หัวข้อ: เวียงกุมกาม นครโบราณใต้พิภพ : วัดหัวหนอง เริ่มหัวข้อโดย: Traveller Freedom ที่ สิงหาคม 11, 2015, 02:49:16 PM เวียงกุมกาม นครโบราณใต้พิภพ : วัดหัวหนอง
สถานที่ตั้ง : ตำบลวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ : 053 140 322 พิกัด : 18.753914, 98.995950 วัดหัวหนอง เป็นวัดโบราณที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของโบราณสถานเวียงกุมกาม ซึ่งปัจจุบันแทบไม่หลงเหลือร่องเหลือให้เห็นนอกจากภาพถ่ายในอดีตที่พอจะสืบค้นพบเจอ อนุมานจากหลักฐานสิ่งก่อสร้างต่างๆ บริเวณวัดที่มีจำนวนมากแห่ง และมีรูปแบบแผนผังการก่อสร้างที่สลับซับซ้อนหลายกลุ่ม พิจารณาได้ว่าวัดหัวหนองแห่งนี้เดิมต้องเป็นวัดที่มีลำดับความสำคัญต้นๆ ของเวียงกุมกามในอดีตอย่างไม่ต้องสงสัย การทำโขงประตูวัดบริเวณท่าน้ำแม่ปิง ที่มีลวดลายปูนปั้นประดับอย่างสวยงามตามชั้นในส่วนย่อเก็จย่อมุมต่างๆ การมีร่องรอยก่อสร้างทับซ้อน กรณีเจดีย์ช้างล้อมรอบองค์เจดีย์สมัยหลังสร้างทับซ้อน นอกเหนือไปจากหลักฐานโบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่ง ทั้งเศียรพระพุทธรูปหินทรายที่เป็นศิลปะล้านนาผสมพะเยา เศียรพระพุทธรูปสำริดอิทธิพลศิลปะสุโขทัย เศียรพระพุทธรูปสำริดศิลปะเชียงแสน เศียรพระพุทธรูปปูนปั้นและชิ้นส่วนพระพุทธรูปอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงภาชนะดินเผาประเภทน้ำต้นหรือคนโฑแบบหริภุญไชย เครื่องถ้วยลายคราม ของจีน และจารึกอักษรล้านนาบนแผ่นอิฐ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแสดงถึงความสำคัญในอดีตของวัดหัวหนองได้อย่างแจ่มแท้ สิ่งก่อสร้างที่เป็นโบราณสถานในเขตวัดหัวหนองแบ่งออกได้ 5 กลุ่ม ที่แต่ละกลุ่มมีสิ่งก่อสร้างที่แตกต่างกัน กล่าวคือ กลุ่มที่ 1 ตั้งอยู่ในเขตทางตอนตะวันตกเฉียงใต้ของวัด ประกอบด้วย เจดีย์ช้างล้อม วิหาร และเจดีย์เล็กด้านข้างวิหาร กลุ่มที่ 2 ตั้งอยู่ระหว่างโบราณสถานกลุ่มแรกกับแนวแม่น้ำปิง ประกอบด้วย วิหารและมณฑป กลุ่มที่ 3 เป็นโขงประตูวัดและแนวกำแพงวัดที่อยู่ใกล้ชิดลำน้ำแม่ปิงสายเดิม กลุ่มที่ 4 อยู่ด้านหลังทิศใต้โขงประตูวัด ประกอบด้วยกำแพงแก้ว ซากอาคาร บ่อน้ำ และกลุ่มที่ 5 อยู่ทางด้านตะวันออกของกลุ่มที่สี่ ประกอบด้วย แนวกำแพงแก้วพร้อมร่องรอยโขงประตู เจดีย์ วิหาร อุโบสถ และอาคารด้านหน้าซากพระวิหาร ซึ่งเข้าใจว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้สร้างเสริมเพิ่มเติมภายหลังต่างยุคต่างสมัย ลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้างที่จัดได้ว่าเด่นที่สุดของวัดหัวหนองมี 2 แห่ง คือ โขงประตูกำแพงวัด และเจดีย์ช้างล้อม ซึ่งโขงประตูวัดนั้น เป็นช่องทางเข้าออกวัดสร้างก่ออิฐฉาบปูนมีส่วนฐานและห้องลักษณะย่อเก็จขึ้นไปรับส่วนเครื่องยอดหลังคา ตกแต่งลายปูนปั้นในส่วนต่างๆ มีลักษณะร่วมกับวัดในเขตแคว้นล้านนาหลายๆแห่ง เช่นเดียวกับโขงประตูวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดสวนดอก และวัดเจ็ดยอด ซึ่งสามารถกำหนดอายุได้ในช่วงเวลาตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 20 ส่วนเจดีย์ช้างล้อมนั้น เป็นลักษณะร่วมกันกับศิลปะสถาปัตยกรรมลังกา ที่รับผ่านเข้ามาทางแคว้นสุโขทัย ซึ่งการพบหลักฐานเจดีย์สร้างครอบทับกันเช่นเจดีย์ช้างล้อมองค์นี้ น่าจะเกิดขึ้นในสมัยพญาสามฝั่งแกน กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย by Traveller Freedom หัวข้อ: Re: เวียงกุมกาม นครโบราณใต้พิภพ : วัดหัวหนอง เริ่มหัวข้อโดย: MarioMalcom ที่ พฤษภาคม 24, 2019, 01:51:18 PM ติดตามความเคลื่อนไหวอยู่นะ ถ้ามีเวลาว่าง ช่วยอัพเดตเพิ่มเติมหน่อยนะครับ
|