หัวข้อ: วัดหนองคำ ศิลปะของชาวต่องสู้ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ พฤษภาคม 06, 2016, 06:10:41 AM เมื่อเอ่ยถึง ชนเผ่าปะโอ หรือต่องสู้ น้อยคนนักที่จะรู้จัก ทั้งยังสงสัยด้วยว่า เกี่ยวข้องอะไรกันกับวัดหนองคำแห่งนี้ที่กำลังจะเขียนถึง
เท้าความกันซักนิด ชนเผ่าปะโอ หรือต่องสู้ นั้น ถิ่นเดิม อยู่ในแถบเมืองปั่น ป๋างปี้ หนองอ้อ กิ่วเกาะ ในเขตรัฐฉานของพม่า ได้อพยพเข้ามาอยู่ในเขตตำบลนาปู่ป้อม ตำบลปางมะผ้า ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ไม่ปรากฎว่าเข้ามาในปี พ.ศ. ใด มีความเชื่อเรื่องผี ก่อนต่อมาจะนับถือพุทธศาสนาตามชาวไทยใหญ่ พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่อยู่กระจัดกระจายในตอนเหนือของประเทศพม่า เนื่องจากชาวต่องสู้ตั้งถิ่นฐานร่วมกับชาวไทใหญ่ โดยชาวต่องสู้อยู่บนดอยและที่ราบเชิงเขา ส่วนชาวไทใหญ่อยู่บริเวณที่ราบ ดังนั้นชาวต่องสู้จึงมีความสัมพันธ์กับชาวไทใหญ่ และมีวัฒนธรรมคล้ายไทใหญ่ ชาวไทใหญ่เรียกชาวต่องสู้ว่า ต่องสู้ พม่าเรียกว่า ต่องตู่ แปลว่า ชาวดอย หรือ คนหลอย แต่ชาวต่องสู้ไม่ชอบให้เรียกคำนี้ เพราะถือว่าเป็นคำไม่สุภาพ ชาวต่องสู้เรียกเชื้อชาติของตนเองว่า ป่ะโอ่ หรือ ปะโอ แปลว่าชาวดอยเหมือนกัน เมื่อแยกคำแล้ว มีผู้สันนิษฐานที่มาของคำว่า ป่ะโอ ว่าน่าจะมาจากคำว่า ผะโอ่ แปลว่าผู้อยู่ป่า เพราะในภาษาไทยคำตี่ คำว่า อู่ แปลว่าอยู่ เมื่อชาวต่องสู้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนล้านนา คนล้านนาเรียกตามชาวไทใหญ่ แต่สำเนียงเปลี่ยนไปว่า ต่องสู้ และที่บอกว่าเกี่ยวข้องกันนั้นก็เพราะ เมื่อ พ.ศ.2380 โดยคณะศรัทธาสามัคคีหลายท่าน ซึ่งมีชาวปะโอ (ต่องสู้) ตลอดถึงคณะศรัทธาพี่น้องชาวเชียงใหม่ ที่เป็นพ่อค้าไม้ ได้พร้อมใจกันขายช้าง 7 เชือก ได้จัดหาซื้อที่ดินเพื่อที่จะสร้างวัด และเหตุที่ทางวัดได้ชื่อว่าวัดหนองคำนั้น สมัยก่อนพื้นที่ตั้งของวัดยังเป็นป่า มีบึงกว้างใหญ่และลึกมากอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัด ต่อจากบึงเป็นหนองน้ำ มีคนเล่าว่า ใต้บึงหนองน้ำนั้น มีทองคำ ชาว ป่ะโอ ได้นำเอาศิลปะสถาปัตยกรรมมาเผยแพร่ในวัดแห่งนี้ด้วย ดังจะเห็นได้จาก พระอุโบสถ อาคารคอนกรีต ก่ออิฐถือปูนรูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมชาวปะโอ (ต่องสู้) ไม่มีช่องฟ้า ใบระกา หางหงส์ อันผิดแผกแปลกจากสถาปัตยกรรมไทยอย่างเด่นชัด มีภาพจิตรกรรมศิลปะชาวปะโอ พระพุทธรูป 3 องค์ ศิลปะชาวเขาเผ่าปะโอ ไหนจะมีพระวิหารหลังใหญ่ เป็นสถาปัตยกรรมครึ่งตึกครึ่งไม้ ด้านล่างก่ออิฐถือปูน จนถึงผนังด้านนอกของชั้นบน ด้านในเป็นอาคารไม้ศิลปะแบบปะโอ ชั้นบนแบ่งเป็นห้องๆ ใช้เป็นที่พักของพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ส่วนที่โล่งหรือห้องโถงใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม หรือกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ชั้นล่างใช้เป็นที่เก็บของและอื่นๆ ส่วนบนเพดานและตามฝาผนังด้านบน มีภาพจิตรกรรมที่สวยงดงาม นอกจากนี้ก็ยังมีพระธาตุ ศิลปะเผ่าปะโอผสมล้านนา ลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยม ชั้นบนเป็นรูประฆังคว่ำบัวหงาย ชั้นกลางภายในทำเป็นห้องโถงใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฏก ให้ได้ชมกันอีกด้วยครับ |