หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดมะองค์นก" เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ กรกฎาคม 31, 2015, 12:37:48 PM ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังเขื่อนแม่งัด บนนถนนโชตนา ยังมีวัดหนึ่งที่มีเรื่องราวน่าสนใจ โดยวัดที่ผมกำลังเอ่ยถึงนั้น คือ วัดมะองค์นก ตั้งอยู่เลขที่ ๖๔ บ้านดงป่าลัน หมู่ที่ ๓ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดร้างที่สร้างก่อนพุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า บ้านดงป่าลัน
วัดมะองค์นก เดิมเป็นวัดร้างมากี่ร้อยปีก็ไม่มีใครทราบ เพราะสอบถามผู้อาวุโสทั้งหลายเกิดก็มาเห็นเป็นวัดร้างอย่างนี้มาก่อนแล้ว ต่อมา เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ เดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ เหนือนายแสนวุฒิ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ ได้นำราษฎรบ้านดงป่าลันเข้ามาพัฒนาให้เป็นวัดครั้งแรกของการก่อตั้งวัดมะองค์นก โดยได้รื้อศาลาประจำหมู่บ้านมาสร้างศาลาบาตร และได้ไปกราบอาราธนาหลวงปู่ครูบาธรรมชัยแห่งวัดทุ่งหลวง ตำบลแม่แตง อำเภอแม่แตง มาเป็นประธานรับพระพุทธรูปของคุณโยมแม่กาญจนา อุปโยคิน ซึ่งพระพุทธดังกล่าวจัดได้สร้างขึ้นที่ วัดแสนฝาง อำเภอเมือง เชียงใหม่ เพื่อถวายวัดต่างๆ ที่ยังไม่มีพระประธานและทางคณะกรรมการวัดนำโดยนายแสนวุฒิ ได้ขอมาประดิษฐานไว้ที่ศาลาบาตรดังกล่าว หลังจากนั้นเมื่อวันที่ ๙ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ นายชื่น เทพวงษ์ ก็ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้ช่วยกันพัฒนาวัดมะองค์นก ต่อจากอดีตพ่อหลวงแสนวุฒิ และพ่อหลวงไชยยงค์ วุฒิ ปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านพ่อหลวงอนันต์ สิริภาคย์โภคิน นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ส่วนชื่อวัดคำว่า "มะองนก" ได้มาจากต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่า " ต้นไม้มะองนก " ทางภาคกลางหรือทางภาคอีสานเรียกว่า "ต้นประคำ" และด้วยเหตุที่มีพระพุทธรูปเก่าแก่ปางต่างๆ ซึ่งปลัดอำเภอได้นำชาวบ้านเข้าไปแผ้วถาง พร้อมเก็บพระพุทธรูปนำไปรวมกันไว้ ใต้ต้นไม้มะองนกเป็นจำนวนมากทั้งที่มีราคาประเมินมิได้ ซึ่งมีต้นไม้มะองนกอยู่ที่มุมของกำแพง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือปัจจุบันนี้ ผู้อาวุโสหลายคนในหมู่บ้านจึงมีความเห็นพ้องกันว่าสมควรที่จะเพิ่มตัวอักษรขึ้นมาอีกสองตัวคือ ตัว ค ควาย และตัวไม้การันต์ ก็คือ ค์ จึงกลายมาเป็นวัด "มะองค์นก" ปัจจุบันใช้อยู่เพราะเหตุว่าได้มีพระพุทธรูปล้ำค่าอยู่หลายองค์ตั้งอยู่ใต้ต้นมะองนก ใครจะเก็บเอาไปไว้ที่บ้านก็กลัวเกิดเหตุอาเพศภัยต่างๆ นานาจึงไม่มีใครกล้านำไปเก็บรักษาไว้ที่บ้าน เมื่อความเจริญได้ผ่านเข้ามา กรมทางหลวงได้มีการพัฒนาถนนโชตนา (เชียงใหม่ ฝาง) อยู่มาไม่นานพระพุทธรูปก็ได้อันตราธานไปหมด เพราะว่าอยู่ติดทางหลวง ง่ายและสะดวกสำหรับผู้คนที่เดินทางสัญจรผ่านไปมา ปัจจุบันเหลือแต่ซากของอิฐที่ฝังอยู่ใต้พื้นดินมีความลึกประมาณ ๓ เมตร เป็นอิฐที่มีขนาดเก่าแก่จำนวนมากเรียงรายระเกะระกะอยู่เป็นจำนวนมาก และมีขนาดความกว้างประมาณ ๔นิ้ว ยาวประมาณ ๑๐นิ้ว ( ๔ x ๑๐ ) อยู่ด้านหน้าวิหารหลังปัจจุบันนี้ |