จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => แนะนำ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ในเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg. ที่ พฤศจิกายน 06, 2015, 09:23:52 AM



หัวข้อ: เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่พิพิธภัณฑ์คัวตอง วัดพวกแต้ม
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg. ที่ พฤศจิกายน 06, 2015, 09:23:52 AM
ตอนที่ 1 (ประวัติและความเป็นมา)

หลายคนอาจจะยังไม่รู้นะครับว่าเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อได้ว่ามีพิพิธภัณฑ์เยอะมากในระดับท้องถิ่น ซึ่งจากที่ผมเคยไปเที่ยวมานั้นมีหลายแห่งด้วยกันที่จัดทำขึ้นมาอย่างดี ดูแล้วน่าไปเที่ยว แต่ปัญหามันติดตรงที่ว่าบางแห่งคนรู้จัก แต่บางแห่งคนก็ไม่ค่อยรู้จัก ฉะนั้นหน้าที่ของผมก็คือทำให้ที่ที่คนไม่ค่อยรู้จัก จักกันเยอะมากขึ้น

(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_45_1.JPG)

พิพิธภัณฑ์คัวตองวัดพวกแต้ม น้อยคนนักที่จะรู้จัก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในวัดพวกแต้ม ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยชื่อวัดนั้นคำว่า “พวก” หมายถึง หัวหน้าหมู่บ้าน เป็นขุนนางยศต่ำ ฉะนั้นเมื่อรวมเป็นคำว่า “พวกแต้ม” คงเป็นขุนนางที่มีหน้าที่ควบคุมทางด้านช่าง โดยเฉพาะด้านการเขียนภาพจิตรกรรม การลงรักปิดทอง  ดังเช่นวิหารหลังหนึ่งในวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่เรียกวิหารน้ำแต้ม (นอกจากวัดพวกแต้มแล้ว ในละแวกนี่ก็ยังมีวัดพวกหงส์ วัดพวกช้าง วัดพวกเปีย)

(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_45_2.JPG)

เมื่อพูดถึงชุมชนวัดพวกแต้ม คงย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังอดีต จากนั้นในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พระเจ้ากาวิละได้กวาดต้อนผู้คนจากหลายที่มารวมกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีสล่าเครื่องโลหะมาด้วย  จึงทำให้นักวิชาการทางด้านวัฒนธรรมสันนิษฐานว่า “คัวตอง” ต้นกำเนิดแห่งช่างฝีมือด้านโลหะ น่าจะก่อกำเนิดขึ้นในช่วงนี้ ในวัดพวกแต้ม

(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_45_3.JPG)

ข้อสันนิษฐานเพิ่มบ่งบอกว่า สล่าที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยนั้น ได้ทำการหล่อพระพุทธรูปสำริดขึ้นเป็นจำนวนมาก ย่านถนนช่างหล่อ ใกล้ๆ กับวัดพวกแต้ม โดยมีการพบว่าฉัตรรุ่นแรกที่มีการทำขึ้นในวัดพวกแต้มนั้น ก็ทำขึ้นจากสำริดเช่นกัน จึงเป็นไปได้ว่าการหล่อแผ่นสำริด น่าจะมาจากย่านช่างหล่อ ก่อนจะส่งต่อมาให้สล่าในวัดพวกแต้มตอกขึ้นรูปเป็นฉัตรอีกทีนึงที่เหลือจากนั้น ท่านพระครูรัตนปัญญา อดีตเจ้าอาวาสวัดพวกแต้ม ในฐานะที่มีความสามารถทางศิลปะหลายด้าน ก็ได้ทำการรวบรวมสล่าฝีมือดีมาไว้ในวัดพวกแต้ม ก่อนจะร่วมมือกับครูบาศรีวิชัยในการสร้างฉัตร ซ่อมแซมฉัตรตกแต่งลวดลายตามวัดวาอารามต่างๆ จนถึงขั้นก่อตั้งสมาคมสล่าขึ้นในนาม “คัวตอง”จนชุมชนแห่งนี้กลายเป็นชุมชนช่างทำฉัตรพวกแต้ม อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น  ซึ่งมีผลงานฉัตรปรากฏทั่วไปหลายที่

(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_45_4.JPG)

ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ “พวกแต้ม คัวตอง” นั้นเกิดจากความร่วมมือของผู้ศึกษา คณะช่างงานคัวตอง วัดพวกแต้ม และประชาชนในชุมชนวัดพวกแต้ม  ด้วยวิธีการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็น แหล่งเรียนรู้  อนุรักษ์คุณค่า และเผยแพร่ความรู้ของงานคัวตอง ให้แก่ประชาชนทั้งในชุมชนและ ภายนอกชุมชนได้ศึกษาศึกษาเรียนรู้  เข้าใจงานคัวตองอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมา จนถึงปัจจุบัน 

(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_45_5.JPG)

แล้วตอนที่ 2  มาทำความรู้จักกับ “คัวตอง” ของวัดพวกแต้มกันครับ


หัวข้อ: Re: เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่พิพิธภัณฑ์คัวตอง วัดพวกแต้ม
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg. ที่ พฤศจิกายน 07, 2015, 09:51:51 AM
ตอนที่ 2 (ลักษณะคัวตองของชุมชนพวกแต้ม)

ฉัตร หรือที่เรียกว่า คัวตอง คือเครื่องประดับคล้ายร่มในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจดีย์ หรือ พระบรมธาตุจะมีฉัตรเพื่อความสวยงาม ฉัตรจึงใช้ในฐานะเป็นสัญลักษณ์แทนของสูง ชาวล้านนานิยมทําฉัตร ประดับไว้บนหลังคาโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ซึ่งชุมชนพวกแต้มนี้ ถือว่ามีชื่อเสียงในการทําฉัตรกันมาอย่างยาวนาน

(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_46_1.JPG)

ฉัตรของวัดพวกแต้ม จะมี 2 แบบด้วยกันครับ คือแบบแรก เป็นแบบพื้นเมืองของล้านนา มีเอกลักษณ์อยู่ที่ลวดลายที่หยาบและใหญ่ประดับอยู่ระหว่างชั้น มีชื่อลายหลากหลาย โดยส่วนประกอบหลักๆ ของฉัตรพื้นเมือง ได้แก่ กระจัง ดอกคอ และกาบ


(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_46_2.JPG)

ส่วนแบบที่สอง เป็นแบบประยุกต์ เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนาและพม่าเงี้ยว โดยกระจังจะยื่นออกมาเหมือนมือที่ฟ้อนหงายนิ้วงอโค้งออกมา เรียกว่า “ลายฟ้อน” ส่วนปลายดูอ่อนช้อย ส่วนกาบจะยกสันขึ้น ทำให้ดูมีเหลี่ยมเงาได้สัดส่วน

ทั้งนี้ ในการทําฉัตร ถือเป็นงานที่ต้องใช้เวลาเป็นอย่างมาก เพราะแต่ละขั้นตอนของการทําฉัตรนั้นก็เป็นการทํางานที่ต้องใช้ฝีมือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การตอกลาย การประกอบ การบัดกรี การติดคํา ซึ่งแรงงานหรือช่างฝีมือที่ทํานั้นก็เป็นวัยรุ่น และวัยทํางาน


(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_46_3.JPG)

สำหรับสถานที่และอาคารจัดแสดง ภายในพิพิธภัณฑ์ “พวกแต้ม คัวตอง” นี้  ได้ใช้ตัวอาคารโรงครัวหลังเก่า ซึ่งเดิมเป็นอาคารที่นำไปใช้เป็นสถานที่ทำงานคัวตอง และนำมาดัดแปลงให้เป็นอาคาร จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ ซึ่งอยู่ด้านในติดกับหอไตรของวัดพวกแต้ม และอยู่ระหว่างกุฏิพระสงฆ์


(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_46_4.JPG)

วัตถุที่จัดแสดงในโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ “พวกแต้ม คัวตอง” ส่วนใหญ่จัดแสดงวัตถุประเภทงานคัวตองด้านพุทธศิลป์ อาทิ ฉัตรเก่า สัปทนเก่า และลวดลายประดับตกแต่งส่วนต่าง ซึ่งมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการที่ได้นำมาจัดแสดงในรูปแบบที่ร่วมสมัยมากขึ้น เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์  โดยมีองค์ประกอบของวัตถุที่เป็นงานพุทธศิลป์อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง กับพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ ตุงกระด้าง อาสนะสงฆ์ พุ่มดอกไม้เงิน พุ่มดอกไม้ทอง ในขั้นตอนการ จัดแสดงนี้ ได้เกิดการมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่าย และประชาชนในชุมชน ต้องมีการปรึกษากับ ผู้ชำนาญการเพื่อเข้ามาดูแลและช่วยออกแบบ  การจัดแสดงนิทรรศการในหัวข้อดังที่กล่าวมานี้ มุ่งเน้นให้เห็นการจัดแสดงที่สะท้อนคุณค่า และความสำคัญของงานคัวตองของชุมชนวัดพวกแต้ม


(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_46_5.JPG)

ส่วนแนวทางของเรื่องที่จะจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ “พวกแต้ม คัวตอง” ประกอบด้วย การจัดแสดง  4 ส่วน ได้แก่ แนวทางการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ “พวก แต้ม คัวตอง” ประวัติงานคัวตองของชุมชนวัดพวกแต้ม ขั้นตอนตอนการผลิตงานคัวตอง และคัวตองกับการนำไปใช้ ซึ่งตอนหน้าจะพาไปสำรวจแต่ละส่วนกันครับว่ามีรายละเอียดอะไรกันบ้าง


หัวข้อ: Re: เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่พิพิธภัณฑ์คัวตอง วัดพวกแต้ม
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg. ที่ พฤศจิกายน 09, 2015, 10:25:06 AM
ตอนที่ 3 (ส่วนจัดแสดง)

หลังจากที่เกริ่นๆ ไปถึงส่วนของการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ เราก็จะมาเจาะลึกกันครับว่าแต่ละส่วนเป็นอย่างไรบ้าง จากพื้นที่การจัดแสดงที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการจัดแสดงนิทรรศการงานคัวตอง และพื้นที่การปฏิบัติงานคัวตองของกลุ่มช่างแต่เดิม

(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_47_1.JPG)

ส่วนที่ 1 จุดทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นจุดแรกของตัวอาคาร โดยด้านทางเข้าบนจะเป็นป้ายพิพิธภัณฑ์ ที่ทำขึ้นจากการตอกแผ่นทองเหลือง ซึ่งเป็นเทคนิค เดียวกันกับงานคัวตอง โดยใช้ชื่อว่า “พวกแต้ม คัวตอง” นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาและ ความสำคัญของโครงการ โดยนำเสนอผ่านบอร์ดข้อมูลที่ว่าด้วยแนวคิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์“พวกแต้ม คัวตอง” เป็นหัวข้อที่นำเสนอถึงโครงการทดลองจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ เพื่อบ่งบอกถึง ความสำคัญ และคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมประเภทนี้

(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_47_2.JPG)

ส่วนที่ 2 ผนังด้านในประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ โดยนำเสนอ ผ่านบอร์ดข้อมูลที่ว่าด้วยประวัติความเป็นมาของชุมชนวัดพวกแต้ม เพื่อให้ทราบความเป็นมาของ งานคัวตองในชุมชนวัดพวกแต้มจากอดีต จนมีพัฒนาการต่อเนื่องมาจนกระทั้งปัจจุบัน โดยมีเนื้อหา ที่บ่งบอกถึงบุคคลผู้คิดริเริ่มการผลิตงานคัวตองขึ้นมา 

(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_47_3.JPG)

ส่วนที่ 3 ผนังด้านในประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ในส่วนถัดมา โดยนำเสนอผ่านบอร์ดข้อมูลที่ว่าด้วยประวัติความเป็นมาของงานคัวตอง และจัดแสดงงานคัวตอง ประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นชิ้นงานดั้งเดิมของวัดพวกแต้ม โดยที่มีการวางตัวชิ้นงานบนหลังตู้ที่ได้รับการ ปรับปรุงแล้ว ซึ่งชิ้นงานอื่นๆ ที่ไม่สามารถจัดแสดงได้เนื่องจากพื้นที่มีจำกัดได้ถูกเก็บรักษาไว้ ภายในตู้นี้

(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_47_4.JPG)

ส่วนที่ 4 จัดแสดงภาพถ่าย และชิ้นงานคัวตองที่เป็นลวดลาย ประดับส่วนต่างๆ ของงานพุทธศิลป์ โดยได้มีการจัดแสดงลวดลายที่ทำจากงานคัวตอง ซึ่งเป็น ส่วนประกอบของฉัตร และสัปทน และงานพุทธศิลป์อื่นๆ โดยที่นำมาขึงไว้กับกรอบเฟรมผ้าใบ เพื่อให้สามารถคงรูปร่างของแผ่นทองเหลืองไว้ได้ยาวนานขึ้น อีกทั้งยังเป็นการใช้แนวคิดทางศิลปะ ร่วมสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้กับงานคัวตอง เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในงานคัวตอง   

ส่วนที่ 5 รูปแบบและวิธีการผลิตคัวตอง โดยนำเสนอผ่าน บอร์ดข้อมูลนิทรรศการที่มีเนื้อหาของลำดับวิธีการผลิตงานคัวตอง อีกทั้งยังจัดแสดงชิ้นงานคัวตอง ที่เป็นลวดลายประดับส่วนต่างๆ ของงานพุทธศิลป์ โดยได้มีการจัดแสดงลวดลายที่ทำจากงานคัวตอง ซึ่งเป็นส่วนประกอบของฉัตร และสัปทน และงานพุทธศิลป์อื่นๆ โดยที่นำมาขึงไว้กับกรอบ เฟรมผ้าใบ เพื่อให้สามารถคงรูปร่างของแผ่นทองเหลืองไว้ได้ยาวนานขึ้น อีกทั้งยังเป็นการใช้ แนวคิดทางศิลปะร่วมสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้กับงานคัวตอง เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในงานคัวตอง 

ส่วนที่ 6 คัวตองกับการนำไปใช้ โดยนำเสนอผ่านบอร์ด ข้อมูลนิทรรศการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการนำงานคัวตองไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม 

ส่วนที่ 7 เป็นส่วนสุดท้ายของการนำเสนอข้อมูลภายใน พิพิธภัณฑ์ ซึ่งส่วนนี่ได้ใช้พื้นที่เป็นส่วนการทำงานของช่างในแผนกตัด ตอก ฉลุลวดลายของงาน คัวตอง ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อสามารถถ่ายทอดวิธีการในการทำคัวตอง แก่ผู้ที่เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างดียิ่งขึ้น 

(http://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_47_5.JPG)

นอกเหนือจากจากการจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์คัวตองวัดพวกแต้มแล้ว ยังมี พื้นที่อื่นๆ ภายในวัดที่ได้ถูกทำให้เป็นโรงเรือนในการผลิตงานคัวตอง โดยมีการแบ่งแยกแผนก พื้นที่การใช้สอยตามการทำงานนั้นๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นของการทำงานคัวตองของวัดพวกแต้ม เป็นเสมือนการเน้นย้ำให้วัดพวกแต้มเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

สำหรับใครที่สนใจอยากจะไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์คัวตองวัดพวกแต้มเพื่อสัมผัสกับภูมิปัญญาการทำฉัตรแบบดั้งเดิม ก็สามารถแวะเข้าไปชมได้ทุกวันที่วัดพวกแต้มกันครับ