หัวข้อ: อิฐกำแพงเมืองเชียงใหม่ถูกรื้อแล้วไปไหน? เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ พฤศจิกายน 27, 2015, 07:42:11 PM กำแพงเมืองเชียงใหม่ ในอดีตนั้น ถือว่าเป็นป้อมปราการชั้นดีเอาไว้ป้องกันข้าศึก (รวมทั้งแจ่ง ประตูเมือง และคูเมือง) โดยกำแพงเมืองนั้น สร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสถาปนาอาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพญามังราย เพื่อเป็นเมืองหลวงของล้านนา โดยขั้นแรกได้ขุดคูเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความยาวด้านละประมาณ 1.63 กิโลเมตร และนำดินที่ได้จากการขุดคูเมืองนั้นขึ้นไปถมเป็นแนวกำแพงเมือง โดยเริ่มขุดที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือคือแจ่งศรีภูมิอันเป็นทิศมงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้านและประตูเมืองอีกทั้งสี่แห่ง (ปัจจุบันมี 5 แห่งนะ)
กำแพงด้านทิศเหนือ มีความยาวมากที่สุด วัดได้ประมาณ 1.67 กิโลเมตร รองลงมาเป็นกำแพงด้านทิศใต้ วัดได้ 1.63 กิโลเมตร ส่วนกำแพงด้านทิศตะวันออกมีความยาวเท่ากับทิศตะวันตก คือ 1.62 กิโลเมตร หลังจากที่เชียงใหม่ได้รับอิสรภาพจากพม่า เจ้ากาวิละ ได้รับการสถาปนาเป็น พระเจ้าบรมราชาธิบดี เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 โปรดให้บูรณะกำแพงเมืองเป็นครั้งใหญ่ เป็นกำแพงอิฐที่มีความมั่นคงทนทาน และบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ. 2361 ในรัชสมัยเจ้าหลวงธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 2 ในปี พ.ศ. 2491 เนื่องจากกำแพงเมืองเชียงใหม่มีสภาพทรุดโทรมลงอย่างมาก และบางแห่งก็พังเป็นซากปรักหักพัง ทั้งยังมีวัชพืชขึ้นเป็นการรกอย่างมาก อีกทั้งยังบดบังทัศนียภาพของคนที่อยู่นอกกำแพงเมือง ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ จึงได้เริ่มรื้อกำแพงออก เพื่อสร้างถนนและเส้นทางคมนาคมในตัวเมืองเชียงใหม่ ฉะนั้นกำแพงเมืองที่เราเห็นทุกวันนี้ จึงถูกบูรณะขึ้นมาใหม่เพื่อการท่องเที่ยว แต่เคยสงสัยกันมั้ยครับว่า อิฐกำแพงเมืองเก่าๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เอาไปไว้ไหน เรื่องนี้ผมมีคำตอบ เป็นความบังเอิญหลังจากมุดตัวเข้าร้านหนังสือ ไปอ่านเจอหนังสือสารคดีท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ พูดถึงเรื่องนี้ โดยเนื้อหาอ้างอิงมาจากบทความหนังสือที่ระลึกเปิดอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละ ที่เขียนโดย พ.อ. เข้มข้น เพิ่มกำลังเมือง อดีตผู้บังคับการทหารบกเชียงใหม่ (พ.ศ. 2491-2493) ว่าสมัยนั้นค่ายกาวิละ รั้วด้านหน้าค่ายเป็นลวดหนามและต้นมะขามเทศขึ้นประปรายไม่สม่ำเสมอ เรียกได้ว่าไม่มีราศีของป้อมปราการของชาติ เมื่อเห็นดังนั้น จึงมีการทำหนังสือเรียนไปถึงนายกเทศบาลเมืองเชียงใหม่ เพื่อขออิฐกำแพงเมืองที่ไม่ใช่แล้วมาสร้างรั้วค่ายกาวิละ ซึ่งหลังจากมีการอนุมัติ ก็ให้ผู้บังคับกองเรือนจำจังหวัดทหารบก สั่งนักโทษและทหารไปเอาอิฐที่รื้อแล้วมาก่อกำแพงที่ค่าย ซึ่งตอนแรกนั้นมีการก่ออิฐขึ้นไม่ได้ฉาบปูนแต่อย่างใด หลังจากนั้นในสมัยของผู้บังคับการต่อมาจึงฉาบปูนเพื่อความสวยงามจนมาถึงปัจจุบันที่เห็นกันนี้ ปล.กำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในปี พ.ศ. 2478 |