หัวข้อ: บ้านดงป่าซาง หมู่บ้านงานหัตถกรรมกระดาษสา : ที่มาของชุมชน 1 เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ สิงหาคม 15, 2015, 09:28:17 AM พูดถึงเรื่องกระดาษสาแล้ว ไม่ใช่เฉพาะที่สันกำแพงเท่านั้นนะครับที่มีชื่อเสียง แต่ที่บ้านดงป่าซาง ใน อ.สันป่าตอง ก็มีกระดาษสาที่ขึ้นชื่อไม่น้อยหน้าเช่นกัน แถมยังพึ่งพาตัวเองยืนหยัดมาจนทุกวันนี้
ย้อนเวลาไปเมื่อครั้งอดีตชาวดงป่าซางใช้ต้นปอสาทำกระดาษสำหรับการบันทึกบทธรรมและหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ต่อมาก็ได้เริ่มมีการใช้กระดาษกันในกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การทำด้ายสายสิญจน์ ว่าวไฟ ไส้เทียน ปักกะตืน (ภาษาถิ่น แปลว่าสมุดบันทึก) ใบสูติบัตร แต่ก็ยังคงใช้กันในวงแคบคือเฉพาะในหมู่บ้านดงป่าซางและหมู่บ้านใกล้เคียง เดิมทีชาวบ้านดงป่าซางมีอาชีพหลักเป็นการทำไร่ ทำสวน ทำนา ปลูกข้าว ปลูกกระเทียม ปลูกถั่วเหลือง พวกพืชอายุสั้น พืชล้มลุก การทำกระดาษสาในสมัยก่อนนั้นเป็นการผลิตกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นโดยผลิตเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ทำแล้วนำไปจำหน่ายทั้งในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งในทุก ๆ ขั้นตอนการผลิตจะไม่ใช้เครื่องทุ่นแรง ต้องทำด้วยมือ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการลอกเปลือกและการทำให้เป็นแผ่นกระดาษ ต่อมาชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนมาปลูกลำไยกันมากขึ้นเพราะให้ผลิตเยอะและได้ราคาดี รวมทั้งไม่ต้องหมุนเวียนปลูกบ่อยเหมือนพืชอายุสั้นที่เคยปลูก อีกทั้งไม่ต้องดูแลมาก ทำให้มีเวลาว่างที่จะใช้ในการผลิตกระดาษสามากขึ้น ในปี พ.ศ. 2531 มีการตั้งกลุ่มแม่บ้านและเยาวชนพัฒนากระดาษสาบ้านดงป่าซาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหางานให้แม่บ้านได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และเสริมสร้างรายได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 นายสิงห์คำ ต๊ะมา ชาวหมู่บ้านดงป่าซางผู้มีประสบการณ์การทำกระดาษและแปรรูปกระดาษสามาจากบ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ได้กลับมาบ้านเกิดและนำความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ มาสอนให้คนในหมู่บ้านดงป่าซางและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีจุดเด่นเน้นวัสดุที่หาได้ในหมู่บ้าน และเป็นคนเริ่มให้ในหมู่บ้านทำกระดาษสากันอย่างจริงจัง โดยนายสิงห์คำได้แรงบันดาลใจในการออกแบบแปรรูปกระดาษสามาจากการได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน การท่องเที่ยวไปยังแหล่งอื่น ประกอบกับการมีมุมมองที่ต่างไปจากคนอื่น และมีใจรักด้านศิลปะอยู่แล้ว จึงทำให้นายสิงห์คำเป็นผู้พลิกรูปแบบการผลิตกระดาษสาลวดลายใหม่ ๆ และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตลอดมา การผลิตกระดาษสาในช่วงหลังปี พ.ศ. 2538 มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัดคือ ก่อนหน้านั้นการผลิตกระดาษสาจะทำเฉพาะในช่วงเทศกาลไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ พอมาถึงช่วงปี พ.ศ. 2542 ถึง 2546 ถือได้ว่าเป็นช่วงที่การผลิตกระดาษสาของหมู่บ้านแห่งนี้มีความเจริญมาก มีการจำหน่ายส่งออกไปยังต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง มาเลเซีย เกาหลี และหลายประเทศในยุโรป ในด้านการผลิตก็มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น จากเดิมที่ใช้มือทุบปอสาให้ละเอียดก็หันมาใช้เครื่องโม่และเครื่องปั่นแทน และจากการใช้ขี้เถ้าในการต้มเพื่อให้ตัวปอสาแยกตัวจากกันเร็วขึ้นก็มีการเริ่มใช้โซดาไฟ และใช้ไฮโดรเจนในการฟอกสีปอสาให้เป็นสีขาวเพื่อจะได้มีกระดาษสาสีขาวและเตรียมไว้สำหรับการลงสีสัน อื่น ๆ ลงบนกระดาษสา รวมทั้งมีการใช้สีผสมอาหารในการย้อมสีกระดาษสา หมู่บ้านดงป่าซางได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ห้าดาวระดับภาคเหนือในปี พ.ศ. 2549 รางวัลหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ห้าดาวระดับจังหวัด และรางวัลหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ห้าดาวระดับอำเภอในปี พ.ศ. 2550 ทางหมู่บ้านยังได้รับการประกาศเกียรติคุณมากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศการประกวดกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นของจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2545 รางวัลเกียรติคุณทางด้านการสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวเกษตรภาคเหนือของศูนย์ประสานงานท่องเที่ยวเกษตรและสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2545 รางวัลเกียรติคุณทางด้านการรับรองมาตรฐานสถานที่ทำงานน่าอยู่น่าทำงาน สะอาด ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมดี มีชีวิตชีวา ระดับพื้นฐาน ในปี พ.ศ. 2551 ชมเรื่องราว ต่อ ตอนที่2 ได้ที่นี่ http://goo.gl/jepRs5 หัวข้อ: Re: บ้านดงป่าซาง หมู่บ้านงานหัตถกรรมกระดาษสา : ที่มาของชุมชน 1 เริ่มหัวข้อโดย: blacksheep ที่ สิงหาคม 15, 2015, 10:30:03 AM น่าสนใจ งานฝีมือ เหมาะเป็นของฝากเชียงใหม่
|