หัวข้อ: รวมแหล่งท่องเที่ยวภูมิปัญญาล้านนาเชิงหัตถกรรม เชียงใหม่ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ พฤศจิกายน 20, 2015, 03:15:28 PM เรามีอะไรดี มีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ ก็ควรจะขายสิ่งนั้น
ไม่มีใครกล่าวไว้หรอกครับ แต่เป็นผมที่กล่าวไว้นี่เอง เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวในเชิงของการเรียนรู้ภูมิปัญญาล้านนาเชิงหัตถกรรม ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าจังหวัดนี้ มีอะไรๆ หลายอย่างให้ท่องเที่ยวมาก และก็มีหลายคนด้วยกันที่ไม่รู้ หรือรู้ก็ถือว่าน้อย ฉะนั้น & ฉะนี้ จากประสบการณ์ตรงที่ได้ย้ายก้นตัวเองจากเก้าอี้ทำงาน ออกจากบ้านไปยังแหล่งท่องเที่ยวการเรียนรู้ภูมิปัญญาล้านนาเชิงหัตถกรรม ในจังหวัดเชียงใหม่ ผมจึงได้รวบรวมแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวมานำเสนอให้ดังต่อไปนี้ บ้านกวนวัวลาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมที่มีการอนุรักษ์และสืบสานการปั้นหม้อน้ำดินที่ยังคงใช้วิธีการปั้นหม้อน้ำเหมือนในอดีตเพียงแต่ปรับรูปแบบจากการเดินวนในการขึ้นรูปเครื่องปั้นดินเผามาเป็นการใช้แป้นหมุนด้วยมือ ลายบิดเกลียวถือเป็นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ที่ใช้ตกแต่งบนหม้อน้ำดินของบ้านกวนวัวลาย หม้อน้ำดินของที่นี่จะทำจากดินเหนียวที่มีรูพรุนและเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เมื่อใส่น้ำดื่มจะทำให้น้ำเย็นขึ้นทั้งยังมีกลิ่นหอมจากดิน และหม้อน้ำของที่นี่เมื่อใช้ใส่น้ำไปสักระยะหนึ่งจะมีตะไคร่น้ำจับติดที่หม้อน้ำซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง หมู่บ้านป่าตาล อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ในอดีตบ้านป่าตาลเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการปั้นหม้อน้ำ คนโทและอิฐมอญ แต่เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาได้มีการพัฒนางานปั้นมาเป็นการปั้นตุ๊กตาที่ยังคงเป็นการปั้นด้วยมือ รูปแบบงานปั้นตุ๊กตาของที่นี่จะมีทั้งตุ๊กตาที่เป็นรูปคนและสัตว์ต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีรอยยิ้มบนใบหน้า ช่างแต่ละคนจะมีการสร้างสรรค์งานปั้นตุ๊กตาที่แม้จะเป็นรูปสัตว์เดียวกันแต่ก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวและมีรอยยิ้มที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของช่างแต่ละคน บ้านเหมืองกุง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่สืบทอดงานปั้นเครื่องปั้นดินเผาจากบรรพบุรุษ น้ำต้นหรือคนโท ซึ่งเป็นงานปั้นที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ วิธีการปั้นเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเมืองกุงจะมีทั้งแบบโบราณที่ใช้แท่นหมุนมือที่เรียกว่า จ้าก และแบบประยุกต์ที่ใช้แท่นหมุนด้วยไฟฟ้า การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาอันเป็นเอกลักษณ์ อีกอย่างหนึ่งของที่นี่คือการเคลือบสีผิวด้วยดินแดงและขัดให้เงาด้วยหิน ส่วนลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผา จะเป็นลายใบโพธิ์คล้ายกับรูปหัวใจและลายลูกกลิ้ง ในปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเหมืองกุงมีทั้ง น้ำต้นแบบโบราณและมีเครื่องปั้นดินเผาที่ได้พัฒนาอีกหลากหลายรูปแบบทั้งที่เป็นแจกันเพื่อใช้เป็นของตกแต่ง น้ำพุน้ำล้นและโคมไฟที่ประยุกต์จากน้ำต้น เดี๋ยวมาต่อกันอีกตอนให้จบครับ หัวข้อ: Re: รวมแหล่งท่องเที่ยวภูมิปัญญาล้านนาเชิงหัตถกรรม เชียงใหม่ เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ พฤศจิกายน 20, 2015, 03:22:16 PM หลังจากตอนที่แล้วหลักๆ จะเล่าถึงแหล่งท่องเที่ยวการเรียนรู้ภูมิปัญญาล้านนาเชิงหัตถกรรม ในรูปแบบของเครื่องปั้นดินเผาซะเป็นส่วนใหญ่ มาคราวนี้ จะขอพาไปทำความรู้จักกับหัตถกรรมแบบอื่นๆ บ้าง ซึ่งก็มีทั้งกระดาษสา เครื่องเงิน และไม้แกะสลัก แต่ละแห่งมีอะไรน่าสนใจ ลองกวาดสายตาอ่านลงไปในบรรทัดด้านล่างได้เลยครับ
บ้านดงป่าซาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ในอดีตบ้านดงป่าซางทำกระดาษสาแบบธรรมชาติด้วยวิธีช้อนบาง และการกระดาษสามัดย้อมสีบาติก ปัจจุบันที่นี่ได้มีการพัฒนางานกระดาษสาอย่างต่อเนื่อง วิธีการทำกระดาษสาแบบเตะกระดาษถูกนำมาใช้ในการสร้างสรรค์กระดาษสาและงานกระดาษสาที่มีความโดดเด่นของที่นี่จะเป็นกระดาษสาตกแต่งลวดลายด้วยวัสดุธรรมชาติทั้งดอกไม้ ใบไม้ สมุนไพรและผลไม้ นอกจากนี้ยังได้สร้างสรรค์กระดาษสาลายลูกไม้ จนพัฒนาไปถึงการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานเป็นกระดาษสาแบบกันน้ำ หมู่บ้านต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบันบ้านต้นเปายังคงสืบสานการทำกระดาษสามาจากบรรพบุรุษ งานกระดาษโบราณที่มีชื่อเสียงและยังคงอนุรักษ์ไว้คือการทำกระดาษสาแผ่นแบบธรรมชาติด้วยวิธีการช้อนบาง นอกจากนั้นที่นี่ยังได้มีการสร้างสรรค์งานกระดาษสาได้อย่างหลากหลาย ซึ่งที่มีความโดดเด่นไม่ว่าจะเป็นกระดาษสาแผ่นหนา กระดาษสาสี การทำลวดลายลงบนกระดาษสาด้วยเทคนิคบาติก เทคนิคสีน้ำมัน และเทคนิคพ่นน้ำรวมทั้งเทคนิคการปั้มนูน นอกจากนี้ยังสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาได้อย่างมากมายที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่จะเป็นกล่องกระดาษ ถุงกระดาษ สมุดโน้ตและกรอบรูป ชุมชนวัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ในการทำเครื่องเงิน ปัจจุบันมีการนำเอาวัสดุอะลูมิเนียมมาดุนลาย (ต้องลาย) เป็นแผ่นภาพซึ่งเป็นการประยุกต์มาจากขั้นตอนการทำลวดลาย บนเครื่องเงินของชาวบ้านวัวลาย โดยแผ่นภาพมีการสร้างสรรค์ทั้งลวดลายล้านนาโบราณและแบบประยุกต์ แผ่นภาพดุนลายมีทั้งขนาดใหญ่ที่นิยมนำมาตกแต่งอาคารจนกระทั่งถึงแผ่นขนาดเล็กที่นำมาเป็นของที่ระลึก อุโบสถเงิน เป็นนวัตกรรมภูมิปัญญาชาวบ้านหัตถกรรมเครื่องเงินของชุมชนวัดศรีสุพรรณ โดยใช้ เงินบริสุทธิ์ประดับส่วนที่สำคัญปลอดภัยและอะลูมิเนียมดุนลาย(ต้องลาย) ประดับทั้งหลัง เป็นการสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเดียวในโลก บ้านถวาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ บ้านถวายมีการสืบสานงานไม้แกะสลักจากรุ่นสู่รุ่น งานไม้แกะสลักที่มีความโดดเด่นของที่นี่จะเป็นงานแบบนูนสูงและแบบสามมิติเป็นไม้แกะสลักรูปสิงห์ กินรี นางรำ เทพจีน พญานาค ตุ๊กตาดนตรีและสัตว์ในวรรณคดีต่างๆ และยังมีชื่อเสียงในการทำสีไม้ด้วยเทคนิคที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเทคนิคสีเนื้อไม้ธรรมชาติ สีแตกลายงา เทคนิคสีทำเลียนแบบของเก่า นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญในงานตกแต่งไม้ทั้งงานลงรัก-ปิดทอง งานแต่งเส้นเดินลายที่ประกอบด้วยการเดินเส้น การเขียนทอง การทำสีไม้เก่า การติดกระจก บ้านถวายยังเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอีกด้วยที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านถวาย ได้แก่ เครื่องประดับตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ งานไม้แกะสลัก งานแต่งเส้นเดินลายและของที่ระลึก ซึ่งนอกจากงานไม้แล้วยังมีทั้งเครื่องเงิน เครื่องเขิน ผ้าทอ เครื่องจักรสานและเครื่องปั้นดินเผา ปล.จริงๆ ยังขาดเหลืออีกบางที่นะครับ ที่ยังไม่ได้ไป หรือไปแล้วดันถูกปิดตัวลง ฉะนั้นหากมีโอกาสจะหยิบเอามาเขียนฝากเพิ่มเติม |