หัวข้อ: นิทรรศการ A Sense of Merging West and East : จิตรกรรมหญิงพม่านาม Khin Lamin Kyaw เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 02, 2016, 02:49:07 PM หนีจากการเสพงานศิลปะภาพวาดหนังสือเด็กของเช็กจากชั้นล่างของหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มายังห้องแสดงงานชั้น 2 ตรงนี้มีนิทรรศการเกี่ยวกับจิตกรรมพม่าให้เสพกันครับ
ชื่อนิทรรศการ ก็คือ A Sense of Merging West and East โดยศิลปินหญิงนาม Khin Lamin Kyaw โดยจัดขื้นระหว่างวันพุธที่ 30 มีนาคม 3 เมษายน 2559 เมื่อเอ่ยถึงศิลปะพม่ากับเชียงใหม่นั้น สองอย่างนี้แทบจะไม่เคยหนีห่างกัน ก็ตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตตอนที่พม่ามีอำนาจยึดครองนครพิงค์เบ็ดเสร็จ ศิลปะหลายแขนงถูกจับมาใส่ไว้ในที่ต่างๆ ซึ่งที่เห็นเด่นชัดสุดเลยก็คือ งานสถาปัตยกรรมที่ออกมาในรูปแบบของวัด ทั้งวิหาร โบสถ์ เจดีย์ พระพุทธรูป อีกทั้งงานจิตกรรมฝาผนังก็มีแฝงมาด้วย วกกลับมาที่เรื่องของ Khin Lamin Kyaw เธอคือผู้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม แบบผสมผสานด้วยการนำเอา รูปแบบศิลปะพม่าประเพณีที่เธอได้รับมาในวัยเด็ก ผสมผสานเข้ากับผลงานจิตรกรรมที่มีชื่อเสียง ที่สร้างสรรค์โดยศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกฝั่งตะวันตก งานที่แสดงออกมาของเธอนั้นจึงมีรูปแบบของการผสมผสาน ด้วยการใส่ความเป็นจิตรกรรมพม่าประเพณี ( Nyaungyan period style) กับจิตรกรรมตะวันตก ที่มีรูปแบบความแตกต่างกัน แต่แสดงออกภายใต้กรอบเดียวกัน ด้วยความอบอุ่น สำหรับงานวาด หรือ งานจิตรกรรมพม่า มีประวัติความเป็นมาของงานวาดภาพในพม่าไม่แน่ชัดกันครับ แต่มีหลักฐานว่าเคยเป็นที่นิยมในสมัยศรีเกษตร นอกจากนี้ยังกล่าวกันว่า ในสมัยพยูจนถึงพุกาม ได้ใช้ศิลปะการวาดภาพเป็นสื่อในการเผยแผ่คำสอนทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นภาพวาดในสมัยก่อนจึงมักเป็นงานภาพวาดประกอบเรื่องนิบาตตามคติพุทธศาสนา โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโนรธาเป็นต้นมา ได้มีการนำเอาศิลปะการวาดภาพมาสนับสนุนให้พุทธศาสนานิกายเถรวาทเจริญรุ่งเรืองและแพร่หลาย แต่อย่างไรก็ตามเชื่อกันว่าความเจริญทางศิลปะการภาพวาดของพม่าสืบได้จากสมัยพระเจ้าจันสิตตาเป็นต้นมา พอถึงสมัยพุกามตอนปลายงานวาดภาพของพม่ามีความหลากหลายมากขึ้น เพราะมีชนเผ่าต่างๆมาอาศัยอยู่รวมกัน เช่น มอญ ฉาน จีน และ แขก เกิดงานของช่างหลายกลุ่มปะปนกัน แต่ร่องรอยที่เหลือให้เห็นในงานจิตรกรรมจนถึงปัจจุบันเป็นงานของกลุ่มชาวฮินดูซึ่งมาจากอินเดีย กล่าวกันว่างานศิลปะวาดภาพมีมาก่อนงานแกะสลัก ในสมัยนั้นนิยมใช้สีทองที่เรียกว่า ชเวสวา งานที่เป็นตัวอย่างการใช้สีอย่างโบราณ คือ งานภาพนัตสองพี่น้องมีงมหาคีริบนท่อนไม้จำปา งานชิ้นนี้มีตำนานกล่าวว่า ภาพนั้นถูกนำมาไว้ที่เขาโปปาใกล้เมืองพุกามในสมัยพระเจ้าเตงลีจ่องมีง และอีก 9 ปีต่อมา จึงมีการทำรูปปั้นใบหน้าเทพดังกล่าวขึ้น อย่างไรก็ตามหากจะพูดถึงหลักฐานศิลปะงานวาดภาพของพม่าที่ชัดเจน สามารถดูได้ตามสถูปเจดีย์ที่พุกาม ซึ่งจะมีภาพฝาผนังให้เห็น ภาพวาดฝาผนังตามวิหารในสมัยพุกามนี้ส่วนใหญ่จะเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธวงศ์และภาพพุทธองค์ นิบาต พระเจ้า 550 ชาติ ภาพวาดตามความเชื่อในนิกายมหายานและตันตระ ภาพเทพนัตและพรหม ภาพชาวบ้านในสมัยพุกาม ภาพการขับฟ้อนและดนตรี ภาพลวดลายกนก และภาพสัตว์ที่เป็นลายกนก หัวข้อ: Re: นิทรรศการ A Sense of Merging West and East : จิตรกรรมหญิงพม่านาม Khin Lamin Kyaw เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 02, 2016, 02:52:30 PM ในการวาดภาพของพม่าแบบเดิมนั้นจะเป็นการวาดภาพลายเส้นที่เรียกว่า ตะจองสแวเย มีการลงสี ซึ่งภาษาทางจิตรกรรมของพม่าเรียกว่า เก้าก์จอง เป็นการวาดที่ได้อิทธิพลจากการวาดภาพนิบาตของชาวอินเดีย ในสมัยพุกามตอนปลายมีการใช้สีมากขึ้น แต่ก็ยังจำกัดเพียงสีเขียว แดง เหลือง ดำ และ ขาว จนถึงสมัยคอนบองตอนต้นจึงใช้สีกันหลากหลายกว่าเดิม
ในการวาดภาพของพม่าแบบโบราณขั้นพื้นฐาน จำแนกลวดลายออกเป็นสี่ประเภท คือ 1. ลายกนก เป็นรูปดอกบัว ขดบัว 2.ลายนารีเป็นรูปเจ้าหญิง เทพธิดา รวมถึงภาพผู้สูงศักดิ์ เช่น เจ้าชาย เทพ พระอินทร์ และ พระพรหม 3. ลายกระบี่ ไม่เพียงแต่เป็นรูปลิง แต่ยังหมายรวมถึงรูปสัตว์อื่นๆ อาทิ สิงห์ หงส์ เศียรลิง เศียรยักษ์ กินรา และครุฑ รูปสัตว์เหล่านี้จะมีลวดลายอย่างกนก 4. ลายคชะ เป็นรูปช้าง และรวมถึงรูปสัตว์ใหญ่ และสิ่งที่ไม่เคลื่อนไหว เช่น ภูเขา เป็นต้น ในการวาดภาพ 5 ประเภทข้างต้นนี้ ช่างวาดโดยเฉพาะในสมัยพุกามจะให้ความสำคัญที่การวาดลายกนกเป็นพิเศษ ส่วนในสมัยพระเจ้ามินดง การวาดภาพของพม่าเจริญรุ่งเรืองมาก มีช่างวาดภาพเหมือนที่มีฝีมือสูง ชื่อ อูจ่าญุ่น ในสมัยนั้นยังได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากตะวันตก ทำให้การวาดภาพของพม่าพัฒนาขึ้น ที่จริงการวาดภาพของพม่ามิได้จำกัดอยู่แต่ในงานภาพฝาผนังเท่านั้น หากยังพบในงานหนังสือบุดด้วย แต่หลักฐานที่เป็นหนังสือบุดนั้นมีเหลือให้เห็นเพียงน้อยชิ้น เนื่องจากเป็นของที่ผุพังง่าย นอกจากนี้ยังมีภาพวาดชนิดแขวนติดกับผนัง ภาพที่มีชื่อเสียงมากเป็นภาพในสมัยพระเจ้าธีบอ เขียนโดย สะยาโฉ่ง เป็นภาพเกี่ยวกับพิธีจรดพระนังคัล อีกภาพหนึ่งเป็นภาพแสดงการเสด็จของพระเจ้าธีบอกับพระนางสุภยาลัตกำลังเสด็จออกจากเมืองมัณฑะเลไปพำนักยังอินเดีย เมื่อคราวเสียเมืองให้กับกองทัพอังกฤษ นอกจากการวาดภาพทั่วไปแล้ว งานสักลายบนร่างกายก็ถือเป็นงานจิตรกรรมอย่างหนึ่ง การสักลายของพม่าแต่เดิมนิยมสักด้วยสีแดงและสีดำ การสักนี้เป็นธรรมเนียมของผู้ชายพม่า เพื่อเป็นสิ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งอดทน คำเรียกชื่อการสักลายมีหลายคำ เช่น มีงเต้ะ มีงจ่อง โท-กวีง และ คาจ่อง กล่าวกันว่าการสักนี้มีมาแต่สมัยศรีเกษตร เกิดจากความฝันของพระสงฆ์นามว่า อูอุตมะศีรีมะเถร์ ในส่วนของงานจิตกรรมของ Khin Lamin Kyaw ที่จัดแสดง ส่วนใหญ่จะเป็นภาพวิถีชีวิต และประเพณีของชาวบ้าน ที่เน้นสีสันฉูดฉาด โดยใช้สีแดงเป็นสีหลักในการตวัดวาดลวดลาย อันเป็นสีที่สื่อให้เห็นถึงการแต่งกายของชาวพม่า สำหรับใครอยากที่จะไปชมงานของ Khin Lamin Kyaw งานมีถึงกันวันที่ 3 เมษายน 2559 นี่กันครับ |