หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดอรัญญวาส" ดอยหล่อ เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ สิงหาคม 13, 2015, 08:25:02 PM อาจจะมีคนที่เที่ยววัดในเชียงใหม่ แล้วยังสงสัยกันว่าอันไหนคือวิหาร อันคือโบสถ์กัน ผมมีตัวอย่างของวัดอรัญญวาส ใน อ.ดอยหล่อ มาให้ชมครับ เพราะพอดีมีโอกาสมาถ่ายภาพกันที่วัดแห่งนี้
วัดอรัญญวาส ตั้งอยู่หมู่ 8 ดงป่าหวาย ต.ดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดเมื่อปี 2482 มีศาสนสถานที่สำคัญสองอย่างด้วยกันคือ วิหารทรงล้านนา กับอุโบสถทรงล้านนา กันครับ ซึ่งในส่วนของอุโบสถนั้น จะเป็นอาคารที่พระสงฆ์ใช้ประชุมสังฆกรรมร่วมกัน ซึ่งการทำสังฆกรรมที่สำคัญที่สุดได้แก่การทำสังฆกรรมบวช ในวัฒนธรรมล้านนาแบบอย่างของวิหารและโบสถ์มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่โบสถ์จะมีใบสีมา เป็นเครื่องหมายเขตบริสุทธิ์ล้อมรอบ อาคารที่เป็นตัวโบสถ์อีกชั้นหนึ่ง โดยจะกำหนดบริเวณทิศทั้ง 8 และฝังไว้ตรงกลาง รวมทั้งหมด 9 แห่ง ทั้งนี้ การสร้างวิหารจะนิยมมากกว่าโบสถ์ อาจจะ เนื่องมาจากการมีประโยชน์ใช้สอยที่มากกว่า เพราะคติแต่เดิมโบสถ์ใช้ในการประชุมสังฆกรรมเพื่อการอุปสมบทพระสงฆ์ตามที่ บัญญัติไว้ในพระวินัยเป็น สำคัญ นอกจากนี้ก็จะมีการรับกฐิน การสวดปาติโมกข์ประจำทุก ๆ 15 ค่ำ ส่วนพิธีอื่น ๆ ที่เป็นประเพณีประจำปีมักจะกระทำในวิหาร อีกทั้งยังใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสงฆ์ เป็นศาลาการเปรียญเป็นสถานที่ประชุมพุทธบริษัทต่างๆ รวมถึงคติการบวชดังที่เราจะพบอยู่บ่อยครั้งในตำนานทางภาคเหนือ จะนิยมบวชโดยใช้สมมุติสีมาน้ำที่เรียกว่า นทีสีมา หรือ อุทกสีมา ตามประเพณีที่ได้รับมาจากลังกา ดัง ปรากฏในสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน สำหรับวิหารนั้น จะออกแบบแผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการยกเก็จของผัง ภายในวิหารแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ พื้นที่ ของพระสงฆ์ ได้แก่ อาสนสงฆ์ และบุษบกธรรมมาสน์ สำหรับอาสนสงฆ์ เป็นที่นั่งพระภิกษุสามเณร พื้นที่ของฆาวาส ได้แก่ห้องโถงส่วนกลางของอาคาร เป็นพื้นที่นั่งของชาวบ้านเพื่อฟังเทศน์ในวันพระ ฐานชุกชี หรือแท่นแก้ว หมายถึงพื้นที่ด้านในสุดของวิหาร มักทำเป็นแท่นยกพื้นสูงกว่าอาสนสงฆ์ ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นประธานของวัด จากทั้งหมดที่เอ่ยมาคงพอจะเห็นความแตกต่างกันบ้างนะครับ สุดท้ายมาที่ส่วนตรงหน้าวิหาร จะเห็นการก่อเจดีย์ทรายในวัดครับ ซึ่งประเพณีขนทรายเข้าวัดในวันสงกรานต์ของชาวล้านนาตรงกับวันเนา ได้แก่วันที่พระอาทิตย์โคจรอยู่ระหว่างสองราศี คือราศีมีนกับราศีเมษ ต่อจากวันมหาสงกรานต์ก่อนหน้าวันเถลิงศก ทั่วไปมักเรียกว่า วันเน่า เป็นวันที่ห้ามไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่เป็นมงคล ห้ามทะเลาะวิวาทด่าทอกัน ห้ามพูดคำหยาบ พิธีจะเริ่มหลังจากช่วงเช้าที่เสร็จพิธีทางศาสนาที่วัดแล้ว จากนั้นในตอนบ่ายจะมีการขนทรายจากแม่น้ำไปไว้ในวัด มีการก่อเจดีย์ทรายตามวัด ในการก่อเจดีย์ทรายนี้จะประดับเจดีย์ทรายด้วย ช่อ และทุง (ตุง) เป็นธงทำด้วยกระดาษสี ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม การปักช่อทุงนี้ต้องตามคติความเชื่อที่ว่า ชายทุงจะช่วยให้ผู้ถวายเจดีย์ทรายให้พ้นจากนรก ในวันขนทรายเข้าวัดจะมีการละเล่นรดน้ำกัน ในวันเนานี้ถือว่า เป็นธรรมดาที่ผู้ที่ออกนอกบ้านในวันนั้นก็จะต้องถูกรดน้ำจนเปียกโชกทุกคน ในการกล่าวคำเวนทานปีใหม่และเจดีย์ทรายสำนวนหนึ่ง มีการพรรณนาถึงการทานถวายเจดีย์ทรายโดยให้ก่อพระเจดีย์ทราย ที่ลานข้างพระวิหาร จากนั้นจึงอัญเชิญพระสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ ทั้งนี้ บุคคลใดได้ก่อเจดีย์ทราย ย่อมมีข้าหญิงชายมาแวดล้อมเป็นบริวาร พ้นจากทุกข์ทุกประการ ได้อยู่ในปราสาทอันงาม มีจาตุรงคเสนามาก ก็ด้วยอานิสงส์ก่อเจดีย์ทราย บุคคลทั้งหลายทั้งชายหญิงย่อมมีวัวควาย ผ้าผ่อน ผ้าแพร เครื่องบริโภคต่าง ๆ ไปในที่ใดคนและเทวดาก็เคารพบูชา บุคคลทั้งหลายนั้นย่อมไปเกิดในสวรรค์ดาวดึงส์ เป็นจอมเทพได้ 34 ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ 34 ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิในทวีปทั้ง 4 มีเมืองใหญ่เมืองน้อยเป็นบริวารอันประมาณไม่ได้ เสวยราชสมบัติมาก ก็ด้วยอานิสงส์ก่อเจดีย์ทรายถวายแท้แน่นอน |