หัวข้อ: ต้นกำเนิดโรงเรียนต่อลมหายใจล้านนา @ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เริ่มหัวข้อโดย: Traveller Freedom ที่ กันยายน 15, 2015, 08:44:42 PM ต้นกำเนิดโรงเรียนต่อลมหายใจล้านนา @ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา
สถานที่ตั้ง : เลขที่ 35 ถนนรัตนโกสินทร์ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ : 053 244 231 ชุมชนล้านนาในอดีตมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกื้อกูลกันและกัน รวมทั้งได้ร่วมกันสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น งานหัตถกรรม การเกษตร การจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณี และมีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่จากการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิต ทำให้ภูมิปัญญาล้านนาถูกละเลยจนอาการน่าเป็นห่วง ขาดการสืบทอดจากผู้รู้ พ่อครูแม่ครู โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่หลงใหลไปกับเทคโนโลยีของวัฒนธรรมสมัยใหม่ จนทำให้ไม่ได้มีการสืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาจากพ่อครูแม่ครูเหล่านี้เลย ในปี พ.ศ. 2540 องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ได้ปรึกษาหารือตกลงใจร่วมกันว่า ควรประสานงานกับคนทุกกลุ่มให้เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยร่วมกันจัดงาน สืบสานล้านนา ในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี โดยหวังว่าจะส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นที่อยู่พื้นฐานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่นร่วมกันในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้มีความพยายามของทุกภาคส่วนได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสืบทอดอย่างต่อเนื่องในบางชุมชนและมีการจัดงาน สืบสานล้านนา ติดต่อกันมาทุกปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถก่อให้เกิดการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ให้มีความต่อเนื่องและมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายได้ กระทั่ง พระคุณเจ้าหลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ วัดเจดีย์หลวง ได้ให้แนวคิดว่า การจะสืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาล้านนาให้เกิดผลนั้น การจัดงานสืบสานล้านนาเพียงปีละครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่สามารถทำให้เกิดผลได้จริง ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าทุกลมหายใจเลยจึงจะเป็นจริง คณะกรรมการจัดงานสืบสานล้านนาได้นำมาปรึกษาหารือมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องทำโครงการที่จะให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ขึ้นในปี พ.ศ. 2543 และได้ดำเนินกิจกรรมในการรวบรวมองค์ความรู้ พ่อครู แม่ครู และปราชญ์ชาวบ้านเพื่อทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาให้กับลูกหลานและผู้สนใจในท้องถิ่น ได้เกิดการเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสาขาต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ของท้องถิ่นที่มีอยู่ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถสืบสานได้อย่างต่อเนื่อง โดยในระยะแรกทางคณะกรรมการและผู้ดำเนินงานได้มีการประสานงานกับพ่อครูแม่ครู ผู้รู้ในท้องถิ่นเปิดสอนวิชาภูมิปัญญาแขนงต่างๆ และเปิดรับสมัครนักเรียนและผู้สนใจเข้าเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านแขนงต่างๆ ได้แก่ การทอผ้า การตัดกระดาษตัดตุง ทำโคม ดนตรีพื้นบ้าน ฟ้อนรำพื้นบ้าน การวาดรูปล้านนา อาหารพื้นบ้าน แกะสลัก จักสาน และงานปั้น เป็นต้น จนทำให้ปัจจุบันมีผู้ให้ความสนใจเข้าเรียนรู้เป็นจำนวนมาก by Traveller Freedom |