จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => แนะนำ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ในเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: Dockaturk ที่ พฤษภาคม 27, 2016, 10:23:36 PM



หัวข้อ: เดินเล่นถ่ายภาพชุมชนย่านวัดเกตฯ
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ พฤษภาคม 27, 2016, 10:23:36 PM
นั่งนับนิ้วไล่เรียงดู สำหรับเขตในตัวเมืองเมืองเชียงใหม่ ปรากฏว่าตัวเองมีโอกาสไปตะลุยเดินเที่ยวถ่ายภาพมาด้วยกันหลายโซนเหลือเกิน แต่ละโซนก็ฝากความทรงจำอันน่าประทับใจเอาไว้กันตั้งเยอะ ชนิดที่ว่าถ้าขับรถผ่าน สมองจะทำหน้าหน้าที่ย้อนเวลากลับไปฉายภาพเมื่อครั้งที่เราเคยมาเที่ยว

สำหรับบางแห่งที่สมองยังไม่อนุญาตให้ฉายภาพซ้ำแบบนั้น  งานนี้ก็ต้องลุยกัน เพื่อเก็บความทรงจำให้มันออกมาฉายซ้ำแบบที่อื่นๆ ที่เคยไป

ชุมชนวัดเกต คือที่ที่ผมกำลังหมายถึง

ชุมชนวัดเกต สำหรับคนที่เคยมาเที่ยวผ่านๆ คงนึกถึงร้านกู๊ดวิว ร้านริเวอร์ไซด์ อะไรเทือกนั้น ถ้าเป็นร้านกาแฟ ก็แน่นอนล่ะว่า ต้องกาแฟวาวี ติดริมปิง ร้านกาแฟที่เปรียบเสมือนที่รับแขกบ้านแขกเมือง เพราะใครไปใครมา ก็ต้องมาแวะจิบกาแฟกัน แล้วทอดสายตามองวิวริมแม่น้ำ

สำหรับคนที่สายวัฒนธรรมหน่อย ก็คงนึกถึงวัดเกตการาม ที่มีองค์พระธาตุให้กราบไว้ สำหรับคนที่เกิดปีวอก รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเกต ศูนย์รวมเก็บของเก่าที่หายาก ให้ได้เยี่ยมชม

มีแค่นั้น? คงอยากจะตอบแบบนั้น แต่อันที่จริง ชุมชนแห่งนี้มีอะไรน่าสนใจเยอะกว่านั้นครับ

มีหลักฐานว่าชุมชนวัดเกตตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ที่นี่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายสมัยการปกครองของพม่า (หรืออาจจะก่อนหน้านั้น) เนื่องจากมีการกล่าวถึงการใช้ท่าเรือวัดเกตมาตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น เมื่อพระเจ้ากาวิละ (พ.ศ. 2317-2325) เสด็จกลับจากการเดินทางไปเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 1 ที่กรุงเทพฯ พระองค์เสด็จมาขึ้นที่ท่าวัดเกต

ย่านนี้เริ่มมีความคึกคักมากมาตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 3- ต้นรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เมื่อการค้าทางเรือระหว่างเชียงใหม่และกรุงเทพฯ เติบโตมากขึ้น ท่าวัดเกตกลายเป็นท่าเทียบเรือสำคัญของเรือสินค้าจากที่ต่างๆ จนส่งผลให้ย่านวัดเกตกลายเป็นแหล่งพำนักของพ่อค้าหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ ชาวอเมริกันที่เป็นคริสเตียน ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนา มีการตั้งโรงพยาบาลแมคคอร์มิค โรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน มหาวิทยาลัยพายัพ (พัฒนาจากวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์แมคคอร์มิค) ทั้งยังตั้งโบสถ์คริสจักรหลายแห่งเพื่อเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคริสเตียน ชาวอังกฤษเข้ามาทำไม้ (บริษัทบอร์เนียว) ชาวฝรั่งเศสเข้ามาเพื่อเหตุผลทางการเมือง ชาวซิกข์จากแคว้นปัญจาบในอินเดีย เมื่อ 90 ปีมาแล้วมาตั้งวัดอยู่คนละฝั่งถนนเล็กๆที่ติดกำแพงวัดเกต คนจีนยูนนาน หรือเรียกว่า จีนฮ่อ มีทั้งฮ่อภาห้ากินเนื้อหมู นับถือศาสนาพุทธ ฮ่อภาษีกินเนื้อภาษีนับถือศาสนาอิสลาม มุสลิมที่ไม่ใช่คนจีน มีโรงเรียนและสุเหร่าตั้งอยู่ในย่านนี้ด้วย และผู้มีบทบาทสำคัญในด้านแรงงานยุคนั้นได้แก่ ขมุ ที่มาจากเมืองชัยบุรีในประเทศลาว


หัวข้อ: Re: เดินเล่นถ่ายภาพชุมชนย่านวัดเกตฯ
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ พฤษภาคม 27, 2016, 10:24:53 PM
จากทุกเชื้อชาติที่กล่าวมานี้ มีการแต่งงานผสมผสานกลมกลืนกลายเป็นคนเมืองย่านวัดเกต เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน เอื้ออาทรต่อกันประดุจพี่น้อง นับได้ว่าบ้านวัดเกต เป็นศูนย์รวมคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา โดยมีคนเชื้อสายจีนนับถือศาสนาพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ในย่านนี้

ความเจริญรุ่งเรืองย่านวัดเกตจากอดีตยังคงปรากฏหลักฐานให้เห็นจนทุกวันนี้ จากอาคารที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยและบริษัทห้างร้านของชุมชนชาติต่างๆ ทุกวันนี้หากเราเดินเข้าไปในย่านนี้ เราจะพบศาสนสถานทั้งของชาวพุทธ ชาวคริสต์ อิสลาม และชาวซิกข์ พบบ้านเรือนที่ยังคงรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่อายุร่วม 100 ปี ทั้งบ้านเรือนที่ทำด้วยไม้สักอย่างดีและอาคารก่ออิฐถือปูน บางแห่งถูกนำมาดัดแปลงเป็นร้านอาหาร เช่น เดอะ แกลเลอรี่ เป็นอาคารที่สร้างโดยชาวจีน ปัจจุบันด้านหน้าเปิดเป็นแกลเลอรี่แสดงภาพเขียน และด้านหลังเป็นร้านอาหาร

ด้วยความเป็นย่านเก่าและความสำนึกในการอนุรักษ์ชุมชนทำให้ชาวบ้านวัดเกตนำโดยลุงแจ็คร่วมมือกันตั้งพิพิธภัณฑ์วัดเกตการามในบริเวณวัดเกต ของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ล้วนเป็นของในชุมชนที่ตกทอดจากบรรพบุรุษมาสู่ลูกหลาน เช่น เครื่องเขิน เครื่องแก้วเจียระไน เครื่องปั้นดินเผาจีนและของพื้นเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของย่านวัดเกตมิได้อยู่เฉพาะที่ตัวพิพิธภัณฑ์เท่านั้น สิ่งที่อยู่ในชุมชนไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้าง ประเพณีวัฒนธรรม และอาหารการกิน สิ่งเหล่านี้คือภาพสะท้อนของความเป็นย่านวัดเกตที่มีความเจริญและความมั่งคั่ง ซึ่งมิได้หมายถึงเพียงความมั่งคั่งทางด้านทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังเป็นความมั่งคั่งทางด้านภูมิปัญญาของชุมชนอีกด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับด้านสถาปัตยกรรมในชุมชนแห่งนี้ จัดว่ามีเสน่ห์เย้ายวนใจอย่างถึงที่สุด

เริ่มจากอาคารบ้านเรือนที่งดงามตลอดสองฟากถนน อย่าง วัดซิกข์ ที่มีชาวซิกข์คนแรกที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ คือ นายอีเชอร์ ซิงห์ โดยเข้ามาทางประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2448 หลังจากนั้นมีชาวซิกข์มารวมเพิ่มขึ้นอีก 4 ครอบครัว คือ นายรัตตัน ซิงห์ นายเกียน ซิงห์ นายวาเรียอาม ซิงห์ และ นายอมารดาส ซิงห์ จึงได้พร้อมกันจัดตั้งศาสนสถานหรือวัด (Gurdwara) ขึ้นโดยสร้างเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว มีลานกว้างสำหรับประกอบพิธีทางศาสนา การตั้งหลักแหล่งของชาวซิกข์จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกันเป็นกลุ่มและใกล้รอบศาสนสถานหรือวัดของตน เนื่องจากวัดของชาวซิกข์มีบทบาทอย่างสูงต่อชุมชนทั้งทางกิจกรรมสังคมและเศรษฐกิจ ในระหว่างปี พ.ศ.2447 มีศาสนาจารย์ชื่อ ราม ซิงห์ เป็นศาสนาจารย์ประจำวัดแห่งนี้ต่อมาในปี พ.ศ.2518 ชาวซิกข์เชียงใหม่ ก็ได้บูรณะวัดของตนขึ้นมาอีกครั้งเป็นอาคารถาวรตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

บ้านสุกิจ นิมมานเหมินท์ เรือนไม้ร่วมสมัยในเขตร้อนชื้นสองชั้นของ สุกิจ นิมมานเหมินท์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เจ้าของอาคาร นายอุสุม นิมมานเหมินท์ (ที่เอกชนเข้าชมโดยการนัดหมาย)


หัวข้อ: Re: เดินเล่นถ่ายภาพชุมชนย่านวัดเกตฯ
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ พฤษภาคม 27, 2016, 10:26:49 PM
บ้านพักหมายเลข 4 ปัจจุบันคือ เบนนิวาส ที่ตั้งถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง เรือนสมัยกลาง ลักษณะเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงมุงด้วยหลังคากระเบื้อง หลังคาทรงปั้นหยา เจ้าของเดิมและผู้ออกแบบ นายหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ (Mr. Louis T. Leonowens) สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2419 เจ้าของอาคารคือนายดับบลิว เบน เจ้าของคนต่อมาคือนายแจ็ค เบน

บ้านพักหมายเลข 6 ปัจจุบันคือ เบนนิวาส ที่ตั้งถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง เรือนปั้นหยา ลักษณะเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงมุงด้วยหลังคากระเบื้อง มีสองหลังปลูกติดเชื่อมกัน เจ้าของเดิมและผู้ออกแบบ นายหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2420

บ้านพักผู้จัดการ บริษัทบริติชบอร์เนียว ที่ตั้งถนนหน้าวัดเกตุ ซอย 2 ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง เคยใช้เป็นที่พักทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นกงสุลญี่ปุ่นเดิม ที่ตั้งข้างฟลอรัล เชียงใหม่คอนโดมิเนียม เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูน ยกพื้นสูง เครื่องบนเป็นไม้ หลังคาทรงปั้นหยา สถาปัตยกรรมแบบเขตร้อนชื้น มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอาคารบ้าง

สะพานจันทร์สมอนุสรณ์ (ขัวแขก) เดิมเป็นสะพานที่สร้างขึ้นชั่วคราวโดยใช้ไม้ไผ่สานขัดแตะ บางคนเรียกว่าขัวแตะ ครั้นพอถึงหน้าน้ำหลากก็จะถูกน้ำพัดพังไป ต่อมามีพ่อค้าชาวอินเดียชื่อ โมตีราม หรือนายมนตรี โกสลาภิรมณ์ ได้บริจาคเงิน รวมทั้งมีการทอดผ้าป่าด้วยเพื่อระดมเงินทุนสร้างเป็นสะพานถาวรและเป็นอนุสรณ์สถานแก่ภรรยาของชาวอินเดียที่ชื่อจันทร์สม
นอกจากนี้ ก็ยังมีบ้านอรพินทร์ บ้านสี่เสาหกเสา บ้านท่าชาติ โดยตลอดเส้นทางก็จะมีร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกด้วย เช่น ข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมูสูตรลุงจร ขนมตาลตระกูลเข็มเพชร์ ร้านก๋วยเตี่ยวต้มยำสุโขทัย ร้านเค้กเปี่ยมสุข เป็นต้น แถมยังมีโรงแรม ที่พัก อีกตั้งมากมายให้เลือก เรียกได้ว่ามาเดินโซนนี้มีครบรสกันทุกรูปแบบ

สำหรับในอนาคตย่านวัดเกต ก็ได้แต่หวังว่าจะเป็นย่านที่อยู่เย็นเป็นสุข สามารถรักษาของเก่าเอาไว้ เพื่อบอกเล่าตำนานความเป็นมาได้ ตลอดจนอาจใช้เป็นที่รับแขกอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ ในแง่ของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เพราะย่านวัดเกตเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ และยังมีบ้านอายุ 80 -90 ปี แบบล้านนาเหลืออยู่มาก

และถึงแม้ว่าชาวบ้านจะมีวิถีชีวิตที่ปรับเข้ากับสภาพสังคมในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่สะท้อนความเป็นคนดั้งเดิม มีร่องรอยของอดีต ชาวบ้านมีภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมา และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคตสืบไป

แล้วคราวหน้าไว้เจอกันใหม่ครับ สำหรับกาเดินตะลุยเที่ยวถ่ายภาพ ที่พยายามสอดแทรกสาระและความบันเทิงไว้ให้มากที่สุด


หัวข้อ: Re: เดินเล่นถ่ายภาพชุมชนย่านวัดเกตฯ
เริ่มหัวข้อโดย: DDjung ที่ พฤษภาคม 28, 2016, 11:40:44 AM
ดูเก่าแก่ มีมนต์ขลังดี ในถนนสายนี้