จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => เชียงใหม่ ท่องเที่ยว - ข่าวสารเกี่ยวกับเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือ => ข้อความที่เริ่มโดย: Dockaturk ที่ มีนาคม 11, 2016, 08:45:51 AM



หัวข้อ: เก็บตกสังเกตการณ์สุริยุปราคา 9 มีนา 2559 เชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มีนาคม 11, 2016, 08:45:51 AM
มีอยู่ 2 เหตุผลด้วยกันที่ผม ไม่ต้องไปดูสุริยุปราคาก็ได้ คือ 1.ผมยังไม่ได้นอน และ 2. ผมขี้เกียจ

แต่เหตุผลที่ว่ามานั้น ถูกค้อนปอนด์กระหน่ำฟาดลงไปจนแหลกสลาย เมื่อเจอเหตุผลที่บอกไว้ว่า อีก 54 ปี คนไทยถึงจะมีโอกาสได้ชมสุริยุปราคาเต็มดวง

นั่นหมายความว่านับจากนี้ไป มันจะมาเยือนอีกครั้งก็เมื่อตอนผมอายุ 83 ปี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อถึงตอนนั้น ตัวเองจะมาปัญญาใช้ชีวิตถึงรึเปล่า

ฉะนั้น ก็ต้องลากสังขารตัวเองไปดู

ช้อมูลที่ได้รับจากแฟนเพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แม่งานในครั้งนี้ บอกเอาไว้ว่าที่เชียงใหม่ มีสถานที่จัดกิจกรรมสำหรับงานนี้กันครับ คือตรงดาดฟ้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยอีก  4 แห่ง มีกรุงเทพฯ ที่สวนเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฉะเชิงเทรา ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว นครราชสีมา ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และสงขลา ที่ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา ทุกที่มีนัดกันเช้าตรู่ วันที่ 9 มีนาคม 2559 ประมาณ 06.00 น.เป็นต้นไป

เรียกได้ว่างานนี้เป็นโชคดีของชาวเชียงใหม่ และคนนอนตอนเช้าสำหรับผม

6 โมงเช้า ผมย้ายก้นตัวเองจากบ้านไปยังดาดฟ้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ ตรงชั้น 4 งานนี้คนจัดงานเขาบอกไว้ว่าถ้าไปเร็วและลงทะเบียน 300 คนแรก ได้แว่นส่องดวงอาทิตย์ไปดูฟรีๆ กันเลย หรือถ้าใครไม่ทัน ยังมีอีกหนึ่งตัวเลือก คือ ถ่ายภาพพร้อมกับเช็คอิน 150 คนแรก ก็ได้ แว่นส่องดวงอาทิตย์ไปดูฟรีเหมือนกันครับ

ความคาดหวังก่อนออกมาจากบ้าน ผมคิดเอาไว้ว่างานนี้คงไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไรนัก อันนี้เนื่องมาจากคิดเอาเองว่าระยะหลังๆ เวลามีปรากฏการณ์อะไรทางดาราศาสตร์แบบนี้ คนส่วนใหญ่มักเพิกเฉย ชนิดที่บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมี ยกเว้นเสียแต่ว่าคนที่สนใจเรื่องนี้แบบกรณีพิเศษหน่อย ก็อาจจะอยู่ในความสนใจ

หลังจากหอบสังขารตัวเองเอารถไปจอดหลังห้าง เดินลอดชั้นใต้ดินขึ้นลิฟต์ไปยังบนดาดฟ้า ก็พบว่าตัวเองคิดแบบผิดคาด เมื่อบนนั้นเต็มไปด้วยฝูงชนน่าจะตกอยู่ราวๆ 400-500 คน และที่ผิดคาดไปกว่านั้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ ในวัยประถมแทบทั้งสิ้น ส่วนที่เหลือเป็นช่างภาพ เจ้าหน้าที่จัดงาน ผู้ปกครองที่พาเด็กมา และคนที่สนใจเรื่องนี้แบบตั้งใจมาแบบผม

หรือว่าเรื่องดาราศาสตร์จะเป็นเรื่องของเด็กๆ ที่ดูจะตื่นตูม เหมือนกับที่ผมเคยเป็นเมื่อครั้นตอนอยู่ประถม (แต่ปัจจุบันนี้ก็ยังสนใจอยู่บ้างนะ)


หัวข้อ: Re: เก็บตกสังเกตการณ์สุริยุปราคา 9 มีนา 2559 เชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มีนาคม 11, 2016, 08:48:33 AM
ลงทะเบียนเสร็จ ทางผู้จัดงานก็มอบแว่นส่องดวงอาทิตย์ให้กับผม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญในการชมสุริยุปราคากันในครั้งนี้ พร้อมกับแผ่นพับข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับการเกิดสุริยุปราคา

สุริยุปราคา จัดเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง  เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ มีด้วยกันอยู่ 3 ประเภท คือสุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) เกิดจากดวงจันทร์เคลื่อนที่บดบังดวงอาทิตย์มิดพอดี จะสังเกตเห็นดวงอาทิตย์มืดทั้งดวง สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Eclipse) เกิดจากดวงจันทร์เคลื่อนที่บดบังดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ จะสังเกตเห็นดวงอาทิตย์เป็นวงแหวน โดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง และสุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse) เกิดจากดวงจันทร์เคลื่อนที่บดบังดวงอาทิตย์เป็นบางส่วน จะสังเกตเห็นดวงอาทิตย์ปรากฏเป็นเสี้ยว

ในส่วนสภาพทั่วไปของปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 9 มีนาคม 2559 เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/73 ชุดซารอสที่ 130 แนวคราสเต็มดวงเคลื่อนที่จากมหาสมุทรอินเดียสู่มหาสมุทรแปซิฟิก แม้ว่าแนวคราสเต็มดวงส่วนใหญ่จะพาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ในช่วงต้นของคราสเงามืดของดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ผ่านแผ่นดินที่เป็นเกาะใหญ่ๆ ของประเทศอินโดนีเซียหลายเกาะด้วยกัน อาทิ เกาะสุมาตรา กาลิมันตัน สุลาเวสี และหมู่เกาะโมลุกกะ ตั้งแต่เวลาประมาณ 8:30 น. - 11:20 น. (ตามเวลา ณ หมู่เกาะโมลุกกะ) การเกิดคราสครั้งนี้ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดถึงกว่า 4 นาที แม้ว่าจุดที่เกิดคราสเต็มดวงนานที่สุดนี้จะอยู่ในมหาสมุทร แต่ในช่วงต้นของปรากฏการณ์การเกิดคราสที่พาดผ่านแผ่นดินบริเวณหมู่เกาะโมลุกกะและสุลาเวสี จะนานถึงกว่า 3 นาที

และในประเทศไทย จะเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ซึ่งสามารถเห็นได้ทุกภูมิภาคของประเทศในเวลาแตกต่างกัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 6:20 น. จนถึง 8:40 น. ที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่สัมผัสที่ 1 เวลาประมาณ 06:38 น. และสิ้นสุดในเวลาประมาณ 08:32 น. แต่ละภูมิภาค จะมองเห็นคราสการบังไม่เท่ากัน ร้อยละการบังขึ้นอยู่กับระยะทางที่ผู้สังเกตอยู่ห่างจากแนวคราสเต็มดวง ซึ่งปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทยครั้งนี้ดวงอาทิตย์จะถูกบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 69 ส่วนทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงรายดวงอาทิตย์จะถูกบังเพียงร้อยละ 23

สำหรับเชียงใหม่นั้น  จากตารางแสดงเวลาการเกิดสุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย จะเริ่มการบังที่เวลา 06.49 น. และบังมากที่สุด คือเวลา 07.37 น. ก่อนจะสิ้นสุดการบังอยู่ที่เวลา 08.30 น. มีเปอร์เซ็นต์การบังมากที่สุดอยู่ที่ ร้อยละ 27 กันครับ


หัวข้อ: Re: เก็บตกสังเกตการณ์สุริยุปราคา 9 มีนา 2559 เชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มีนาคม 11, 2016, 08:50:31 AM
มากันที่บรรยากาศภายในงาน ความคึกคักเพิ่มขึ้นตามลำดับ กล้องเอาไว้ส่องชมสุริยุปราคาหลายตัวถูกวางเรียงรายจัดเตรียมพร้อมให้กับประชาชนได้ใช้บริการ หลักๆ ถ้าชมสุริยุปราคาด้วยตาเปล่าผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ก็จะมีกล้องโทรทรรศน์ติดแผ่นกรองแสง แผ่นกรองแสงแบบกระจกเคลือบโลหะ แว่นดูดวงอาทิตย์ที่ทำจากแผ่นแบล็คพอลิเมอร์จะเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีส้ม (ที่แจกในงานนั่นแหละ) แผ่นอะลูมิเนียมไมลาร์จะเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีขาว และกระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะเบอร์ 14 หรือมากกว่า เมื่อนำมาใช้จะเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีเขียว

ส่วนการสังเกตแบบทางอ้อม เป็นการดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพ หรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม ซึ่งก็จะมีให้เลือกทั้งการใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา การฉายภาพดวงอาทิตย์จากโซลาร์สโคป การประดิษฐ์กล้องรูเข็ม โดยการเจาะรูบนวัสดุทึบแสง และให้แสงดวงอาทิตย์ลอดผ่านรูที่เจาะไว้ตกลงบนฉากรับ หรือแม้กระทั่งสังเกตจากแสงที่ลอดผ่านใบไม้ โดยเงาของดวงอาทิตย์ตกบนพื้นหรือกำแพง ซึ่งข้อดีของการสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อมเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตา และช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน

และคำเตือนที่ควรพึงระวังอย่างจงหนัก คือห้ามมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า ห้ามสังเกตผ่านอุปกรณ์ที่ไม่ทึบแสงพอ ห้ามสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์และกล้องสองตาที่ไม่มีฟิลเตอร์กรองแสง และที่อันตรายห้ามบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิทัล กล้องจากโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องถ่ายภาพ DSLR ที่ติดเลนส์ที่มีกำลังขยายสูง เนื่องจากเลนส์ของกล้องต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติในการรวมแสงและความร้อน การมองภาพที่ส่องจากเลนส์ไปยังดวงอาทิตย์โดยตรง ภาพของดวงอาทิตย์ที่ได้จากอุปกรณ์ ดังกล่าวจะมีความสว่างจ้ามาก อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างถาวรทันที ฉะนั้นใครที่มีกล้องไม่ใช่ว่าสุ่มสี่สุ่มห้าอยากกดถ่ายก็ถ่ายได้เลย

จากนั้นเมื่อมาถึงเวลาอันสำคัญ สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย ที่เชียงใหม่ ก็บังมากที่สุดที่เวลา 07.37 น. ตอนนั้นเรียกได้ว่าตื่นเต้นกันทั้งดาดฟ้า ทั้งใช้การดูด้วยตาเปล่าผ่านอุปกรณ์ การสังเกตแบบทางอ้อม รวมทั้งยังมีการถ่ายทอดสดจากจุดสังเกตการณ์ 5 จังหวัด ที่จัดงานว่าแต่ละที่เป็นยังไงบ้าง  พร้อมทั้งของประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศอินโดนีเซียด้วยครับ

ดูสุริยุปราคาเสร็จ ภายในงานยังกิจกรรมร่วมสนุกแจกของรางวัล รวมทั้งภาพถ่ายทางช้างเผือกแบบต่างๆ เอามาจัดแสดงให้ได้ชมจากทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ถือได้ว่างานนี้ครบครัน และเต็มอิ่มสำหรับคนรักเรื่องดาราศาสตร์กันโดยเฉพาะเลย
 
ส่งท้ายด้วยข้อมูลของสุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทยอีก 5 ครั้งถัดไป ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า คือ 26 ธันวาคม 2562, 21 มิถุนายน 2563, 20 เมษายน 2566, 2 สิงหาคม 2570 และ 22 กรกฎาคม 2571 ส่วนอีก 54 ปีข้างหน้าที่จั่วหัวไว้แต่ต้น อันนั้นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงนะครับ ซึ่งจะตรงในวันที่ 11 เมษายน 2613

อย่าได้ไปจำสับสนกันเชียว ที่สำคัญรอบนี้เป็นแค่สุริยุปราคาบางส่วนเพียงเท่านั้น