หัวข้อ: "บ้านกวนวัวลาย" กับหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาอันขึ้นชื่อ : ที่มาของชุมชน (2) เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ สิงหาคม 13, 2015, 08:50:40 PM หลังจากพาย้อนไปเมื่อ 7 ศตวรรษที่ผ่านมา ในสมัยที่พญามังรายมหาราชได้สร้างเวียงกุมกามขึ้นเป็นเมืองหลวง จะขอเท้าความมาใกล้หน่อย เป็นเมื่อ 50 ปีก่อนหน้านี้
เมื่อ 50 ปี ย้อนหลังไป ชาวตำบลหารแก้วเกือบทั้งตำบลก็ได้ทำการปั้นหม้อเป็นอาชีพเสริม ซึ่งเมื่อว่างจากการทำไร่ทำนาก็จะได้นำดินจากหัวไร่ปลายนามาทำการปั้นหม้อ โดยในอดีตนั้นยังไม่มีกะละมัง เมื่อจะทำอะไรก็ต้องเอาใส่หม้อ จึงทำให้มีหม้อหลากหลายชนิดและเรียกชื่อตามชนิดของงานที่นำไปใช้ ตัวอย่างหม้อที่ปั้นในขณะนั้นจะเป็นหม้อน้ำสำหรับใส่น้ำดื่ม หม้อแกงสำหรับใช้ทำอาหาร มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ หม้อนึ่งสำหรับใช้นึ่งผัก หม้อต้มใช้ต้มผักให้หมูกิน หม้อต่อมใช้สำหรับหุงข้าว และหม้องวงหรือหม้อ กาต้มน้ำ เป็นต้น หลังจากปั้นหม้อเสร็จแล้วจะมีการหาบหม้อใส่หาบไปขายที่ตลาดหรือนำไปแลกกับ ข้าวและพริกที่ต่างหมู่บ้าน ดังนั้นหม้อที่ปั้นจึงมีลักษณะบางและน้ำหนักเบาเพื่อความสะดวกในการหาบ จากนั้นเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ความต้องการหม้อดินก็ลดลงเรื่อย ๆ สืบเนื่องมาจากการพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ เพื่อนำมาทำเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่มีมากขึ้น มีการนำเอาอลูมิเนียมมาทำเป็นเครื่องครัว เช่น หม้อ กระทะ และทัพพี ชาวตำบลหารแก้วจึงได้ปั้นหม้อกันน้อยลงจนกระทั่งประมาณปี พ.ศ.2516 ที่หมู่บ้านกวนเหลือช่างปั้นหม้ออยู่เพียง 3 4 ครอบครัวที่ยังคงทำกันอยู่ คนที่เลิกปั้นหม้อส่วนใหญ่ก็หันไปทำไร่ทำนา บ้างก็ไปทำงานรับจ้างนอกหมู่บ้าน บ้างก็แก่แล้วจึงได้เลิกทำไป ประมาณปี พ.ศ.2530 ได้มีคนนำหม้อชุดต้มยำมาจากจังหวัดสุโขทัยเพื่อเป็นตัวอย่างให้ปั้น หลังจากปั้นหม้อชุดต้มยำตามคำสั่งซื้อแล้วชาวบ้านกวนก็ยังปั้นหม้อชุดต้มยำเพื่อวางขายต่อและได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังได้มีการพัฒนารูปแบบ ลวดลาย และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นอีกหลายชนิด เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด เช่น หม้อแป๊ะซะ หม้อน้ำจิ๋ว หม้อหมูจุ่ม เตาน้ำหอม ตลอดจนเป็นของที่ระลึก ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างดีแต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ได้ทิ้งวิธีการปั้นดินแบบโบราณ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการขึ้นรูปโดยใช้วิธีการแบบเดินวนรอบแป้น การขึ้นรูปโดยการบีบรีดดินให้เป็นรูปทรงคร่าว ๆ ก่อนใช้ไม้ตีและใช้หินดุ ทุบให้เป็นรูปทรง และการเผาแบบดั้งเดิมโดยใช้ฟืนและฟางข้าวสุมเผาที่กลางแจ้ง ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีพ่อค้าคนกลางเข้ามาสั่งซื้อหม้อดินเผาเป็นจำนวนมากทำให้หลาย ๆ คนเริ่มกลับมาทำการปั้นหม้ออีกครั้ง แต่ก็ยังทำในลักษณะที่แยกกันทำแยกกันขาย ไม่ได้มารวมกลุ่มกัน แต่ละคนก็จะปั้นหม้ออยู่ที่บ้านของตนและขายเอง จนกระทั่งปี พ.ศ.2547 ชาวชุมชนบ้านกวนที่ปั้นหม้อดินเผาได้มารวมกันเป็นกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านกวนเป็นครั้งแรก โดยเป็นการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองราคาและป้องกันไม่ให้ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา การรวมกลุ่มในครั้งนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักเพราะช่างปั้นหม้อแต่ละคนก็ยังคงแยกกันปั้นและแยกกันขายอยู่ ไม่ได้มาทำงานปั้นร่วมกัน เนื่องจากยังไม่มีสถานที่ในการจัดตั้งศูนย์ จนกระทั่งคุณดรุณี ได้ไปปรึกษากับเจ้าอธิการบุญต่อ อุปลวัณโณ เจ้าอาวาสวัดศรีสว่าง (วัวลาย) เจ้าคณะตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง ซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญและต้องการอนุรักษ์การปั้นหม้อเอาไว้ เพราะที่หมู่บ้านกวนนี้เป็นถิ่นปั้นหม้อมาตั้งแต่ในอดีต สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ จึงได้คิดว่าหากได้ มีสถานที่ในการรวมกลุ่มกันก็จะสามารถรักษาการปั้นหม้อไม่ให้สูญหายไป นอกจากนั้นการรวมกลุ่มยังจะสามารถช่วยให้เกิดอาชีพและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เจ้าอธิการบุญต่อ อุปลวัณโณ จึงได้ช่วยสนับสนุนปัจจัยให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่ม ทั้งยังช่วยออกความคิดในการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านกวนด้วย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านกวนจึงได้เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2555 โดยมีเจ้าอธิการบุญต่อ อุปลวัณณ ได้ให้ความอุปถัมภ์ มีคุณอำไพ สุดใจ ได้เอื้ออำนวยสถานที่บริเวณบ้านให้เป็นที่ตั้งศูนย์ โดยที่แห่งนี้จะเป็นสถานที่แสดงผลิตภัณฑ์หม้อดินเผาจากหมู่บ้านกวน ทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวตำบลหารแก้วไว้ให้เยาวชนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้และสืบสานศิลปะการปั้นหม้อแบบโบราณนี้สืบไป |