หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดช่อแลพระงาม" เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ กรกฎาคม 31, 2015, 12:21:21 PM เป็นการมาเที่ยววัดในช่วงวัดหยุดยาวที่ไกลมากจากตัวเมือง เมื่อผมมุ่งหน้ามายัง อ.แม่แตง จ. เชียงใหม่ เพื่อมาเที่ยววัดช่อแลพระงาม กันครับ
วัดช่อแลพระงาม ตั้งอยู่เลขที่ ๓๘๘ หมู่ที่ ๑ ต.ช่อแล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๕ จากหลักฐานที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลาน ซึ่งทางวัดได้อนุรักษ์เก็บรักษาไว้อย่างดีมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๑๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๕ โดยครูบามหาวรรณ ได้สร้างองค์พระธาตุช่อแลพระงามขึ้น จากตำนานพระธาตุช่อแลพระงาม ในส่วนตำนานเมืองเกศคันธนคร (เมืองแกน) พระมหาหมื่น วุฑฒิญาโน คัดเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๐ แปลโดย คุณสงวน โชติสุขรัตน์ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๓ มาจากต้นฉบับเดิมเป็นอักษรธรรม (บางตอน) เล่าว่า สมัยหนึ่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสาวกได้เสด็จมาถึง บ้านธัมมิละ พอชาวบ้านทั้งหลายรู้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงจึงได้ตกแต่งอารามในร่มไม้ยาง แล้วจึงนิมนต์พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นั้น ๓ วัน เพื่อได้ถวายไทยทานและอาหาร พร้อมกับทำอาสนะถวาย เมื่อพระพุทธองค์สถิตสำราญอยู่บนอาสนะนั้นแล้ว จึงผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดรทอดพระเนตรเห็นเขาวิบูลม่อนจอมหด (คือม่อนหินไหล) ท่านครูบาขาวปี คงจะทราบประวัติดี ถึงได้ขึ้นไปสร้างพระธาตุไว้บนยอดเขาที่สูงที่สุดเป็นอันดับ ๓ ของประเทศ) และ แม่น้ำสงัด (ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำงัด) เพราะที่แห่งนั้นราบเตียนดี ในขณะนั้น พระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์จึงกราบทูลถามถึงเหตุนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์จึงตรัสตอบว่า ในสถานที่นี้ควรไว้ศาสนา แล้วจึงได้ประทานพระเกศา ๑ เส้น ให้บรรจุไว้จะมีชื่อว่า อุโมงคอาราม ต่อไปข้างหน้าเรียกว่า ศรีคมคำแสนทอง ต่อมาพระองค์เสด็จไปถึงเขาแห่งหนึ่งบ้านธัมมิละ ได้ประทับอยู่ใต้ร่มไม้ชมพู่ต้นหนึ่งที่อยู่ริมห้วย เวลานั้น พระยาธัมมิละ, ขุนอ้ายบ่อทอง, กับ ขุนอุตระกาจแก้ว ได้เข้าไปถวายภัตตาหารกับน้ำเมี่ยง (น้ำชา) และผลมะตูม ในขณะนั้น พระองค์จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ในที่นี้ควรไว้ที่ศาสนา แล้วจึงได้ประทานพระเกศา ๑ เส้น บรรจุไว้ที่นั้น ให้ชื่อว่า เจรุวรรณอาราม เรียกนามตามที่มีผู้เอาน้ำเมี่ยงและมะตูมเข้าไปถวาย และทำมณฑปด้วยเด็ดไม้แลใบไม้ กาลข้างหน้าจะเรียกชื่อว่า เมืองเกศคันธนคร ต่อไปจึงเรียกว่า เมืองแกน (ปัจจุบันนี้อยู่ที่ ต.ช่อแล อ.แม่แตง) ส่วนที่ลำห้วยนั้น เรียกว่า แม่หอเด็ด ต่อไปข้างหน้าจะเรียกว่า แม่หอพระ (บ้านแม่หอพระ ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง) ขณะนั้นขุนอ้ายและขุนตระพร้อมด้วยคนทั้งหลายจึงกราบทูลขอบรรจุพระเกศาไว้ที่นั้น พระองค์จึงทรงตรัสว่า ต่อไปข้างหน้าถ้าพระองค์นิพพานไปล่วงแล้วได้สองพันปลาย ท้าวพระยาทั้งหลายจึงจะคิดสร้างได้ และบ้านเมืองก็จะเจริญรุ่งเรืองไปด้วยบุญบารมีของพระองค์ที่ได้ตรัสโปรดธัมมิละและขุนทั้งหลายที่ไปตักน้ำห้วยฝ้ายมาให้พระองค์สรง ขณะนั้น พระองค์ทรงทอดพระเนตรไปเห็นต้นไม้ยังแลต้นหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำระมิงค์ดูพุ่มพวงสวยงาม สถานที่นั้นก็ราบเตียนดียิ่งสมควรจะได้ตั้งศาสนา พระอานนท์จึงกราบทูลถามว่า พระองค์จะเสด็จไปสู่ที่ต้นไม้ยังแลหรือพระพุทธเจ้าข้า? พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่า เธอจงพาพระสงฆ์ทั้งหลายไปเถิด แล้วพระองค์จึงเอาน้ำสระเกศเกล้า กับ ฝ่าพระบาทแก้ว ให้พระอานนท์และภิกษุทั้งหลายนำมาไว้ริมต้นไม้ยังแลนั้น ฝ่ายขุนจอมใจเด็ด กับภรรยาที่มีชื่อว่า สุนันทา เข้ามากราบนมัสการพระอานนท์กับพระภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ทำอาสนะที่ประทับและเอาน้ำเย็นมาถวาย แล้วขุนจอมใจเด็ดกับผู้คนทั้งหลายช่วยกันขุดเป็นหลุมกว้าง ๕ ศอก ลึก ๕ วา พอเสร็จแล้วก็เอา ธาตุน้ำพระเกศ กับ ฝ่าพระบาท ลงบรรจุไว้แล้วปิดด้วยหินและอิฐแล้วให้ชื่อว่า อุปางาม ขณะนั้น ขุนจอมใจเด็ด, ขุนอ้าย, ขุนอุตระกาจแก้ว ประณมหัตถ์ขึ้นนมัสการว่า จะขอสร้างและก่อพระธาตุให้เป็นฐานขึ้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ต่อไปในกาลข้างหน้า ถ้าตถาคตปรินิพพานไปแล้วได้สองพันปลาย ท่านทั้งหลายจึงควรสร้างพระธาตุนี้ แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จไปซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าที่ล่วงไปแล้ว ๓ พระองค์ ณ ดงปาย (สถานที่นี้น่าจะเป็นพระพุทธบาทสี่รอย) ขุนจอมใจเด็ด, ขุนอ้าย, ขุนอุตระกาจแก้ว กับชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลาย พอได้บรรจุพระธาตุไว้แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมยินดียิ่งนัก ชวนกันสักการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนทุกวันคืนมิได้ขาด คนเหล่านี้เมื่อตายไปแล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อหมดบุญแล้วก็ได้มาเกิดในเมืองเกศคันธนคร เมื่อพุทธศักราช ๒๐๕๐จะได้สร้างพระธาตุ บางคนก็ได้บวชเป็นพระภิกษุ บางคนจะได้เป็นอุปราช บางคนจะได้เป็นอุบาสกอุบาสิกา แล้วจะได้ประชุมสงฆ์สร้างพระธาตุความเจริญรุ่งเรืองจะเกิดขึ้นในเมืองนี้ เมืองเกศคันธนครนี้ ให้ชื่อตามเหตุที่พระองค์ได้ฉันภัตตาหารกับไว้เกศาฝ่าพระบาทและน้ำสระพระเกศเกล้าของพระองค์ ตามที่พระยาธัมมิละได้ถวายน้ำเมี่ยงกับผลมะตูม เมืองจึงได้ชื่อว่า เมืองคั่งแค้น (ชาวเหนือเรียกว่า เมืองกั่งแก้น แล้วต่อมาก็เรียกว่า เมืองแกน) กับพระยาธัมมิละทำอาสนะและที่ประทับให้แก่พระอรหันต์ด้วยใบไม้แลเด็ดไม้นั้น ได้ชื่อว่า แม่หอพระ ส่วนกุศลเมื่อผู้ใดได้สร้าง พระธาตุจอมหด, พระธาตุม่อนจอมหิน และฝ่าพระบาทแก้ว ผู้นั้นจะได้เกิดร่วมกับพระรัตนตรัย จะได้ถึงพระอรหันต์แลนิพพานในที่สุด... แล้วมาต่อกันอีกตอนให้จบครับ หัวข้อ: Re: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดช่อแลพระงาม" เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ กันยายน 05, 2016, 11:02:38 AM จากตำนานที่ได้เล่าไว้นั้น (เมื่อตอนที่แล้ว) พอจะสรุปได้ว่า สถานที่พระพุทธเจ้าประทานพระเกศาธาตุบรรจุไว้มีชื่อว่า อุโมงคอาราม และ จารุวรรณอาราม ส่วนน้ำที่สระพระเศียรและฝ่าพระบาทของพระองค์ คงจะกลายเป็นพระธาตุ แล้วให้บรรจุไว้มีชื่อว่า อุปางาม รวม ๓ แห่งด้วยกัน แต่ในตำนานยังได้กล่าวไว้ในตอนท้ายอีกว่า...
"ผู้ใดได้จารหรือเขียนพงศาวดารพระธาตุ ๓ หลังคือ ม่อนจอมหด, จอมหิน, พระบาทแก้ว ไว้ตราบ ๕,๐๐๐ พระวัสสา หรือได้เทศนาให้ผู้อื่นฟังก็ดี หรือจารไว้กับศาสนาก็ดี ถ้าเกิดชาติหน้าจะได้สมความปรารถนาทุกประการ กล่าวในพงศาวดารเมืองเท่านี้ก่อนแล ฯ" ในส่วนของประวัติพระบรมธาตุเจดีย์ วัดช่อแลพระงามนั้น สร้างขึ้นในพ.ศ.๒๔๔๕ โดยท่านครูบามหาวรรณเป็นเจ้าอาวาส และด้วยความเลื่อมใสศรัทธาบารมีของท่านครูบามหาวรรณ อันมีศิษยานุศิษย์และช่างฝีมือชาวพม่า ร่วมกับชาวบ้านช่อแลที่มีฝีมือ ช่วยกันก่อสร้างองค์พระธาตุและลวดลายต่างๆ ตามศิลปะล้านนาผสมพม่า อันเป็นที่สักการบูชาของชาวบ้านช่อแลและพุทธศาสนิกชนซึ่งเป็นเวลาช้านาน ต่อมาตัวองค์พระธาตุหรือลวดลายซุ้มพระเกิดการชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา เนื่องจากเกิดการผุกร่อนหมดอายุของปูน ทางคณะศรัทธาประชาชนบ้านช่อแล โดยมีพระอธิการสุพรรณ โชติธัมโม เจ้าอาวาสได้พร้อมใจกันบริจาคทุนทรัพย์ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ตัวองค์พระธาตุครั้งใหญ่ โดยให้คงไว้ตามศิลปะรูปทรงเดิมและครอบโดยลงรักปิดทองทั้งองค์ เพื่อเป็นศาสนวัตถุเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนต่อไป ส่วนวิหารของวัด ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ กล่าวคือ ส่วนฐานของอาคารตลอดจนถึงผนัง มักก่อด้วยอิฐฉาบปูน เทคนิคปูนก่อและฉาบแบบโบราณ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา มักสร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ของวิหารล้านนา เรียกว่าโครงสร้างแบบม้าต่างไหม หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้) สำหรับการสร้างวิหารช่างมักมีการสร้างส่วนประกอบทั้งหมดของโครงสร้างด้าน ล่างก่อน หลังจากนั้นจึงยกขึ้นประกอบพร้อมกัน ซึ่งลักษณะเด่นทางด้านโครงสร้าง และรูปทรงหลังคาดังกล่าว ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่สำคัญของวิหารล้านนา ที่มีการถ่ายทอดและพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สันนิษฐานว่ารูปทรงดังกล่าวอาจมีเหตุผลในการออกแบบมาจากข้อจำกัดในเรื่อง วัสดุและความงามเป็นสิ่งสำคัญควบคู่กันไป เนื่องจากวิหารขนาดใหญ่ที่ใช้โครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้ทั้งหมด จำเป็นต้องจัดหาวัสดุที่มีความยาวพอเหมาะกับขนาดของอาคาร ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่ง อีกทั้งการสร้างอาคารขนาดใหญ่จะทำให้เกิดผืนหลังคาขนาดใหญ่ตามไปด้วย นอกจากนี้ ภายในวัดมีสถานที่สำคัญของพุทธศาสนิกชน อาทิ อุโบสถทรงล้านนา กลองเพลรัตน์โกสินทร์ ๒๐๐ ปี ศาลาบาตร อาคารประทีปธรรมสิงห์ราชอนุสรณ์ หอไตร ศาลาอเนกประสงค์ และหอฉันเฉลิมพระเกียรติ |