จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ กรกฎาคม 31, 2015, 12:44:56 PM



หัวข้อ: พาไปสักการะ "พระธาตุดอยจอมแจ้ง" ตอนที่ 1 - 2
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ กรกฎาคม 31, 2015, 12:44:56 PM
รู้สึกว่าชื่อ วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง จะมีกันเยอะแยะหลายที่นะครับ จากการค้นหาข้อมูลนั้นอินเตอร์เน็ต ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะเป็นสาระสำคัญและไม่ใช่สาระสำคัญอะไรนัก เพราะไอ้ที่สำคัญก็คือมันทำให้เรารู้ว่าแต่ละที่มีเรื่องราวไม่เหมือนกัน ละที่ไม่สำคัญก็คือ มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกันนักกับวัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง ของเชียงใหม่

และเพื่อเป็นการเข้าเรื่องกันเลย กระผมเลยจะขอพามาเที่ยวยังวัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง ซึ่งตั้งอยู่ เลขที่ ๒๓ ถนนโชตนา-ฝาง ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ กิโลเมตรที่ ๓๐ ขับมาถึงจะสังเกตเห็นป้ายวัดอยู่ทางด้านซ้ายมือครับ มีทางขึ้นกันอยู่สองทางก็คือ ทางบันไดนาค ซึ่งต้องเดินขึ้นไป กับทางรถวิ่งขึ้นที่ต้อง้อมมางด้านหลังของวัด

วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง  มีเนื้อที่เขตธรณีสงฆ์ เขตอภัยทานจำนวน ๒๕ ไร่ ซึ่งตั้งเป็นวัดขึ้นถูกต้องตามกฎหมาย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เมือ่ พ.ศ.๒๔๐๐ และเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

สำหรับสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดเริ่มต้นที่วิหารครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๗๑ ทั้งพระธาตุดอยจอมแจ้งและวิหาร สิ้นทุนทรัพย์ไป ๑,๓๓๕ รูปี วิหารหลังนี้ได้บูรณะเป็นครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๘ สิ้นทุนทรัพย์ ๒๕๐,๐๐๐ บาท

พระธาตุดอยจอมแจ้ง วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง พระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระธาตุไหปราร้ากระดูกเบื้องขวา พระธาตุพระอุระ (กระดูกอก) และพระธาตุน้ำล้างพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิิ์ "พระเจ้าฝนแสนห่า"  โดยพระธาตุดอยจอมแจ้ง ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด ตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าพร้อมพระสาวกเสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ เสด็จลงมาตามลำน้ำแม่ระมิงค์จนถึงถ้ำหลวงเชียงดาว และเสด็จถึงบริเวณนี้เมื่อสว่างที่เขาแห่งหนึ่งในเขตอำเภอแม่แตง สถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่า “จอมแจ้ง”

สมัยก่อนพระเจ้ามังรายมหาราช ได้อัญเชิญพระธาตุน้ำล้างหน้าของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐาน (น้ำพระธาตุล้างหน้านี้ ไม่รู้เป็นส่วนไหนของพระบรมสารีริกธาตุ)

ต่อมา ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้พบพระธาตุไหปลาร้าด้านขวาในเจดีย์ทองคำ ถูกห่อหุ้มด้วยผอบทองและเงินอย่างละ ๓ ชั้น อยู่ในไหดิน มีของมีค่าต่างๆ มากมาย ได้สร้างองค์พระธาตุใหม่ครอบสูง ๙ วา นอกจากนี้ยังมีพระธาตุพระอุระ (กระดูกอก) และมีพระพุทธรูปทองคำอายุกว่า ๕๐๐ ปี ชื่อ “พระเจ้าฝนแสนห่า” อีกด้วย

เมื่อวันที่ ๑-๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๐ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้บูรณะองค์พระธาตุ โดยหุ้มองค์เดิมเอาไว้ โดยมีพระศรีวิชัย วัดแม่ขะจาน เป็นองค์ดำเนินการแทน และพ.ศ.๒๕๒๙ ทางวัดได้บูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ใหม่อีกครั้ง โดยเปลี่ยนรูปแบบเดิมไปทั้งหมดจนเสร็จสมบูรณ์ ต่อมาพ.ศ.๒๕๓๖ ได้ยกยอดฉัตรสมโภช

แล้วมาต่อกันอีกตอนให้จบครับ



หัวข้อ: Re: พาไปสักการะ "พระธาตุดอยจอมแจ้ง"
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ กันยายน 05, 2016, 10:52:23 AM
สำหรับสิ่งที่น่าสนใจต่อมาภายในวัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง คือ พระพุทธอุตตมะโชติ (อุดมโชค) วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง ประดิษฐานอยู่ข้างๆ วิหารครูบาเจ้าศรีวิชัย

จากลักษณะนั้น พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางที่พระชานุ พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ จีบนิ้วพระหัตถ์เป็นอาการแสดงธรรมฯ ซึ่งเรียดว่าปางโปรดสัตว์ โดยประวัตินั้น พระเจ้าอาฬวี กษัตริย์แห่งอาฬวีนครทรงนิยมไพรถือการล่าสัตว์ป่าเป็นกิจวัตร วันหนึ่งกำลังไล่กวาง เกิดโชคร้ายพลัดหลงกับกองทหารเข้าไปในเขตหวงห้ามของอาฬวกยักษ์ ซึ่งได้รับประทานพรจากพระอิศวรให้จับคนและสัตว์ที่พลัดหลงเข้ามาในแดนของตนกินได้ พระเจ้าอาฬวีจึงขอผ่อนว่า ถ้าปล่อยให้พระองค์กลับพระนคร ก็จะส่งคนมาให้เป็นอาหารวันละ 1 คน เมื่อกลับถึงพระนครพระองค์ก็ทำตามสัญญา ทีแรกก็ส่งนักโทษไป ต่อมาก็เด็ก จนชาวเมืองพากันหนีไปอยู่เมืองอื่น ในที่สุดก็ต้องจับ พระโอรสของพระเจ้าอาฬวีส่งไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ จึงเสด็จไปทรมารยักษ์ให้สิ้นความดุร้าย ฯ

พระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระนอน) ประดิษฐานภายใน ศาลาพระนอน วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถ นอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้) ลักษณะเดียวกับปางปรินิพพานและปางทรงพระสุบิน

สำหรับพระพุทธรูปปางไสยาสน์นั้น ในสมัยที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ในนครสาวัตถี อสุรินทราหูซึ่งเป็นอสูรอุปราชของท้าวเวปจิตติอสุรบดินทร์ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับพระเกียรติคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากเหล่าเทวดาทั้งหลาย จึงมีความประสงค์จะฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ แต่คิดว่าพระพุทธองค์เป็นมนุษย์มีพระวรกายเล็ก ตนเองมีร่างกายใหญ่หากไปเฝ้าก็จะต้องก้มลงมองด้วยความลำบาก เมื่ออสุรินทราหู ไปเข้าเฝ้าสำคัญตัวว่ามีร่างกายใหญ่โตใหญ่กว่าพระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมแสดงความอ่อนน้อม พระพุทธองค์ทรงประสงค์จะลดทิฐิของอสุรินทราหูอสูร จึงทรงเนรมิตกายให้ใหญ่โตกว่าอสุรินทราหูอสูร ทรงนอนในลักษณะเสด็จสีหไสยาสน์ พระเศียรหนุนภูเขาต่างพระเขนย พระบาททั้งสองข้างที่วางซ้อนกันอยู่ สูงใหญ่กว่าอสุรินทราหู อสุรินทราหูต้องแหงนคอเพื่อชมพุทธลักษณะ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์พาอสุรินทราหูขึ้นไปยังพรหมโลก บรรดาพรหมทั้งหลายมีร่างกายเล็กกว่าพระพุทธองค์และต่างมองอสุรินทราหูเหมือนประหนึ่งมนุษย์ดูมดปลวกตัวเล็กๆ อสุรินทราหูเกิดความกลัวต้องหลบอยู่ข้างหลังพระพุทธองค์ นับแต่นั้นมาก็ลดทิฐิมานะ อ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์ และเมื่อได้สดับฟังพระธรรมเทศนาจึงเกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งสูงสุดแห่งชีวิต

ต่อมาเป็นอุโบสถ วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ สิ้นงบประมาณ ๒,๕๑๐,๐๐๐ บาท ปัจจุบันมีพระอาจารย์ ธรรมนิตย์ สุจิตโต เป็นเจ้าอาวาส

สุดท้าย รูปหล่อเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังฯ ประดิษฐานภายใน ศาลาหกเหลี่ยม วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง คณะศิษย์ยานุศิษย์สร้างถวาย ณ พระธาตุจอมแจ้ง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่