หัวข้อ: ชวนเที่ยว นิทรรศการ ลายคำ น้ำแต้ม เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มิถุนายน 17, 2016, 02:03:44 AM กล่าวถึงนิทรรศการงานศิลปะที่เคยได้เห็นได้ชมในเชียงใหม่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานศิลปะหลากหลายแขนงจัดปนกันไม่ได้ได้แยกส่วนชัดเจนกันครับ ไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรม จิตรกรรม สื่อผสม ภาพถ่าย เป็นต้น และถ้าหากมีการแยกย่อยออกมาเป็นส่วน มักจะมาในรูปแบบของหัวข้อที่จะจัดแสดงกันมากกว่าจะเน้นในแง่ประเภทของลักษณะงาน
แต่สำหรับ นิทรรศการ ลายคำ น้ำแต้ม ล่าสุดที่ได้ไปชมมา ต้องบอกเลยว่า นี่คือนิทรรศการที่จัดแบบเฉพาะอย่างเลย ทั้งในแง่ของหัวข้อที่จะนำเสนอ และรูปแบบของงาน โดยหัวข้อนั้น คือ พระราชประวัติพญามังรายมหาราช ในวาระมหามงคล ปีพุทธศักราช 2559 ครบ 60 รอบปีนักษัตร 720 ปี และในส่วนของงานที่จัดแสดง เป็นงาน ลายคำ น้ำแต้ม ทั้งหมด ซึ่งเจ้าของผลงานก็คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลิปิกร มาแก้ว อาจารย์ สาขาศิลปกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา ที่เคยแสดงผลงานศิลปกรรมอย่างงานลายคำล้านนา ชุด พระบฏ ไร่แม่ฟ้าหลวง เชียงราย ผลงานศิลปะนิพนธ์ปริญญษโท ชุด มารผจญในลักษณะศิลปะพื้นบ้านล้านนา วัดยางหลวง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ผลงานชุด ขณะจิตหนึ่ง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์เจ้าฟ้า กรุงเทพฯ และผลงานชุด ขณะจิตหนึ่ง และ เสื้อยันต์ มนตราล้านนา ณ เฮินศิลป์ใจ๋ยอง เชียงใหม่ โดยงานลายคำน้ำแต้มทั้งหมดนั้น ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากหนังสือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ 700 ปี เพื่อถวายไว้เป็นจิตรกรรมลายคำบนฝาผนัง วัดต้นโชค อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงงานลายคำน้ำแต้มนั้น นี่คืองานจิตกรรม ที่มีลวดลายสีทองของทองคำเปลวบนพื้นสีแดง เป็นศิลปะที่สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ใช้กับสถาปัตยกรรมทางศาสนา และใช้ประดับเครื่องสักการะ ลวดลายเน้นความสำคัญของนัยยะของความสมบูรณ์และแสดงสัญลักษณ์ของความศรัทธาในพุทธศาสนา สีหรือหมึกสำหรับใช้เขียนภาพเรียก น้ำแต้ม ใช้เขียนบนวัสดุต่างๆ เช่น ผ้า กระดาษ ปั๊บสาไม้ หรือ ปูน น้ำแต้มล้านนาสูตรโบราณมีวัตถุดิบจากพืช และแร่ธาตุต่างๆ บางชนิดแม่สีบางชนิดเป็นส่วนผสม และบางชนิดเป็นน้ำยาสำหรับผสมสี มีวัสดุอุปกรณ์อย่าง ยางมะเดื่อ ในอดีตใช้ยางมะเดื่อจากต้นมะเดื่ออุทุมพร เพราะเป็นยางไม้ให้ความเหนียวแน่นและติดทนทาน ปัจจุบันยางมะเดื่อจากต้นมีข้อจำกัด เพราหายากและไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน จึงมีผู้คิดค้นยางมะเดื่อวิทยาศาสตร์ หรือเรียกว่า ยางมะเดื่อนอก ขึ้นมาแก้ปัญหาในการเก็บไว้ใช้ได้นาน ทองคำเปลว เป็นทองคำเปลวแผ่น 100 เปอร์เซ็นต์ ในอดีตล้านนาเรียกทองคำเปลวว่า คำปลิว มีทั้งแบบ คำเหลืองและคำแดง คือทองคำเปลว สีออกเหลืองและสีออกแดง ปัจจุบันมีทองคำเปลวแบบแผ่นทองต่อ และแบบแผ่นทองเนื้อเดียวกัน หรือรเยกว่าทองปิดพระ สามารถใช้ได้ทั้งสองแบบ หัวข้อ: Re: ชวนเที่ยว นิทรรศการ ลายคำ น้ำแต้ม เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มิถุนายน 17, 2016, 02:05:17 AM ส่วนสีเป็นสีอะคริลิกชนิดด้าน คือสีที่พัฒนามาจากสีน้ำ ใช้ละลายกับน้ำ แห้งเร็วและมีความคงทนไม่หลุดร่อนเมื่อแห้งแล้ว มีลักษณะทึบแสง ผ้าไหม เป้นผ้าไหมเย็บขอบด้วยผ้าแถบและไม้กลึงสำหรับสอดหัวท้ายของผ้าไหม พู่กัน ใช้พู่กันสำหรับตัดเส้น เบอร์ 0,1 พิเศษ และพู่กันกลมเบอร์ 2,3,5,8 สำหรับระบายสี แปรงทาสีใช้แปรงทาสีที่มีขนนุ่มไม่แข็งเกินไป ดินสอสี ใช้ดินสอที่มีความสว่าง เช่น สีขาว สีเหลือง เป็นต้น และกระป๋องน้ำ สำหรับผสมสีและเอาไว้ล้าง
สำหรับกรรมวิธีจะเริ่มต้นที่ เตรียมพื้นบนผ้าใบ โดยการผสมสีอะคริลิกสีแดงเข้มให้พอดี ใช้แปรงทาสีทาให้เรียบ จากนั้นร่างภาพโดยใช้ดินสอสีขาว หรือเหลืองร่างภาพตามต้นแบบ และเพิ่มรายละเอียดของภาพ ก่อนจะใช้ยางมะเดื่อระบายในช่องโดยเว้นเส้นดินสอสีไว้ แล้วทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที พอแห้งหมาดใช้ทองคำเปลวปิดลงบนพื้นที่ระบายไว้ใช้นิ้วกวาดให้เรียบ ต่อมาปิดทองคำเปลวให้ทั่วภาพ ถ้ามีทองคำเปลวเปื้อนผ้าใบใช้สายยางฉีดน้ำลงบนผ้าใบแล้วมือลูบออกเบาๆ ผึ่งให้แห้ง แล้วใช้น้ำยาเคลือบสีแบบใสทาแล้วผึ่งให้แห้งอีกครั้ง หลังจากทราบที่มาของลายคำน้ำแต้ม วัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งกรรมวิธีเสร็จสรรพ ต่อมาเราจะมาไล่ดูผลงานในนิทรรศการครั้งนี้กันบ้างครับว่าเป็นยังไงบ้าง และจากการเดินไล่เรียงดู ก็ดำเนินเรื่องราว พระราชประวัติพญามังรายมหาราชดังนี้ 1. สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลวจังกรเทวบุตรถวายบังคมลาพระญาอินทราธิราชเพื่อจุตติลงมาเกิดยังเมืองเงินยาง ชยวรนคร เชียงแสน 2. ลวจังกรเทวบุตรเสด็จลงมาทางบันไดเงินทิพย์พร้อมด้วยบริวารหนึ่งพันตน 3. เมืองเงินยางชยวรนครเชียงแสน มีต้นไม้พุทราอยู่กลางเมือง ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำสาย เมืองนี้มีความอุดมสมบูรณ์ เจริญรุ่งเรือง 4. ลวจังกราชลงมาจุติ มีลักษณะดั่งราชกุมารอายุได้ 16 ปี ทรงวัตถาอาภรณ์เครื่องประดับอลังการประทับเหนืออาสนะใต้ร่มไม้พุทราพร้อมด้วยบริวาร 5. ณ เมืองเชียงรุ่ง ท้าวรุ่งแก่นชายเป็นพระญาเจ้าเมือง มีราชธิดา ชื่อ นางอั้วมิ่งจอมเมือง หรืออีกพระนามหนึ่งคือ นางเทพพะคำข่าย 6. เจ้าลาวเมง และนางท้าวเทพพะคำข่าย ผู้ทรงเป็นอัครมเหสีเทวี ประทับ ณ เมืองเงินยางชยวรนครเชียงแสน 7. นางท้าวเทพพะคำข่าย มีนิมิตเมื่อยามใกล้รุ่ง ทรงเห็นดาวประกายทางทิศทักษิณ แล้วลอยเข้าสู่พระโอษฐ์ วันเดือนเพ็ญ 8 ค่ำ ทรงบังเกิดความชุ่มเย็นทั่วกาย 8. พระญามังรายประสูติในปีปีกุน จุลศักราช 601 (พุทธศักราช 1782) เดือนอ้าย แรม 9 ค่ำ วันอาทิตย์ ยามพาดรุ่ง ฤกษ์ 8 ตัวชื่อปุสยะ 9. พระญามังรายสร้างเมืองเชียงราย ปีจุลศักราช 624 (พุทธศักราช 1805) มีดอยจอมทองเป็นสะดือเมือง ขุนเครื่องราชบุตรประสูติในปีเดียวกัน หัวข้อ: Re: ชวนเที่ยว นิทรรศการ ลายคำ น้ำแต้ม เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มิถุนายน 17, 2016, 02:06:10 AM 10. พระญามังรายเสวยราชสมบัติอยู่ไชยปราการเมืองฝาง พร้อมด้วยเสนาอามาตย์ ปีจุลศักราช 627 (พุทธศักราช 2081) เจ้าขุนครามก็ประสูติในปีนั้น
11. พระญามังรายเสด็จมาเมืองพระยาว (เมืองพะเยา) เพื่อชำระความแก่สหายทั้ง 2 คือพระญางำเมือง และพระญาร่วง 12. พระญามังรายเสวยราชสมบัติครองราชย์เมืองหริภุญไชย เดือน 8 ขึ้น 4 ค่ำ ปีจุลศักราช 643 (พุทธศักราช 1824) พระชนมายุได้ 43 ปี แลได้อัญเชิญพระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) เพื่อเป็นที่สักการบูชา 13. พระญามังรายสร้างเวียงกุมกามในปีจุลศักราชได้ 648 (พุทธศักราช 2829) ทรงสร้างพระเจดีย์ไว้เป็นที่สักการบูชา ไม้เดื่อซึ่งเป็นไม้หมายเมืองแห้งตาย พระญามังรายจึงอธิฐานสร้างพระพุทธรูป 5 องค์ นั่ง 3 องค์ ยืน 2 องค์ มีความสูงเท่าความสูงของพระองค์ เรียก พระเจ้าค่าคิง 14. พระญาหงสาวดีสุตตโสมราชา ถวายนางกุมารีพายโคแด่พระญามังรายพร้อมด้วยบริวารช่างเงินช่างทอง และโปรดให้ช่างกานโถมสร้างวิหารขึ้น 1 หลัง ที่วัดกานโถม 15. บังเกิดไชยมังคละ 7 ประการ ณ ตีนดอยอุจฉุปัพพตะดอยสุเทพ พระญามังราย พระญางำเมือง พระญาร่วง บูชาเครื่องพลีกรรม บูชาเทวดาอารักษ์ สร้างเวียงนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ปีจุลศักราชได้ 658 (พุทธศักราช 1839) ตัว 16. ยุคทองของเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ประชาราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุข การพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสูงสุด 17. พระญามังรายสวรรคตด้วยสายฟ้าผ่า ขณะเสด็จประพาสตลาดกลางเวียงนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ในปี จุลศักราชได้ 679 (พุทธศักราช 1760) 18. พระญาไชยสงครามสร้างวิมานเมรุปราสาท เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระญามังราย ณ ที่เสด็จสวรรคตกลางเวียงนพบรีศรีนครพงค์เชียงใหม่ ก่อกู่บรรจุพระบรมอัฐิ ปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ไว้เหนือกู่นั้น พระญามังรายเสด็จคืนสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทั้งนี้ นิทรรศการจะมีไปจนถึงวันที่ 31 มิถุนายน 2559 ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ชั้น 2 (เข้าทางด้านหลัง) ใครสนใจแวะไปชมกันได้ครับ งานนี้ฟรี ปล. นอกจากนิทรรศการแล้วนั้น อ.ลิปิกร มาแก้ว ก็ยังมี หนังสือที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ต่อยอดจากองค์ความรู้งานช่างสล่าล้านนาหรือช่างฝีมือการทำลายคำกันด้วยนะครับ เป้นหนังสือเล่มแรกของแก ชื่อ ลายคำ น้ำแต้ม ภายในหนังสือจะประมวลองค์ความรู้กระบวนวิธีการ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนเป็นผลงาน ลายคำ น้ำแต้ม ที่สมบูรณ์เป็นภาพ พระราชประวัติพระญามังรายมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งล้านนา ลายคำน้ำแต้มติดตั้ง ณ วัดต้นโชค อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ และกระบวนวิธีการ เขียนลายคำน้ำแต้มบนผ้าไหม ภาพพระบฏพระประจำวันเกิด โดยได้คำนิยมจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์. และ พ่อครู มาลา คำจันทร์. ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ อีกทั้งหนังสือเล่มนี้รวบรวมที่มาของ ลายคำ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อการศึกษาในภูมิปัญญาเชิงช่างต่อไป ที่สำคัญในการทำหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองวาระ 720 ปี 60 รอบปีนักษัตร เมืองเชียงใหม่ พิมพ์ 4 สีกระดาษอาร์ตมัน ปก กระดาษสีน้ำตาลปั๊มทอง เย็บกี่ พิมพ์จำนวน 1000 เล่ม |