จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ สิงหาคม 07, 2015, 11:48:55 AM



หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดกิ่วแลหลวง"
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ สิงหาคม 07, 2015, 11:48:55 AM
ให้หลังจากผิดหวังในการไปเที่ยวชมหมู่บ้านหัตถกรรมไม้แกะสลัก ที่บ้านกิ่วแลน้อย ใน อ.สันป่าตอง เพราะมันถูกยุบ ผมเลยเบนเป้าหมายใหม่ โดยการหนีมาเที่ยววัดกิ่วแลหลวงแทน

วัดกิ่วแลหลวง ตั้งอยู่ ม. 4 ต.ยุหว่า สันป่าตอง เชียงใหม่ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดเริ่มต้นที่ ตรงประตูทางเข้าวัดจะมีรูปปั้นสิงห์ล้านนาอยู่สองตัว ซึ่งการนำสิงห์มาประดับเช่นนี้ ก็เพื่อแสดงว่า เป็นสัตว์ที่มีพลัง อำนาจสามารถขับไล่สิ่งอัปมงคลและสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าเขตวัดและอารามได้ (ตามความเชื่อของจีน) ซึ่งวัดที่มีรูปปั้นสิงห์เฝ้าหน้าประตูวัดนั้น ส่วนใหญ่มักจะพบเห็นได้ตามวัดทั่วไป ในภาคเหนือของประเทศไทย อันได้รับอิทธิจากพม่า ซึ่งล้านนาเองแต่ก่อนเคยเป็นเมืองขึ้นของพม่า

เข้ามาด้านในเป็นวิหารรูปแบบล้านนา ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีการสร้างผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน มีหน้าต่าง และช่องแสงโดยรอบทุกด้าน บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้) ตรงบันไดทางเข้าวิหาร เป็นบันไดแบบมกรคายนาค ซึ่ง "มกร" นี้เป็นสัตว์ที่อยู่ในจินตนาการ นัยว่า เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ ลักษณะจะผสมกันระหว่างจระเข้กับพญานาค กล่าวคือ มีลำตัวยาวเหยียดคล้ายกับพญานาค แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวที่คายพญานาค ออกมานั้นเป็นปากจระเข้ คนโบราณจึงมักนำไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด สำหรับวัดในแถบภาคกลางจะเป็นราวบันไดนาค แต่ทางภาคเหนือส่วนใหญ่จะเป็นราวบันไดรูป "มกรคายนาค"

ส่วนที่ มกรต้องคายนาค ในลักษณะของการสำรอก นั้น อาจวิเคราะห์ได้ในแง่ของประวัติศาสตร์ศิลปะคือ "พญานาค" จะเป็นตัวแทนของกลุ่มเมือง หรือชนเผ่าทางตอนเหนือของประเทศไทย ที่เรียกสืบทอดมาถึงปัจจุบันว่า "โยนก" เมืองโยนกเชียงแสนเดิมของพระเจ้าสิงหนวัติกุมาร ต้นตระกูลของพระเจ้าพรหมมหาราช ก็มีตำนานเกี่ยวพันกับพญานาค เรียกว่ามีพญานาคมาสร้างเมืองชื่อโยนกนาคพันธ์สิงหนวัติ หรือโยนกนาคนคร และเมื่อเมืองนี้ล่มจมหายก็เพราะผู้คนพากันกินปลาไหลเผือก ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวแทนของพญานาคนั่นเอง ส่วนสัตว์น่ากลัวเช่น "จระเข้ เหรา" จะเป็นตัวแทนของพวก "พยู" หรือพุกามอันได้แก่พม่า การที่พบศิลปะแบบมกรคายนาคในแถบภาคเหนือ พอจะอนุมานได้ว่า เป็นการแสดงออกถึงการหลุดพ้นจากอิทธิพลของงานศิลปะและการเมืองของพุกามหรือพม่าที่ครอบงำล้านนาอยู่ถึง 200 ปีนั่นเอง

ด้านหลังวัดเยี่ยงๆ วิหาร เป็นอุโบสถ อาคารที่พระสงฆ์ใช้ประชุมสังฆกรรมร่วมกัน ซึ่งการทำสังฆกรรมที่สำคัญที่สุดได้แก่การทำสังฆกรรม บวช ในวัฒนธรรมล้านนา แบบอย่างของวิหารและโบสถ์มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่โบสถ์จะมีใบสีมา เป็นเครื่องหมายเขตบริสุทธิ์ล้อมรอบ อาคารที่เป็นตัวโบสถ์อีกชั้นหนึ่ง โดยจะกำหนดบริเวณทิศทั้ง 8 และฝังไว้ตรงกลาง รวมทั้งหมด 9 แห่ง