หัวข้อ: "บ้านกวนวัวลาย" กับหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาอันขึ้นชื่อ : ที่มาของชุมชน (1) เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ สิงหาคม 13, 2015, 08:49:17 PM นอกจากงานจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าในชุมชน ที่หน่วยงานต่างๆ จัดขึ้น ทำให้เราจะได้มีโอกาสทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ แล้ว ก็เห็นจะมีการบุกมายังแหล่งผลิตในชุมชนดังกล่าวอีกช่องทางล่ะครับ ที่จะทำให้เราได้รู้จัก (แบบแก่นแท้) อันเป็นต้นกำเนิดของสินค้าว่า กว่าที่จะออกมาเป็นแบบนี้นั้นมันผ่านอะไร มีที่มาแบบไหนบ้าง และหมู่บ้านกวนวัวลาย คือหมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาจากภูมิปัญญาแบบล้านนา ที่ผมจะมานำเสนอกัน แต่ก่อนที่จะปำความรู้จักกันแบบฉบับเต็มๆ ขอแนะนำวิธีเดินทางกันแบบคร่าวๆ
การเดินทางเข้ามายังบ้านกวนตั้งอยู่ในเขตอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 23 กิโลเมตร (ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20-30 นาที) มีด้วยกัน 2 วิธีครับ วิธีแรก โดยรถส่วนตัว เริ่มจากสี่แยกสนามบิน ตรงมาทางโดยใช้เส้นทางเชียงใหม่-หางดง ผ่านที่ว่าการอำเภอหางดง ตลาดหารแก้วและบ้านร้อยอันพันอย่างเลี้ยวซ้ายที่สามแยกทางไปลำพูน ตรงมาตามถนนสายสันป่าตอง ลำพูน หรือถนนสาย 1015 จนกระทั่งเห็นศาลเจ้าทางด้านซ้ายมือ แล้วจึงเลี้ยวซ้ายเข้าซอยด้านข้างศาลเจ้าแล้วขับตรงเข้าสู่หมู่บ้านกวน ส่วนวิธีที่สองโดยรถโดยสาร โดยให้ไปขึ้นรถสองแถวคันสีเหลืองที่ตลาดประตูเชียงใหม่ซึ่งเป็นคิวรถประจำทางสายทุ่งเสี้ยว สันป่าตอง หนองตอง วิ่งตั้งแต่ 6.00 น. 18.00 น. หรือท่านอาจจะไปขึ้นรถคิวนี้เมื่อวิ่งผ่านสี่แยกสนามบินไปทางหางดงก็ได้ นั่งรถไปประมาณ 15 กม. ลงรถที่ปากทางแม่ขักซึ่งเลยจากตลาดหางดงไปประมาณ 800 เมตร จากนั้นให้ต่อรถสามล้อเครื่องจาก จุดนี้ไปยังบ้านกวนเป็นระยะทาง 3.5 กม. มากันที่เรื่องราวของบ้านกวน ย้อนไปเมื่อ 7 ศตวรรษที่ผ่านมา ในสมัยที่พญามังรายมหาราชได้สร้างเวียงกุมกามขึ้นเป็น เมืองหลวงหลังจากที่ได้ยกทัพจากเมืองไชยปราการเข้ามาตีเมืองลำพูน ก็มีการอพยพผู้คนจากเมืองแสนหวีและสิบสองปันนามาอยู่ที่เวียงกุมกาม ซึ่งการอพยพในครั้งนั้นก็มีช่างปั้นหม้อและช่างทำเครื่องเงิน ร่วมเดินทางมาด้วย พวกเขาได้มาตั้งรกรากอยู่ที่อำเภอหางดงเพื่อทำเครื่องเงินและปั้นหม้อเพื่อใช้ในชุมชนและทำส่งให้กับอาณาจักรใกล้เคียง หลังจากที่เวียงกุมกามถูกน้ำท่วม พญามังรายก็ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมเมืองเชียงใหม่ขึ้นและให้ย้ายช่างทำเครื่องเงินไปอยู่ในเมืองเป็นบ้านวัวลายจนถึงปัจจุบัน ส่วนช่างปั้นหม้อก็ยังคงอยู่ที่เดิม ย้ายเข้าเมืองไม่ได้เพราะต้องเผาหม้อซึ่งมีควันเยอะจึงได้ลงหลักปักฐานอาศัยอยู่เป็นบ้านกวนจนถึงปัจจุบัน |