หัวข้อ: ตะลุยทุ่งข้าวบาร์เล่ย์ ที่ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มีนาคม 26, 2016, 04:18:25 PM ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง จัดเป็นหนึ่งในแลนมาร์คสำคัญที่นักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพ โหยหาที่จะไปเยือนกันซักครั้งครับ ด้วยโลเคชั่นที่หลุดมาราวกับว่าอยู่ในฉากภาพยนตร์รักโรแมนติก เวลาคู่พระนางพลอดรักกันท่ามกลางทุ่งหญ้าสีทอง แน่นอน ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่อยากไปกับเขา
การเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่วิ่งเข้า อ.แม่ริม ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเส้นแม่ริม สะเมิง เบ็ดเสร็จจากตัวเมืองถึง ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง ก็ราวๆ 42 กิโลเมตรด้วยกัน กับถนนที่ 50 เปอร์เซ็นต์นั้นลัดเลาะไปตามภูเขา โดยศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง จะอยู่ทางด้านฝั่งขวามือ ที่มาที่ไปของศูนย์วิจัยข้าวสะเมิงนั้น เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2521 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (โครงการในพระราชประสงค์ที่ 7) ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการหลวงภาคเหนือ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ และชาวไทยที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงที่ประกอบอาชีพการเกษตร โดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก สำหรับทุนทรัพย์ในการจัดตั้ง ขั้นเริ่มต้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงเสียสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สำหรับจ่ายในการดำเนินงานบุกเบิก ทำให้หน่วยงานอื่น ๆ สนองพระประสงค์ในด้านต่าง ๆ คือเครื่องมือในการบุกเบิกจากโครงการหลวงพัฒนาที่ดิน การชลประทานจากโครงการชลประทานในพระราชประสงค์ กรมป่าไม้ได้อนุเคราะห์ยกพื้นที่ป่าสงวนให้จัดตั้งเป็นสถานีทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการในด้านวิจัยและขยายพันธุ์ไม้ผลเมืองหนาว และสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบงานหลักคือการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาว งานค้นคว้าวิจัยต่างๆ ของสถานีฯที่ประสบผลสำเร็จ คณะกรรมการส่งเสริมของโครงการหลวงภาคเหนือและกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้รับนำไปส่งเสริมให้แก่เกษตรกรชาวไทยภูเขาและเกษตรกรที่อยู่บนที่สูง เพื่อการบริโภคและจำหน่ายให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการยกระดับฐานะเกษตรกรให้ดีขึ้น ต่อมาได้มีประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2524 ให้โครงการพระราชประสงค์ที่ 7 เป็นสถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง สังกัดสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร ในปี 2546 กรมวิชาการเกษตรมีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ ได้ปรับเปลี่ยนสถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง เป็นศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงใหม่ 2 สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และในปี 2548 กรมวิชาการเกษตรมีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่อีกครั้ง ได้ยุบรวมศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงใหม่ 2 เข้ากับศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงใหม่ 3 (สถานีทดลองพืชสวนฝาง) เป็นศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงใหม่ ต่อมาในปี 2549 มีการปรับโครงสร้างอีกครั้ง รัฐบาลได้จัดตั้งกรมการข้าวขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2549 หน่วยงานนี้จึงแยกไปสังกัดกรมการข้าว และได้ชื่อว่า "ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง" หัวข้อ: Re: ตะลุยทุ่งข้าวบาร์เล่ย์ ที่ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มีนาคม 26, 2016, 04:20:07 PM ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง มีวิสัยทัศน์ เพื่อความเป็นเลิศด้านวิจัย พัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่สูงและข้าวสาลี กันครับ ตลอดจนการใช้ประโยชน์เพื่อความมั่นคงด้านอาหารในท้องถิ่น โดยมีบทบาทและภารกิจ คือ ศึกษา วิจัย และพัฒนาพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต การอารักขา การเก็บเกี่ยว และการแปรรูปข้าว/ข้าวสาลี ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว/ข้าวสาลี ชั้นพันธุ์คัดและพันธุ์หลัก ตรวจสอบและรับรองระบบการผลิตข้าว/ข้าวสาลีที่ดีและเหมาะสม รวมทั้งบริการวิชาการด้านข้าว และข้าวสาลี
ทั้งนี้ ภายในศูนย์วิจัย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 308 ไร่ เป็นพื้นที่บริเวณอาคาร สิ่งก่อสร้างประมาณ 6 ไร่ แปลงทดลองและผลิตเมล็ดพันธุ์ประมาณ 105 ไร่ พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารประมาณ 46 ไร่ พื้นที่สนามและแปลงไม้ดอกไม้ประดับประมาณ 18 ไร่ และเป็นพื้นที่อื่น ๆ ประมาณ 133 ไร่ บริเวณสูงสุดในพื้นที่มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 830 เมตร และบริเวณต่ำสุดมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 735 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยลักษณะดินประกอบด้วยชุดดิน 3 ชุดคือดินชุดบ้านจ้องเป็นดินร่วนเหนียว มีเนื้อที่ประมาณ 84 ไร่ มีความเป็นกรดปานกลาง (pH 6.0-7.0) มีปริมาณอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง มีปริมาณธาตุฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง มีปริมาณธาตุโปแตสเซียมสูงมาก สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาดจนถึงเป็นเชิงเขา มีความลาดชันตั้งแต่ 3 ถึงมากกว่า 35% ดินชุดปากช่องเป็นดินร่วนเหนียว มีเนื้อที่ประมาณ 26.5 ไร่ มีความเป็นกรดแก่ถึงปานกลาง (pH 5.5-7.0) มีปริมาณอินทรียวัตถุสูงถึงสูงมาก มีปริมาณธาตุฟอสฟอรัสสูงมาก มีปริมาณธาตุโปแตส เซียมสูงมาก สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาดจนถึงเป็นเชิงเขา มีความลาดชันตั้งแต่ 3-20% และดินชุดลี้เป็นดินร่วนเหนียว มีเนื้อที่ประมาณ 54.5 ไร่ มีความเป็นกรดเล็กน้อยถึงปานกลาง (pH 6.5-7.0) มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง มีปริมาณธาตุฟอสฟอรัสสูง มีปริมาณธาตุโปแตสเซียมสูงมาก สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนชันเล็กน้อยถึงเป็นเนินเขา มีความลาดชันตั้งแต่ 5- 35% สำหรับพื้นที่หลักๆ ภายในศูนย์ที่เราจะพาไปเยี่ยมชมกันนั้น คือในส่วนของทุ่งข้าวบาร์เล่ย์กันครับ โดยก่อนเข้าชมนั้น เราสามารถลงชื่อขอเข้าเยี่ยมชมได้ตรงประตูทางเข้าศูนย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ซึ่งหลังจากลงชื่อเสร็จแล้วเรียบร้อยก็สามารถเดินตัวปลิวเข้าเยี่ยมชมกันได้ในพื้นที่แปลงทุ่งข้าว และจากที่ผมเข้าเดินสำรวจดูจะมีตรงส่วนแรกที่เวิร์คหน่อยติดกับรั้วด้านหน้าของทางศูนย์ และอีกที่ คือส่วนด้านหลัง อันนี้ต้องเดินเข้าไปลึกหน่อยๆ แต่ก็สวยงามไม่แพ้กัน ส่วนตอนหน้าจะพาไปทำความรู้จักกันกับทุ่งข้าวบาร์เล่ย์กันครับ ว่ามีอะไรบ้าง พร้อมกับทริคเล็กๆ น้อยๆ ในการถ่ายภาพสถานที่แห่งนี้ หัวข้อ: Re: ตะลุยทุ่งข้าวบาร์เล่ย์ ที่ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มีนาคม 26, 2016, 04:21:11 PM ข้าวบาร์เลย์ จัดได้ว่าเป็นธัญพืชเก่าแก่ของมนุษย์ โดยมีถิ่นกำเนิดในแถบซีเรียและอิรัก ซึ่งเชื่อว่าเป็นบริเวณที่มีการเพาะปลูกเป็นแห่งแรก ชาวกรีกและโรมันโบราณนำข้าวบาร์เลย์มาทำขนมปังและเค้กเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว ต่อมาผู้คนหันไปนิยมรสชาติของข้าวสาลีมากกว่าในปัจจุบันข้าวบาร์เลย์ใช้มากในการผลิตมอลท์สำหรับอุตสาหกรรมเบียร์และวิสกี้ นอกจากนี้ยังมีการใช้ข้าวบาร์เลย์เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ธัญชาติอบกรอบ และขนมอบด้วย
ข้าวบาร์เลย์ เป็นพืชในวงศ์เดียวกับไผ่ (ดูไผ่ตง) ตะไคร้ หญ้าและธัญพืช เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าว มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ คือ ลำต้นมักมีขน ข้อตัน และมีปล้องกลวง 5-7 ปล้อง ใบ 5-10 ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับเป็น 2 แถว กาบใบเกลี้ยง แผ่นใบรูปใบหอกแกมรูปแถบ เขี้ยวใบซ้อนทับกัน ช่อดอกออกที่ปลายยอด เป็นช่อเชิงลดทรงกระบอก แต่ละ ช่อดอกย่อยมีดอกเพียง 1 ดอก อยู่รวมเป็นกระจุกละ 3 ดอก เรียงสลับเป็น 2 แถว ผลแบบผลธัญพืช มี 20-60 ผลในแต่ละช่อ เมื่อมองด้านหน้าเป็นรูปรี ปลายมีขนและเป็นร่อง โดยพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ของที่นี้ มี 2 สายพันธุ์ด้วยกัน ที่ขึ้นชื่อ คือ พันธุ์สะเมิง 1 เป็นข้าวบาร์เลย์ สูงประมาณ 70 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยว 120 วัน ทรงกอตั้ง (มุมของใบจากพื้นดินมากกว่า 60 องศา) ใบและหูใบสีเขียวปานกลาง ให้ผลผลิต ประมาณ 270 กิโลกรัมต่อไร่ มีลักษณะเด่น คือมีคุณภาพมอลท์เป็นที่ยอมรับในการผลิตเบียร์ และให้ผลผลิตค่อนข้างสูง และพันธุ์สะเมิง 2 เป็นข้าวบาร์เลย์ สูงประมาณ 75 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยว 125 วัน ใบและหูใบสีเขียวปานกลาง เมล็ดมีขนาดยาว 8.15 มิลลิเมตร สีน้ำตาลอ่อน เมล็ดรูปวงรี ให้ผลผลิต ประมาณ 300 กิโลกรัมต่อไร่ มีลักษณะเด่น เหมือนพันธุ์แรก คือมีคุณภาพมอลท์เป็นที่ยอมรับในการผลิตเบียร์ และให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ตบท้ายด้วยทริคเล็กๆ น้อยๆ ในการเข้าชมและถ่ายรูปที่นี้กันครับ ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่จะได้แสงสีทองปะทะกับทุ่งข้าว ถ้าจะถ่ายคนก็พยายามเลือกหาฉากหลังที่ไม่รก หรือถ้าหลบไม่ได้ ก็เลือกใช้เลนส์ที่มีค่ารูรับแสงเยอะๆ เพื่อละลายฉากหลัง หรือใครไม่อยากละลายก็เลือกเอาฉากหลังเป็นตัวเล่าเรื่องได้ว่าเราถ่ายจากที่นั้น ในส่วนของเลนส์ที่จะใช้ถ่าย จะใช้ตัวไหนก็ได้ครับ ถ้าเลนส์ไวด์ ก็จะได้เก็บบรรยากาศ ถ้าเลนส์ระยะ 50 หรือ 85 หรือ 135 ก็เป็นการเน้นเฉพาะในส่วนของตัวบุคคล ทุ่งข้าวบาร์เล่ย์ ที่ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-18.30 น. ช่วงเวลาเข้าชมที่เหมาะสมกับทุ่งข้าวบาร์เล่ย์สีเหลืองทอง คือช่วงเดือน ก.พ. มี.ค. หลังจากนั้น ทางศูนย์ก็จะทำการเก็บเกี่ยวแล้ว ใครจะไปเข้าชม ลองโทรเช็คก่อนได้ที่เบอร์โทรศัพท์ : 0 5337 8093-5 |