางคนอาจใช้เวลาพักผ่อนอยู่ที่บ้าน เดินห้างสรรพสินค้ารับแอร์เย็น ๆ หรือว่าดูหนังเข้าใหม่ประจำสัปดาห์สักเรื่อง เลดี้ ดาริกาขอพาเที่ยวชิวๆ สักวันนะคะ ไม่ใกล้ไม่ไกล อยู่ในเมืองเชียงใหม่นี่เอง “กาดนัดมือสองหลังปรินส์ฯ” เป็นชื่อเรียกติดปากของคนรักของมือสอง สวรรค์ของนักซื้อนักขายของเก่าในเมืองเชียงใหม่ ตลาดขายสนค้ามือสองเริ่มเฟื่องฟูในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ จนคุณลุงคุณป้าพากันนำของเก่าเก็บในบ้านมาเปิดท้ายขาย เกิดเป็นตลาดคลองถมขนาดย่อมทั่วเมืองเชียงใหม่ แต่ในที่สุดก็ทยอยปิดตัวกันไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะเหลือที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักก็คือตลาดแห่งนี้นั่นเอง

บรรยากาศกาดนัดมือสองฯ บนถนนบำรุงราษฎร์ หลังโรงเรียนปรินส์รอยแยลวิทยาลัย

ด้วยทำเลที่ตั้งบนถนนบำรุงราษฎร์ ถนนสายรองที่เชื่อมระหว่างถนนแก้วนวรัฐ กับถนนรัตนโกสินทร์ ทำหน้าที่เป็นกันชนระหว่างโรงเรียนปรินส์รอยแยลวิทยาลัย กับมหาวิทยลัยพายัพ ทำให้ที่นี่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปมากมาย บางคนรู้จักในชื่อ “ถนนคนเดินหลังปรินส์ฯ” “ตลาดนัดมือสองหน้าพายัพ” หรือจะ “กาดนัดมือสองหลังปรินส์ฯ” ไม่ว่าจะชื่อไหนที่นี่ก็ยังเป็นจุดหมายของใครหลายคนในวันหยุดเช่นเดียวกัน ถนนสายนี้แปรสภาพจากเส้นทางจราจรมาเป็นถนนคนเดินที่เต็มไปด้วยร้านรวงของมือสองหลากหลายประเภท ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนกระทั่งบ่ายแก่ๆ ผู้คนจึงบางตาลง กาดคนเดินบนถนนบำรุงราษฎร์ เริ่มตั้งแต่แยกหน้าโรงเรียนปรินส์ฯ เรื่อยไปจนถึงถนนรัตนโกสินทร์ รวมตรอกซอยย่อย และบนทางเท้า ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร

เดินเล่นชิวๆ เสาร์-อาทิตย์ อีกทางเลือกสำหรับวันหยุดสบายๆ

สนุกกับการเลือกซื้อหาสินค้ามือสอง หลากหลายคุณภาพ หลายราคา ตามแต่จะพอใจ

สินค้าที่พ่อค้าแม่ขายขนมานำเสนอคนเดินถนนมีตั้งแต่ของกิน สินค้ามือสอง สินค้ามือหนึ่งโละสต็อก ไปจนถึงสินค้าใหม่ราคาประหยัด เสื้อผ้ามือสองที่นี่อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักช้อป เพราะมีเสื้อผ้าหลากหลายชนิด ต่างคุณภาพ และราคาให้เลือกซื้อหา ทั้งกางเกง และเสื้อยีนส์ เสื้อกันหนาว ชุดเดรส และเสื้อผ้าสตรีน่ารักสไตล์เกาหลี

สำหรับคนรักการอ่านที่ให้ความสำคัญกับเนื้อหามากกว่ารูปลักษณ์ กำลังมองหาหนังสือดีราคาถูกสักเล่มสำหรับวันพักผ่อนสบายๆ กาดนัดคนเดินแห่งนี้ถือเป็นสวรรค์ของหนอนหนังสืออีกแห่งหนึ่ง เพราะมีหนังสือมือสองหลากหลายคุณภาพให้เลือกสรรค์ ตั้งแต่นิตยสารเก่าหายาก หนังสือพิมพ์หัวโบราณ หนังสือนิยายของนักเขียนฝีมือเยี่ยมของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น โสภาค สุวรรณ โบตั๋น ประภัสสร เสวิกุล ไปจนถึงตำราเรียน พจนานุกรมราคาแพงในร้านหนังสือ ที่นี่มีให้เลือกในราคาถูกสบายกระเป๋านักเรียน

นิยายคุณภาพ ผลงานของนักเขียนลายคราม ฝีมือชั้นครู ก็มีให้เลือกหาในราคาย่อมเยา

นิตยสารเก่าก็มีให้เลือกหามากมาย ตามรสนิยมของนักอ่านแต่ละท่าน

ตุ๊กตาโมเดลของซุปเปอร์ฮีโร่ และของเล่นย้อนยุคมากมายที่วางเรียงรายอยู่สองข้างทาง บางทีก็เชื้อชวนให้นักช้อปย้อนนึกถึงชีวิตในวัยเยาว์ วันวานที่เคยเป็นเจ้าของสมบัติที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน ชาวเรโทรทั้งหลายที่มองหาของเก่าหายากมาเก็บไว้เป็นคอลเล็คชั่นส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นกล้องฟิล์มที่ทุกวันนี้ถูกแทนที่ด้วยกล้องดิจิตอลเกือบร้อยเปอร์เซ็นแล้ว ภาพถ่ายเชียงใหม่ในอดีต เครื่องเล่น และแผ่นเสียงของนักร้องคนโปรดหายาก ถ้วยชาม เครื่องแก้วเซรามิค พระเครื่อง และพระพุทธรูป ไปจนถึงของขนาดใหญ่อย่างชั้นวางของ ตู้ และหีบไม้เก่าเก็บ

กล้องถ่ายรูปฟิล์ม เลนส์กล้อง อุปกรณ์เกี่ยวกับกล้องฟิล์ม และรูปถ่ายเก่า สวรรค์ของคนรักกล้อง

ตุ๊กตาโมเดล และของเล่นในวัยเด็ก

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สายชาร์ตต่างๆ ก็มีนะคะ อย่าลืมตรวจสอบคุณภาพกันด้วย

กาดนัดมือสองหลังปรินส์ฯ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของถนนคนเดินที่มีเอกลักษณ์ สำหรับคนที่อยากใช้วันหยุดพักผ่อนสบายๆ ในเมือง สินค้ามือสองที่วางขายมีหลายคุณภาพ และราคา ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อตามความพอใจ ก่อนตัดสินใจซื้อ อย่าลืมตรวจสอบคุณภาพสินค้าทุกครั้ง ให้คุ้มค่าเงินที่จ่ายไป ขอให้สนุกกับการเดินเล่น หรือเลือกซื้อสินค้านะคะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  902
226  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ในเชียงใหม่ / หลงเสน่ห์สถาปัตยกรรมล้านนา ที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณฯ เมื่อ: มิถุนายน 29, 2013, 11:59:48 PM
หลงเสน่ห์สถาปัตยกรรมล้านนา ที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณฯ

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บนถนนเลียบคลองชลประทาน

ภายในบริเวณสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา” ซึ่งอนุรักษ์เรือนไม้สถาปัตยกรรมล้านนาอันมีเอกลักษณ์ ควรค่าแก่การศึกษาไว้ถึง 7 หลัง บริเวณพิพิธภัณฑ์ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ยิ่งส่งเสริมให้หมู่อาคารเก่าแก่ใต้ร่มไม้โดดเด่น และมีเสน่ห์น่าหลงใหลยิ่งขึ้น

ต้นก้ามปูใหญ่ (จามจุรี) ให้ร่มเงาไปทั่วบริเวณพิพิธภัณฑ์

ไฮไลท์สำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ “เรือนโบราณไทลื้อ” ที่ตั้งอยู่กลางลาน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เรือนหม่อนตุด” ตามชื่อของอุ๊ยตุด ซึ่งเป็นเจ้าของดั้งเดิมของเรือนหลังนี้ ลักษณะเป็นเรือนไม้ขนาดกลางสองหลังเชื่อมกัน เรียก “หน้าเปียง” ระหว่างเรือนทั้งสองหลังนี้มีรางระบายน้ำฝนหรือ “ฮ่องริน” ใช้ระบายน้ำจากหลังคายามฝนตก เป็นลักษณะทั่วไปของเรือนโบราณที่มีเรือนย่อยประกอบเข้ากัน หลังหนึ่งค่อนข้างกว้างใช้เป็นห้องส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ส่วนอีกหลังที่ขนาดเล็กกว่าใช้เป็นห้องครัว

เรือนโบราณไทลื้อ หรือ เรือนหม่อนตุด ไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์

บรรยากาศรอบเรือนโบราณไทลื้อ มีต้นไม้ร่มรื่น

นอกจากเรือนไทลื้อ บริเวณโดยรอบยังมีสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยเก่าแก่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เยี่ยมชม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เรือนกาแล” ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเรือนแบบล้านนาที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเรือนกาแลให้เยี่ยมชมหลายหลัง อาทิ เรือนกาแลพญาวงศ์ เดิมเป็นของพญาวงศ์ ตั้งอยู่ที่ อ.ป่าซาง จ. ลำพูน เรือนกาแลอุ๊ยผัด ย้ายมาจาก อ.จอมทอง เป็นต้น ลักษณะเด่นของเรือนกาแล เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงหลังคาทรงจั่ว ประดับยอดจั่วด้วยไม้แกะสลักไขว้กันคล้ายเขาสัตว์ ว่ากันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี เป็นเครื่องรางอวยชัยให้กับเจ้าของเรือน และผู้อยู่อาศัย

เรือนกาแลพญาวงศ์ หลังคาจั่วกาแล เอกลักษณ์สำคัญของเรือนล้านนา

ยุ้งข้าว (หลองข้าว) ยกพื้นสูง ข้างเรือนกาแลพญาวงศ์

หากอยากเรียนรู้วิถีความเป็นอยู่ของชาวเวียงเชียงใหม่ก็ยังมีเรือนที่น่าสนใจให้ศึกษาหลายหลัง เช่น เรือนชาวเวียงเชียงใหม่ (เรือนพญาปงลังกา) เป็นเรือนสมัยหลังที่มีรูปแบบคลี่คลายมาจากเรือนกาแล คือหลังคาจั่ว แต่ไม่มีกาแลประดับเหนือป้านลม ลักษณะเป็นเรือนสองหลังพื้นเดียวกัน ยกพื้นสูง ใต้ถุนใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ หรือทำงาน เรือนพื้นบ้านล้านนาอุ๊ยแก้ว มีขนาดเล็กกว่าเรือนหลังอื่นในบริเวณเดียวกัน เป็นเรือนของคนชั้นกลางช่วงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่พัฒนามาจากเรือนแบบดั้งเดิม แต่เพิ่มพื้นที่ใช้สอนภายในบ้านให้เหมาะกับยุคสมัยโดยหันบันใดเรือนไปด้านข้างแทนการหันออกด้านหน้าเรือนเหมือนแต่ก่อน เรือนลักษณะนี้จะค่อนข้างเตี้ย ใต้ถุนบ้านจึงใช้งานได้ไม่เต็มที่แบบแต่ก่อน เรือนปั้นหยา (เรือนอนุสารสุนทร) ลักษณะเป็นเรือนขนาดใหญ่สองชั้น ลักษณะผสมผสานกับหลังคาทรงจั่วแบบดั้งเดิม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผามีชานเรือนหน้าห้องโถงใหญ่ชั้นบน ใช้เป็นพื้นที่ใช้สอย และทำกิจกรรมของคนในครอบครัว

เรือนพื้นบ้านล้านนาอุ๊ยแก้ว เรือนลักษณะนี้ชนชั้นกลางช่วงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่สองนิยมปลูก

เรือนปั้นหยา หรือ เรือนหลวงอนุสารสุนทร

กลางลานกว้างมีต้นโชค หรือต้นมะโจ้ก ภาษากลางเรียก “ต้นตะคร้อ” ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นไม้มงคล ปลูกไว้บริเวณบ้านจะนำความโชคดีมาสู่ผู้อยู่อาศัย เป็นศิริมงคลแก่ครอบครัว ชาวล้านนานิยมใช้ใบของต้นไม้ชนิดนี้ในการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พิธีสืบชะตา หรือพิธีขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น ผลของต้นตะคร้อมีรสเปรี้ยวอมหวาน เป็นผลไม้กินเล่นของเด็กๆ และคนพื้นเมือง ต้นตะคร้อของพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ มีมาตั้งแต่ครั้งก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ลำต้นมีโพรงขนาดไม่ใหญ่นัก นักท่องเที่ยวนิยมโยนเหรียญเข้าไปในโพรงนั้น เชื่อว่าจะให้โชคลาภ

โยนเหรียญเข้าโพรงต้นมะโจ้ก เพื่อความโชคดี เป็นสิริมงคล

บรรยากาศทั่วไปร่มรื่น มีต้นไม้ให้ร่มเงามากมาย

พิพิธภัณ์เรือนโบราณล้านนาเปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนาเปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08:30-16:30 เสาร์-อาทิตย์เปิด 09:00-16:30 ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ธรรมเนียมค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์เพียง 20 บาท นับว่าคุ้มค่ายิ่งกับโอกาสที่จะได้ชื่นชมรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ทุกวันนี้หาดูได้ยากยิ่ง อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์เรือนไม้โบราณให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานชาวล้านนา ได้ศึกษาวิถีชีวิตของคนรุ่นเก่าก่อน ผู้เข้าชมควรอ่านกติกาการเข้าชม และปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย เป็นการอนุรักษ์ให้เรือนอยู่ในสภาพดีเสมอ  และเพื่อความปลอดภัยของผู้เยี่ยมชมเอง เนื่องจากเรือนบางหลังเก่า และเสี่ยงล้มพัง จึงมีป้ายเตือนไม่ให้ผู้เยี่ยมชมขึ้นบนตัวเรือน

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา 908
227  ข้อมูล ร้านอาหาร เชียงใหม่ / แนะนำ ร้านกาแฟ ชา เบเกอรี่ เค้ก ขนม ไอศกรีม อาหารว่าง ของทานเล่น ในเชียงใหม่ / Re: พาไปชิม เค้กฝรั่งเศสสไตล์ญี่ปุ่นที่ ร้านเค้ก มองบลังค์ (Mont Blanc) ที่เชียงใหม่ เมื่อ: มิถุนายน 29, 2013, 11:04:50 PM
บรรยากาศดี น่านั่งมากเลยค่ะ  :11:
228  ข้อมูล ที่พักโรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวเชียงราย / ทริปข้อมูลรูปภาพสวยๆ ที่น่าสนใจของจังหวัดเชียงราย / เดินเล่นริมโขงที่เชียงของ-ห้วยทราย เมื่อ: มิถุนายน 29, 2013, 12:11:37 AM
เดินเล่นริมโขงที่เชียงของ-ห้วยทราย

แผ่นดินตอนเหนือสุดของประเทศในจุดที่ลำน้ำโขงไหลมาบรรจบกับแผ่นดินไทยเป็นครั้งแรกที่จังหวัดเชียงราย ก่อเกิดเป็นชุมชนมากมายขนานไปกับลำน้ำสายนี้ “อำเภอเชียงของ” เป็นเพียงอำเภอชายแดนเล็กๆ ตั้งประจันหน้ากับเมืองห้วยทราย สปป.ลาว โดยมีแม่น้ำโขง ซึ่งเปรียบเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนสองฟากฝั่งเป็นพรมแดนสมมติ เมืองริมโขงแห่งนี้ไม่เพียงมีความสำคัญอย่างยิ่งในเชิงเศรษฐกิจ และการขนส่งภายในภูมิภาค แต่ยังเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ วิถีชีวิตอันเนิบช้าของคนท้องถิ่น มิตรภาพของคนสองฟากฝั่งที่แม่น้ำไม่อาจกั้น ฉันจึงเลือกที่นี่เป็นจุดหมายปลายทาง หลีกหนีชีวิตที่วุ่นวานอีกครั้ง

จุดชมวิวห้วยทรายมาน ถนนริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

การเดินทางมาเชียงของนั้นสะดวกมาก มีหลากหลายวิธีให้เลือกตามรสนิยม เลือกแบบสุดหรู นั่งเครื่องบินตรงจากกรุงเทพมายังเชียงราย เช่ารถมาไม่นานก็ถึงเชียงของ หรือสะดวกขึ้นมาหน่อยก็เลือกรถโดยสารประจำทางมีทั้งจากกรุงเทพ และจากเมืองศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างเชียงใหม่ ใครทรหดหน่อย อยากสัมผัสวิถีท้องถิ่นให้มากขึ้น จะขับมอเตอร์ไซค์มาเรื่อยๆ ก็น่าสนใจไปอีกแบบ

รถโดยสารท้องถิ่นเชียงราย-เชียงของ รถหวานเย็น เดินทางช้า แต่มากเสน่ห์

ขับรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นเหนือไปตามถนนริมโขง คุณจะพบบรรยากาศชนบท ความสงบงามของวิถีชีวิตผู้คนที่สอดผสานกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว คนชอบถ่ายรูปทั้งหลายจะต้องหลงรักที่นี่แน่นอน เกาะแก่งกลางลำน้ำโขงก่อเกิดทัศนียภาพแปลกตา สายน้ำบางช่วงไหลแรงตามความสูงต่ำของท้องน้ำ บางช่วงไหลเอื่อยๆ มองเห็นเรือหาปลาของชาวบ้านทั้งสองฝั่งลอยลำอยู่เงียบๆ ชีวิตที่นี้ไม่จำเป็นต้องเร่งกินเร่งเที่ยวเหมือนเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพักผ่อนให้เต็มที่ เดินเลียบเลาะไปตามทางเดินริมน้ำ นั่งมองเมืองห้วยทรายที่ทอดตัวยาวขนานไปตามฝั่งจนตะวันคล้อย ในยามค่ำคืนที่นี่สงบเงียบ แสงไฟจากเมืองแฝดอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำทำให้ผืนน้ำดำมืดดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้มากทีเดียว

เกาะแก่งกลางลำน้ำ ทิวทัศน์อันมีเอกลักษณ์ของแม่น้ำโขง อีกฝั่งหนึ่งคือแผ่นดินของสปป.ลาว

ทิวทัศน์ริมแม่น้ำโขงจากฝั่งเชียงของในบรรยากาศสบายๆ มองเห็นเมืองห้วยทรายอยู่ไกลๆ อีกฝั่งหนึ่ง

กิจกรรมหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเชียงของ คือไปเดินเล่นทำความรู้จักกับพี่น้องชาวลาวในเมืองห้วยทราย เมืองขนาดกระทัดลัด ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการปกครองของแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว สำหรับนักเดินทางเท้าไฟที่มีประสบการณ์ในต่างแดน มีหนังสือเดินทางราชอาณาจักรไทยที่ยังเหลืออายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถใช้หนังสือข้ามพรมแดนได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า ได้รับอนุญาตให้อยู่ในลาวได้ไม่เกิน 30 วัน สำหรับผู้ไม่มีหนังสือเดินทางก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงใช้บัตรประจำตัวประชาชนทำเรื่องขอหนังสือผ่านแดนชั่วคราวที่ที่ว่าการอำเภอเชียงของก็สามารถเดินทางเข้าประเทศลาวได้ *ติดตามข้อมูลการเดินทางข้ามพรมแดนท้ายบทความ

เรือนข้ามฟากเป็นทั้งพาหนะขนส่งนักท่องเที่ยว และขนส่งสินค้าเล็กๆ น้อยๆ ของชาวเมืองสองฝั่งโขง

ผู้ถือหนังสือเดินทางราชอาณาจักรไทยสามารถพำนักในลาวได้ 30 วัน

เมืองห้วยทรายนั้นค่อนข้างเงียบสงบ บริเวณถนนเลียบแม่น้ำโขงเป็นที่ตั้งของเรือนพักมากมาย นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมักเลือกที่นี่เป็นจุดแวะพักก่อนเดินทางต่อไปยังหลวงพระบาง และเวียงจันทน์ซึ่งสามารถไปได้ทั้งทางเรือ รถโดยสาร และเครื่องบิน เราจึงพบเห็นนักเดินทางแบ็คแพ็กเกอร์มากหน้าหลายตาที่นี่

"จำปาลาว" ดอกไม้ประจำชาติของลาว กลิ่นหอมยั่วยวนใจ ชวนหลงใหล

เดินขึ้นจากท่าเทียบเรือ มีบันไดซีเมนต์ทอดยาวอยู่อีกฟากหนึ่งของถนน บันไดนี้จะนำเราไปสู่ “วัดเจ้าจอมมณีรัตน์” ตั้งอยู่บนยอดเขาไม่สูงนัก หันหน้าเข้าสู่แม่น้ำโขง ด้านบนมองเห็นเมืองเชียงของฝั่งประเทศไทยได้อย่างชัดเจน อุโบสถของวัดสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมลาว การประดับตกแต่งอาคารเรียบง่ายด้วยฝีมือช่างท้องถิ่น สีสันสดใสสะดุดตา ข้างอุโบสถมีสถูปสีทองศิลปะลาวมีเอกลักษณ์

วัดเจ้าจอมมณีรัตน์ หรือเจ้าจอมมะนีลัด ศิลปะลาวท้องถิ่น เรียบง่าย สะดุดตา

สถูปสีทองวัดเจ้าจอมมณีรัตน์ และป้ายบอกทางไป Fort Carnot (ค่ายเก่าทหารฝรั่ง)

จากวัดเจ้าจอมมณีรัตน์เดินไปตามป้ายบอกทาง ผ่านบ้านเรือนของชาวลาว มีโอกาสแวะทักทายกับชาวเมืองที่นี่เป็นระยะเพื่อถามทาง ไม่ไกลนักเราก็มาถึงหอคอยเก่าที่ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินสูง Fort Carnot ค่ายสังเกตการณ์ของทหารฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคมที่สร้างขึ้นเพื่อควบคุมกิจการต่างๆ ภายใต้กำกับดูแลของฝรั่งเศส และเพื่อสังเกตการณ์ประเทศเอกราชที่ยังเหลืออยู่อีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ ซึ่งกินดินแดนอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขง “ราชอาณาจักรไทย”

Fort Carnot (ค่ายเก่าทหารฝรั่ง) ได้รับการสนับสนุนจากโครงการของการท่องเที่ยวลาว

อาคารซากปรักหักพังภายในค่ายเก่าทหารฝรั่งเศส

ภายในค่าย ด้านในมีอาคารต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นซากปรักหักพัง ไฮไลท์ของค่ายแห่งนี้คือหอคอยด้านทิศตะวันตก นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปด้านบนเพื่อนชมทิวทัศน์ของเมืองห้วยทราย รวมไปถึงฝั่งเชียงของได้อย่างชัดเจน เราใช้เวลาอ้อยอิ่งอยู่บนหอคอยนี้พอสมควร เพราะวิวเมืองห้วยทรายสงบงามและมีมนต์ขลัง บ้านเรือนกระจุกตัวเรียงไปตามแนวแม่น้ำโขง สายน้ำไหลเอื่อย วิถีชีวิตของผู้คนสองฟากฝั่งยังคงดำเนินเรื่อยไป ชาวเชียงของและชาวลาวห้วยทรายใช้แม่น้ำสายนี้เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตมาชั่วนาตาปี แน่นอนว่ามิตรภาพของคนสองฝั่งโขงนับวันจะยิ่งแนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา

หอคอยด้านตะวันตก ภายในบริเวณค่ายเก่าทหารฝรั่งเศส

ทิวทัศน์เมืองห้วยทราย และแม่น้ำโขง เห็นทิวเขาฝั่งไทยไกลลิบๆ มองจากหอคอยด้านตะวันตกของค่าย

ดอกหญ้าบานภายในบริเวณค่าย สร้างความสดชื่น และเติมพลังใจให้แก่ผู้เดินทาง

เราอำลาเมืองห้วยทรายในยามเย็น ก่อนกลับเราแวะซื้อแซนด์วิชลาว ขนมปังฝรั่งเศสชิ้นใหญ่ มีให้เลือกหลายประเภททั้งไก่ และหมู เรือข้ามฟากพาเรากลับมายังเชียงของ คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายที่เราจะพักอยู่ที่นี่ เวลายามค่ำคืนจึงหมดไปกับการดื่มด่ำกับบรรยากาศริมโขง มองแสงไฟรำไรจากฝั่งเมืองห้วยทราย อากาศเย็นสบายจึงหลับฝันดี

ชีวิตของผู้คนสองฟากฝั่งยังคงดำเนินต่อไป และพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนเสมอ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางข้ามพรมแดน

1. หนังสือเดินทางไทยสามารถพำนักในลาวได้ 30 วัน ใช้เดินทางได้ทั่วประเทศ
2. ผู้ไม่มีหนังสือเดินทางสามารถทำหนังสือผ่าแดนชั่วคราวได้ที่ที่ว่าการอำเภอเชียงของ เสียค่าธรรมเนียม 30 บาท พำนักในลาวได้ 3 วัน 2 คืน เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนดไว้ตามข้อตกลงเท่านั้น
3. ค่าเรือข้ามฟากเที่ยวละ 40 บาท
4. สำหรับผู้ถือหนังสือผ่านแดนช่วยคราวต้องเสียค่าเหยียบแผ่นดินลาว 50 บาท ค่าธรรมเนียมนี้ยกเว้นสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทาง
5. ในวันเสาร์-อาทิตย์หรือนอกเวลาราชการของสปป.ลาว นักท่องเที่ยวต้องจ่ายค่าล่วงเวลาประมาณ 40 บาท


เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  902
229  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำที่เที่ยว เส้นทางสาย บ่อสร้าง-สันกำแพง-แม่ออน-แม่กำปอง / Re: แม่กำปอง วิถีแห่งชีวิต วิถีแห่งธรรมชาติ เมื่อ: มิถุนายน 26, 2013, 02:04:53 PM
ขอบคุณสำหรับข้อมูลการท่องเที่ยวนะคะ แต่ไม่ทราบว่าที่นี่เค้ามีเป็ฯแบบโฮมสเตย์ไหมคะ

มีเยอะเลยค่ะ ติดต่อได้ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน (บ้านพ่อหลวงพรหมมินทร์) ถามชาวบ้านดูได้เลยค่ะ
นอกจากโฮมสเตย์ก็มีที่พักของเอกชนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งด้วย  912
230  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำที่เที่ยว เส้นทางสาย บ่อสร้าง-สันกำแพง-แม่ออน-แม่กำปอง / Re: แม่กำปอง วิถีแห่งชีวิต วิถีแห่งธรรมชาติ เมื่อ: มิถุนายน 26, 2013, 02:54:20 AM
 903 ดีใจที่บทความมีประโยชน์
ขอบคุณมากค่ะ ติดตามกันไปนานๆ นะคะ  916
231  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / วัดในจังหวัดเชียงใหม่ / วิหารไม้วัดต้นเกว๋น เสน่ห์เหนือกาลเวลาของสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ เมื่อ: มิถุนายน 26, 2013, 02:01:05 AM
วิหารไม้วัดต้นเกว๋น เสน่ห์เหนือกาลเวลาของสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ

ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าไปทางตะวันตกเฉียงใต้สู่อำเภอหางดง กินลมชมวิวเลาะเลียบคลองชลประทานไปเรื่อยๆ ตามถนนวงแหวนรอบนอกเมืองเชียงใหม่ จนถึงสี่แยกขึ้นภูเขาไปอำเภอสะเมิง สี่แยกนี้ดั้งเดิมชื่อว่าแยกหนองควาย แต่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นแยกต้นเกว๋น ตามชื่อเสียงเรียงนามวัดสำคัญของเขตบ้านย่านนี้ “วัดต้นเกว๋น หรือวัดอินทราวาส”

วัดเล็กๆ แห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านต้นเกว๋น ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มต้นตาลสูงลิ่วที่ขึ้นโดดเด่นอยู่ทั่วไปในบริเวณวัด “ต้นเกว๋น” หรือ “ต้นมะเกว๋น” เป็นคำเมืองที่ใช้เรียก “ต้นตะขบป่า” สันนิษฐานว่าเป็นต้นไม้พื้นถิ่นที่ครั้งหนึ่งเคยขึ้นอยู่ทั่วไปในบริเวณวัด วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ อายุอานามย้อนกลับไปกว่า ๒๐๐ ปี

วิหารไม้วัดต้นเกว๋น บนลานทราย รายล้อมด้วยระเบียงรูปทรงเรียบง่าย

ฉันเดินทางมาถึงวัดแห่งนี้ตอนบ่ายแก่ๆ พระอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำลงแล้ว มีเพียงนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คนนั่งซึมซับบรรยากาศล้านนาแท้ๆ อยู่เงียบๆ วิหารไม้เก่าแก่ตั้งอยู่กลางลานทราย รายล้อมด้วยระเบียงไม้ โดดเด่น และงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนาดั่งเดิม ซึ่งได้รับการยกย่องจากผู้เชี่ยวชาญให้เป็นแม่แบบสถาปัตยกรรมล้านนาที่ยังคงความบริสุทธิ์ ดั่งดอกไม้แรกแย้ม

วิหารไม้สถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ ฉากหลังคือดวงตะวันที่คล้อยต่ำลงในยามบ่ายแก่ๆ

ภาพมุมใกล้ของหน้าบรรณวิหาร มีร่องรอยการประดับกระจกสวยงาม

ฉันเดินชื่นชมความงดงามของกลุ่มอาคารไม้โบราณนี้อย่างเงียบๆ ถึงแม้วิหารหลังนี้จะมีขนาดเล็ก เทียบไม่ได้เลยกับวิหารของวัดขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงหลายๆ แห่ง แต่ความอ่อนช้อยของรูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนากลับทำให้ความเล็กนี้ดูน่าตื่นตาตื่นใจ และรู้สึกสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หน้าบรรณแบบม้าต่างไหมมีร่องรอยการประดับกระจกสี โก่งคิ้วสลักลวดลายพรรณพฤกษา ใบระกาจำหลักเป็นลวดลายพญานาค ฝีมืออ่อนช้อยตำหรับช่างชาวเชียงใหม่ ด้านในวิหารประดิษฐานพระประธานบนแท่นแก้วลวดลายวิจิตร เป็นที่สักการะของชาวบ้านละแวกนี้ และผู้มาเยือน

ใบระกาจำหลักไม้เป็นลวดลายพญานาคอ่อนช้อย

ความละเอียดอ่อนของฝีมือช่างโบราณในการตกแต่งลวดลายหน้าบรรณวิหาร

บริเวณเดียวกันนี้ มีมณฑปไม้ทรงจัตุรมุขลักษณะโดดเด่น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ว่ากันว่าวิหารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้ประดิษฐานพระบรมธาตุศรีจอมทอง ซึ่งจะมีประเพณีอันเชิญพระบรมธาตุจากอำเภอจอมทองมายังเมืองเชียงใหม่ ถือเป็นประเพณีของเจ้าหลวงที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และขบวนแห่งจะต้องพักที่วัดแห่งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ทรงน้ำก่อนเสมอ

มณฑปไม้รูปทรงจตุรมุข ในอดีตเคยใช้ประดิษฐานพระธาตุศรีจอมทอง เพื่อให้ประชาชนได้บูชาและสรงน้ำ

หลังคามณฑปไม้ทรงจตุรมุข มีโครงสร้างแบบม้าต่างไหม เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมล้านนา

ความงดงามสมบูรณ์แบบของสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณอันมีเอกลักษณ์ ทำให้วิหารไม้และอาคารโดยรอบได้ยกย่องให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่น โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในสมเด็กพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

ต้นมะเกว๋นที่เหลืออยู่เพียงต้นเดียวในบริเวณใกล้ๆ

จากความงามแห่งอดีตถูกถ่ายทอดผ่านกาลเวลาอันยาวนาน กลายเป็นแรงบันดาลใจให้สถาปนิกใช้เป็นโมเดลต้นแบบ ออกแบบหอคำหลวง ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่กลางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เป็นสัญลักษณ์โดดเด่น และงดงามจับใจทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ หลายๆ ครั้งที่เสน่ห์ของวัดแห่งนี้ติดตรึงใจผู้กำกับละครโทรทัศน์ จนกลายเป็นฉากสวยๆ ในละครหลายเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแว่นแคว้นล้านนาแห่งนี้

นักเดินทางผู้หลงใหลวัฒนธรรมท้องถิ่นคนไหนมีโอกาสแวะเวียนมาเยี่ยมเมืองเชียงใหม่ ไม่พลาดชมความงามของวิหารแห่งนี้สักครั้งในชีวิต ภาพดวงตะวันยามเย็นกำลังลาลับขอบฟ้า สาดแสงสีส้มแดงระเรื่อ เป็นฉากหลังให้วิหารไม้หลังงาม ท่ามกลางความสงบเงียบ คืออีกมุมเล็กๆ เสน่ห์แห่งเมืองเชียงใหม่ที่ใครๆ ก็ไม่ควรพลาด


เรื่องโดย เลดี้ ดาริกา
ภาพโดย Darkslayer ขอบคุณค่ะ

 912
232  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ / แนะนำที่เที่ยว เส้นทางสาย บ่อสร้าง-สันกำแพง-แม่ออน-แม่กำปอง / แม่กำปอง วิถีแห่งชีวิต วิถีแห่งธรรมชาติ เมื่อ: มิถุนายน 25, 2013, 02:06:22 AM
แม่กำปอง วิถีแห่งชีวิต วิถีแห่งธรรมชาติ

ในวันหยุดพักผ่อนสบายๆ จะมีอะไรดีไปกว่าหาสถานที่เหมาะๆ สักแห่ง จิบกาแฟร้อนๆ ขนมเค้กสักชิ้น พักสายตาเหม่อมองสีเขียวของต้นไม้ แล้วลืมงานกองโตๆ ไปสักพัก “บ้านแม่กำปอง” หมู่บ้านสงบงามบนยอดเขาสูงในเขตอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ไกลจากเมืองเชียงใหม่เกินขีดความสามารถของรถมอเตอร์ไซค์ธรรมดาๆ คันหนึ่ง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ด้วยแรงบิดสบายๆ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ที่นี่อาจเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับวันหยุดพักผ่อนครั้งต่อไปของคุณก็ได้

ถนนลาดยางสายเล็กๆ นำเราไปยังใหม่บ้านที่สร้างลดหลั่นกัน

บนระดับความสูง 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้แฝงตัวเร้นสอดประสานกับแมกไม้สีเขียวอย่างลงตัว อากาศที่นี่เย็นสบายตลอดทั้งปี บ้านเรือนต่างๆ กระจุกตัวรวมกันบนเชิงเขาริมลำธารน้ำใสแจ๋ว ก้าวแรกที่คุณมาถึงคงอดอิจฉาชาวบ้านที่นี่ไม่ได้ ที่ได้เป็นเจ้าของบ้านน่ารักๆ และอบอุ่นราวกับภาพฝันเช่นนี้ ชุมชนแห่งนี้มีความเป็นมายาวนานย้อนกลับไปเกือบร้อยปี เป็นปึกแผ่นจากอาชีพการทำสวนเมี่ยงและไร่กาแฟ จึงไม่ต้องแปลกใจที่เดินไปทางไหนก็พบพืชทั้งสองชนิดนี้อยู่ทั่วไป

นักท่องเที่ยวผู้รักการผจญภัยเป็นชีวิตจิตใจหลายท่านคงรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของ “แม่กำปอง” ดีในฐานะจุดหมายปลายทางของกิจกรรมเอ็กส์ตรีมอย่าง Flight of the Gibbon ที่ทำให้เรามีโอกาสใกล้ชิดธรรมชาติกันอย่างถึงพริกถึงขิง แต่ภายใต้ร่มเงาไม้เดียวกันนี้ แม่กำปองยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายรอคอยให้เราได้ค้นหา และสัมผัสทั้งวิถีชีวิตแบบชาวบ้านล้านนา และวิถีธรรมชาติที่น่าประทับใจ

วิหารไม้วัดคันธาพฤกษา หน้าบรรณเป็นลวดลายพรรณพฤกษา ฝีมือช่างท้องถิ่น งดงามตามแบบศิลปล้านนา

วัดคันธาพฤกษา เป็นวัดเล็กๆ ประจำหมู่บ้าน สร้างขึ้นเมื่อประมาณร้อยปีก่อน พร้อมๆ กับการตั้งบ้านเรือนของบรรพบุรุษชาวแม่กำปอง บริเวณวัดมีวิหารไม้หลังเล็กๆ หน้าบรรณเป็นลวดลายพรรณพฤกษาฝีมือช่างท้องถิ่น อ่อนช้อยและงดงามตามแบบศิลปะล้านนา หลังคาวิหารแห่งนี้ปกคลุมไปด้วยมอสและเฟิร์น แสดงถึงอากาศที่ค่อนข้างชุ่มชื้นตลอดปี เห็นแล้วรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ ใกล้ๆ กันนั้น มีทางเดินเล็กๆ นำเราไปสู่ลำธารน้ำใสสะอาด และน้ำตกขนาดกะทัดรัดด้านล่าง กลางลำธารมีอุโบสถหลัง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ไม่ใหญ่นัก เพื่อให้ชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวได้สักการะ เล่ากันว่าแนวคิดการสร้างพระอุโบสถกลางน้ำนี้ เป็นแนวคิดที่จะใช้สายน้ำกำหนดเขตพัทธสีมา เช่นเดียวกับการปักใบเสมารอบพระอุโบสถตามธรรมเนียมปกติ

พระอุโบสถกลางลำธารด้านหลังวัด มีสายน้ำแสดงเขตพัทธสีมา

เลยขึ้นไปไม่ไกลนัก บนเนินเขาเหนือหมู่บ้าน เราแวะพักดื่มกาแฟกันที่ร้านกาแฟน่ารักๆ “ชมนก ชมไม้” จุดพักผ่อนที่ใครไปแม่กำปองก็ไม่ควรพลาด นั่งทอดอารมณ์สักพัก มีหนังสือดีๆ สักเล่ม ปล่อยกายและใจไปกับกับภาพหมู่บ้านภายใต้แมกไม้แบบพาโนราม่า สีเขียวของต้นไม้ เสียงเพรียกจากป่า อากาศเย็นช่ำ แสงแดดอ่อนๆ อาจทำให้หลายคนหลงรักที่นี่ เพราะฉันก็เป็นผู้หนึ่งที่ตกหลุมรักแม่กำปองจนยากห้ามใจ

หมู่บ้านแม่กำปองซ่อนตัวอยู่ในหมู่ต้นไม้ ภาพมุมสูงจากระเบียงร้าน "ชมนก ชมไม้"

ระเบียงร้านชมนก ชมไม้ มีแปลสำหรับนอนอ่านหนังสือ ซึมซับอากาศบริสุทธิ์ และธรรมชาติ

เลยขึ้นไปอีกไม่ไกลนัก สำหรับนักท่องเที่ยวที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์คงต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเส้นทางข้างหน้าค่อนข้างแคบ และชัน เป็นที่ตั้งของน้ำตกแม่กำปอง น้ำตกขนาดกลางแห่งนี้มี่ทั้งหมดเจ็ดชั้น การเดินชมน้ำตกแต่ละชั้นทำให้เรามีโอกาสใกล้ชิดกับป่าธรรมชาติ สายน้ำใสสะอาดตกลงมาเป็นสาย ได้ยินเป็นเสียงน้ำตกกระทบหินดังก้องไปทั่ว

หากกำลังวังชายังเหลือ เรี่ยวแรงยังไม่ตก  เส้นทางลาดยางนำเราผ่านไร่กาแฟ และป่ารกทึบ เส้นทางค่อนข้างชันมาก จนบางจุดมอเตอร์ไซค์อาจไปต่อไม่ไหว ต้องลงจูงกันบ้างก็มี บนจุดสูงสุดของยอดเขาคือ “ดอยกิ่วฝิ่น” จุดชมวิวที่น่าประทับใจอีกแห่งหนึ่ง จากจุดชมวิวนี้เรามองเห็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ ในระดับความสูงเกือบสองพันเมตร ปรากฏแนวต้นสนป่าเป็นทิวแถว ดอกไม้ป่าหลากหลายสายพันธุ์อวดความงามแก่ผู้มาเยือน บ้างเกาะเกี่ยวอยู่ตามคาคบไม้ บ้างสอดแซมขึ้นมาจากผิวดิน นั่นทำให้เราหายเหนื่อย เป็นภาพที่ผู้มาเยือนไม่อาจลืม ฉันใช้เวลาอ้อยอิ่งอยู่ที่นี่สักพักเพื่อสูดรับอากาศบริสุทธิ์อย่างเต็มที่

ดอกไม้ริมทาง บอบบาง ท่ามกลางอากาศเย็นสบาย

จุดชมทิวทัศน์บนดอยกิ่วฝิ่น

เมื่อตะวันเริ่มคล้อยลง เราบ่ายหน้ากลับเข้าสู่หมู่บ้านแม่กำปองอีกครั้ง หมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อเสียงเรื่องโฮมสเตย์ ดีกรีหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หลายๆ ครอบครัวเปิดบ้านต้อนรับผู้มาเยือนด้วยมิตรภาพ คืนนี้เราจะพักกันที่นี่ ฉันติดต่อกับทางชุมชน ได้บ้านพักหลังหนึ่งเล็กกะทัดรัด ด้านหลังตัวบ้านเป็นลำธารน้ำ ได้ยินเสียงน้ำตลอดทั้งคืน ข้างบ้านมีไร่กาแฟ มีเมล็ดกาแฟสีเขียวสดเต็มต้น เราเดินเล่นไปรอบๆ หมู่บ้าน ซึมซับวิถีชนบทให้อิ่มเอมหัวใจ ชาวบ้านที่นี่ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยรอยยิ้มจริงใจ ยามเย็นเช่นนี้เด็กๆ ออกมาวิ่งเล่น มีกลุ่มควันจากการหุงหาอาหารลอยอ้อยอิ่งอยู่เหนือบ้านเรือนแต่ละหลัง ให้สัมผัสแบบวิถีชาวชนบท พาให้นึกถึงเรื่องราวในวัยเด็ก

บ้านแม่กำปองยามเย็น อากาศเริ่มเย็นลง มีหมอกบางๆ ลอยอ้อยอิ่ง

ในหมู่บ้านมีดอกไม้แต่งแต้มสีสันอยู่ทั่วไป

บ้านพักโฮมสเตย์หลังน้อย ใต้ร่มเงาของต้นไม้

คืนนั้นฉันหลับสบายโดยไม่ต้องการพัดลมหรือแอร์คอนดิชั่น เพราะอากาศเย็นสบายจนหนาว ฟังเสียงสายน้ำเพลินๆ ราวกับดนตรีธรรมชาติขับกล่อมให้เราหลับใหล ไม่ต้องการโทรทัศน์หรืออินเทอร์เนตเพียงเท่านี้ร่างกายและจิตใจก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง พร้อมสู้ชีวิตในเมืองใหญ่ต่อไปอีกเฮือกหนึ่ง จนกว่ามันจะโหยหาธรรมชาติขึ้นมาอีกครั้ง

เรื่องและภาพโดย: เลดี้ ดาริกา  913
หน้า: « 1 2 3 4




Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.5 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.255 วินาที กับ 18 คำสั่ง