จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => แนะนำสถานทีเที่ยว ในจังหวัดเชียงใหม่-สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ สิงหาคม 13, 2015, 08:54:42 PM



หัวข้อ: "บ้านกวนวัวลาย" กับหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาอันขึ้นชื่อ : ผลงานที่โดดเด่น
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ สิงหาคม 13, 2015, 08:54:42 PM
เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้าน พร้อมกับเทคนิคและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ก็ต้องมีเรื่องของผลงานที่โดดเด่น อันเป็นที่ขึ้นชื่อของบ้านกวนกันครับ ซึ่งรายนามก็มีกันดังต่อไปนี้

หม้อน้ำ โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านกวน เป็นหม้อน้ำที่ใช้บรรจุน้ำ มีการตกแต่งลายที่ฝาหม้อและด้านบนของหม้อ หม้อน้ำของหมู่บ้านกวนนั้นจะมีความหนาและความแข็งแรงทนทาน ทำให้น้ำซึมออกมาได้น้อย ไม่เปราะ ไม่แตกง่ายและสามารถใช้ได้นาน ในอดีตที่หน้าบ้านของทุกบ้านจะมี “ร้านน้ำ” ซึ่งเป็นหม้อน้ำดินเผาวางคู่กับกระบวยอยู่บนชั้นไม้ มีหลังคาบังแดดบังฝน เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปผ่านมาได้แวะดื่มกิน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความมีน้ำใจของชาวล้านนา หม้อน้ำดินเผานั้นจะทำให้น้ำเย็นอยู่ตลอด ในช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่เมือง แต่ละบ้านก็เปลี่ยนหม้อน้ำเพื่อความสะอาด ปัจจุบันหม้อน้ำดินเผากลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งโดยมักจะถูกนำไปตกแต่งบ้านและตกแต่งสวน

หม้อน้ำพุ โดย คุณดารุณี นันโท เป็นหม้อที่ปั้นเป็นรูปหัวช้างด้านข้างชั้นละ 3 หัว จำนวน 3 ชั้น ซึ่งมีขนาดแตกต่างกันในแต่ละชั้นเรียงจากขนาดเล็กลงมาหาขนาดใหญ่ และมีน้ำพุออกมาจากงวงช้างทั้งหมด 9 ช่อง โดยคุณดารุณีได้แนวความคิดมาจากหม้องวงหรือหม้อต้มน้ำ ซึ่งในขณะนั้นได้รับความนิยมลดลงมากเนื่องจากคนหันมาใช้กาต้มน้ำร้อนไฟฟ้า คุณดารุณีจึงได้นำหม้อวงหรือกาต้มน้ำนี้มาประยุกต์โดยปั้นหม้องวงที่ไม่มีที่จับ และใส่หัวช้างแทนพวยกา เนื่องจากคุณดารุณีเห็นว่าช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองและเป็นเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ อีกทั้งเลข 9 เป็นเลขมงคลของคนไทย จึงได้ทำปากน้ำพุเป็นรูปหัวช้างทั้งหมด 9 หัว หม้อน้ำพุนี้ได้รับรางวัล OTOP 2 ดาว ในปี พ.ศ.2547

หม้อโคมไฟ โดยคุณดารุณี นันโท เป็นการนำหม้อดินเผาของหมู่บ้านกวนมาประยุกต์ให้เป็น โคมไฟซึ่งมีความสวยงาม เหมาะจะนำไปตั้งในสวนหรือริมทางเดิน โดยคุณดารุณีได้รับแรงบันดาลใจมากจากความกลัวว่าการปั้นหม้อนึ่งดินเผาจะสูญหายไปเนื่องจากหม้อนึ่งดินเผาได้รับความนิยมลดลงหลังจากที่คนส่วนใหญ่เปลี่ยนไปใช้หม้อนึ่งแบบสแตนเลส คุณดารุณีได้ใช้หม้อนึ่งมาทำเป็นฐานและใช้หม้องวงซึ่งทำเป็นรูปทรงกลมมาคว่ำลงและเจาะฉลุเป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปดาว วงกลม และรูปพระจันทร์เสี้ยว เพื่อทำเป็นตัวโคม ผลงานหม้อโคมไฟนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องปั้นดินเผา โดยโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้ (KBO) ในปี พ.ศ.2550