หัวข้อ: วัดเจ็ดยอด วัดพระธาตุประจำปีเกิด ปีมะเส็ง เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ พฤษภาคม 20, 2016, 05:25:12 AM เทียบกับวัดอื่นๆ ของเชียงใหม่ในระดับเดียวกันนั้น ต้องบอกว่าวัดเจ็ดยอดไม่ค่อยจะมีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยือนกันมากนัก อาจจะด้วยไม่ได้อยู่ใจกลางเมืองเหมือนวัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง การเดินทางเลยค่อนข้างที่จะไม่เอื้ออำนวยในการไปเที่ยวต่อในสถานที่อื่นๆ ต่างจากตรงในเมืองที่สามารถเที่ยวรอบๆ แถวนั้นได้อย่างสะดวกโยธิน
กระนั้นก็ตามแต่ แม้จะมีนักท่องเที่ยวไปเยือนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับวัดใหญ่ๆ ใจกลางเมือง แต่วัดเจ็ดยอด ก็มีความสำคัญในระดับต้นๆ อีกทั้งยังมีความน่าสนใจชนิดที่ว่า ต้องไปเที่ยวซักครั้ง จากถนนห้วยแก้ว ถึงสี่แยกรินคำ แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่ ลำปาง ไม่ไกลนัก เป้นที่ตั้งของวัดเจ็ดยอด ใน ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วัดเจ็ดยอด หรือ เดิมชื่อว่า วัดมหาโพธาราม หรือ วัดโพธารามมหาวิหาร เป็นวัดโบราณที่พระเจ้าติโลกราช พระราชาธิบดี องค์ที่ 22 แห่งพระราชวงศ์มังราย โปรดให้สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช 1999 และจัดได้ว่าเป็นอารามที่มีความสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนา กล่าวคือ ในปีพุทธศักราช 2020 พระเจ้าติโลกราช โปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ วัดมหาโพธารามแห่งนี้เอง ซึ่งวงการพระพุทธศาสนาได้ยอมรับว่าเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่เป็นลำดับที่ 8 นับจากที่ได้ทำมาแล้ว 7 ครั้ง ในประเทศอินเดียและศรีลังกา มีเรื่องราวปรากฏเป็นตำนานวัดเจ็ดยอดเป็นภาษาพื้นเมือง ซึ่งพระมหาหมื่น วุฑฒิญาโน แห่งวัดหอธรรม เก็บรวบรวมไว้มีความตอนหนึ่งว่า สมัย สมเด็จพระเจ้าศิริธรรมจักรวัตติโลกราช เชียงใหม่มีฐานะเป็นเสมือนศูนย์กลางของดินแดนล้านนาในด้านเกี่ยวกับพุทธศาสนานั้น ลัทธิลังกาวงศ์กำลังเจริญรุ่งเรืองในเชียงใหม่ มีพระเถระชาวเชียงใหม่ที่ทรงภูมิความรู้ในพระไตรปิฎกและมีชื่อเสียง เช่น พระมหาญาณคัมภีร์ มหาเมธังกร พระศีลสังวะ ได้นำเอาพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาประดิษฐานเผยแพร่ในเชียงใหม่และเมืองต่างๆ ในดินแดนล้านนา พระเถระเหล่านี้เมื่อกลับมาจากลังกาแล้ว ได้มาจำวัดอยู่ที่วัดพระยืนนอกเมืองหริภุญชัย ทำการบวชให้กับกุลบุตรเป็นจำนวนมาก เมื่อพระเจ้าติโลกราชได้ทรงสดับถึงกิตติคุณสีลาจารวัตรของพระเถระเหล่านั้น ก็ทรงศรัทธาเสื่อมใสเป็นอันมาก ถึงกับทรงพระราชมณเฑียรในเมืองเชียงใหม่ ต่อมา โปรดให้นิมนต์พระเถระเหล่านั้นจากวัดพระยืนมาจำวัดอยู่ที่นี่ และยังสร้างวัดอีกมากมาย อาทิ วัดป่าตาล วัดป่าแดงหลวง พระเจ้าติโลกราชได้ทรงอุปถัมภ์พระภิกษุสงฆ์ ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างสถูป เจดีย์ เสนาสนะต่าง ๆ อีกมาก ต่อมาพระองค์ได้เสด็จออกทรงผนวชท่ามกลางคณะสงฆ์เป็นจำนวนมาก มีมหาญาณมงคลเป็นอุปัชฌาย์ พระอดุลสถิตยาทิกรมมหาสามีเฌร เป็นพระกรรมวาจารย์ พระเจ้าติโลกราชได้สดับพระธรรมเทศนาเรื่องอานิสงส์แห่งการปลูกต้นมหาโพธิ์จากสำนักสงฆ์ลังกาวงศ์ ก็ทรงเสื่อมใสและมีรับสั่งให้พิจารณาหาสถานที่ที่เหมาะสมและได้สร้างพระอารามขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ.1998 ทรงได้พืชพันธุ์มหาโพธิ์จากคณะสงฆ์ที่ไปลังกาจึงโปรดให้นำมาปลูกไว้ที่อารามแห่งนั้น เป็นสาเหตุให้อารามได้รับขนานนามว่า "วัดมหาโพธาราม" หัวข้อ: Re: วัดเจ็ดยอด วัดพระธาตุประจำปีเกิด ปีมะเส็ง เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ พฤษภาคม 20, 2016, 05:26:30 AM ปี พ.ศ.2020 ได้มีทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่เป็นลำดับที่ 8 นับว่าเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกในประเทศไทย ต่อมาวัดเจ็ดยอดได้กลายสภาพเป็นวัดร้าง ไม่มีภิกษุพำนักอาศัย แต่เมื่อใดไม่พบหลักฐานแน่ชัด แต่มีที่ควรสันนิษฐานว่าเมื่อ พ.ศ.2319 หัวเมืองต่างๆ ในแคว้นล้านนา เผชิญกับยุทธภัยทั่วไปหมด ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงประกาศให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากมีกำลังไม่เพียงพอที่จะรักษาเมือง และพม่าก็ยกมารุกรานเนืองๆ พระภิกษุ สามเณรและพลเมือง จึงพากันอพยพไปอยู่ตามหัวเมืองอื่นหมดสิ้น
ครั้นถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าบรมราชากาวิละ ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ตามพระบรมราชโองการของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ.2339 เมืองเชียงใหม่ได้กลับตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้น อีกครั้งหนึ่ง กระนั้นก็ดีบรรดาวัดวาอาราม ทั้งที่อยู่ภายในกำแพงเมือง และนอกเมือง ก็ยังมีสภาพเป็นวัดร้างจำนวนมาก วัดเจ็ดยอด หรือวัดมหาโพธารามเอง ก็เป็นวัดร้างมาโดยลำดับ เพิ่งมีพระภิกษุสามเณรมาจำพรรษา เมื่อไม่นานมานี้ วัดเจ็ดยอด จัดได้ว่ามีปูชนียวัตถุ และโบราณสถานที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ และคุณค่าในทางศิลปกรรมประเภทพุทธศิลป์ในสมัยอาณาจักรล้านนา ที่น่าสนใจหลายแห่ง ชนิดที่ว่าเมื่อหลุดเข้ามาแล้ว เหมือนอยู่อีกเมืองนึง ด้วยลักษณะที่แตกต่างจากหลายๆ วัดในเมือง ซึ่งให้อารมณ์เหมือนไปเดินเที่ยววัดอยุธยา หรือสุโขทัย โดยมีรายละเอียดสิ่งที่น่าสนใจ ก็มีกันดังต่อไปนี้ ซุ้มประตูโขง วัดเจ็ดยอด เป็นประตูเข้าออกหลักของวัด กว้าง 3.10 เมตร ยาว 3.80 เมตร ก่อด้วยอิฐ ผนังด้านนอกประดับลายปูนปั้น ด้านบนมุงซุ้มหลังคา จากลักษณะโครงสร้างประตูที่กำแพงอิฐ ขนาดกว้าง 1.35 เมตร สูง 1.80 เมตร ต่อเชื่อมออกไปเพื่อแสดงขอบเขตของวัดและล้อมรอบศาสนสถานต่างๆ ไว้ เมื่อเข้ามายังด้านในของวัดแล้วนั้น ศาสนสถานที่โดดเด่นและน่าสนใจเป็นอย่างแรก คือ มหาวิหารเจ็ดยอด (โพธิบัลลังก์) วัดเจ็ดยอด โพธิบัลลังก์ คือสถานที่พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งขัดสมาธิ ณ ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ด้านทิศตะวันออก ทรงตั้งวิริยาธิษฐานปฏิภาณพระองค์ว่า "ตราบใดที่ยังไม่บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วไซร้ ก็จะไม่ยอมลุกจากที่ประทับนั้น แม้มังสะและโลหิตจะเหือดแห้งสูญสิ้นไปเหลือแต่หนังและกระดูกก็ตามที" ปัจจุบันคือมหาวิหารเจ็ดยอด ตามประวัติมหาวิหารเจ็ดยอด (โพธิบัลลังก์) วัดเจ็ดยอด ปรากฏเรื่องว่าสาเหตุของการสร้างวัดนี้คือ พระเจ้าติโลกราชนั้น ท่านครองราชย์อยู่ที่เชียงใหม่ ในช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนามีอายุครบ 2000 ปี พอดี ในปี พ.ศ 2000 พระเจ้าติโลกราช ได้โปรดให้ช่างฝีมือคนหนึ่งชื่อว่าหมื่นด้ามพร้าคต เดินทางไปยังพุทธคยาอินเดีย เพื่อไปจำลองรูปแบบของมหาวิหารที่พุทธคยาให้มาสร้างไว้ที่เชียงใหม่ที่เห็นคือ วิหารเหมือนด้ามพร้าคต หัวข้อ: Re: วัดเจ็ดยอด วัดพระธาตุประจำปีเกิด ปีมะเส็ง เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ พฤษภาคม 20, 2016, 05:28:00 AM ลักษณะสถาปัตยกรรม ของมหาวิหารเจ็ดยอด (โพธิบัลลังก์) วัดเจ็ดยอด ก่อด้วยศิลาแลง กว้าง 17 เมตร ยาว 30 เมตร และสูง 18.65 เมตร โดยทั่วไปแบ่งออกเป็นส่วนสำคัญได้ 3 ส่วน คือ ส่วนฐาน เป็นฐานบัว และด้านหน้ากระดานรองรับ ส่วนที่ทำเป็นคูหา ซึ่งส่วนนี้ทำเป็นลักษณะแบบอุโมงค์เพดานโค้งลึกเข้าไป ภายในสุดผนังด้านหลังของคูหา มีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป ผนังด้านข้าง 2 ด้านก่อด้วยอิฐศิลาแลงหนาหลายชั้น เพื่อใช้เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักข้างบน ระหว่างความหนาของผนังนี้ได้ทำเป็นทางเดินแคบๆ มีขั้นบันไดขึ้นสู่ชั้นบน ส่วนบน หรือหลังคาเหนือคูหาขึ้นไปประกอบด้วยยอด 7 ยอดด้วยกัน คือ กลุ่มยอดทรงกรวยเหลี่ยมแบบยอดศีขรจำนวน 5 ยอด มียอดสูงใหญ่อยู่กลางยอดเล็กเป็นบริวารประกอบอยู่ 4 มุม ที่มุขด้านหน้าซึ่งยื่นออกมาทำเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่ด้านละองค์
อนิมิสเจดีย์ เป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงเกิดทิพยจักขุญาณ หลังจากออกจากสมาบัติไปประทับยืน ณ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโพธิบัลลังก์ ทรงพิจารณาทศบารมีธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสรู้มา เพื่อสำนึกในกตัญญูธรรมทรงลืมพระเนตรเพ่งต้นโพธิ์ โดยไม่กระพริบพระเนตรเป็นเวลา 7 วัน เป็นสถูปรูปทรงมณฑปตั้งอยู่บนฐานทักษิณ ขนาดกว้าง 10.40 เมตร ยาว 10.60 เมตร ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้ว มีระเบียงล้อมรอบ เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุทรงแปดเหลี่ยม ประกอบด้วยซุ้มจระนำขนาดใหญ่ 4 ซุ้ม ทำเป็นคูหาลึกเข้าไปสลับกับซุ้มตื้นๆ ส่วนเหนือเรือนธาตุขึ้นไปชั้นหนึ่งทำเป็นซุ้มโค้งเล็กๆ จำนวน 8 ซุ้ม ซ้อนอยู่เหนือซุ้มที่อยู่รอบๆ เรือนธาตุ สำหรับอนิมิสเจดีย์นี้ เป็นส่วนหนึ่งในสัตตมหาสถานที่ได้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชเมื่อ พ.ศ. 998 อุโบสถ วัดเจ็ดยอด ในสมัยพญาเมืองแก้ว โปรดให้สร้างอุโบสถขึ้นในปี พ.ศ. 2045 ต่อมา พ.ศ. 2068 โปรดให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก่นจันทร์จากเมืองพะเยามาประดิษฐานอุโบสถหลังนี้ ปัจจุบันขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 10.55 เมตร ศิลปะล้านนา สร้างขึ้นบนฐานเดิมของอุโบสถเก่า ซึ่งมีลานประทักษิณขนาดกว้าง 16.20 เมตร ยาว 46.65 เมตร ยกพื้นสูงล้อมรอบด้วยกำแพงเตี้ยโดยรอบ มีทางขึ้นอยู่ทางด้านข้างด้านทิศใต้และทางขึ้นหลักที่บันไดด้านหน้าทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าอุโบสถหลังใหม่นี้ น่าจะสร้างขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้ากาวิละมาบูรณปฏิสังขรณ์ในช่วงต้นรัตนโกสินทน์ ด้านหลังอุโบสถเป็นมณฑปพระแก่นจันทน์สร้างขึ้นภายหลัง มณฑปพระแก่นจันทร์แดง วัดเจ็ดยอด ฐานล่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 5.70 เมตร ยาว 6 เมตร ประกอบด้วยลวดบัวซ้อนกันขึ้นไปรองรับส่วนเรือนธาตุ ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม แต่ละด้านของเรือนธาตุทำเป็นซุ้มโค้งเจาะทะลุถึงกันทั้ง 4 ด้าน เหนือส่วนธาตุชำรุดมาก แต่ก็พอสังเกตได้ว่ามีการทำเป็นยอดทรงมณฑปซ่อนขึ้นไปคล้ายกับมณฑปราสาทหรือกู่ ซึ่งนิยมสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปหรือพระบรมสารีริกธาตุ เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างไว้ภายในวิหาร สำหรับมณฑปพระแก่นจันทร์แดงนี้ก็เช่นเดียวกัน ตำแหน่งที่ตั้งของมณฑปอยู่ภายในวิหาร โดยสังเกตได้จากส่วนฐานของอาคารซึ่งยังเห็นได้ชัดเจน มหาสถูปบรรจุพระอัฐิและอังคารธาตุพระญาติโลกราช วัดเจ็ดยอด มีลักษณะเจดีย์ทรงปราสาท มีขนาดค่อนข้างใหญ่เป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมรูปทรงเจดีย์ ซึ่งนิยมสร้างกันมากในสมัยราชวงศ์มังราย ลักษณะโดยทั่วไปขององค์สถูปประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จประกอบด้วยลวดบัวและคั่นด้วยลูกแก้วแบบฐานทรงบัลลังก์รองรับส่วนเรือนธาตุ ซึ่งทำเป็นซุ้มจระนำประกอบอยู่ทั้ง 4 ด้าน ส่วนเหนือเรือนธาตุขึ้นไป เป็นฐานบัวคว่ำหรือบัวถลารองรับส่วนบนซึ่งทำเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา ประกอบด้วยฐานเขียงและลวดบัวซ้อนกันขึ้นไปรองรับปล้องไฉน นอกจากนี้แล้ว ภายในวัดก็ยังมีเจดีย์พุทธคยา วัดเจ็ดยอด ประดิษฐานด้านหลังมหาวิหาร ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ อชปาลนิโครธ ราชายตนะเจดีย์ รัตนจงกรม รัตนฆรเจดีย์ เจดีย์กู่แก้ว สระมุจจลินท์ มณฑปมุจลินทร์ วิหาร 700 ปี ให้ได้ชมกัน ถือได้ว่าวัดแห่งนี้เต็มไปด้วยโบราณสถานที่น่าสนใจเพียบ |