หัวข้อ: พาไปชมงานนิทรรศการแสดงพุทธศิลป์นิพนธ์ ครั้งที่ 4 เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 02, 2016, 02:38:26 PM ถ้าความจำไม่เลอะเลือนอยู่ในระดับเดียวกันกับคุณลุงวัยเกษียณ ผมก็น่าจะเคยผ่านตากับการย้ายก้นตัวเองมาชมนิทรรศการแสดงพุทธศิลป์นิพนธ์ กันครับ ซึ่งก็น่าจะตกอยู่ราวๆ 2 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ไม่ยืนยันหลักฐานว่าเป็นของมหาวิทยาลัยไหน รู้แค่ว่าจัดกันที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำหรับคราวนี้แวะเวียนกันมาอีกรอบ ผมมาเพื่อชมงานนิทรรศการแสดงพุทธศิลป์นิพนธ์ ที่จัดโดย นิสิตคณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ โดยเปิดแสดงนิทรรศการ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2559 เป็นต้นมา เรื่อยยาวไปจนถึง 10 เมษายน 2559 ในส่วนของการจัดแสดงนั้นจะอยู่ตรงชั้นล่าง ห้องจัดแสดงที่ 2 ในส่วนของด้านหลัง คือเมื่อเข้าไปด้านในหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ต้องเดินมุดเข้าลึกไปหน่อยครับ เดี๋ยวก็จะเจอพื้นที่จัดแสดงเอง หรือถ้าหาไม่เจอยังไง ก็สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่แถวนั้นได้ นิทรรศการแสดงพุทธศิลป์นิพนธ์ จะมีเอกลักษณ์โดดเด่นกว่างานนิทรรศการอื่นๆ ที่มาเคยจัดแสดงในที่แห่งนี้กันครับ ในด้านของผลงาน ชนิดที่เรียกได้ว่า เป็นลายเซ็นต์เฉพาะตัวที่สื่อถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนากันโดยเฉพาะ ซึ่งครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากครั้งไหนๆ งานส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาจัดแสดง จะเป็นงานจิตรกรรมภาพสีอะครีลิค อันเป็นสีที่มีส่วนผสมของสารพลาสติกโพลิเมอร์ สามารถเขียนแบบสีน้ำมัน และสีน้ำก็ได้ ซี่งสีนี้เป็นผลพลอยได้มาจากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลี่ยม พัฒนาการของสีอะคริลิคเข้ามาสู่วงการศิลปะเป็นผลสืบเนื่องมาจากความต้องการทางสังคมในด้านสื่อมวลชนและสื่อสิ่งพิมพ์ กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษของปี 1920 กลุ่มศิลปินในละตินอเมริกา โดยเฉพาะที่ เม็กซิโก ได้แก่ Crozoo (1883 - 1949) Siquieros (1896 - 1974) และ Rivera (1886 - 1957) ต้องการจะทําภาพผนังขนาดมหึมาของอาคารสาธารณะ ซึ่งมีภาพภายในและภายนอกอาคารที่ต้องเผชิญกับแสงแดดและอากาศภายนอกโดยตรง ซึ่งไม่เหมาะที่จะใช้สีน้ำมันเขียน เนื่องจากจะไม่มีความคงทนต่อสภาพภายนอกอาคาร จึงจําเป็นต้องใช้สีชนิดที่แห้งได้เร็ว และมีความคงทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของอากาศภายนอกอาคารได้อย่างดี ในช่วงนั้นเอง ได้มีการคนคว้าทดลองการผลิตสีซึ่งมุ่งความสําคัญมาที่ การค้นหาตัวกลางในการผสมสีที่เหมาะสมที่สุดที่จะทําให้สีต่างๆ คงสภาพของเนื้อสีเดิมไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นคือ เรซิน สังเคราะห์ 2 ชนิด ไดแกอะคริลิค ( Acrylic ) และ P.V.A. ( Polyvinyl acetate ) ในส่วนงานงานจิตรกรรมภาพสีอะครีลิคที่จัดแสดง มีหลายชิ้นที่ถูกใจผมพอสมควร แต่ชิ้นที่ถูกใจที่สุด คือ ภาพที่แสดงให้เห็นถึงการเวียนว่ายตายเกิด และชดใช้กรรมชั่วที่ได้ทำเมื่อครั้งอยู่บนโลกมนุษย์ ชนิดที่ดูแล้วจิตสำนึกในการละอายทำชั่วผุดขึ้นมาในใจกันเลยทันที หัวข้อ: Re: พาไปชมงานนิทรรศการแสดงพุทธศิลป์นิพนธ์ ครั้งที่ 4 เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ เมษายน 02, 2016, 02:39:56 PM จากงานจิตรกรรมภาพสีอะครีลิค ผลงานรองลงมาที่ถูกนำมาจัดแสดงคือ ศิลปะสื่อผสม (Mixed Media Art) อันหมายถึง ผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้เทคนิคและวิธีการของศิลปะทางด้านทัศนศิลป์หลาย ๆ แขวงมาผสมผสานทำให้เกิดผลงานที่อยู่ในชิ้นเดียวกัน เน้นหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ แสดงออกถึงอารมณ์สะเทือนใจของผู้สร้าง ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการสร้างผลงานสื่อผสมสามารถหาได้จากวัสดุธรรมชาติ เช่น วัสดุจากพืช สัตว์ และแร่ วัสดุสังเคราะห์ เช่น กระดาษ โลหะ เป็นต้น
ทั้งนี้ นิยามของคำว่าศิลปะนั้นเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่มาประยุกต์ผสมผสานกันเพื่อให้เกิดเป็นผลงานทางด้านศิลปะที่มีรูปแบบออกมาเป็นรูปเป็นร่างเพื่อให้คนดูได้สามารถรับรู้ถึงความหมายของผลงานศิลปะที่เราสร้างขึ้นมานั่นเองครับ ซึ่งการถ่ายทอดเรื่องราวหรือว่าการเล่าเรื่องเหตุการณ์ต่างๆนั้น ถ้าเราสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเป็นแบบสามมิติได้ ก็จะทำให้ผู้ที่ชมผลงานนั้นสามารถที่จะซึมซับข้อมูลได้เร็วขึ้นและได้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเรื่องเล่ากับเหตุการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงได้มีการนำความรู้ทางด้านศิลปะแขนงต่างๆมาผสมกันจนเรียกว่า ศิลปะสื่อผสม สื่อผสม เป็นผลงานศิลปะในด้านวิจิตรศิลป์ ในการนำสื่อมากกว่าสองสื่อ หรือศิลปะมากกว่าสองแขนงมารวมกันขึ้นไปมาสร้างเป็นงานชิ้นเดียวกัน โดยนิยมใช้สื่อที่แตกต่างกัน มานำจุดเด่นของแต่ละสื่อมาใช้ร่วมกัน เช่นการสร้างภาพชุดชีวิตของนักบุญฟรานซิสแห่งอาซิซิในชาเปลต่างๆ ที่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งพีดมอนต์และลอมบาร์ดีทางตอนเหนือของประเทศอิตาลีที่ใช้ทั้งประติมากรรมและจิตรกรรมมาผสมผสานเข้าเป็นการงานชิ้นเดียวกัน ที่ทำให้เป็นงานที่มีลักษณะเป็นสามมิติ ซึ่งในภาพสามมิตินี่เองที่สามารถมองได้หลายมุมมอง ทั้งได้เห็นส่วนลึกส่วนเว้านั่นเองครับ ซึ่งนักออกแบบหลายๆท่านได้พยายามศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะสื่อผสมเพื่อที่จะนำมาออกแบบผลงานของตัวเองให้มีจุดเด่นและดึงดูดคนดูให้มีความน่าสนใจในผลงานของเขาให้มากที่สุด ปัจจุบันนี้ศิลปะทางด้านสื่อผสมมีการนำแนวความคิดทางด้านนี้มาใช้กันมากในด้านธุรกิจ เพราะสามารถที่จะผลิตผลงานสามมิติออกมาดึงดูดคนดูนั้นเอง ซึ่งที่เราเห็นการโดยส่วนใหญ่ทุกวันนี้ก็อย่างเช่น ภาพยนตร์ 3 มิติ ส่วนนิทรรศการแสดงพุทธศิลป์นิพนธ์ สื่อผสมที่ถูกใจผมคือ ส่วนประกอบของวิหารไว้บางส่วน ที่ถูกยกเอามาไว้จัดแสดงให้ชม อันแสดงถึงลวดลลายต่างในงานสถาปัตยกรรมว่ามีความสวยงามเพียงใด ซึ่งถ้าใครเคยไปเที่ยววัดต้นเกว๋น (วัดอินทราวาส) เชียงใหม่ นั้น ก็จะเห็นกันดีว่าตัววิหารของทางวัดนั้นงดงามมาก ผลงานนิทรรศการแสดงพุทธศิลป์นิพนธ์ นอกเหนือจากนี้ใครสนใจ สามารถแวะเข้าไปชมกันได้ที่ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2559 กันครับ |