หัวข้อ: ชุมชนวัดศรีสุพรรณ หมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องเงิน : ผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้าน เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ สิงหาคม 15, 2015, 09:43:08 AM จะเห็นได้ว่าชาวบ้านชุมชนวัดศรีสุพรรณ เป็นส่วนหนึ่งของบ้านวัวลายกันนะครับ ซึ่งมีผลงานการทำเครื่องเงินเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนในวงกว้าง ผลงานของชุมชนวัดศรีสุพรรณครั้งสำคัญประกอบด้วยผลงานดังนี้
พ.ศ. 2534 การทำสลุงหลวง น้ำหนักเงินสุทธิ 536 บาท ในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ เฉลิมพระชนมายุครบ 3 รอบ ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2535 การทำสลุงหลวง แม่ น้ำหนักเงินสุทธิ 2,535 บาท เส้นผ่านศูนย์กลาง 109 เซนติเมตร เส้นรอบวง 339เซนติเมตร พร้อมฐานรองรับเป็นไม้สักสลักรูปช้าง 4 เศียร ลงรักปิดทองสูง 140 เซนติเมตร ในวโรกาสงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ โดยมีพิธีทูนเกล้า ฯ ถวายบนพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์อย่างยิ่งใหญ่ตระการตา พ.ศ. 2539 การทำสลุงหลวง พ่อ น้ำหนักเงินสุทธิ 2,999 บาท เส้นผ่านศูนย์กลาง 139 เซนติเมตร สูง 69 เซนติเมตร เส้นรอบวง 439 เซนติเมตร ฐานรองรับเป็นไม้สักแกะสลักรูปช้าง 4 เศียร รวมความสูงจากฐานถึงขอบสลุง 199 เซนติเมตร ลงรักปิดทอง มีลายประดับเป็นรูปบัวคว่ำ บัวหงาย ดอกพุดตาล ลายประจำยามและลายก้านขด ในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปีและจัดพิธีกาญจนาภิเษกที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ผลงานทั้งสามรายการนี้ทำให้ช่างเงินและผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายมีความภาคภูมิใจ ชุมชนเครื่องเงิน วัวลายและชุมชนเครื่องเงินศรีสุพรรณจึงกลับมามีความคึกคักและมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ต่อมาวิถีชีวิตในการใช้เครื่องเงินได้เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากโลหะเงินมีราคาที่สูงขึ้น จึงทำให้เปลี่ยนจากการทำเครื่องเงิน หรือภาษาถิ่นเรียกว่า คัวเงิน (คัว เป็นภาษาถิ่นแปลว่า สิ่งของเครื่องใช้) กลายมาเป็น คัวเนียม หรือเป็นการใช้อลูมิเนียมในการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมแทน แต่ยังคงเดินเส้นและ คงรูปแบบลวดลายตามภูมิปัญญาเดิมอยู่ แต่ในช่วงปี พ.ศ.2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในประเทศไทยทำให้ชุมชนวัดศรีสุพรรณ ได้รับผลกระทบจนถึงขั้นวิกฤติ กำลังซื้อที่หดหายทำให้เสียงตอกขันเงินที่เคยได้ยินนับแต่โบราณเริ่ม แผ่วเบาลงทุกขณะ ด้วยวิกฤตนี้เองที่พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ ได้หารือกับกรรมการหมู่บ้านและกลุ่มสล่าเครื่องเงิน (สล่า เป็นภาษาถิ่น แปลว่าช่าง) ที่หลงเหลืออยู่ไม่ถึงสิบคนเพื่อที่จะอนุรักษ์และพัฒนาสืบสานหัตถกรรมเครื่องเงินของชุมชน กระทั่งในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นปีครบรอบการจัดตั้งวัดศรีสุพรรณได้ 500 ปี ท่านเจ้าอาวาศและทางกลุ่มจึงถือโอกาสนี้จัดตั้ง กลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ โดยมีเป้าหมายในการอนุรักษ์และส่งเสริมอาชีพทำเครื่องเงิน ซึ่งได้ใช้พื้นที่ภายในวัดเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการทำกิจกรรม มีการสร้างความเข้าใจให้แก่คนในชุมชนเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมทั้งดึงสล่าในชุมชนเข้ามารวมตัวกันในกลุ่ม โดยให้สล่าเหล่านี้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เชิงศิลป์ให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนวัดศรีสุพรรณ รวมถึงพระสงฆ์ สามเณร คนรุ่นใหม่ในชุมชน และนักท่องเที่ยว กิจกรรมดังกล่าวทำให้หลาย ๆ ครอบครัวที่เคยวางมือจากการทำเครื่องเงินเริ่มกลับทำเครื่องเงิน อีกครั้ง หลายครอบครัวทำเป็นอาชีพหลัก ขณะที่อีกหลายครอบครัวที่แม้จะประกอบอาชีพอย่างอื่น แต่ก็ทำเป็นอาชีพเสริมนอกเวลางานประจำซึ่งช่วยสร้างรายได้เป็นอย่างดี ในเวลาต่อมาทางชุมชนได้จัดตั้งศูนย์วิสาหกิจชุมชนเพื่อเปิดพื้นที่ทางการตลาดให้กับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพช่างเงิน พร้อมกันนี้ยังรวบรวมสล่าในชุมชนทั้งหมดร่วมกันสร้างอุโบสถเงินหลังแรกและหลังเดียวของโลกให้เกิดขึ้นภายในวัดศรีสุพรรณ อุโบสถเงินหลังนี้นอกจากจะมีความหมายในเชิงการ เป็นสัญลักษณ์ของการร่วมแรงร่วมใจภายในชุมชน ยังกระตุ้นจิตสำนึกรักภูมิปัญญาของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี |